ความคิดเห็นที่ 11
เอามาให้อ่านครับคุณ อาร์ตเคยตอบไว้นานแล้วครับผมก็ไม่รู้ไปมากกว่านี้แล้วครับ เมื่อกี้เพิ่งโทรไปขอจากผู้จัดทำหนังสือ CBM ว่าจะขอลงเรื่องที่เคยเขียนไว้ตอนนั้น มาลงที่นี่นะครับ ซึ่งทางผู้จัดทำก็ยินยอมด้วยความเต็มใจเป็นอย่างดีครับ ขอยกมาทั้งดุ้นเลยก็เเล้วกันครับ
"ปลาเทวดาตระกูล Pterophyllum จากลุ่มน้ำธรรมชาติ
เมื่อไรที่มีคนพูดถึงปลาเทวดา หรือมีคนถามว่าปลาเทวดามีกี่ชนิดสายพันธุ์ คนที่ไม่เคยเลี้ยงเลยก็อาจจะบอกว่ามีเทวดาขาว เทวดาลาย เทวดาดำ ถ้ารู้จักมากหน่อยก็อาจจะบอกว่ามีเทวดาขาว เทวดาดำ เทวดาลายหินอ่อน เทวดาม้าลาย เทวดาทอง เทวดาครึ่งชาติ เทวดาหน้าแดง เทวดาเกล็ดมุก อ้อ แล้วยังมีวาไรตี้หางยาวอีกนะ นับไปนับมาจนเวียนหัวได้ตั้งเยอะแยะ
จริงๆแล้วปลาเทวดาทั้งหมดที่ตอบๆมานั้น จริงๆแล้วก็เป็นเพียงแค่สายพันธุ์ปลาเทวดาสายพันธุ์เดียวเท่านั้น คือสายพันธุ์ Pterophyllum scalare (Lichenstein, 1823) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการเลี้ยงดูและพัฒนาสายพันธุ์กันมาช้านาน จนเกิดเป็นปลายอดนิยมที่มีความหลากสีสันให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดมาโดยตลอด
แต่ปลาเทวดาตามธรรมชาติจริงๆแล้วนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่สายพันธุ์ P. scalare เท่านั้น แต่ยังมีสายพันธุ์แยกออกมาอีกอย่างน้อยก็อีกสองถึงสามชนิด ซึ่งแม้ว่าจะมีชีวิตอยู่ในลุ่มน้ำใกล้ๆกัน แต่ก็มีจุดสำคัญที่ใช้แบ่งสายพันธุ์ได้อย่างชัดเจนทั้งรูปลักษณ์ภายนอก และความแตกต่างด้านรายละเอียดอื่นๆอีกมากมาย
เดี๋ยวขอเท้าความตามท้องเรื่องก่อนนะครับ ชื่อ Pterophyllum นี้เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นโดยนาย Heckel (ที่ในเวลาต่อมาก็คือคนเดียวกับที่ไปค้นเจอสายพันธุ์ย่อยของปลา Discus นั่นแหละครับ) เมื่อปีค.ศ. 1840 โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนตั้งชื่อปลานี้มาก่อนเหมือนกันเช่น Zeus scalaris หรือ Platax scalaris แต่ในที่สุดก็มาลงตัวกันที่ชื่อรวมว่า Pterophyllum (มีความหมายว่ามีครีบเหมือนใบไม้ในภาษาละติน ออกเสียงว่า เทอ-โร-ฟิล-ลัม) และเรียกปลาที่ค้นพบสายพันธุ์แรกนี้ว่า Pterophyllum scalare
การค้นพบปลาเทวดาส่วนใหญ่นั้นจะเป็นปลาฝูงอยู่กันในน้ำนิ่งแถบริมฝั่งในลุ่มแม่น้ำอเมซอน ซึ่งจะเป็นแหล่งซึ่งมีต้นไม้ขึ้นระเกะระกะริมน้ำ โดยมีรากไม้ห้อยระโยงระยางอยู่ทั่วไป (จะสังเกตได้ว่า ปลาที่อาศัยในสภาพแวดล้อมเช่นนี้เช่นเทวดา หรือ discus จะมีลายเส้นแบบแถบๆแนวตั้งเพื่อให้กลมกลืนกับเงาของรากไม้ที่กระจายอยู่ในน้ำแถบนั้นนั่นเอง) น้ำในแถบนั้นจะเป็นสีชาซึ่งมีสภาพเป็นกรดสูงกว่าน้ำในสภาพปรกติทั่วไป
ในช่วงนั้นได้มีการสำรวจสายพันธุ์ปลาใหม่ๆในลุ่มน้ำอเมซอนขึ้นอีกมากมาย ซึ่งก็ส่งผลให้มีผู้ค้นพบPterophyllum อีกหลายหลากสายพันธุ์ ซึ่งในช่วงที่มั่วกันสุดๆนั้น มีคนแข่งกันค้นพบและตั้งชื่อกันออกมาได้ถึงห้าสายพันธุ์คือ P. scalare, P. dumerilii (Castelnau, 1855), P. altum (Pellegrin, 1903), P. eimekei (Ahl, 1928) และ P. leopoldi (Gosse, 1963).
แม้จะได้มีการวิเคราะห์และถกเถียงกันมาช้านาน โดยผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็ไม่ยอมรับสายพันธุ์ P. eimekei และบางท่านก็ไม่ยอมรับปลาสายพันธุ์ P. leopoldi แล้วก็มีบางท่านที่ไม่ยอมรับ P. dumerilii นอกจากนั้นยังมีการยืนยันจากผู้เพาะเลี้ยงอีกว่า ปลาต่างสายพันธุ์นี้ก็ยังมีการผสมพันธุ์กันได้อีกด้วย
เวียนหัวกันไปแล้วใช่ไหมครับถ้าผมต้องเอาข้อถกเถียงทั้งหมดมายำรวมกันแล้ว คาดว่าเรื่องของผมเรื่องนี้ เขียนกันเป็นร้อยๆหน้า ก็คงจะสรุปอะไรไม่ได้ (ก็เขาทั้งหลายก็ยังฟันธงกันไม่จบสักที เดี๋ยวคนนู้นฟันที คนนี้ฟันที) แต่เมื่อนิตยสาร CichlidBox ให้เขียนเรื่องนี้ก็คาดว่าคงจะต้องการข้อสรุปที่ชัดเจนพอสมควร ซึ่งทางผมก็ได้พยายามศึกษาจากข้อมูลที่มีอยู่ จนได้ข้อสรุปพอจะเป็นรูปเป็นร่างได้ดังนี้
หากจะให้ผมสรุปว่าปลา Pterophyllum สายพันธุ์ไหนน่าจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์แท้นั้น ตอนนี้ที่ทราบแน่ๆแล้วก็คือ P. eimekei นั้นน่าจะเป็นเพียง สายพันธุ์ย่อยของ P. scalare ส่วน P. leopoldi และ P. dumerilii นั้นเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่จะมาหักล้างว่าไม่ใช่สายพันธุ์แท้ๆได้อย่างชัดเจน ผมจึงคิดว่ายังควรรวบรวมไว้ทั้งสองสายพันธุ์ว่าเป็นสายพันธุ์ปลาแท้ๆนะครับ
ปลาเทวดาสายพันธุ์แรกที่จะกล่าวถึงเลยก็คือ P. scalare ซึ่งก็คือต้นตระกูลปลาเทวดาที่ขายกันอยู่เกลื่อนกลาดในตลาดปลาสวยงามนี้นะครับ ปลาสายพันธุ์นี้ดั้งเดิมจะมีสีเนื้อเป็นสีเทาอมเขียวและมีประกายสีเงินเคลือบทับทั่วตัว ปลาบางท้องที่จะมีจุดสีแดงเล็กๆกระจายอยู่ทั่วบริเวณไหล่ บริเวณหลังจะเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก เมื่อโดนแดดจะเห็นประกายสีน้ำตาลแดงแวววาว เป็นปลาที่มีโครงสร้างสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยส่วนยาวจากปลายปากถึงโคนหางจะยาวกว่าแนวตั้งของลำตัวเล็กน้อย แถวเกล็ดจากขอบเหงือกลากยาวไปจรดครีบหางมีทั้งสิ้น 33ถึง 38 เกล็ด ลายบนตัวจะเป็นเส้นคาดแนวตั้งใหญ่จำนวนสี่เส้นเห็นได้ชัดเจน และจะมีเส้นเล็กๆที่สั้นและจางกว่าคั่นแต่ละเส้นใหญ่นั้นอีกรวมสามเส้น เส้นทุกเส้นจะเป็นสีดำหรือเทาแก่ เส้นที่ดำและเข้มสุดจะเป็นเส้นคาดเอว(เส้นที่ห้า)ที่ลากจากยอดครีบบนลงมาจรดปลายครีบล่าง
ปลาเทวดาสายพันธุ์ที่สองคือ P. altum ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาขายในประเทศไทยอยู่ประปรายในชื่อที่เรียกกันว่าเทวดายักร์ หรือเทวดาอัลตัม ปลาเทวดาสายพันธุ์นี้เป็นเทวดาป่าที่มีโครงสร้างแตกต่างจากปลาเทวดาสายพันธุ์อื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยโครงสร้างร่างกายจะออกในแนวสูงกว่าเทวดาอื่นๆประกอบกับความยาวและตั้งตรงของครีบทำให้ปลาเทวดาอัลตัมดูใหญ่โตกว่าเทวดาสายพันธุ์อื่นๆมาก โดยความสูงรวมครีบบนและล่างจะสูงถึงสิบห้านิ้ว ขณะที่ความยาวของตัวรวมหางจะเท่ากับ แปดนิ้วเท่านั้น ส่วนโครงสร้างลำตัวจริงๆแล้วจะเป็นรูปจตุรัสแท้ๆ มีแถวเกล็ดจากขอบเหงือกลากยาวไปจรดครีบหางทั้งสิ้น 41 ถึง 47 เกล็ด หน้าผากปลาเทวดาสายพันธุ์นี้จะมีความลาดตั้งชันกว่าปลาเทวดาสายพันธุ์อื่นๆ สีเนื้อของปลาสายพันธุ์นี้จะเป็นสีเทาอมเขียวและมีประกายสีเงินเคลือบทับทั่วตัวเหมือนๆกับ P. scalare แต่จะมีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ประปรายบริเวณส่วนหัวแก้มและไหล่ ต่อเนื่องเป็นแต้มสีน้ำตาลจางๆบริเวณลำตัว ลายเส้นพาดแนวตั้งเส้นเป็นสีดำจนถึงเทาเข้มในบางท้องถิ่น หรืออาจจะเป็นสีน้ำตาลไหม้กลมกลืนกับจุดบนลำตัวก็ได้ ลายเส้นที่ลำตัวจะมีจำนวนเท่ากับ P. scalare โดยเส้นที่ยาวสุดจะเป็นเส้นที่ห้าซึ่งเป็นเส้นคาดเอวเช่นเดียวกัน
สำหรับเทวดาชนิดนี้ หากท่านผู้อ่านจะนำมาเลี้ยง ก็ขอเตือนนิดๆว่าเป็นปลาที่มีชีวิตในธรรมชาติอยู่ในน้ำที่มีกรดสูง (pH ประมาณ 5-5.5) นี่ทำให้มีปัญหาในการเลี้ยงและเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะเลี้ยงเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันมีผู้ทำการเพาะเลี้ยงได้สำเร็จเพียงไม่กี่รายเท่านั้นในประเทศญี่ปุ่น เยอรมันนี และไต้หวัน ทำให้ปลาพันธุ์นี้มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง ฉนั้นหากนำมาเลี้ยงก็อย่าลืมปรับน้ำให้เรียบร้อยก่อนนะครับ
ข้อควรระวังในการเลือกซื้อปลาเทวดาสายพันธุ์นี้ก็คือ ปลาสายพันธุ์นี้มีที่มาจากแถบลุ่มน้ำออรินาโค ถึงบริเวณลุ่มน้ำไนโกร คลอบคลุมพื้นที่จากเวเนซูเอลา โคลัมเบีย ถึงประเทศบราซิล เท่านั้น แต่จะมีปลาเทวดาที่มีลักษณะตอนเล็กๆใกล้เคียงกันมาขายในชื่อ อัลตัมเปรู ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นปลาเทวดาสายพันธุ์ P. scalare นั่นเอง ไม่ได้โตขึ้นมาเท่กันสุดๆแบบ P. altum ของแท้นะครับ
ปลาเทวดาสายพันธุ์ที่สามก็คือ P. leopoldi ซึ่งน่าจะเป็นชื่อของปลาสองสายพันธุ์ซึ่งทางสหรัฐฯจะเชื่อว่า P. leopoldi คือปลาที่มีจมูกยาวหน้าผากลาด(ที่ในวงการทั่วไปเรียกว่า P. dumerilii มานานนับสิบปี) แต่ทางยุโรป(เช่นหนังสือ Aqualog ของเยอรมันนี) จะกล่าวว่า P. leopoldi คล้ายปลา P. scalare ยกเว้นลวดลายและสีสันซึ่ง P. leopoldi จะมีจุดประสีส้มกระจายไปทั่วทั้งบริเวณช่วงเอวไปถึงหาง และส่วนหน้าคือจากหัวจนถึงหน้าอกจะเป็นสีเขียวเหลือบน้ำเงิน บริเวณเส้นย่อยระหว่างเส้นคาดอก และเส้นคาดเอว จะมีจุดเล็กๆหงิกงอ บริเวณแถบครีบบนต่อลำตัว
P. dumerilii กล่าวได้ว่าเป็นปลาที่รูปร่างดูแล้วสั้นๆด้วนๆมากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าหุ่นจะเบาลมกว่าชาวบ้านแต่เนื่องจากครีบบน ครีบล่างที่สั้นกว่าชาวบ้านสายพันธุ์อื่นๆเขาอยู่พอสมควรทำให้ดูม่อต้อ และไม่สง่างามมากนัก นอกจากความแตกต่างที่กล่าวมาแล้ว ปลาสายพันธุ์นี้ยังมีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอีกคือจะมีจุดใหญ่สีเข้มบนเส้นที่สี่ที่คาดลำตัวโดยบางตัวก็จะอยู่บริเวณติดกับครีบบน โดยส่วนหน้าผากจะมีแนวลาดมากกว่าสายพันธุ์ปลาเทวดาอื่นๆ จนมีอีกชื่อหนึ่งว่าปลาเทวดาหน้ายาว เนื่องจากแนวหน้าผากยื่นยาวมากกว่าปลาเทวดาทั่วไปโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ปลาเทวดาสายพันธุ์นี้ยังมีจุดเด่นพิเศษอีกอย่างคือลายเส้นเล็กที่อยู่ระหว่างเส้นใหญ่คาดตา และเส้นใหญ่คาดอกนั้น จะเป็นเส้นเล็กจางๆสองเส้น แทนที่จะเป็นเส้นจางเส้นเดียวเหมือนปลาเทวดาสายพันธุ์อื่นๆ ปลาสายพันธุ์จะมีความสวยงามแตกต่างจากเทวดาสายพันธุ์อื่นอีกจุดหนึ่งคือความเหลือบเลื่อมสีฟ้าที่เปล่งประกายทั่วทั้งตัว
นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงสถานการณ์ของวงการปลาสวยงามเชิงพาณิชย์ที่ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้เลี้ยงอย่างมาก อย่างไรก็ตามในแง่ของวงการนักมีนวิทยา(เช่น Dr. Sven Kullander)ได้มีการคาดการไว้ว่า ชื่อ P. dumerlii น่าจะถูกลบทิ้งจากสารบบในที่สุด และปลาจมูกยาวตัวนั้น คงจะเป็นปลาที่จะได้รับการตั้งชื่อกันใหม่ (describe) ในเวลาต่อไป ส่วน P. scalare และ P. leopoldi นั้น คงจะถูกแยกออกเป็นหลายสายพันธุ์ (specie) หรือสายพันธุ์ย่อย(subspecie) ของP.scalare ในเวลาต่อไป ที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเสียงเรียงนามอะไรกันอีกแน่ๆก็คงจะเป็นเทวดายักร์ P. altum ตัวเดียวเท่านั้น
นี่ก็คือสายพันธุ์ทั้งหมดที่พอจะมีข้อมูลยืนยันชัดเจนถึงความแตกต่างแบ่งแยกเป็นสายพันธุ์ชัดเจนนะครับ ส่วนในอนาคตจะมีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเติมหรือลดลงอย่างไรก็คงจะต้องร่วมๆกันลุ้นต่อไปนะครับ"
ขอบคุณ คุณปิติ ที่อ้างอิงข้อเขียนนี้ของผมนะครับ จริงๆเเล้วข้อเขียนนี้มีคนให้ข้อมูลผมค่อนข้างมาก เเละอ่านจากหนังสือเยอะเหมือนกัน ก็หวังว่าจะมีประโยชน์เเก่ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงบ้างนะครับ
จากคุณ : อาร์ต9
จากคุณ :
JJ (ลูกเฟิร์น)
- [
17 ธ.ค. 47 17:05:48
]
|
|
|