 |
โรคแพ้ยารุนแรง ที่คุณเหมียวตั้มเป็นอยู่ในขณะนี้คือ
- Stevens-Johnson syndrome -
http://haamor.com/knowledge/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84/article/stevens-johnson/#article105
บทนำ
ภาวะ หรือ โรค หรือ กลุ่ม อาการ สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome หรือ เรียกย่อว่า โรค SJS) คือ ภาวะที่ปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้าน ทานของร่างกายตอบสนองผิดปกติต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หรือต่อการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พบบ่อย เช่น จากยา เชื้อโรค และจากโรคมะเร็ง ซึ่งเรียกภาวะนี้ตามชื่อของผู้รายงานภาวะนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1922 คือกุมารแพทย์ชาวอเมริกัน A.M. Steven และ S.G. Johnson โดยพบเด็กมีอาการไข้ มีแผลเต็มปาก ตาอักเสบ และมีผื่นตามตัว
ภาวะสะตีเวนส์ จอห์นสัน และภาวะแพ้ยาที่ก่ออาการต่อผิวหนัง และต่อเยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่างๆอย่างรุนแรง ที่เรียกว่า Toxic epidermal necrolysis หรือ เรียกย่อว่า TEN คือ ภาวะเดียวกัน แต่มีความรุนแรงต่างกัน โดย TEN เป็นภาวะที่รุนแรงกว่ามาก โดยผู้ป่วยจากภาวะ TEN พบเกิดได้น้อยกว่า แต่ที่มีความ สำคัญคือ มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงกว่า
อนึ่ง แพทย์ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ผู้ป่วยคนใดจะเกิดภาวะ สะตีเวนส์ จอห์นสัน และ/หรือภาวะ TEN แต่ที่แน่ชัดคือ ภาวะทั้งสองนี้ มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้เสมอ
อุบัติการณ์ของภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน พบได้ประมาณ 2.6 -7.1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนภาวะ TEN พบได้ประมาณ 0.4 -1.2 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ทั้งสองภาวะเกิดได้ในทุกเชื้อชาติ แต่มีรายงานพบในชาวตะวันตกมาก กว่า เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงในสัดส่วน 2:1 พบได้ทุกวัยตั้งแต่ทารกจนถึงผู้สูงอายุ แต่ช่วงอายุที่พบได้มากสุดคือ 20-40 ปี
ที่น่าสนใจคือ ภาวะทั้งสองนี้ไม่ได้พบแต่เฉพาะในคน มีรายงานว่าเกิดได้ในหมา แมว และลิงด้วย
อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน? ยังไม่ทราบกลไกการเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่ตอบสนองผิดปกติต่อสิ่งแปลก ปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หรือต่อการเจ็บป่วยของร่างกายเอง และทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง และของเยื่อเมือกบุภายในอวัยวะทั่วร่างกาย
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน ได้แก่
1.ไม่ทราบสาเหตุ มีผู้ป่วยอยู่ถึงประมาณ 25-50% ที่หาสาเหตุไม่ได้ว่าสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้
2.ยารักษาโรคต่างๆ เช่น
◦ยารักษาโรคเกาต์ ที่ชื่อว่า Allopurinol เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ◦ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เช่น Amoxicillin, Cloxacillin ◦ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา (Sulfa) เช่น Co-trimoxazole ◦ยาแก้ปวด และยาต้านการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ เอนเสดส์ (NSAIDs) เช่น Diclofenac, Ibuprofen, Indomethacin , Piroxicam, Meloxicam ◦ยาป้องกันอาการชัก ซึ่งรวมถึง Phenytoin, Carbamazepine, Oxcarbazepine, Valproic acid,และ Barbiturates ◦ยาอื่นๆ เช่น ยาปฏิชีวนะชื่อ Gentamycin, Ciprofloxacin ยาต้านอาการเศร้าชื่อ Mirtazapine ยารักษาสิวชื่อ Isotretinoin ยาฆ่าเชื้อราชื่อ Fluconazole ยาต้านเชื้อเอชไอวี (HIV, โรคติดเชื้อเอชไอวี) ชื่อ Nevirapine หรือยาเสพติดโคเคน ก็มีรายงานว่าทำให้เกิดอาการนี้ได้
3.การติดเชื้อ
◦เชื้อไวรัส (โรคจากไวรัส) ที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย คือ ไวรัสเริม (โรคเริม โรคเริมที่อวัยวะเพศ) เชื้ออื่นๆที่พบได้ คือ เชื้อเอชไอวี เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคคางทูม โรคไวรัสตับอักเสบ สำหรับในเด็กมักจะเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ Epstein-Barr virus หรือ เรียกย่อว่า อีบีวีไวรัส (EBV, ทำให้เกิดโรคมีไข้สูง และเจ็บคอ ชื่อ Infectious mononucleosis บางคนเรียกว่า โรค โมโน) และไวรัสกลุ่ม Enteroviruses (ที่ทำให้เกิดโรคไข้ออกผื่น โรคมือ-เท้า-ปาก หรือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
◦เชื้อแบคทีเรีย (โรคจากแบคทีเรีย) เชื้อชื่อ Mycoplasma pneumoniae ที่ทำให้เกิดปอดบวม เชื้อที่ทำให้เกิดโรคไทฟอยด์) (Samonella spp.) เชื้อที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ (Corynebacterium diphtheriae) เชื้อชื่อ Streptoccocus spp. ที่ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง หรือคอแดงอักเสบ
◦เชื้อรา เช่น เชื้อที่ทำให้เป็นโรคกลาก โรคเกลื้อนที่ผิวหนัง
◦เชื้ออื่นๆ ที่มีรายงาน เช่น เชื้อที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย
4.โรค มะเร็ง มีโรคมะเร็งหลายชนิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น โรค มะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่โอกาสเกิดภาวะนี้จากโรคมะเร็งพบได้น้อยมาก
5.พันธุกรรม มีการศึกษาพบว่าคนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน และ TEN สูงกว่าคนทั่วไป เช่น คนเชื้อสายเอเชียที่มีรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า HLA-B*1502 (HLA-B75) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เมื่อได้รับยากันชัก Carbamazepine และ Phenytoin หรือคนเชื้อสายเอเชียและยุโรปที่มีรหัสพันธุกรรม HLA-B*5801 (HLA-B58) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เมื่อได้รับยารักษาโรคเกาต์ ชื่อ Allopurinol โดยพบ ว่าผู้ป่วยประมาณ 60% ที่เกิดภาวะนี้เมื่อได้รับยา Allopurinol จะมีรหัสพันธุกรรมดังกล่าว
6.ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบก พร่อง จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดภาวะนี้ด้วยเช่นกัน เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอสแอลอี (SLE, โรคพุ่มพวง) เป็นต้น
โรคสะตีเวนส์จอห์นสันมีอาการอย่างไร?
โรคสะตีเวนส์จอห์นสัน มักจะเกิดอาการในช่วง 1-4 อาทิตย์ภายหลังกินยา หรือภายหลังติดเชื้อ แต่มีรายงานว่า อาจเกิดภายใน 1-3 วันหลังได้ยาเลยก็ได้ โดยเริ่มต้นจะมีอาการคล้ายเป็น โรคไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยร่างกาย บางคนอาจมีอาเจียน และท้องเสียร่วมด้วยได้ อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่เพียง 1 วัน หรือนานถึง 14 วัน
หลังจากนั้นผู้ป่วยจะปรากฏพยาธิสภาพที่ผิวหนัง และเยื่อเมือกบุอวัยวะต่างๆไปพร้อมๆกัน คือ ตามผิวหนังจะมีผื่นขึ้น เริ่มต้นเป็นผื่นแบนเรียบ ต่อมาจะกลายเป็นผื่นนูนแดงเล็กๆ และขยายออกเป็นผื่นปื้นแดงขนาดใหญ่ ผื่นเหล่านี้จะไม่คัน ในที่สุดผื่นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส และแตกออกหลุดลอกไป กลายเป็นแผลเกิดขึ้น บางครั้งบริเวณตรงกลางของตุ่มน้ำใส อาจกลายเป็นหนอง และมีเนื้อเน่าตายได้ ซึ่งเมื่อไม่มีชั้นผิวหนังปกคลุมแล้ว เนื้อที่อยู่ชั้นใต้ผิวหนังบริเวณนี้จึงเสี่ยงต่อติดเชื้อโรคต่างๆ ส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายได้
บริเวณที่ผื่นมักจะเกิดคือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หลังมือ หลังแขน หน้าขา แต่ไม่ว่าจะเป็นบริเวณไหน ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ยกเว้นบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งในภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน พื้นที่ที่เกิดการหลุดของผิวหนังเมื่อเทียบกับพื้นที่ผิวหนังปกติ จะ ต้องไม่เกิน 10% แต่ถ้ามีการหลุดลอกของผิวหนังเกิน 30%ของพื้นที่ร่างกายจะเรียกภาวะนี้ว่า Toxic epidermal necrolysis (TEN) สำหรับกรณีที่พื้นที่ที่มีการหลุดลอกของผิวหนังอยู่ระหว่าง 10-30% เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะคาบเกี่ยว หรือ Overlapping Stevens-Johnson syndrome/Toxic epidermal necrolysis (SJS/TEN)
สำหรับโรคที่เยื่อเมือก จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะนี้ได้ ต้องพบพยาธิสภาพที่เยื่อเมือก อย่างน้อย 2 ใน 3 แห่งคือ ที่เยื่อเมือกบุตา ปาก หรืออวัยวะเพศ (เช่น บริเวณแคมในของอวัยวะเพศหญิง เยื่อเมือกบุช่องคลอด ทางเดินปัสสาวะ ) ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น เยื่อเมือกบุคอหอย เยื่อเมือกบุหลอดอาหาร เยื่อเมือกบุจมูก เยื่อเมือกบุกล่องเสียง เยื่อเมือกบุหลอดลม เยื่อเมือกบุรอบทวารหนัก โดยพยาธิสภาพจะมีการบวมแดงของเยื่อเมือกเหล่านี้ ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใส และหลุดลอกออก กลายเป็นแผลที่อาจมีเลือดออก และเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนต่างๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นตามอวัยวะที่เกิดอาการ เช่น ถ้าเกิดที่ตา ก็จะมีตาแดง ตาแห้ง หรือน้ำตาไหล ปวดตา เคืองตา ปวดแสบร้อน ถ้าเกิดที่ทางเดินปัสสาวะ ก็จะมีอาการปัสสาวะลำบาก ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปวดท่อปัสสาวะ ถ้าเกิดที่ปาก หรือทางเดินอาหารก็อาจจะกินไม่ได้ กลืนลำบาก กลืนเจ็บ เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เคยเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันมาแล้วหนึ่งครั้ง เมื่อเกิดขึ้นซ้ำอีก อาการจะรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ และมีอัตราตายที่สูงขึ้น เช่น ครั้งแรกอาจเกิดผื่นผิว หนังที่มีบริเวณพื้นที่แค่1 ฝ่ามือ แต่เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นเข้าร่างกายอีกครั้ง ผื่นจะกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขึ้นเกิน 30% ของพื้นที่ร่างกาย ซึ่งเรียกว่าเกิดภาวะ TEN ขึ้นมาแทน
แพทย์วินิจฉัยภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันจากอาการ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังที่เป็นผื่นเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะตรวจพบเซลล์ชั้นผิวหนังกำพร้า (Epidermis) แยกตัวออกจากชั้นใต้ผิวหนังที่เรียกว่า หนังแท้ (Dermis) และพบเซลล์ในชั้นหนังกำพร้ามีการตายเกิดขึ้น รวมทั้งพบมีเม็ดเลือดขาวอยู่ล้อม รอบหลอดเลือดที่อยู่ในชั้นหนังแท้
การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ จะไม่จำเพาะ แต่มีประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) จะพบปริมาณเม็ดเลือดขาวปกติ หรือสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ถ้าสูงกว่าปกติมาก จะช่วยบ่งว่าผู้ป่วยกำลังติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งในกรณีนี้จะต้องเพาะเชื้อจากแผลที่ผิวหนัง และจากเลือดเพื่อระบุหาชนิดของเชื้อต่อไป
การตรวจดูระดับเกลือแร่ในเลือด ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง กินไม่ได้ มีผิวหนังลอกเกิดเป็นแผลซึ่งกินบริเวณกว้าง อาจมีระดับเกลือแร่เสียสมดุล เช่น เกลือโซเดียม และเกลือโปแตสเซียม ต่ำ
ระดับการทำงานของไตอาจผิดปกติ ในผู้ป่วยที่มีผิวหนังลอกเป็นบริเวณกว้าง มีการระเหยสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมาก อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้
มีผลข้างเคียงจากภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร? ภาวะนี้รุนแรงไหม? ในผู้ป่วยทั้งภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน และภาวะ TEN ที่ไม่เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน บริเวณที่มีผิวหนังลอกตัว เป็นแผล จะถูกทดแทนด้วยผิวหนังที่เกิดใหม่ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ ชั้นผิวหนังใหม่นี้จะมีสีเข้มกว่าปกติ บางคนอาจเกิดแผลเป็นนูนได้
โดยทั่วไป ผู้ป่วยทั้งภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน และภาวะ TEN มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ง่าย คือ
การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบริเวณผิวหนังที่มีการหลุดลอก ทำให้เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ เป็นฝีหนอง และเชื้ออาจกระจายเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) เกิดการติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้
ผิวหนังที่มีการลอกตัวเป็นบริเวณกว้าง เมื่อรักษาหายแล้วจะเป็นแผล เป็น และเกิดพังผืดดึงรั้งทำให้เสียรูปร่าง ถ้าผิวหนังบริเวณโคนเล็บมือ เล็บเท้าลอกออกก็อาจทำให้ไม่มีเล็บงอกออกมาอีก ถ้าเป็นบริเวณที่มีขน หรือผม ก็จะไม่มีขนหรือผมงอกอีก
นอกจากนี้ การที่ผิวหนังลอกตัวออกเป็นบริเวณกว้าง ก็จะมีการระเหยสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมาก อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้
เยื่อเมือกบุตาที่มีการอักเสบรุนแรง จะมีการลอกตัวของเยื่อเมือก กระจกตา เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นพังผืด ขุ่นมัว จึงทำให้ตาบอดได้
การลอกตัวของเยื่อเมือกบุหลอดอาหารที่รุนแรง เมื่อหายแล้วจะเกิดเป็นพังผืดดึงรั้ง เกิดหลอดอาหารตีบตัน อาจทำให้กลืนอาหารไม่ได้
การลอกตัวของเยื่อเมือกบุหลอดลมในปอด ถ้าเกิดรุนแรง เป็นบริเวณกว้าง จะทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้
การลอกตัวของเยื่อเมือกบุทางเดินปัสสาวะที่รุนแรง เมื่อหายแล้วเกิดเป็นพังผืดขึ้นมา จะทำให้ท่อทางเดินปัสสาวะตีบตัน ปัสสาวะไม่ออก ในผู้ชายก็อาจทำให้อวัยวะเพศผิดรูป ในกรณีที่เยื่อเมือกบุช่องคลอดเกิดพังผืด ก็จะทำให้ช่องคลอดตีบตัน ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
อนึ่ง อัตราตายของภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน ประมาณ 1-5% แต่ถ้าเป็นภาวะ TEN จะมีอัตราตายประมาณ 25-35%
รักษาภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน ประกอบด้วย
1.การหยุดยาที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้ทั้งหมด
2.การให้ยาฆ่าเชื้อรักษาในกรณีที่ชัดเจนว่าสาเหตุมาจากการติดเชื้อ เช่น เป็นปอดบวมจากการติดเชื้อ Mycoplasma pnemoniae ก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ เป็นโรคเริม ก็ต้องให้ยาต้านเชื้อไวรัสเริม
3.การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ไม่มีข้อสรุปว่าควรให้หรือไม่ให้ บางราย งานระบุว่าการให้ยานี้ทางหลอดเลือด จะช่วยลดความรุนแรงของอาการ และลดระยะเวลาที่มีอาการได้ แต่ก็มีการศึกษาว่า การให้ยาในกลุ่มนี้ไม่ได้มีประโยชน์อย่างที่กล่าว และอาจทำให้ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น โดยเพิ่มอัตราการติดเชื้อได้ ดังนั้นแพทย์จึงมักพิจารณาการรักษาเป็นรายๆไป
4.การให้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ที่เรียกว่า แอนติบอดี (Anti body) หรือ Immunoglobulin ที่แพทย์อาจเลือกพิจารณานำมาใช้ ซึ่งยานี้ยังไม่มีข้อสรุปถึงประโยชน์ที่ชัดเจนเช่นกัน
5.การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ◦การดูแลแผลจากผิวหนังที่หลุดลอก ให้ดูแลแบบผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ คือ การทำแผลที่ผิวหนัง แต่ให้หลีกเลี่ยงยาทาที่มี Sulfonamide เป็นส่วนผสม เช่น Silver sulfadiazine เพราะอาจเกิดการแพ้ยาได้ การให้ยาแก้ปวดลดความปวดที่แผล (ต้องระวังการแพ้ยาเช่นกัน) การเฝ้าระวังการติดเชื้อ การปรับอุณหภูมิห้องให้เย็นเหมาะสมเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกายทางแผลผิวหนัง การให้น้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอโดยอาจให้ทางหลอดเลือดดำ และพิจารณาให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักในรายที่ไม่เคยได้รับมาก่อน
◦หากรับประทานอาหารไม่ได้ อาจใส่สายให้อาหารผ่านทางจมูกเข้าสู่กระเพาะอาหาร เพื่อเป็นการให้อาหารได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย แต่ถ้าเยื่อเมือกบุจมูก และเยื่อเมือกบุหลอดอาหารมีแผล ก็จำเป็นต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดแทน ◦แผลในปากให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาบ้วนปาก และทายาที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น Glycerin และอาจใช้ชนิดที่มียาชาผสมเพื่อลดอาการเจ็บปวด
◦การให้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ลดการอักเสบที่ผิวหนัง
◦ผู้ป่วยที่มีแผลเพียงเล็กน้อย สามารถกินอาหารได้ อาจให้ผู้ ป่วยอยู่ที่บ้านได้ และรักษาแผลแบบผู้ป่วยนอก แต่ผู้ป่วยต้องระวังความสะอาดให้ดี ไม่ให้แผลติดเชื้อ
◦แผลที่เกิดกับเยื่อเมือกบุตา จักษุแพทย์จะเป็นผู้ดูแลรักษา และอาจต้องติดตามดูแลกันนานเป็นปีๆ
6.การรักษาผลข้างเคียง หรือผลแทรกซ้อนจากภาวะนี้ เช่น เมื่อพบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยที่มีแผลจากการหลุดลอกของผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง อาจเกิดเป็นพังผืดดึงรั้งให้ผิดรูป ก็ต้องผ่าตัด ปลูกถ่ายผิวหนัง ผู้ป่วยที่มีพังผืดเกิดขึ้นที่ตา ปัจจุบันก็มีการนำเทคนิคการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) และ/หรือทำการผ่าตัดบางส่วนของกระจกตา เป็นต้น ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร? การดูแลตนเอง และการป้องกันภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน ที่สำคัญ คือ
1.สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน และ TEN ไม่มีวิธีไหนที่สามารถป้องกันการเกิดภาวะเหล่านี้ได้ และไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับยา หรือติดเชื้อโรคใดเข้าไป บอกได้เพียงแค่ว่า ท่านที่มีญาติที่เคยเกิดภาวะเหล่านี้ อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่จะเกิด หรือถ้าหากได้รับการตรวจรหัสพันธุกรรมแล้วพบว่ามี HLA-B*1502 และ HLA-B*5801 (บ้านเรา การตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งสอง ยังไม่สามารถให้บริการปกติได้ และมีบริการการตรวจเฉพาะเพียงบางโรง พยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น) ก็ต้องระวังการได้รับยา Carbamazepine Phenytoin และ Allopurinol
2.ผู้ที่เคยเกิดภาวะนี้มาแล้ว ถ้าพบว่าสาเหตุมาจากยา ก็ต้องจดจำชื่อตัวยาสามัญ (Generic name) ที่ไม่ใช่ชื่อการค้า หรือชื่อยี่ห้อ (Trade name) เพราะชื่อทาง การค้าจะมีหลากหลายมากจนไม่สามารถจำได้ และพกบัตรที่ระบุการแพ้ยาดัง กล่าวไว้กับตัวตลอดเวลา หรือพกไว้เป็นสายสร้อยข้อมือ หรือสร้อยคอก็ได้ ไม่ควรซื้อยากินเองโดยไม่จำเป็น และต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบทุกครั้งว่าท่านแพ้ยาอะไร ห้ามใช้สมุนไพร หรืออาหารเสริมที่ไม่ได้ระบุส่วนผสมทั้งหมด
3.ผู้ที่เคยเกิดภาวะนี้มาแล้วจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ติดเชื้อไวรัสเริม แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเริมกินป้องกันตลอดไป ถ้าเป็นเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ โรคคอตีบ โรคคางทูม ก็ต้องให้วัคซีนป้องกัน เป็นต้น ในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุว่า ภาวะนี้เกิดจากอะไร (ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่) ก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบถ้วนทุกมื้ออาหารในปริมาณเหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิด โรคอ้วน หรือ น้ำหนักตัวเกิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด เพื่อให้ร่างกายไม่เจ็บป่วยเป็นโรค ซึ่งคือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง ไม่ใช้ยาสมุนไพร อาหารเสริมพร่ำเพรื่อ และระมัดระวังในการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ที่มีผื่นแดง หรือเป็นผื่นตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นที่ผิวหนัง และ/หรือในปาก และ/หรือที่ตา ภายหลังการกินยา หรือร่วมกับมีไข้ หรือไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์ (โดยเฉพาะเมื่อเกิดที่ตา เพราะการพบแพทย์ล่าช้า ตาอาจบอดได้) เพื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผื่นที่เกิดจากอะไร และให้นำยาทั้งหมด (ไม่ว่าที่ซื้อกินเองหรือแพทย์แนะนำ) อาหารเสริม และสมุนไพร ที่ได้กินในช่วงเวลา 1-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ มาให้แพทย์ดูด้วย เพื่อช่วยการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง รวดเร็ว
บรรณานุกรม
1.Steven Johnson syndrome. http://med.tu.ac.th/Uploads/sheet/wimonwan.pdf [2011, Sept 24]. 2.Stevens Johnson syndrome. http://en.wikipedia.org/wiki/Stevens%E2%80%93Johnson_syndrome [2011, Sept 24]. 3.Dermatologic Manifestations of Stevens-Johnson Syndrome and Toxic Epidermal Necrolysis. http://emedicine.medscape.com/article/1124127-overview#showall [2011, Sept 24].
พญ. สลิล ศิริอุดมภาส พบ. วว. พยาธิวิทยากายวิภาค
--------------------------------------------------------------------------------
ถ้าคุณเหมียวตั้มยังมีบุญ มีผู้บริจาคค่ารักษาให้ใน ร.พ. อื่น ที่จะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูงค่ะ
ซึ่งการรักษาโรคนี้ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพราะเนื่องจากตั้มไม่สามารถอยู่ห้องไอซียูแบบธรรมดาได้ ต้องอยู่ไอซียูแบบพิเศษ เท่านั้นค่ะ
จากคุณ |
:
~ เหมียวอารีย์ ~
|
เขียนเมื่อ |
:
28 มิ.ย. 55 16:24:27
|
|
|
|
 |