 |
๒. พวกออร์กะโนฟอสเฟต (Organophosphate)
เป็นยาปราบศัตรูพืชที่ใช้กันมากในขณะนี้ ซึ่งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ในจำพวกนี้ที่แพร่หลาย และเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปก็คือ พาราไธออน (Parathion) หรือในนามของยาโฟลิดอล (Folidol), E ๖๐๕ หรือยาเขียวฆ่าแมลง หรือยาฆ่าแมลงตราหัวกะโหลกไขว้ ยานี้ได้มีหลายบริษัทผลิตออกจำหน่าย ซึ่งมีชื่อทางการค้าต่าง ๆ กันเช่น อีคาท็อกซ์ (Ekatox), เพอร์เฟคไธออน (Perfekthion), เมตาซีสต๊อกซ์ (Metasystox), โอโซ (OZo), ออร์โธฟอส (Orthophos), พาราเฟต (Paraphate) เป็นต้น ห้างร้าน หรือบริษัทในประเทศไทยบางรายได้นำสารนี้มาผสมและจำหน่าย มีชื่อในทางการค้าต่างๆ กัน เช่น ยาฆ่าแมลง ๑๐๐% บ้าง ยาฆ่าแมลงตราหัวกะโหลกไขว้บ้าง และสูตรทางเคมีก็มีวิวัฒนาการเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสารเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง แต่กลไกในการออกฤทธิ์ยังคงเหมือนเดิม ฉะนั้น พาราไธออนจึงเป็นตัวแทนของสารกลุ่มนี้ ในปัจจุบัน พาราไธออนกำลังเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งในประเภท "อันตรายอันเกิดจากสิ่งมีพิษ" พาราไธออนเป็นสารประกอบ ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า Diethyl-pnitrophenylthio-phosphate มีสูตรทางเคมีว่า C10H14NO5PS มีลักษณะเป็นวัตถุเหลวข้น สีเหลือง หรือสีน้ำตาลแก่ สารชนิดนี้ละลายน้ำได้เพียงเล็กน้อยประมาณ ๑ : ๕๐,๐๐๐ แต่ละลายได้ดีในอีเธอร์ และคลอโรฟอร์ม และจะสลายตัวได้ง่าย เมื่อถูกกับกรดหรือด่าง หรือถูกกับแสงแดด มีกลิ่นเหม็น ผู้ที่เคยดมกลิ่นเพียงครั้งเดียวก็จะจำได้ เพราะมีกลิ่นเหม็นเป็นพิเศษ โดยปกติร่างกายเมื่อมีการทำงานของระบบประสาทต่างๆ จะเกิดสารเคมีชนิดหนึ่ง เรียกว่า อเซตทิลโคลิน (Acetylcholine) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสื่อนำกระแสประสาทผ่านไปยังอวัยวะที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยง และจะถูกย่อยและสลายไปตามธรรมชาติในร่างกาย โดยเอนไซม์ที่เรียกว่า โคลินเอสเตอร์เรส (cholinesterase) และจะเกิดขึ้นมาใหม่อีก เมื่อมีการกระตุ้นของระบบประสาทดังกล่าว การออกฤทธิ์ของยาฆ่าแมลงพวกนี้ เมื่อเข้าไปในร่างกายจะไปจับกับเอนไซม์ โคลินเอสเตอร์เรส (cholinesterase) กลายเป็นสารคงทนถาวรสลายตัวได้ยาก และกินเวลานาน ฉะนั้นจึงไม่มีเอนไซม์ไปย่อยหรือสลายอเซตทิลโคลิน (Acetylcholine) ที่เกิดขึ้นในร่างกายให้หมดไปตามธรรมชาติ ดังนั้นร่างกายจะมี acetylcholine คั่งหรือเพิ่มมากขึ้นทุกที จนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย ฉะนั้นพิษของพาราไธออนก็คือ การที่มีอเซตทิลโคลินในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการที่เกิดจากพิษพาราไธออนก็เหมือนกับการกระตุ้นประสาทที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ
การเข้าสู่ร่างกายของพาราไธออน
พาราไธออน เข้าสู่ร่างกายได้ ๓ ทาง คือ
(๑) ทางการหายใจ โดยสูดเอาฝอยละออง ของสารนี้เข้าไป (๒) ทางปาก โดยการกินเข้าไป (๓) ทางผิวหนัง
การเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจและการกิน จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าทางผิวหนัง แต่ส่วนมากเกษตรกรมักได้รับพาราไธออนเข้าไปในร่างกายทางผิวหนัง
(๑) การเข้าของพาราไธออน ทางการหายใจ
อาจจะเกิดขึ้นได้ดังนี้ คือ ผู้ที่ใช้พาราไธออนฉีด สำหรับฆ่าแมลงนั้น ฉีดยาทวนกระแสลม ขณะที่ฉีดไป ลมก็จะพัดมาทางผู้ฉีด ผู้ฉีดก็หายใจเอายา เข้าไปทีละน้อยๆ จนในที่สุดยาเข้าไปสะสมในร่างกายมากเข้า ก็เกิดอาการแพ้ หรือขณะที่ฉีดอยู่เหนือลม แต่บังเอิญเกิดลมแรง และหวนกลับมา ทำให้ผู้ฉีดสูดเอาฝอยละอองของยาเข้าไปมาก ในการฉีดยาขึ้นไปบนต้นไม้สูงๆ ผู้ฉีดเข้าไปใกล้ ต้นไม้นั้นเกินไป เมื่อฉีดแล้ว ฝอยละอองของยา ตกลงมาเบื้องล่าง ก็ทำให้ผู้ฉีดต้องสูดเอาฝอยละอองของยาเข้าไป จนเกิดอาการแพ้ยาได้
(๒) การเข้าของพาราไธออนทางปาก
โดยวิธีนี้ อาจเกิดขึ้นได้ คือ
โดยอุบัติเหตุ คือไม่ทราบว่า เป็นยา สำหรับรับประทาน เช่น ยาธาตุ หรืออื่นๆ หยิบยาผิดรับประทานเข้าไป มักจะเกิดแก่คนที่ชรา ซึ่งสายตาไม่ค่อยดี หรือเกิดแก่เด็กๆ ที่ซุกซน หยิบยากินเข้าไปโดยไม่ทราบว่าเป็นอะไร หรือในบางรายที่ใช้ภาชนะผสมยาฆ่าแมลงแล้วทิ้งไว้ ไม่ทำลายให้หมดไป เช่น ใช้กระป๋องนมข้นที่ใช้แล้วผสมยาเสร็จแล้วทิ้งไว้ที่กองขยะ หรือตามบ้าน มีคนเก็บเอาไปขาย และในที่สุดนำมาใส่กาแฟกิน คนที่กินเข้าไปอาจเกิดอาการแพ้ได้
ผลไม้บางอย่าง เช่น พุทรา ซึ่งเพิ่งฉีดยา ฆ่าแมลงมาแล้วเพียง ๒-๓ วัน ยังมียาฆ่าแมลงเหลือค้างอยู่ กินเข้าไปก็อาจทำให้เกิดพิษได้ เพราะยาฆ่าแมลงจะค้างอยู่ถึง ๗ วัน จึงจะหมดไป แม้ว่าจะล้างให้สะอาด ก็ไม่สามารถทำให้หมด ไปได้ เพราะพาราไธออนจะถูกดูดซึมเข้าไปใน เนื้อของผลไม้ด้วย และกว่าจะสลายตัวไปหมด ก็กินเวลาประมาณ ๗ วัน การสลายตัวของสารนี้ จำเป็นต้องใช้แสงแดด และผลไม้นั้น ต้องติดอยู่กับต้นไม้ การสลายตัวจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี หากเราใช้ยานี้ฉีดผลไม้แล้ว ๒-๓ วัน จากนั้น เก็บผลไม้มา ยาจะยังสลายตัวไม่หมด ถึงแม้ว่าจะเก็บผลไม้นั้นไว้ยังไม่รับประทาน แต่การสลายตัวของยาก็จะช้าลง ใช้เวลานานกว่าเมื่อผลไม้นั้นยังติดอยู่กับต้นไม้ ผักก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้น ควรเก็บผักหรือผลไม้ หลังจากฉีดยาไปแล้ว ประมาณ ๗ วัน จึงจะปลอดภัย เมื่อรับประทาน
(๓) การเข้าของพาราไธออนทางผิวหนัง
จะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะยาเมื่อถูกกับผิวหนังก็จะซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยเราไม่รู้ตัว เพราะไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หรืออักเสบแก่ผิวหนังแต่ประการใดเลย ที่เราพบได้บ่อยๆ ก็คือ ผู้ที่ใช้ยานี้ เวลาผสมยาใช้มือของตัวเองกวนกับน้ำที่ผสมยา โดยไม่ใช้ไม้หรือสิ่งอื่น และโดยเฉพาะเวลาฉีดยา เกษตรกรมักใช้ยาฆ่าแมลงละลายน้ำ แล้วใส่ในเครื่องพ่นสะพายข้างหลัง ภาชนะที่ใส่ยาไม่ดี เก่าเกินไป อาจจะรั่ว ทำให้น้ำยาหกเปรอะเปื้อนตัวเอง ซึ่งผู้ใช้ก็ไม่ทราบว่า ยาสามารถซึมเข้าทางผิวหนังได้ เมื่อทิ้งไว้นานโดยไม่ล้างน้ำยาออกจากตัวเสียด้วยสบู่ ก็อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ง่าย รายที่เป็นโรคผิวหนัง ผื่นคัน หรือมีแผล จะดูดซึมเข้าดียิ่งขึ้น หรือถ้าอากาศร้อน รูเหงื่อจะเปิดกว้าง ทำให้ยาฆ่าแมลงซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี
จากคุณ |
:
รักคุณแฟน
|
เขียนเมื่อ |
:
5 พ.ย. 55 09:36:39
|
|
|
|
 |