Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"เศษกระจก" มากกว่าอีโค ติดต่อทีมงาน

.................................กว่าจะเคาะ 10 ไอเดียดีไซน์ให้ออกมาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเศษกระจก ไม่ว่าจะเป็น แจกันหน้าตาแปลกใหม่ กระจกพิมพ์ลายในแบบย้อนยุคสำหรับตกแต่ง กระถางประหยัดพื้นที่ใช้สอยและโต๊ะกระจก "ไทยเทคโนกลาส" ผู้ผลิตกระจกตกแต่งอาคารมากว่า 20 ปีถึงกับออกปากว่า ใช้เวลาสร้างสรรค์นานและยากกว่าการสร้างอาคารกระจกใสที่สะท้อนความหรูหราทันสมัย

                               เศษกระจกกว่า 20 ตันต่อเดือนเหลือทิ้งจากขั้นตอนการตัดแต่งระหว่างการก่อสร้างอาคาร เป็นโจทย์จากบริษัท ไทยเทคโนกลาส จำกัด ที่ต้องการให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าขายทิ้ง ซึ่งกลายเป็นเศษที่ไม่มีค่า ขายไม่ได้ราคา


hahaกระจายไอเดีย

..................................นอกจากงานออกแบบกระจกรูปแบบใหม่เพื่อใช้ตกแต่งอาคารสำนักงานและสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่บริษัทให้ความสำคัญ ย้อนกลับเมื่อ 5-6 ปีก่อน "พลัฏฐ์ เลียวกิจสิริ" ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมบีเอสจีกลาส บริษัท ไทยเทคโนกลาส จำกัด เริ่มให้ความสนใจกับเศษที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมศึกษารูปแบบของเศษกระจก กระบวนการผลิต และนำกลับไปคิดต่อว่าจากเศษที่มีอยู่นั้นจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร กระทั่งเกิดไอเดียใหม่ในการพลิกมุมมองเปลี่ยนเศษกระจกใสให้กลายเป็นดีไซน์โดนใจ

                                เขายอมรับว่า ในกระบวนการผลิตนอกจากเศษแล้ว ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือกากวัสดุที่ต้องกำจัด เช่น กระบวนการขัดเจียรขอบกระจก ซึ่งทำให้เศษกระจกส่วนหนึ่งไหลปะปนไปกับน้ำ จำเป็นที่ต้องคัดแยกออกเพื่อป้องกันปัญหาท่อตัน และบำบัดน้ำเสียก่อนลงสู่แหล่งน้ำ

                                สิ่งแรกที่พลัฏฐ์เริ่มต้นทำคือ การคัดแยกเศษที่มีอยู่ทั้งหมด จัดกลุ่ม ขนาด ความหนาและสี เพื่อดูว่าจะนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ทั้งในมุมของเทคโนโลยี และการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบสินค้าใหม่

                               "คนอาจมองว่าสินค้าที่เกิดจากเศษจะไม่สามารถขายได้ในราคาสูง แต่ผมกลับมองว่า กว่าจะนำเศษมาผลิตเป็นสินค้าได้นั้นต้องอาศัยความคิด ความพยายาม และการลองผิดลองถูก ซึ่งอาจจะนานและยากกว่าการพัฒนาสินค้าจากวัตถุดิบที่สมบูรณ์" เขาให้ความเห็น

                                วันนี้สินค้ากว่า 10 ดีไซน์ ถูกเคาะออกมาเป็นต้นแบบ โดยเน้นไปที่สินค้าในกลุ่มตกแต่งบ้าน พร้อมกันนี้เขายังมองถึงการพัฒนาสินค้าใหม่โดยอาศัยเทคโนโลยี เช่น ใส่สี กลิ่น เพิ่มคุณสมบัติพิเศษ ที่เป็นได้มากกว่าของประดับตกแต่ง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งในรูปแบบอื่นมากขึ้น

                               "สำหรับตัวผมเองการพัฒนาสินค้าจากเศษวัสดุนั้น เน้นไปที่การปรับวัสดุที่มีอยู่ให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละประเภท และอยากเห็นลูกค้าชอบในดีไซน์ของสินค้า มากกว่าที่จะใช้คำว่า "อีโค" เป็นจุดขาย" เขากล่าว


hahaขยับสู่ตลาด

.................................ความสำเร็จของบีเอสจีกลาส เกิดจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "เปลี่ยนขยะเป็นทอง : รับกระแสโลกร้อน" สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ โดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทเอกชนที่สนใจ เพื่อทำโครงการนำร่องพิสูจน์ให้เห็นว่า วัสดุที่เหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการผลิต สามารถสร้างมูลค่า ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด

                               ผศ.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสริมว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 20 บริษัท ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 300 ชิ้นที่มีศักยภาพด้านการตลาด โดยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และแรงผลักดันจาก สวทช. ที่ช่วยให้บริษัทเอกชนเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง

                                นอกจากนี้ ทางโครงการพร้อมให้การสนับสนุนต่อธุรกิจ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ได้เปลี่ยนรูปแบบจากธุรกิจเดิมเป็นธุรกิจใหม่ ที่บริษัทไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการตลาดมาก่อน ตลอดจนนำตัวอย่างสินค้าที่เป็นผลผลิตของโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทอง ไปจัดแสดงในงานเฟอร์นิเจอร์ระดับชาติ หรือ TIFF 2012

                               “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเศษวัสดุ ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตไปจากเดิม บางครั้งแค่เปลี่ยนแนวคิด สร้างมุมมอง หาจุดเด่น และต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ด้วยความตั้งใจจริง และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค” ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกล่าว และบอกว่า การต่อยอดเศษวัสดุให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องอาศัยเวลา และความเอาใจใส่จึงจะประสบผลสำเร็จ

ที่มา  http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/464036

 
 

จากคุณ : ญี่ปุ่น35
เขียนเมื่อ : 1 ส.ค. 55 01:17:06




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com