เอางั้นเลยนะท่านประธานหูถ่าน
ท่านจะทิ้งเจ้าTank หันมาเลี้ยงบีเกิ้ลแล้วเหรอครับ
เรื่องราวของบีเกิ้ลนั้น ตัวผมเองกับคุณ Vet remix และผู้รู้หลายๆท่านได้ ช่วยกันค้นคว้าและเผยแพร่ในเว็บไชต์ของชมรมเรียบร้อยแล้ว และยังทยอยนำเรื่องใหม่ๆมาลงให้อ่านกันอยู่เสมอที่
http://www.beaglethai.com
และหาความรู้เพิ่มเติมในภาคภาษาไทยได้อีกที่
http://www.x-plorerskennel.com
http://www.thecaesar.com
สำหรับในภาคภาษาอังกฤษขอเชิญที่
http://clubs.akc.org/NBC
ไหนๆก็ถามมาแล้ว ผมก็ขอนำเรื่องราวเบื้องต้นของบีเกิ้ลมาให้อ่านเรียกน้ำย่อยไปก่อนนะครับ
มาตรฐานพันธุ์บีเกิ้ล
โดยภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา
ประวัติความเป็นมาของสุนัขพันธุ์บีเกิ้ลในประเทศไทยนั้น มีมาไม่นานนัก โดยที่สุนัขที่เข้ามาจดทะเบียนกับสมาคมผู้นิยมสุนัข แห่งประเทศไทย (เลิกดำเนินการไปแล้ว) โดยเข้ามาพร้อมกัน 2 ตัวชื่อว่า J.J. (Am.Ch. Lanbur JSS High Hope) กับ Elisabeth เป็นสุนัขสายเลือด Lanbur จากสหรัฐอเมริกา Elisabeth เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว และ J.J. ขณะที่เขียนบทความฉบับเพิ่งจะเสียชีวิตไปด้วยวัย15 ปี J.J. เข้ามาสร้างความฮือฮาไม่น้อยในสนามประกวดขณะนั้น โดยที่คว้าตำแหน่ง Reserved Best In Show ในการประกวดที่จัดโดยหนังสือ Dog Show ที่ตึกฐานเศรษฐกิจ หลังจากนั้น J.J. ก็ได้หยุดประกวด และถูกเปลี่ยนมือไปหลายเจ้าของจนมาอยู่กับเจ้าของคนปัจจุบันจนสิ้นใจในอ้อมอกของพี่เรณูเจ้าของนิตยสารข่าวโลกสัตว์เลี้ยง
ต่อมาก็มีผู้นำเข้าสุนัขเข้ามีสองสามตัวโดยที่มีตัวเด่นชื่อว่า Dog Holiday เจ้า Dog Holiday ก็สามารถกวาดรางวัลมาได้อย่างมากมายจนมาถึงยุคตกต่ำของการประกวดสุนัข Dog Holiday ก็หยุดประกวดไปโดยปริยาย
หลังจากนั้นสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขได้ก่อกำเนิดขึ้นมา และในการประกวดสุนัขที่จัดโดยสมาคมพัฒนาฯ ครั้งที่สองที่ เดอะมอลล์บางกะปิ ในปี 2540 ก็มีสุนัขบีเกิ้ลเพศเมียลงประกวดด้วยชื่อ Just Wright Spot Nose ทำให้เกิดความสนใจในหมู่บรีดเดอร์อย่างมาก และนี่ก็คือจุดที่ทำให้เกิดความนิยมในสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ สุนัขบีเกิ้ลตัวอื่นๆ ได้ทยอยเข้ามาสู่ประเทศไทยนับตั้งแต่บัดนั้น โดยที่บรีดเดอร์หลายๆ คนได้สั่งสุนัขแชมเปี้ยนเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาเพาะพันธุ์ และเข้าประกวดในประเทศไทยกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกันผู้นำเข้าสุนัขสำหรับตลาดผู้เลี้ยงก็นำสุนัขแบบ Pet Quality และ Field Beagle เข้ามาจากประเทศในแถบยุโรป รัสเซีย และออสเตรเลีย
สุนัขบีเกิ้ลเป็นที่นิยมในประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากว่าสุนัขพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ขนาดกลาง หน้าตาน่ารัก นิสัยร่าเริง ขนสั้น เลี้ยงง่าย และฉลาด บีเกิ้ลมีข้อเสียอยู่บ้างคือเป็นสุนัขที่ตะกละ และดื้อ แต่ถ้าได้รับการฝึกฝนหรือดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของที่ดีพอ สุนัขบีเกิ้ลก็เป็นสุนัขที่น่าเลี้ยงมากพันธุ์หนึ่ง ในขณะนี้บีเกิ้ลมีการเพาะพันธุ์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
สุนัขพันธุ์นี้ถูกแบ่งออกเป็นสองเกรดอย่างสิ้นเชิง โดยแบ่งออกเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้เพื่อประกวด กับสุนัขที่ไว้เลี้ยงไว้ล่าสัตว์ สุนัขที่เลี้ยงไว้ล่าสัตว์จะมีราคาต่ำกว่าสุนัขสำหรับประกวดค่อนข้างมาก แต่ความสวยงามก็แตกต่างกันค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน
ส่วนมาตรฐานพันธุ์สุนัขบีเกิ้ลในประเทศไทยตอนนี้ค่อนข้างเป็นที่สับสน (เฉพาะในสายประกวด) เนื่องจากว่าพันธุ์สุนัขที่เรานำเข้ามาส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา แต่สมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขใช้มาตรฐานของ FCI (Federation of Canine International) ในการตัดสินการประกวด แต่กระนั้นบรีดเดอร์ส่วนใหญ่ยังยึดถือมาตรฐานของ AKC (American Kennel Club) ในการเพาะพันธุ์สุนัขกันอยู่
มาตรฐานพันธุ์สุนัขบีเกิ้ล AKC Standard
สุนัขบีเกิ้ลเป็นสุนัขที่ใช้งานเพื่อล่าสัตว์เล็ก พวกกระต่ายป่า ดังนั้นสุนัขพันธุ์นี้จะต้องแข็งแรงปราดเปรียว มีโครงสร้างที่หนาเต็มไปด้วยพละกำลัง และกล้ามเนื้อ ในการเลือกหรือเพาะพันธุ์สุนัขพันธุ์นี้ต้องคำนึงถึงความสมดุล (Balance) ของสุนัขเป็นหลัก
ความสูง: แบ่งออกเป็นสองขนาดคือ ไม่เกิน 13 นิ้ว และเกิน 13 นิ้วแต่ไม่เกิน 15 นิ้ว
ข้อผิดมาตรฐาน สุนัขที่เตี้ยกว่า 12 นิ้ว หรือสูงเกินกว่า 15 นิ้ว วัดจากหลัง (หัวไหล่) ถึงปลายเท้า
สี และขน: มีได้ทุกสีที่สุนัขพันธุ์ฮาวนด์ทั่วๆ ไป แต่สีที่นิยมกันก็คือสุนัขสามสี ที่มีสีดำเป็นสีพื้น และสุนัขที่มีสีขาว และน้ำตาล ที่เราเรียกกันว่าสุนัขสองสี ขนยาวพอประมาณ 5 คะแนน
ข้อที่ผิดมาตรฐาน: ขนสั้นเกรียนติดผิวหนัง ขนบางมองเห็นผิวหนัง
ส่วนหัว 5 คะแนน
กะโหลก: เป็นลักษณะเหลี่ยม โดยที่ตรงกระหม่อมเป็นรูปโค้งเล็กน้อย กว้างพอเหมาะกับสมส่วนกับร่างกายของสุนัข 5 คะแนน
ฟัน: สบแบบกรรไกร นอกเหนือจากนั้นถือว่าผิดมาตรฐาน
ปาก: ความยาวของปากเท่าๆ กันกับความยาวของกะโหลก ดูแล้วสมส่วนกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ปลายปากเหลี่ยมไม่แหลม ไม่จำเป็นต้องมีแก้มห้อยออกมาด้านข้าง ความกว้างของปาก และแก้มเท่ากับความกว้างของหัวกะโหลกสุนัข (เหมือนเอากล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสมาต่อกัน) (ปาก กราม แก้ม 5 คะแนน)
จมูก: ขนาดปานกลาง เป็นสีดำสนิทสำหรับสุนัขสามสี แต่ในสุนัขสองสี สีของจมูกอาจจะเป็นสีตับ หรือเข้มกว่าสีของตัวมันได้
หู: แนบกับด้านข้างของกะโหลก แผ่กว้างออก ปลายหูมน และมีความยาวพอที่จะแตะปลายจมูกได้ (อนุโลมให้สั้นกว่าหรือยาวกว่าได้เล็กน้อย) 15 คะแนน
ตา: กลมโตได้สัดส่วนกับใบหน้า มีช่องว่างระหว่างตาทั้งสองข้างพอประมาณ มีแววอ่อนโยน และแฝงไว้ด้วยความฉลาด และซื่อสัตว์ สีเดียวกับสีของจมูกสุนัข 10 คะแนน
ข้อควรระวัง: กระหม่อมแบน หูสั้น หรือหูที่มีปลายแหลม โคนหูต้องไม่ตั้งอยู่สูงเกินไปโดยเฉพาะเวลาที่สุนัขตื่นเต้น แผ่นหูหยัก ไม่เรียบ และไม่ชิดกับแก้ม สีตาควรเป็นสีเข้ม ไม่ควรเป็นสีอ่อนหรือสีเหลือง ปลายปากแหลม กรามล่างเล็ก แก้มห้อยมากจนเกินไป
ข้อที่ผิดมาตรฐาน: ตาสองข้างอยู่ชิดกันเกินไป ตาตี่ หรือหางตาแหลมหรือเชิดขึ้นเหมือนสุนัขในกลุ่มเทอร์เรีย
ลำตัวส่วนหน้า
หน้าอก และขาหน้า: ลำตัวส่วนหน้าต้องหนาอกลึกกว้าง ข้อศอกแนบชิดกับลำตัว ขาหน้าเหยียดตรงยาวสมสมส่วนกับขนาดของตัว (50/50) กระดูกใหญ่ลักษณะมนเหมือนขากระต่าย นิ้วเท้าสั้นชิดกันเหมือนเท้าแมว 10 คะแนน
ข้อควรระวัง: ข้อศอกอ้าออก ปลายเท้าไม่ชี้ตรงไปด้านหน้า หน้าแข้งแอ่นหรืองอ และนิ้วห่าง
หัวไหล่: ไหล่มนเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ แต่ต้องไม่ดูใหญ่มากจนเกินพอดี ทำมุมประมาณ 90 องศา เพราะจะทำให้สุนัขก้าวย่างได้อย่างไม่ติดขัด 10 คะแนน
คอ: ใหญ่และยาวพอประมาณ ปราศจากลอยย่นของหนัง ทำมุมกับส่วนหลังพอประมาณ 5 คะแนน
เส้นหลัง และเอว: เส้นหลังตรงขนานกับพื้น ไม่ควรเทลาดจนเกินไป หรือคดงอ หลังสั้นได้สัดส่วนกับความสูง เมื่อสุนัขยืนตรงควรมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบตั้ง (ความสูง 10 และความยาว 9) เอวคอดเล็กน้อยบ่งบอกถึงความแข็งแรง ของสุนัข
ซี่โครง: กว้าง และมีความยืดหยุ่นที่ดี มีความกว้างพอกับปอด (สุนัขบีเกิ้ลต้องมีปอดใหญ่ เพราะต้องล่าสัตว์ในระยะทางไกลๆ) 5 คะแนน
โคนหาง หาง: โคนหางตั้งอยู่บนเส้นหลัง หางอ้วนเหยีดตรงตั้งชี้ขึ้น ความยาวของหางพอประมาณ ไม่สั้นหรือยาวเกินไป ไม่โค้งงอจนเกินไป ขนขึ้นเต็มฟูลักษณะเหมือนแปรง ปลายหางต้องมีสีขาวแต้ม 5 คะแนน
ข้อผิดมาตรฐาน หางเล็ก ขนหลอมแหลมเหมือนหางหนู
ลำตัวส่วนหลัง
สะโพก โคนขา ปลายเท้าหลัง: เวลาตรวจดูส่วนนี้ต้องคำนึงถึงว่าสุนัขพันธุ์นี้ต้องใช้พละกำลัง และความยืดหยุ่นในการวิ่ง สะโพกต้องเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ โคนขากว้าง ทำมุมพอประมาณกับปลายเท้า กลมเหมือนเท้าแมว นิ้วชิดกัน 10 คะแนน
การเคลื่อนไหว
เนื่องจากสุนัขบีเกิ้ลเป็นสุนัขที่ใช้งานล่าสัตว์ ต้องใช้ความอดทนและความสมบูรณ์ของโครงสร้าง และกล้ามเนื้อ สุนัขพันธุ์นี้ต้องมีท่วงท่าในการก้าวย่างอย่างราบลื่น รอยเท้าย่างก้าวของเท้าหลังควรเหยียบทับรอยเท้าหน้าหรือใกล้เคียง หัวไหล่ สะโพก และข้อเท้าต้องมีความยืดหยุ่น การก้าวขาต้องกว้างสามารถเหยียดไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ขาหลังต้องสอดได้เป็นจังหวะจะโคนกับขาหน้า
ลักษณะโดยทั่วไป
สุนัขพันธุ์บีเกิ้ลเป็นสุนัขที่ถูกเพาะพันธุ์มาให้เป็นสุนัขฟอกซ์ฮาวนด์ขนาดเล็ก (ย่อส่วนมาจากสุนัข English Fox Houndและ American Fox Hound) ดูล่ำสันบึกบึน เหมาะสมกับการใช้งานในการล่าสัตว์ได้อย่างดี
เอกสารอ้างอิง
New Beagle - by Judith M. Musladin
แก้ไขเมื่อ 01 ม.ค. 47 16:39:28
แก้ไขเมื่อ 01 ม.ค. 47 16:38:41
แก้ไขเมื่อ 01 ม.ค. 47 15:30:18
แก้ไขเมื่อ 01 ม.ค. 47 15:23:32