CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    บึงบอระเพ็ดกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะปลาต่างถิ่น (จดหมายเปิดผนึกถึงกรมประมง)

    ก่อนอื่นขอเชิญไปอ่านข่าวที่เว็บไซด์ของกรมประมงก่อนนะครับ

    http://www.fisheries.go.th/prnews/payao.htm

    หลังจากนั้นก็ขอเชิญอ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ถ้าคุณเห็นด้วยกับผม ก็ช่วยกันลงชื่อคัดค้านไว้ครับ ผมได้ข่าวช้าไปไม่ทราบว่าได้มีการปล่อยลงไปหรือยัง ข้อมูลอาจจะยังไม่สมบูรณ์นักเพราะมีเวลาเตรียมตัวน้อยมากแต่ก็หวังว่าคงเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจของคุณได้ครับ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับผมก็ขอเหตุผลด้วยครับ จะได้มีมุมมองที่หลากหลายขึ้น

    จดหมายเปิดผนึกถึงกรมประมง ว่าด้วยโครงการปล่อยปลาเฉาเพื่อปราบวัชพืชในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทย

    เพื่อนของผมได้นำข่าวจากหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งมาให้อ่าน ซึ่งเมื่ออ่านแล้วทำให้เกิดความไม่สบายใจจนต้องลุกขึ้นมาเดือดร้อนเขียนบทความอีกครั้งหนึ่ง ข่าวนี้มีใจความคร่าวๆคือ กรมประมง โดยสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด มีโครงการที่จะปล่อยปลาเฉา (Ctenopharyngodon idella) ปลากินพืชที่มีอวัยวะพิเศษช่วยบดย่อยอาหารในลำคอที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ตัวลงในแหล่งน้ำ ๓ แห่งของไทยคือ บึงบอระเพ็ด หนองหาร และ กว๊านพะเยา เพื่อจุดประสงค์ในการกำจัด “วัชพืช” ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยทางกรมประมงบอกว่าเป็นการกำจัดวัชพืชโดยวิธีทางชีวภาพที่จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แถมยังมีผลพลอยได้เป็นปลาเนื้อจำนวน ๑ พันตัน/ปี โดยมีมูลค่าถึง ๒๐ ล้านบาทอีกต่างหาก เป็นโครงการที่ฟังดูดีแต่เมื่อผมได้ลองค้นหาข้อมูลของปลาชนิดนี้และผลในการ “กำจัดวัชพืช” ของมันก็อดที่จะห่วงพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ (RAMSAR)* ทั้ง ๓ แห่งของประเทศไทยไม่ได้

    เรื่องแรกที่ผมไม่สบายใจที่สุดคือคำจำกัดความของ “วัชพืช” ในที่นี้คืออะไร? ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปล “วัชพืช” ว่า “พืชที่ไม่ต้องการ เช่นหญ้าคาในนาข้าว” คำถามคือ เราต้องการให้มีพืชขึ้นในแหล่งน้ำ ๓ แห่งที่กำลังมีโครงการกำจัดวัชพืชไหม? คำตอบคือมีแน่นอน เพราะพืชทั้งที่ขึ้นอยู่ใต้น้ำ พืชที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ และพืชที่ขึ้นอยู่ริมน้ำ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ทั้งสิ้น ตั้งแต่ชั้นประถมแล้วที่เราจะได้เรียนกันมาว่า พืชเป็นผู้ผลิตอาหารขั้นต้นของระบบนิเวศน์ พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรุงอาหารได้เอง จากแร่ธาตุ น้ำและแสงแดด ระบบนิเวศน์เริ่มต้นที่พืช ดังนั้นระบบนิเวศน์จึงไม่มีทางมีความสมบูรณ์ได้เลยถ้าขาดพืช

    ในน้ำพืชเป็นอาหารโดยตรงให้กับปลากินพืช พืชที่ย่อยสลายจะเป็นอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่จะเป็นอาหารของปลาขนาดเล็กและลูกปลาวัยอ่อนต่อไป พืชให้ที่หลบภัยพึ่งพิงกับปลาขนาดเล็ก ให้ที่ซุ่มโจมตีกับปลากินเนื้อขนาดใหญ่ พืชช่วยดูดซึมแร่ธาตุในน้ำทำให้สาหร่ายเซลเดียวทั้งหลายไม่สามารถเติบโตได้เร็วจนเกินควบคุม พืชลอยน้ำช่วยลดแรงคลืนทำให้คลืนไม่กระทบฝั่งจนพังเสียหาย พืชชายน้ำช่วยคลุมดินไม่ให้ตลิ่งพังทลาย พืชไม่ได้ให้ประโยชน์เฉพาะปลา แต่พืชยังมีประโยชน์สำหรับเหล่านกน้ำทั้งหลาย ทั้งเป็นอาหาร เป็นแหล่งอาศัยของแมลงน้ำที่เป็นอาหารของเป็ดหลายชนิด เป็นที่หลบภัย และ เป็นวัสดุทำรัง เรียกว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งในน้ำและริมน้ำต้องพึ่งพาพืชทั้งนั้น บึงที่ขาดพืชจึงเป็นบึงที่ไร้ชีวิต ดังนั้นพืชทั้งหลายในบึงจึงเป็นพืชที่เรา “ต้องการ” และถ้าอยู่ในบริเวณและปริมาณที่เหมาะสมก็มิใช้ “วัชพืช” แต่ประการใด จะว่าไปแล้วจุดเด่นของบึงอย่างบึงบอระเพ็ดก็คือมีพืช จึงมีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์มีปลาอุดมสมบูรณ์และมีเหล่านกน้ำมาอาศัยพักพิง

    นิยามคำว่า “วัชพืช” ของกรมประมงในโครงการนี้คืออะไรครับ?

    จากคุณ : คิลลี่แมน - [ 1 ก.ย. 47 23:39:17 ]