Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    How (not) to do research . . . from my perspective

    เอามาฝากให้อ่านกันนะครับ . . . ถ้ามีอะไรเสนอ หรือวิจารณ์ เชิญตามสะดวกเลยนะครับ

    ปล. เอามาจากhttp://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=amorevincitomnia&group=5 ครับ

    มีคนสงสัย กันเยอะเลยทีเดียวเกี่ยวกับการทำ "วิจัย / วิทยานิพนธ์"

    หลายๆคนมักมีคำถามว่า . . . จะทำเรื่องอะไรดี

    หลายๆคนที่มีหัวเรื่อง ก็จะถามว่า . . . ทำแบบนี้ มันจะดีมั้ย

    ผมคิดว่า คำถามเหล่านี้ เกิดจากความไม่เข้าใจ ว่า ทำไมต้องทำวิจัย (ทำไมเราถึงต้องทำวิจัย/วิทยานิพนธ์ . . . นอกเหนือไปจากว่า เป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ว่าต้องทำ) . . .

    -----------------------------------------------------------

    ถาม : งานวิจัย คืออะไร?
    ตอบ : งานวิจัยคือ "การตั้งคำถามที่ดี คำถามที่น่าสนใจ และตอบคำถามนั้นอย่างน่าเชื่อถือ"

    แล้วคำถามที่ดีคืออะไร? คำถามที่สนใจคืออะไร?

    เคยมีคนกล่าวเอาไว้ว่า "คำถามที่ดี ทำให้เราเสร็จงานไปครึ่งนึง" . . . ยังเป็นจริงเสมอครับ สำหรับการทำงานวิจัย

    คำถามที่ดี คือคำถามที่ชัดเจน ระบุชัดเจนว่าเราจะศึกษาอะไร และมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร . . .

    คำถามที่น่าสนใจคือ คำถามที่จะทำให้เกิด "ประโยชน์" จากการทำวิจัยนั้น ซึ่งอาจจะเสนอความคิดใหม่, เสนอทางออกใหม่สำหรับปัญหาเดิมๆ, เสนอคำตอบ สำหรับคำถามที่ไม่มีคนตอบได้อย่างชัดเจนมาก่อน, เสนอคำตอบ วิธีการตอบที่ลึกซึ้ง หรือ ครอบคลุม สิ่งต่างๆ ได้ดีกว่างานเก่า เป็นต้น . . .

    การตอบคำถามอย่างน่าเชื่อถือ คือ การตอบคำถามที่ มีวิธีการตอบ (methodology) และมีขอบเขตในการตอบ (ขอบเขตในการศึกษา / scope of study) ที่ชัดเจน และรัดกุม ซึ่งจะสอดคล้องกับ วิธีการศึกษา ที่เราตั้งใจเอาไว้ . . .

    มีคำถามที่น่าสนใจคือ . . . วิธีการตอบคำถาม / methodology อย่างไร แบบใด จึงจะเป็นวิธีการที่ดี . . . โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีเกณฑ์คร่าวๆไว้ เพียงแค่ "ชัดเจน, ยอมรับได้ และมีความสอดคล้องของเหตุผล . . . clear, acceptable and logically consistent"

    กล่าวคือ ถ้าวิธีการตอบคำถามของผู้วิจัย ไม่ชัดเจน จะทำให้ผู้อ่าน ผู้ใช้งานวิจัยดังกล่าว จะไม่สามารถเห็นประโยชน์ และเข้าใจ งานวิจัยนั้น . . . วิธีการตอบคำถาม ก็ควรที่จะ "เป็นที่ยอมรับได้" กล่าวคือ วิธีการตอบถามที่คุณใช้ ควรเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้อ่านในระดังหนึ่ง/มีกลุ่มคน ที่ยอมรับวิธีการของคุณ . . . ถ้าวิธีการตอบคำถามไม่มีความสอดคล้องในเชิงตรรกะ จะทำให้ งานวิจัยนั้น เป็น "ขยะ" ไปได้ . . .

    โดยคร่าวๆแล้ว . . . แนวคิดข้างต้น จะนำมาสู่ส่วนประกอบพื้นฐานต่างๆใน งานวิจัย/วิทยานิพนธ์ คือ

    1. แรงจูงใจในการทำวิจัย/ศึกษา (ทำไมถึงทำเรื่องนี้ แรงจูงใจของผู้ทำวิจัยคืออะไร อะไรคือคำถามที่น่าสนใจสำหรับ งานวิจัยนี้)

    2. วัตถุประสงค์ในการทำวิจัย/ศึกษา (เมื่อทำงานวิจัยเรื่องนี้แล้ว จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอบคำถามอย่างชัดเจน และตรงประเด็น ในเรื่องใดบ้าง)

    3. วิธีการศึกษา (methodology) (การตอบคำถาม/ปัญหาในงานวิจัยดังกล่าว จะใช้วิธีการตอบแบบใด มีความชัดเจนเพียงใด มีความน่าเชื่อถืออย่างไร)

    4. ขอบเขตการศึกษา (การวิจัย หรือการตอบปัญหา ดังกล่าว จะครอบคลุมมากน้อยเพียงใด อะไรคือสิ่งที่อยู่ในการพิจารณา และอะไรคือสิ่งที่ "ไม่อยู่" ในการพิจารณา . . . แน่นอนครับ เราไม่สามารถครอบคลุมทุกอย่างได้)
    -----------------------------------------------------------

    ข้อควรระวังในการทำงานวิจัย . . . (ในความคิดของผมนะครับ)

    (ข้อควรระวัง : ผู้เขียนมีประสบการณ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ "social science" อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับสายวิทยาศาสตร์นะครับ)

    ข้อควรระวัง 1. อย่าถือเอาเครื่องมือ เป็นสรณะ

    อันนี้เป็นอันที่ผมพบมากที่สุดเลยครับ . . . หลายๆคน มักจะรู้สึกหวือหวา และรู้สึกท้าทายในการใช้เครื่องมือยากๆ ไปจับ ไปวิเคราะห์ คำถามที่ "หามาจนได้" ด้วยความรู้สึกว่ามัน "เท่ห์" ซะเหลือเกิน . . .

    ยกตัวอย่างเช่น หลายๆคน มักจะ fancy อยากเขียนบทความที่ใช้ ทฤษฎีเกมขั้นสูง หรือ เครื่องมือ พวก dynamic programming/numerical method มาประยุกต์ใช้กับปัญหา "ที่หามาได้" . . .

    วิธีการนี้ ก็เหมือน ตัดเสื้อ แล้วหาคนมาใส่ให้ได้ . . . ซึ่งเป็นสิ่งที่ "แปลกๆ" ใช่มั้ยครับ . . . และจากประสบการณ์ ที่เคยคุย เป็นที่ปรึกษาให้หลายๆคน สิ่งที่พบหลังจากนั้นคือ ผลงาน หรือบทความที่ได้ มักจะไม่ค่อย "เข้าท่า" แนวคิดมักแปลกๆ หรือ ผลสรุปมันแปลกๆ (ไม่เป็นไปตามเหตุผล ความเข้าใจตามธรรมชาติ) หรือ ผลที่ได้มักจะเป็นจริงในเฉพาะ กรณี "แคบๆ" ซึ่งแทบจะไม่สามารถหาความเชื่อมโยงกับความจริงได้เลย . . . กล่าวคือ ไม่มีประโยชน์ที่จะเขียนบทความแบบนั้นเลย

    ข้อสังเกตคือ ถ้าคุณเริ่มจะเขียนบทความใดๆ โดยตั้งต้นด้วย เครื่องมือที่จะใช้ โดยไม่ได้คิดถึง "ปัญหา" จริงๆที่คุณสนใจ . . . แสดงว่า คุณยังไม่รู้จัก เครื่องมือนั้นดีพอ . . . สิ่งที่คุณควรทำ ก็คือ การศึกษาเครื่องมือนั้นให้ดีขึ้น แล้วก็ทำแบบฝึกหัดที่ใช้เครื่องมือนั้นนะครับ ไม่ใช่เขียนบทความที่ใช้เครื่องมือนั้น เพราะสิ่งที่คุณต้องการจริงๆก็คือ ความรู้ ความสามารถในการใช้เครื่องมือนั้นต่างหาก

    ข้อควรระวัง 2. อย่าทำของซ้ำ อย่าเป็น second edition ของคนอื่น

    ผมว่าข้อนี้เป็นความท้าทายทีเดียวครับ . . .

    ลองคิดดูว่า ถ้ามีคนมาอ่านงานของคุณแล้วเค้าบอกว่า "เฮ้ย. . . เคยมีคนทำเรื่องนี้มาก่อนแล้วนี่ นี่ไง อยู่ที่ journal นี้ เดือนนั้น ปีนั้น . . . อ๋ออ แต่งานของคุณก็ดีนะ เอามาใช้กับข้อมูลที่เรามี ก็ดีนะ" . . . คุณจะรู้สึกอย่างไรครับ? . . . (แต่วิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นในไทย มักจะมีลักษณะนี้นะ . . . วิธีการเดิม ข้อมูลใหม่ แล้วก็เล่าเรื่องเดิมๆ มี imlication เดิมๆ)

    ถ้าคุณเจอปัญหาว่า ไม่รู้จะทำเรื่องอะไรดีที่น่าสนใจ โดยไม่ต้องไปลอกแนวคิดของคนอื่น . . . ฟังคำพูดของ Robert Wilson ดูนะครับ ". . . the problems encountered by practitioners provide a wealth of topics." . . . ผมคิดว่า สิ่งที่ควรทำ คือ การอ่าน literature มากๆ เกี่ยวกับเรื่องที่คุณสนใจ แล้วหา "จุดอ่อน" หรือ "ช่องว่าง" ของเรื่องนั้น แล้วคุณก็ "แก้ปัญหา" หรือ "เติมเต็ม" สิ่งนั้น

    ข้อควรระวัง 3. อย่าทำงานวิจัย ที่ เรารู้คำตอบตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว โดยวิธีการ/แนวคิด ไม่มีอะไรใหม่

    ง่ายๆเลยนะครับ . . . ถ้าคุณต้องการตอบคำถามในงานวิจัยบางอย่าง แล้ว คุณมีคำตอบแบบเดียวกับที่ งานในอดีตที่คนอื่นทำเอาไว้ โดยที่คุณไม่สามารถเสนอ หรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆเลย . . . คุณค่า ของงานวิจัยของคุณคืออะไรล่ะครับ? คงไม่มีใครอยากอ่านงานวิจัยเรื่องใหม่ ที่ตอบคำถามเดิม ด้วยวิธีการเดิมๆ ใช่มั้ยครับ . . . คงเสียเวลาคนอ่านน่าดู

    ข้อควรระวัง 4. อย่าดึงความสนใจคนอ่านด้วย fancy words ใน ชื่อเรื่อง . . . ดึงความสนใจ ที่ abstract แทน

    อันนี้ ผมพบในนักวิจัย/นักศึกษา ที่มีไฟแรงในการทำงานวิจัย/วิทยานิพนธ์ . . . เป็นสิ่งดีที่มีความกระตือรือร้น ในการทำงานวิจัยนะครับ . . . แต่ขอฝากไว้นิดนึงละกัน ว่า อย่าให้มีคำ "แปลกใหม่แบบ ที่ไม่เคยมีคนใช้มาก่อน" ในชื่อเรื่อง งานวิจัยของคุณเลย ถ้าคุณไม่สามารถสร้าง "สิ่งใหม่ๆ" ได้อย่างแท้จริง . . .

    หลายคนนิยมใช้ fancy words ใน ชื่อเรื่องที่จะดึงความสนใจ ของผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านอยากทราบว่า บทความ หรืองานวิจัยดังกล่าว จะเกี่ยวกับอะไร มีอะไรใหม่ตามที่ชื่อเรื่องเขียนเอาไว้ . . . ถ้าคุณไม่มีอะไรที่ "ใหม่ อย่างน่าประทับใจ และแปลกใจ (ในทางที่ดี)" จริงๆ คนอ่านจะรู้สึกว่า ถูกหลอก และเสียเวลาในการอ่านบทความของคุณ หรือแม้กระทั่งอ่านแค่ abstract ของคุณ . . . สิ่งที่เขาจะจำคือ ชื่อของคุณ . . . ในทางที่ไม่ดี

    ถ้าคุณต้องการจะสร้างความน่าสนใจ และคิดว่า บทความของคุณมีความน่าสนใจจริงๆ . . . ให้เขียนใน abstract นะครับ . . . อย่าเขียนอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ใน title . . . ปลอดภัยกว่ากันเยอะเลยครับ
    -----------------------------------------------------------

    มีแนวคิดง่ายๆ ที่พูดต่อๆกันมา แล้วก็น่าคิดนะครับ "ถ้าไม่แตกต่าง ก็ต้องทำให้ดีขึ้น" . . . แล้วก็ "don't write what you don't know" . . . ผมว่า มันยังเป็นจริงเสมอนะครับ

    ขอให้สนุกกับการทำ dissertation / thesis นะครับ

    แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 49 15:20:22

    จากคุณ : AmoreVincitOmnia - [ วันคริสต์มาส 15:15:50 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom