 |
ต้นเลียบ (ต้นปิปผลิ)
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ทีปังกรพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 พระนามว่า พระทีปังกรพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกในกาลทั้งปวง ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้เลียบ
ต้นเลียบ ในภาษาบาลีเรียกว่า ต้นปิปผลิ หรือ ต้นปิลกฺโข (พระคัมภีร์อภิธานนัปปทีปิกา) ไม้เลียบเป็นพืชที่จัดอยู่ในสกุล Ficus lacor วงศ์ Moraceae มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ ไกร (กรุงเทพฯ), ผักเลือด, เลียบ (ภาคกลาง), ผักฮี, ผักเฮือก, ผักเฮือด (ภาคเหนือ), ผักเฮียด (ภาคอีสาน) ส่วนทางเพชรบุรี เรียกว่า ผักไฮ, ประจวบคีรีขันธ์ เรียกว่า ไทรเลียบ และนครราชสีมา เรียกว่า โพไทร เป็นต้น
ต้นไกรหรือต้นเลียบนี้ เป็นไม้ป่า พบในทุกสภาพป่าทั่วประเทศ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 8-15 เมตร ลักษณะคล้ายต้นไทร มียาง ลำต้นเป็นพูพอน เรือนยอดแผ่กว้าง กิ่งก้านแผ่สาขา เปลือกสีเทาเรียบ ใบเรียวยาวปลายแหลมคล้ายใบหอก ดอกออกเป็นกระจุกบนช่อสั้นๆตามกิ่ง ผลอ่อนสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงม่วง หรือดำ เมื่อแก่เต็มที่ภายในมีเมล็ดมาก มักเป็นอาหารของนก
ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะผลัดใบ และในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมจะผลิใบใหม่ ใบอ่อนสีชมพู หรือชมพูอมเขียว ดูใสแวววาวไปทั้งต้น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือปักชำ
เหตุที่เรียกต้นเลียบว่า ผัก นั้น ก็เพราะยอดอ่อน หรือใบอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักได้ มีรสเปรี้ยวมัน ยอดผักเฮือด 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 39 กิโลแคลอรี่
แพทย์พื้นบ้านไทยใช้เปลือกของต้นเลียบ มาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มดื่มแก้ปวดท้อง ท้องร่วง แต่แม่ลูกอ่อนที่มีอาการไอ ห้ามกินผักเฮือด เพราะจะทำให้โรคกำเริบขึ้น ส่วนยางไม้เลียบนั้นชาวบ้านมักนำมาใช้ดักนกหรือแมลง
จากคุณ |
:
micheal lee
|
เขียนเมื่อ |
:
2 เม.ย. 55 10:36:21
|
|
|
|
 |