Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    จะไปเรียนเมืองนอกดีไหมนะ (ค่านิยมการชุบตัว)

    ผมเขียนบทความเล่าประสบการณ์และมุมมองของผมเกี่ยวกับการไปเรียนเมืองนอก เปรียบเทียบกับค่านิยมการไปชุบตัวเมืองนอกตั้งแต่รุ่นพ่อ ต่อมาที่รุ่นพี่ และมาที่รุ่นของเรา ๆ ท่าน ๆ  ไม่รู้ว่าถูกผิดอย่างไร เชิญ comment กันได้ตามสะดวกครับ

    <b>จะไปเรียนเมืองนอกดีไหมนะ? (สำหรับคนที่ยังคิดอยู่ว่าจะไป แต่ยังไม่แน่ใจ)</b>

    *บอกกล่าว*
    ผมเป็นแค่ศิษย์เก่าออสเตรเลียคนนึงที่ไม่ได้ทำงานเป็นเอเย่นต์นักเรียนดังนั้นข้อมูลที่ผมเอามาให้ตรงนี้ ผมขอบอกก่อนว่าเป็นเพียงประสบการณ์ของผมคนเดียว ผมแค่พยายามจะเป็นกลางให้มากที่สุดเท่านั้นเอง

    - - - - - - - - - - - - - - - -
    ใจความของบทความนี้
    ถ้าจะไปเรียนเมืองนอก (โดยเฉพาะออสเตรเลีย) จงไปด้วยความตั้งใจว่าจะไปเรียนมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนในสิ่งที่เราอยากเรียนที่ดี จงอย่าไปเพียงเพราะข้อได้เปรียบบางอย่าง เช่น มันถูกกว่า มันใกล้ดี พ่อแม่จะบินไปเยี่ยมก็ไม่ไกลเกิน ส่วนเรื่องชุบตัวอันเป็นค่านิยมอะไรบางอย่าง มันใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วล่ะครับ

    - - - - - - - - - - - - - - --
    ย้อนกลับไปปี 2543

    "อะไรนะ จะไปเรียนออสเตรเลียเหรอ?!" เพื่อนสนิทผมคนหนึ่ง ทำหน้าตะลึงพรึงเพริด ถามย้อนเป็นเชิงว่าแน่ใจแล้วเหรอ ทำไมต้องไปเรียนออสเตรเลีย จะไปเรียนวิชาอะไร จะกลับมาเมื่อไหร่ ชีวิตผมจะเป็นอย่างไรต่อไป จบมาแล้วจะแก่เกินไปไหม เป็นห่วงแทนผมไปเสียทุกอย่าง ขอบใจนะ..สาธุ อย่างน้อยก็ยังเป็นห่วงเป็นใยกันบ้าง แต่ผมคิดดีแล้ว และเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้คือเหตุผลที่ผมเลือกไปเรียนออสเตรเลีย น่าจะมีประโยชน์สำหรับคุณ ๆ ที่ยังลังเลไม่แน่ใจบ้าง ไม่มากก็น้อย

    อันที่จริงการไปเรียนเมืองนอก อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เรื่องโก้อะไรแบบสมัยก่อนแล้ว จากการอ่านและสำรวจของผมแล้ว ค่านิยมการไป 'ชุบตัว' ต่างประเทศเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยที่บ้านเรายังอยู่ในยุคเจ้าขุนมูลนายระดับราชวงศ์นิยมส่งลูกหลานไปอยู่ต่างประเทศเพื่อศึกษาสหวิทยาการ(โดยเฉพาะของตะวันตก) หลากหลายสาขา เนื่องจากสมัยก่อนสยามประเทศยังต้องการความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า สมัยนั้นเขาไม่ได้ตั้งใจชุบตัวครับ แต่องค์ความรู้เรามันจำกัดจริง ๆ การไปเรียนเมืองนอกมันคือการไปศึกษาหาความรู้อย่างแท้จริง

    กาลเวลาผ่านไป..การศึกษาต่อต่างประเทศไม่ได้ยึดอยู่ในกลุ่มแคบ ๆ ในบุคคลชั้นปกครองอีกต่อไป หากแต่ยังขยายไปถึงกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์สูงพอจะส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกเมืองนา เพื่อให้ได้มีหน้ามีตา และดูดีเหมือนกับชนชั้นปกครองที่ไปเรียนเมืองนอกในยุคก่อนหน้าของตัวเอง

    ในอีกมิติหนึ่งทางการเมือง จากการค้นคว้า ผมก็พบว่าการเมืองโลกในยุค 30-40 ปีที่แล้ว เราอยู่ในยุคสงครามเย็น ประเทศตะวันตกเริ่มเปิดแนวรุกทางวัฒนธรรม เพื่อหาแนวร่วมประชาคม (ใครที่สามารถดึงให้นักเรียนต่างชาติไปเรียนรู้แนวคิดทางการเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมของตัวเองได้มากกว่า ก็จะทรงอำนาจในเวลาต่อมา เพราะนักเรียนนอกคนนั้น ๆ ก็จะซึมซับแนวคิดต่าง ๆ ติดตัวมาด้วย) ด้วยการแจกทุนการศึกษาให้ประเทศโลกที่สามมากขึ้น

    ผมมีตัวอย่างมาให้อ่านกันสองเรื่องที่ชัด ๆ ก็คือคุณพ่อผมเองครับ อันนี้ผมไม่ได้อวดอะไรนะครับ ยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพเฉย ๆ

    คุณพ่อของผมเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเรียนบัญชีนะครับ แต่ด้วยความคิดที่ว่าท่านสนใจการเมืองการปกครองมากกว่า พอจบปริญญาตรีปุ๊บท่านเลยเบนเข็มไปเรียนปริญญาโท Political Science ที่อเมริกา และอเมริกาตอนนั้นก็แจกทุนกันเพียบเลย คุณพ่อผมก็เลยสอบติดไปกับเขาด้วยในยุคนั้น ก็เลยเป็นโชคดีของแกไป ที่คุณปู่ที่ส่งคุณพ่อผมเรียนก็ไม่ต้องจ่ายทั้งหมด แต่มีรัฐบาลอเมริกันจ่ายให้บางส่วน

    คุณพ่อผมเล่าให้ฟังว่ากลับมาใหม่ ๆ อัตรานักเรียนนอกมันน้อย ไม่เหมือนสมัยนี้ ยุคนั้นเดินกลับมาสนามบินดอนเมือง คนไม่รู้จักกันยังทักเลยว่า "โอโห คุณคะ จบกลับมาจากเมืองมะกันหรือคะ" อย่านึกเปรียบเทียบกับเด็กที่จบกลับมาสมัยนี้เดินเข้ามาที่สุวรรณภูมินะครับ มันไม่เหมือนกันแล้ว

    ถ้าจะพูดถึง Career path ของชีวิตนักเรียนนอก(ยุคนั้น)อย่างคุณพ่อผม กลับมาปุ๊บก็บรรจุเข้าเป็นปลัดอำเภอ ไต่เต้าจากข้าราชการชั้นผู้น้อย 30 ปี ก็ถึงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดใหญ่ในภาคกลางที่หนึ่ง จนตอนนี้ท่านเกษียณอายุแล้วก็เขียนหนังสือ ตีกอล์ฟไปตามประสา เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่งทีเดียว

    ตัวอย่างที่สอง
    คราวนี้จากรุ่น 'คุณพ่อ' (เบบี้บูมเมอร์) มาถึงยุค 'คุณพี่' (ยัปปี้) ถ้าใครนึกถึงคำว่ายัปปี้ไม่ออก ลองนึกถึงภาพคนที่ชอบแต่งตัวหล่อ มาดเนี๊ยบ ใส่สูทรอามานี่ ขับรถสปอร์ต บ้างานขนาดหนัก ทำอะไรต้องเน้น Image ไว้ก่อน ใช้เงินกันชนิด burn กันเป็นว่าเล่น เงินเดือน 30,000 ผ่อนรถเดือนละ 25,000 ก็ยอมนั่นล่ะครับ ยุคนั้นเลย

    ผมมีรุ่นพี่คนหนึ่งแกเป็นคนทำงานโฆษณาครับ เติบโตมาในยุค 70-80's จบกลับมาทำงานเอเยนซี่โฆษณาในช่วงที่บ้านเรากำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ (ยุคน้าชาติ) คนไทยตอนนั้นใช้เงินกันฟุ้งเฟ้อมากครับ ...ค่านิยมการไปชุบตัวของบรรดา 'คุณพี่' ทั้งหลายบังเอิญว่าสอดคล้องกับค่านิยมประจำยุคคือ อะไร ๆ ก็ต้องเน้น Image ต้องดูดี การไปเรียนเมืองนอกก็เลยตอบโจทย์คนกลุ่มยัปปี้ว่าอะไร ๆ มันก็ดูดีไปหมด ถึงจะไม่ดูดีเท่าสมัยคุณพ่อ แต่คุณพี่ก็มีดีกรี 'นักเรียนนอก' พะยี่ห้อมาพร้อมกับการพูดภาษาอังกฤษแบบไฟแลบ

    แกทำงานตอนแรกรับเงินเดือน 3,000 บาท กระโดดมาเป็น 7,000 จากนั้นก็โดดขึ้นเป็นหลักหมื่น สองหมื่น ไล่มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งฟองสบู่แตกยุคพลเอกชวลิต กับ โรคต้มยำกุ้ง ที่ทั่วโลกเขาหาว่าเราเป็นต้นเหตุในการทำให้เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเอเชียฟุบ ชีวิตของคุณพี่ยังไม่ทันประสบความสำเร็จอะไรมาก แต่เงินเดือนแกตอนท้าย ๆ ที่ผมรู้มาก็หลักแสนล่ะครับ นับว่าเป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่ได้เงินเดือนสูงขนาดนั้น ตอนนี้แกมีครอบครัวแล้วครับ ก็มีความสุขตามอัตภาพ

    แต่ถามว่าการเดินตามค่านิยม 'ชุบตัว' แบบสมัยคุณพ่อผม (ยุคเบบี้บูมเมอร์) กับสมัยพี่ ๆ (ยุคยัปปี้) มาใช้กับสมัยนี้ได้ไหม ผมว่ามันอาจจะพอได้นะครับ แต่ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่แล้วล่ะครับ  



    <b>ค่านิยมชุบตัวที่หายไป(ก็ดีแล้ว)</b>

    ผ่านจากยุคคุณพ่อ สู่รุ่นคุณพี่ จนมาถึงยุคผม ซึ่งจะบอกว่าเป็นรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่ (สงสัยจะกลางเก่ากลางใหม่) การที่ผมเล่าเรื่องเก่า ๆ ของคุณพ่อให้คุณ ๆ อ่าน ผมเพียงต้องการจะบอกว่า ค่านิยมการชุบตัวมันเปลี่ยน (หรือแทบจะหาย)ไปแล้ว เพราะมาถึงรุ่นนี้ มันกลายเป็นอย่างนี้ครับ

    ผมซึ่งเรียนปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ ต่อปริญญาโทด้าน Communications กะว่าจะมาเป็นนักสื่อสารมวลชน ทำงานหนังสือ แต่จบกลับมา ตลาดแรงงานมันเฟ้อครับ ตอนนี้หันไปทางไหนก็เลยเจอแต่จบปริญญาโทเมืองนอกเต็มไปหมด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเดี๋ยวนี้คุณจบปริญญาโทมา แต่ไม่มีประสบการณ์การทำงานเลยมันก็แทบไม่มีค่าอะไรเลยครับ

    โอเค อาจจะผ่านสายตาฝ่ายบุคคลของบริษัทที่คุณไปสมัครงานได้ ฝ่ายบุคคลเองเดี๋ยวนี้ก็จะมี list นะครับว่าจบมาจากมหาวิทยาลัยอะไร มีชื่อเสียงหรือเปล่า เกรดจบมาเท่าไหร่ และแน่นอนครับ ผ่านงานอะไรมาบ้าง ไม่งั้นก็จะโดนกดเงินเดือนสุด ๆ เลยล่ะครับ

    อย่างผมเองก่อนไปเรียนออสเตรเลีย เคยทำงานสมัยเป็นนักศึกษามาแล้ว 6 ปี (ผมเรียนไปทำงานไปด้วยเลยจบตรีช้าหน่อย) ทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์อีก 1 ปี จบปริญญาโทกลับมา ผมไม่อยากเสียเวลาหางานมาก ผมเลยไปสมัครงานที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ฐานเงินเดือนนักข่าวค่อนข้างน้อย ผมได้รับเงินเดือนนิดเดียวไม่ถึงหมื่นบาท ตอนนั้นก็คิดว่าเอาวะ น้อยหน่อย แต่ก็ยอม เพราะงานข่าวเป็นงานที่ท้าทาย แต่ ทำ ๆ ไปประมาณปีครึ่งมันอยู่ไม่ไหวครับ ต้องเบนเข็มไปทำงานบริษัทเอกชนที่ใหญ่สักหน่อย ก็เลยสตาร์ทที่ 2X,XXX

    จากวันนั้นที่ผมบอกเพื่อนว่าจะไปเรียนเมืองนอก จนถึงวันนี้ ผมจบกลับมาแล้วกว่า 4 ปี ถามว่า สิ่งที่ผมได้จากการไปเรียนเมืองนอกมีอะไรบ้าง

    1. ความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย เช่น การพูดกับฝรั่งที่ผมไม่ค่อยชอบเอาซะเลย ตอนหลังกลายเป็นว่าผมซื้อหนังสือฝรั่งอ่านเอง ผมคุยกับฝรั่งได้ไม่ขัดเขิน ทำงานที่ไหนก็ไม่ค่อยมีปัญหา

    2. มุมมองของชีวิตที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่คิดว่าทำงานให้ดี เรียนรู้เพิ่มด้วยตัวเองก็ได้ กลายเป็นว่าปริญญาโทมันให้อะไรกับผมมากไปกว่าการอ่านหนังสือเองหลายอย่าง เพราะผมได้อยู่กับตัวเองนานพอสมควร รวมทั้งได้อยู่ในบรรยากาศของวิชาการและการเรียนรู้ตลอดเวลา เช่น เพื่อนผมทุก ๆ ชาติจะจัดกลุ่มติววิชาสังคมศาสตร์กันเองทุกสัปดาห์ เป็นต้น

    3. Connection ที่แตกต่างไปจากเมืองไทย ผมมีเพื่อนชาวออสเตรเลียน ฮ่องกง จีน อเมริกัน แคนาดา ฯลฯ หลากหลายมาก เพราะที่ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง (ถึงมันจะมี racism ปน ๆ อยู่บ้างนิดหน่อยก็เถอะ)

    แต่ถามว่าในแง่ของการจบกลับมาแล้วคนจะให้เครดิตนักเรียนนอกเหมือนสมัยก่อนไหม ผมคิดว่ามันน้อยกว่าสมัยก่อนเยอะ มิหนำซ้ำเรียนเมืองไทยภาคอินเตอร์อาจจะได้ผลไม่ต่างกันมากก็เป็นได้ เพราะท้ายที่สุด การที่คุณถือปริญญากลับมาหนึ่งใบ คุณอาจจะมีพาสปอร์ตเข้าทำงานบริษัทที่ดี ๆ ได้ นั่นคือการซื้อโอกาสราคาแพงอย่างหนึ่ง แต่ปัจจัยที่จะทำให้ Career Path ของคุณดี ก็คือคุณสมบัติ และความสามารถของคุณต่างหาก ที่จะพาคุณไปสู่จุดหมายที่วาดหวังเอาไว้

    ปล. ขอแอบประชาสัมพันธ์นิดนึงนะครับ ผมเป็นเว็บมาสเตอร์เว็บเล็ก ๆ ชื่อ http://www.aussietip.com ครับ เป็นชุมชนคนไทยในออสเตรเลีย ว่าง ๆ เข้าไปเยี่ยมกันได้ครับ

    จากคุณ : Please - [ 12 พ.ย. 49 11:44:21 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom