ความคิดเห็นที่ 2
ถ้าจะทำเพื่อการค้า ตลาดนี้ก้อน่าสนใจนะคะ ^^ . วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2544 ปีที่ 7 ฉบับที่ 74
เกษตรสร้างอาชีพ
"นมแพะ" นมดีที่คนไม่ดื่ม หันมาจับตลาดสุนัข พุ่งพรวด
"ขายเนื้อครับ"
นี่คือ คำตอบของ คุณวิรัตน์ เชี่ยวชาญวลิชกิจ ชายหนุ่มวัย 36 ปี เจ้าของฟาร์มเลี้ยงแพะและแกะ ภัทรฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าหวาย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี กล่าว เมื่อเอ่ยถามว่า เมื่อแรกที่คิดเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะนั้น ตั้งใจเลี้ยงหวังจะได้ประโยชน์จากเนื้อหรือหวังผลผลิตเป็นน้ำนม
แต่แล้วในเมื่อเลี้ยงมาได้สักระยะหนึ่ง ขายแพะและแกะไปเป็นแพะเนื้อ แกะเนื้อ ไปจำนวนไม่น้อย ซึ่งก็ต้องตระเวนหาพันธุ์แพะและแกะมาเพิ่มเติมทดแทนที่ขายไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งคุณวิรัตน์ตระเวนไปถึงอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พบคุณยายคนหนึ่งอายุ 90 ปีเศษ เลี้ยงแพะรีดนมแพะส่งขายจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะได้รับคำแนะนำจากคุณยายท่านนั้น
คุณวิรัตน์ เผยว่า ความคิดใหม่ที่ได้จากคุณยายเจ้าของฝูงแพะเล็ก ๆ 30-40 ตัว ที่เลี้ยงแล้วรีดนมส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อนำไปให้ผู้ป่วยดื่ม
"คุณยายแกว่า หลานทำไมไม่เลี้ยงไว้รีดนมละ นี่ของแก 30-40 ตัว แกเลี้ยงแพะรีดนมมาตั้งแต่อายุ 30 ปี จนเวลานี้ 90 หรือ 95 ปีแล้ว ยังแข็งแรงอยู่เลย ยายมีนมขาย นอกจากคุณยายท่านนี้แล้วยังมีนักธุรกิจที่เชียงใหม่อีกรายที่เลี้ยงแพะผลิตน้ำนมออกมาสู่ตลาด ผมก็แวะไปคุยกัน" คุณวิรัตน์ กล่าว
เมื่อได้รับคำแนะนำ เมื่อหาข้อมูลเรื่องน้ำนมแพะ และตลาด จึงมองเห็นช่องทางว่า ตลาดน้ำนมแพะน่าจะไปได้ ในที่สุดจึงแปรแนวที่เดิมจะเลี้ยงแพะเพื่อขายไปเป็นแพะเนื้อกลายมาเป็นเลี้ยงเพื่อผลิตน้ำนมแทน
นั่นคือ เหตุผลที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากแพะเนื้อมาเป็นแพะนม แต่ว่าก่อนจะมาเลี้ยงแพะนั้น คุณวิรัตน์ เป็นมือเลี้ยงสัตว์อย่างอื่นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น เป็ด ไก่ หรือหมู และแพะนั้นเจตนาดั้งเดิมคือเลี้ยงเพื่อใช้ทดแทนเครื่องตัดหญ้าเท่านั้น
เขาบอกว่า เนื่องจากว่าที่ดินที่มีอยู่นั้นจะรก จึงต้องตัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่เรื่อย ๆ จึงคิดเลี้ยงแพะไว้ให้กินใบไม้ยอดไม้ที่ขึ้นมา กินหญ้าให้หายรก ซึ่งเดิมพื้นที่บางส่วนเคยใช้ปลูกหญ้าลูซี่เพื่อเลี้ยงวัวและทำหญ้าแห้งขาย แต่ต่อมาเลิก เพราะหญ้าราคาตกถูกกว่าราคาฟาง หญ้าจึงขึ้น วัชพืชต่าง ๆ ก็แย่งกันขึ้น จนคิดจะนำแพะมาเลี้ยงกำจัดแทนการจ้างแรงงานถางหรือตัด
"ผมซื้อแม่แกะมาก่อน อายุราว ๆ 1 ปี ตัวหนึ่ง 285 บาท เริ่มซื้อมา 40 ตัวก่อน คิดว่าดีกว่าซื้อเครื่องตัดหญ้า พอเลี้ยงแพะ กะว่าจะให้ช่วยกินหญ้า เลี้ยงไป 4-5 เดือน ก็มีคนดมกลิ่นมาเจอ มาซื้อแพะไป ตัวละ 600 บาท ผมคิดว่าทำไมราคามันดีอย่างนี้นะ เขามาซื้อนับเงินสด ๆ วางให้ผม ผมขายยกทิ้งไปเลย หมดคอกเลย"
เมื่อขายแพะไปหมด คุณวิรัตน์ บอกว่า เวลาผ่านไป หญ้าในแปลงเดิมก็ขึ้นรกมาอีกตามระยะเวลา จึงคิดหาทางกำจัดอีก ครั้งนี้คุณวิรัตน์ตัดสินใจซื้อเป็นแพะแทน แต่ว่าราคาแพะขึ้นไปถึงตัวละ 700 บาท ซึ่งแพงกว่าเดิมมาก แต่มาคิดทบทวนดูแล้ว ก็ยังดีกว่าซื้อเครื่องตัดหญ้าอีกนั่นละ ตัดสินใจซื้อแพะมา 70 ตัว ซื้อมาเลี้ยงเที่ยวนี้ปรากฏว่าแพะออกลูกดีมาก พ่อค้ารายเดิมแวะมาอีก เสนอราคาตัวละ 1,200 บาท ให้ แพะทั้งแม่ทั้งลูกกว่า 100 ตัว ถูกกวาดต้อนไปหมด ในราคาตัวละ 1200 บาท นับเป็นผลตอบแทน
อีกรอบหนึ่งคุณวิรัตน์ซื้อแพะมาจำนวน 100 กว่าตัว เป็นแพะรุ่นสาว ๆ เป็นส่วนใหญ่ เลี้ยงไปได้ระยะหนึ่ง พ่อค้ารายเดิมกลับมาขอซื้ออีก เขาปฏิเสธ แต่ขายเฉพาะแพะตัวผู้ไป เก็บแพะตัวเมียเลี้ยงไว้ให้ออกลูก ให้นมแทน
"แพะจะอุ้มท้อง 5 เดือน ก็ตกลูกออกมา 6-7 เดือน ก็พร้อมผสมใหม่ และอุ้มท้อง 5 เดือน ก็ออก ตกลงปีหนึ่งท้องได้ 2 ครั้ง คลอดครั้งละ 1-3 ตัว"
แรก ๆ คุณวิรัตน์ ก็ผลิตน้ำนมแพะออกมา โดยพุ่งเป้าไปที่ตลาดนมสำหรับคนดื่ม คิดจะทำใส่ซองแช่แข็ง ก็ทำแล้วนำออกขายในหมู่คนรู้จัก ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง
"ปรากฏว่าขายไม่ดีเลย เผอิญว่า ผมเพาะเลี้ยงสุนัขด้วย ผมเปิดในหนังสือต่างประเทศเกี่ยวกับสุนัข มันก็มีเรื่องนมแพะเลี้ยงสุนัข ผมเลยคิดว่าอย่างนั้น เราน่าจะผลิตนมแพะนี่ขายพวกเลี้ยงสุนัขได้ ผมเลยแพร่ความคิดนี้ให้พวกที่เลี้ยงสุนัขรู้ ผมเริ่มเอานมแพะให้สุนัขที่ผมเลี้ยง ผมพบว่าสุนัขของผมสุขภาพดี อ้วนท้วนแข็งแรง คนที่เลี้ยงสุนัขก็เริ่มสนใจว่า เป็นไปได้"
เมื่อแรกที่เริ่มต้น เริ่มสำหรับผลิตนมให้คนดื่ม แต่ว่าไม่ได้รับการต้อนรับจากตลาดเท่าที่ควร เขาจึงหันมาเผยแพร่ในหมู่ผู้เลี้ยงสุนัข และเริ่มได้รับการต้อนรับด้วยดี เขาจึงมองหาช่องทางการตลาด แหล่งปล่อยสินค้านมแพะสำหรับสุนัขที่ดีที่สุดคือ ร้านเพ็ตช็อป แต่ตลาดนมพร้อมดื่มสำหรับคนก็ยังคงทำควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน
เมื่อถามถึงกำลังการผลิต ยอดขายในปัจจุบัน คุณวิรัตน์ เผยว่า กำลังการผลิตในเวลานี้ อยู่ที่เดือนละ 10 ตัว เพราะมีแม่แพะอยู่ถึง 500 ตัว แต่ยังส่งขายได้ในจำนวนไม่มากนัก คือเพียง เดือนละ 3 ตัน ส่วนน้ำนมที่เหลือก็ใช้เลี้ยงลูกแพะในฟาร์มไป
สำหรับคุณภาพนมแพะจากฟาร์มนั้น คุณวิรัตน์ ยืนยันว่าได้รับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพแล้ว เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการศึกษาจากทีมนิสิตคณะสัตว์แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะจากการศึกษาของนิสิต จากคณะสัตวแพทย์ฯ นั้นชี้ว่ามีคุณภาพดีกว่านมโค
สำหรับภาคการผลิตนั้น คุณวิรัตน์ รับผิดชอบดูแลที่ฟาร์ม จังหวัดราชบุรี เวลานี้ซื้อแม่พันธุ์แพะมาในราคาสูงกว่าเดิมสมัยเมื่อเริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ เพราะหากเป็นแพะแม่พันธุ์นำมาขยายพันธ์ตัวละ 3500-5000 บาท และหากเป็นแพะเพื่อนำมารีดนมราคาจะสูงถึง 7000-10,000 บาท แต่คุณวิรัตน์กล่าวว่า เวลานี้ไม่มีปัญหามากนักเพราะแม่พันธุ์ที่ซื้อมานั้นรีดนมปีหนึ่งก็สามารถคืนทุนได้แล้ว
ส่วนภาคการตลาดนั้น เวลานี้ คุณธเนตร์ เพียรพรเจริญ เข้ามารับหน้าที่เพื่อผลักดันสินค้าตัวนี้-นมแพะ ทั้งชนิดพร้อมดื่มสำหรับคนและสำหรับสุนัขออกสู่ตลาดให้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางมากขึ้น
คุณธเนตร์ เผยว่า ปัจจุบันภัทรฟาร์ม ผลิตนมแพะออกสู่ตลาดโดยส่งไปยังศูนย์จัดจำหน่าย จำนวน 14 ศูนย์ โดยเป็นศูนย์ในเขตกรุงเทพฯ 10 ศูนย์ และในต่างจังหวัดคือที่ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานีและระยอง
ทั้งนี้ นมแพะสำหรับสุนัขที่ออกสู่ตลาด ถูกบรรจุในภาชนะบรรจุเป็นกระป๋อง ขนาด 240 ซีซี เหตุที่บรรจุกระป๋องก็เพราะให้สะดวกในการขนส่ง และการจัดเก็บด้วย
ครั้นเมื่อถามถึงการขยายศูนย์เพิ่มขึ้น คุณธเนตร์ กล่าวว่า ขณะนี้พร้อมจะเปิดศูนย์จัดจำหน่ายนมแพะสำหรับสุนัขขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ หากว่ามีผู้สนใจจะเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยเฉพาะกรณีที่เป็นเพ็ตช็อปอยู่แล้ว หากว่าอยู่ในจังหวัดที่นอกเหนือจาก 4 จังหวัด ดังกล่าวแล้ว
ใครที่มีกิจการเพ็ตช็อปอยู่แล้วสนใจ หรือคิดว่ามีกิจการอย่างอื่นอยู่แล้วและพร้อมที่จะนำนมแพะสำหรับสุนัขเข้าไปเพิ่มชนิดสินค้าในร้าน โดยคาดว่าจะมีกลุ่มลูกค้าผู้เลี้ยงสุนัขเพียงพอ สามารถติดต่อไปได้เลย เพราะจากการทดลองเริ่มต้นเปิดศูนย์โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ดังที่กล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีลูกค้าจำนวนมากให้การต้อนรับ
"ราคาปลีก ขายกระป๋องละ 35 บาท ราคาส่งอยู่ที่ 25 บาท ที่เพิ่งออกตลาดไปศูนย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดเร็ว แล้วลูกค้าตอนแรก ๆ เข้ามาซื้อทดลองก่อน กระป๋องหนึ่งสองกระป๋อง แต่พอต่อมาก็ยกโหลกันไปเลย เพราะชนิดบรรจุกระป๋องนี้ เก็บได้นาน 1 ปี เนื่องจากเราบรรจุโดยระบบสเตอริไลซ์"
คุณธเนตร์ เผยว่า นมแพะกระป๋องสำหรับเลี้ยงสุนัขที่ภัทรฟาร์มผลิตขึ้นมา เป็นนมที่มีความเข้มข้น 110 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่า ก่อนบรรจุได้ดึงน้ำออกจากนม 10 เปอร์เซ็นต์
แล้วสุนัขชนิดไหน ในภาวะอย่างไร ถึงต้องการนมแพะสำหรับเป็นอาหาร คุณธเนตร์ เผยว่า มีหลายชนิดเช่น ลูกสุนัขที่แม่ตาย ไม่มีนมแม่กิน เต้านมอักเสบหรือนมเป็นพิษ หรือน้ำนมไม่พอ ก็ต้องใช้นมกระป๋อง ซึ่งแต่เดิมมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ขนาดเท่ากันราคากระป๋องละ 160-180 บาท ในขณะที่ นมแพะสเตอริไลซ์ ของภัทรฟาร์มราคาต่ำกว่ามาก
"คนเลี้ยงสุนัขเดิมถ้าเจอปัญหานี้ก็ต้องวิ่งหานมวัว แต่นมวัวจะมีปัญหา สุนัขกินแล้วท้องเสีย ทั้งการดูดซึมไม่ดีเท่านมแพะ"
คุณธเนตร์ เผยว่า ปัจจุบันนี้ ปริมาณน้ำนมแพะที่ออกสู่ตลาดเป็นอาหารนมสำหรับสุนัขนั้นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการของตลาดเท่านั้นเอง เนื่องจากตลาดกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขกว้างมาก มีคนเลี้ยงสุนัขจำนวนมาก ยิ่งในอนาคตคนจะนิยมเลี้ยงสุนัขกันมากขึ้นเพราะครอบครัวมีแนวโน้มจะกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จึงต้องการเพื่อน จึงเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อน
จากคุณ :
ว่านน้ำ
- [
17 ก.ย. 46 22:41:50
]
|
|
|