Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    NAATI, PR และโบนัส 5 แต้ม{แตกประเด็นจาก H5972761}

    กระทู้นี้สืบเนื่องมาจากหลายๆ กระทู้ที่มีการถามหรือกล่าวถึง NAATI ว่ามันคืออะไร ใช้ทำอะไรได้ ฯลฯ ผมเห็นว่าข้อมูลมันกระจายออกไปหลายทางมาก จนบางข้อมูลเริ่มกลายพันธุ์ไป เลยถือโอกาสตอบกระทู้ที่ผ่านมา และอธิบายถึงเรื่องเกี่ยวกับ NAATI ไปในตัวครับ

    ในส่วนที่เกี่ยว NAATI นี่จะขอยาวนิดนึงนะครับ เพื่อเป็นการให้เกียรติกับวิชาชีพ (ที่มักถูกมองผ่านหรือเข้าใจผิดอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องค่าบริการ ที่มักถูกหาว่าแพงถึงแพงมาก) และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของ NAATI กับการขอ PR ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างค่อนข้างลึกซึ้งทีเดียว ถึงขนาดในใบสมัครสอบมีให้ระบุเลยว่าจะสอบไปเพื่อเป็น Professional Qualification หรือเพื่อ Migration


    สตาร์ทเบาๆ เอาเรื่องโบนัส 5 คะแนนก่อนละกันครับ

    ส่วนที่จะได้เพิ่ม 5 point ในการขอ PR จากในกระทู้ที่ผ่านมา อันนี้ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นโบนัสในส่วนของ Community language นะครับ โดยส่วนมากแล้ว หลักฐานตัวหลักที่จะใช้พิสูจน์เพื่อที่จะได้คะแนนตัวนี้จะเป็นจดหมายยืนยันจากทางสถานศึกษา โดยเฉพาะของระดับมหาวิทยาลัยว่า ใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน  (รายละเอียดเพิ่มเติม ดูลิงค์ประกอบ http://www.immi.gov.au/skilled/general-skilled-migration/175/eligibility-language.htm ) อันนี้ไม่ต้องสอบ NAATI ก็ได้ครับ

    NAATI (หรือเต็มๆ คือ National Accreditation Authority of Translator and Interpreter) นี่ ง่ายๆ ก็คือองค์กรที่รัฐบาลอำนาจในการทดสอบเพื่อวัดและจัดระดับนักแปลและล่ามแต่เพียงผู้เดียวในออสเตรเลีย โดยจะแบ่งเป็นระดับๆ คือ Paraprofessional > Professional > Advance > Senior

    เวลาสมัครสอบจะต้องแจ้งระดับที่ต้องการจะสอบ (เว้น senior ซึ่งไม่ใช้วิธีการสอบ) ซึ่งแต่ละระดับจะมีข้อสอบที่ต่างกันไป เช่น ระดับ Advance จะต้องแปล Technical text ไม่ใช่ข้อสอบเดียวแต่แบ่งระดับตามแต้มที่ได้เหมือนสอบปลายภาคหรือสอบ IELTS

    ตรงรายละเอียดที่เกี่ยวกับการสอบนี่จะพูดถึงเฉพาะระดับ professional ที่เป็นตัวใช้งานหลักละกันครับ

    การสอบแปลจะแยกสอบตามทิศทางภาษา (เช่น Eng > Thai หรือ Thai > Eng) สามารถเลือกสอบทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือทั้งคู่เลยก็ได้ เกณฑ์คร่าวๆ คือ ให้เลือกแปล 2 จาก 3 text ที่ให้มา มีช่วงให้อ่านข้อสอบทั้งหมด 20 นาที ในช่วงนี้ห้ามจับปากกาเด็ดขาด!! มีคนโดนฉีกข้อสอบเพราะอย่างนี้มาแล้วนับต่อนักครับ จะเอา dict เข้าห้องสอบกี่เล่มก็ได้เท่าที่จะแบกไปไหว (หลายๆ คนใส่กระเป๋าลากเข้าไปเลย) แต่ห้าม talking dict ที่เป็น pda หรือ คอมพิวเตอร์ ต้องแปลได้ถูกต้องและเหมาะสมไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งคู่ภายในเวลาที่กำหนด (เฉลี่ย 300-350 คำ ต่อ หนึ่ง ชม.) ซึ่งโดยรวมนับว่ายากทีเดียว เพราะแม้จะเอาแค่ 70% แต่ใช้วิธีหักแต้มตามที่ผิดในการคิดคะแนน เกณฑ์ในการหักแต้มอำนวยต่อการหักแต้มให้มากขึ้นได้ เช่นมองตอนแรกเหมือนแปลไม่ตรงกับหัวข้อ (เท่ากับ -1) ไปๆ มาๆ อ่านอีกที เหมือนจะแปลผิดไปเลย  (เท่ากับ -3) แก้ๆ . . . อะไรประมาณนี้ จึงทำให้ได้แต้มสูงๆ ค่อนข้างยาก

    ส่วนการสอบล่ามจะใช้วิธีเปิดเทปแล้วให้เราแปลๆๆๆๆ แล้วก็แปลไปเรื่อยๆ รวดเดียวจบ มีให้พักหายใจกันแค่ตอนเปลี่ยน part ต้องแปลทั้งสองภาษา คือ เทปมาภาษาไหน ให้แปลเป็นอีกภาษาหนึ่ง มีทั้ง conversation และ monologue (ส่วนมากเป็น speech ยาวประมาณ 250 - 300 คำ) เทปพูดจบปุ๊บอนุญาตให้หายใจได้เฮือกนึงก่อนจะแปลทั้งหมดที่พึ่งได้ฟังมา ระหว่างฟังสามารถจดโน๊ตใส่กระดาษเปล่าหรือสมุดจดที่ไม่มีอะไรเขียนอยู่ได้ (แต่ก็มีบันทึกไว้ว่ามียอดมนุษย์อยู่บางตนสามารถจำได้หมดโดยไม่ต้องจดอะไรเลย) เวลาสอบจะมีผู้คุมสอบคอยอัดเทปและพยักหน้าให้กำลังใจอยู่เป็นเพื่อน (เนื่องระหว่างสอบห้ามตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้นต่อผู้เข้าสอบ คล้ายตอนสอบ speaking ของ IELTS)

    ที่สำคัญคือ นอกจากแปลภาษาแล้ว ยังต้องตอบคำถามเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในวิชาชีพและจรรยาบรรณอีก (หาอ่านได้ที่เวบของ AUSIT www.ausit.org หรือสถาบันล่ามและนักแปลแห่งชาตินั่นเอง) เป็นคะแนน 10% ของทั้งหมด ซึ่งถ้าได้ไม่ถึง 5% จะถือว่าสอบไม่ผ่านโดยปริยาย (หาอ่านเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในวิชาชีพได้ที่เวบของ AUSIT <www.ausit.org> มีทั้งฉบับย่อและฉบับเต็ม)

    ปีนึงจะมีจัดสอบอย่างเป็นทางการแค่ครั้งเดียว แยกช่วงกันหัวปีท้ายปีระหว่างสอบแปลกับสอบล่าม ค่าสมัครสอบรวมค่าเอกสารต่างๆ นี่ เฉียดๆ $500 ได้ครับ (นี่ยังไม่นับตอนสอบได้แล้ว ยื่นขอขึ้นทะเบียน + อุปกรณ์ช่วยหากินอย่างตราประทับ บัตรประจำตัวหรือใบประกาศอีกร่วมๆ $200) ยิ่งถ้าทำเรื่องขอสอบเฉพาะกิจนอกรอบนี่ ค่าสมัครจะเด้งขึ้นไปร่วมสองเท่าเลยครับ

    ตรงนี้ขอนิดนึง อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดว่าคงหายแปลกใจที่นักแปลหรือพวกเอเจนท์ที่รับแปลเอกสารจะชาร์จหน้าละ $40-50 ขึ้นไป (ซึ่งเป็นเรทมาตรฐานทั่วๆ ไปของวงการแปลที่ออสฯ) เพราะกว่าจะได้มา ต้องลงทุนลงแรงและเสียเวลาไปเยอะมาก (เพราะส่วนมากสอบรอบเดียวไม่ค่อยผ่านกันหรอก เดินเรื่องก็นานเป็นเดือนๆ รอผลก็นาน ตกแล้วต้องรอไปอีกปี) ที่สำคัญอย่าลืมว่างานแปลไม่มีการเลื่อนขั้น ไม่มีโบนัส ไม่มีใครมาขึ้นเงินเดือนให้ ลาป่วยหรือพักร้อนก็ไม่ได้ตังค์ ไม่ใช่ว่างานน้อยลงแล้วเงินจะเท่าเดิมเหมือนทำออฟฟิสหรือร้านอาหารที่ยุ่งมากหรือน้อยค่าแรงก็เท่ากัน และไม่ได้มีงานให้ทำตลอดเวลา คิดหน้าละ $50 นี่ผมกล้าพูดเลยครับว่าไม่ใช่เรทที่จะทำให้ผ่อนรถหรือดาว์นบ้านเป็นของตัวเองได้อย่างแน่นอน

    กลับกัน ถ้าเจอที่ๆ ค่าแปลถูกจนผิดสังเกตุ เช่น ออฟฟิสใหญ่ใจกลางเมือง หรือตัวนักแปลขับรถหรู แต่ดันคิดค่าแปลหน้าละ $25 อย่าคิดว่าจะเป็นเรื่องดีนะครับ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยครับว่าใช้เด็กที่ไหนก็ไม่รู้มาแปลแล้วมาปั๊มตราประทับใครก็ไม่รู้เอาทีหลัง เสี่ยงมากๆ ครับ เสี่ยงเสียเงินสองต่อไม่พอ ถ้าเป็นเรื่องสำคัญๆ อย่างขอ PR หรือยื่นขอวีซ่า spouse นี่ถึงกับเด้งกลับประเทศได้เลยนะครับ ส่วนตัวนักแปลคนนั้นอย่างมากก็ไปรายงานตัวที่ศาล เซ็นเอกสารนิดหน่อย แล้วก็เดินตัวปลิวกลับบ้านได้ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะมีประกันวิชาชีพอยู่ (ซึ่งค่าประกันต่อปีถูกกว่าค่าสมัครสอบอย่างเทียบกันไม่ติด) เป็นช่องโหว่ให้พวกมารสังคมในคราบเอเจนท์ทั้งหลายคอยหลอกหากินกับประชากรต่างด้าวอย่างเราๆ เนี่ยแหละ เคสตัวอย่างมีมานับไม่ถ้วนครับ อีกอย่างนึงคือ ถ้าคิดถูกๆ ถึงอยู่ได่ คงไม่มีคนกล้าชาร์จ $70 ต่อ 100 คำ แล้วงานเข้าเต็มตลอดหรอกครับ

    อีกวิธีนึงที่คุณ g9h พูดถึงในกระทู้ก่อนก็คือการนำผลสอบไปเทียบระดับเพื่อขอรับการรับรองจากทาง NAATI ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ง่ายกว่าซะทีเดียว เนื่องจากเวลาเรียนต้องทำคะแนนในรายวิชาที่กำหนด (ซึ่งก็ไม่พ้นวิชาแปลกับวิชาแปลแบบล่ามทั้งหลาย)  ให้ได้อย่างน้อย Distinction ซึ่งตัดเกรดที่ 75% ขึ้นไป รวมถึงเก็บชั่วโมงฝึกงาน (ซึ่งทำเอาหลายคนเกือบไม่จบ เพราะชั่วโมงไม่ครบ) และเขียนรายงานจนครบตามที่กำหนดครับ ทางภาคจึงจะออกจดหมายรับรองให้เราไปยื่นเรื่องขอการรับรองจากทาง NAATI ได้เมื่อเรียนจนจบหลักสูตรแล้ว (เรียนไม่จบ ก็ยื่นไม่ได้อีกน่อ) ถึงเวลาเรียนจะมีคะแนนช่วยจากส่วนอื่นบ้าง แต่ถ้าผลสอบ final ไม่ดีจริง อ. เค้าก็ไม่กล้าให้ผ่านหรอกครับ เพราะหากมีการตรวจเช็คแล้วทาง NAATI ปฏิเสธผลกลับมาจะกระทบกับชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยอย่างมาก เลวร้ายสุดคือถึงขึ้นยกเลิกการรับเทียบผลจากทางมหาลัยนั้นๆ เลยทีเดียว

    เรื่องน่าเศร้าคือ ในออสเตรเลียมีเพียงมหาวิทยาลัยเดียวที่เปิดโปรแกรมนี้ (Postgraduate Doploma/Master of Translating and Interpreting) ในภาคภาษาไทย คือ Macquarie University ที่ Sydney ซึ่งตอนนี้อยู่ในสภาวะ "ปิดชั่วคราว" เนื่องจากจำนวนนักเรียนไทยที่สมัครเรียนไปแล้วได้เข้าเรียนมีจำนวนน้อยมากถึงมากที่สุด (เหตุผลง่ายๆ คือ ทางภาครับ IELTS 7.0 ขึ้นไปเท่านั้นครับ)  ประจวบเหมาะกับปีนี้ไม่มีคนสมัครไปเลย ทางภาคจึงตัดสินใจลดภาระในการจ้างอาจารย์ในส่วนภาษาไทยนี้ไป

    อันนี้กลับมาถึงเรื่อง NAATI กับการขอ PR (ดูลิงค์ประกอบ http://www.naati.com.au/at-migration.html ) เนื่องจากล่ามและนักแปลเป็นวิชาชีพที่มีความต้องการในออสเตรเลีย (ยกเว้นกรณีของบางภาษาที่มีจนล้นเช่น จีน หรือ อาหรับ) จึงได้รับการบรรจุอยู่ในทั้งใน Skilled Occupation List และ Employer Nomination Skilled Occupation List หรือ form 1121i (อย่าสับสนกับ MODL ซึ่งเป็นโบนัสอีกตัวนึงนะครับ) ในหมวด Professionals ซึ่งทั้งสองอาชีพนี้ได้ 60 คะแนนเต็มปรี่ทั้งคู่ ประกอบกับโดยหลักการและเหตุผลของ NAATI ที่ผู้สอบผ่านในระดับ Professional
    ทั้งนักแปลและล่าม โดยพื้นฐานจะต้องมีความสามารถในภาษาทั้งสองอยู่ในเกณฑ์ดี บวกกับภาษาที่เปิดให้สอบเกือบทั้งหมดเป็นภาษาจำพวก community language อยู่แล้ว (คิดง่ายๆ คือ ในเมื่อมีคนพูดภาษานั้นๆ อยู่ในออสฯ รัฐจึงต้องว่าจ้างบุคลากรที่พูดภาษานั้นๆ ได้ เพื่อให้สามารถรองรับสิทธิโดยทั่วไปของผู้ที่อยู่อาศัยในออสเตรเลียตาม รธณ. ได้) ทำให้ผู้ที่สอบได้ NAATI ในระดับ profressional ได้โบนัส 5 คะแนนในส่วนของ community language ไปโดยปริยาย

    * ตรงนี้ขอชี้โพรงให้กระรอกหัวดำที่อยากได้ PR ด้วยความสามารถของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งใครอีกซักนิดนึง (ประเทศที่เจริญแล้วมีที่ให้คนเก่งจริงอยู่เสมอ)

    อ้างอิงจากสถิติ (รายชื่อนักภาษาแปลไทยในออสฯ ที่ปรากฏอยู่ในเวบของ NAATI) และข้อมูลส่วนตัว การสอบแปล Thai > Eng จะง่ายกว่า Eng > Thai เล็กน้อย (ไม่ใช่ว่ามาตรฐานต่างกันเพราะทั้งคนออกข้อสอบกับคนตรวจก็เป็นคนๆ เดียวกัน แต่มีเหตุผลเบื้อหลังที่ไม่ขอเปิดเผย ณ. ที่นี้) แถมยังเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าด้วย เพราะเหล่าเอเจนท์นักเรียนไทยที่พากันผุดขึ้นมาใหม่ ไม่ก็แตกหน่อขยายสาขา แน่นอนครับว่า ต้องการคนมาช่วยร่างช่วยแปลเอกสารกันเยอะขึ้นตามกัน ไหนจะประชากรไทยในซิดนีย์ที่พากันขอ PR กันมากขึ้นที่ละนิดๆ ไม่ว่าจะทางไหนก็ต้องมีแปลเอกสารหลักฐานต่างๆ จากไทยไป Eng เข้ามาเกี่ยวข้อง เทียบกับงานแปล Eng > Thai


    คราวนี้ลองมาคิดคะแนนกันเล่นๆ ดู:

    - อายุไม่เกิน 29 = 30 แต้ม
    - IELTS 7.0 = 25 แต้ม
    - Nominated skilled occupation (ใน SOL/ENSOL)  =  60 แต้ม
    - Community Language  = 5 แต้ม

    total = 120 แต้ม  บิงโก!!

    ที่เหลือก็แค่ทำงานในสายอาชีพที่จะ apply อีก week ละ 20 ชม. ขึ้นไปอีกแค่ปีเดียว (หรือ 12 ภายใน 24 เดือน) ซึ่งแม้ถือ bridging ตัวใหม่ (ให้ 18 เดือนทำงานเพิ่มแต้ม) ก็ยังสามารถทำได้อย่างสบายๆ หรือถ้าอายุเกิน 29 จะทำงานไปแล้วเรียนโทในออสฯ เพิ่มอีกซักใบสองใบ หรือจะบ้าพลังต่อ doc ทำวิจัยสนองตัญหาตัวเองไปด้วย เพิ่มแต้มให้มันเกินเล่นอีกซัก 20 (15 + 5) ถึง 30 (25+5) แต้ม ก็ยังได้ (เพราะต้องการชั่วโมงงานแค่ 20 ชม. ต่อสัปดาห์ ถึงถือวีซ่านักเรียนก็ยังทำได้... เห็นมั๊ยว่ากฏหมายเค้าอำนวยต่อคนเก่งแค่ไหน)

    ที่เขียนๆ มานี่ อีกใจนึงก็เพราะเสียดายโอกาสความสามารถของหลายๆ คนที่มีอยู่กับตัวหรือมีความพร้อมที่จะสร้างมันขึ้นมา ซึ่งโดยหลักๆ ก็เพราะเกิดจากความไม่รู้นี่ล่ะครับ หลายๆ คนที่ผมเจอบอกอยากเป็นนักแปล แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ในขณะที่อีกหลายคนกำลังหาทางไปทั้งในเรื่องวิชาชีพ ทั้งในเรื่องของ PR ผมหวังว่าข้อมูลที่ผมเขียนมานี้จะช่วยให้อีกหลายๆ คนได้เห็นภาพและเห็นช่องทางอื่นๆ ในการจะขอ PR หรือ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

    สุดท้ายนี้ก็ต้องขอบคุณที่อุตส่าห์อ่านกันมาจนจบนะครับ อย่าลืมว่านี่เป็นแค่ตัวเลือกเดียว ประเทศนี้ยังมีอะไรให้เราค้นหากันอีกเยอะครับ แล้วขอยืนยันว่า ประเทศที่เจริญแล้วมีที่ให้คนเก่งจริงอยู่เสมอ

    แก้ไขเมื่อ 02 พ.ย. 50 04:54:31

    จากคุณ : Ark on the Rock - [ 2 พ.ย. 50 04:51:44 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom