Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ข่าว ต่างๆ ใน " ญี่ปุ่น " ( อ่านเจอจึงรวบรวมมาไว้ให้อ่านกันค่ะ )

    แรงงานต่างชาติเชิญเข้าประตูหลัง(นโยบายหลิ่วตาข้างหนึ่งของญี่ปุ่นวันนี้)

    21 มกราคม พ.ศ. 2551 10:27:00


    คำรณ อินธนูไชย

    กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : เรียนคุณผู้อ่าน บทความนี้ เป็นบทความชิ้นสุดท้ายจากปลายปากกาของดร.คำรณ อินธนูไชย คอลัมนิสต์อาวุโสที่เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและให้ความกรุณาเขียนบทความแก่โต๊ะต่างประเทศหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โต๊ะต่างประเทศ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ขอแสดงความเสียใจที่จะเรียนให้ท่านทราบว่า ดร.คำรณ ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของดร.คำรณ มา ณ ที่นี้ด้วย

    ***************************************************

    เป็นที่เลื่องลือมาช้านานเกี่ยวกับชาตินิยมและทัศนคติของคนญี่ปุ่น ที่ต่อต้านและไม่ต้อนรับแรงงานต่างชาติที่พากันเข้าไปทำมาหากินในประเทศของตน ทั้งนี้เพราะเห็นว่าพวกคนต่างชาติมีความแตกต่างไปจากพวกตน ซึ่งพูดภาษาและมีลักษณะประจำเชื้อชาติ ตลอดจนวิถีความเป็นอยู่และวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน

    หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นช่วงระหว่างปีพ.ศ.2182-2397 ญี่ปุ่นก็ยังคงดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบอยู่โดดเดี่ยวไม่ยุ่งกับประเทศอื่น มีการห้ามเดินทางเข้าออกและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศก็ถูกขับออกไป ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการใช้อำนาจหน้าที่ปกครองบ้านเมืองนั่นเอง

    ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่มีชาวต่างชาติจำนวนมากเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นก็ดูจะเริ่มตอนก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อชาวเกาหลีจำนวนหลายล้านคน (ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การครอบครองของญี่ปุ่น) ได้ถูกขนย้ายให้อพยพสู่ญี่ปุ่น และถูกบังคับใช้แรงงานตามเหมืองและโรงงานต่างๆ

    แม้แต่ทุกวันนี้ ความรู้สึกแบ่งแยกและแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ก็ยังคงฝังอยู่ในส่วนใหญ่ของเอกลักษณ์ประจำชาติอยู่ คนญี่ปุ่นส่วนมากเชื่อว่าประชากรญี่ปุ่น ซึ่งมีองค์ประกอบลักษณะเดียวกันและค่านิยมเหมือนกันเท่านั้น จึงจะสามารถมีส่วนร่วมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและลดอาชญากรรมให้อยู่ในระดับต่ำได้ อนึ่งปรากฏว่าสื่อมวลชนในญี่ปุ่นเองก็เสนอข่าวอาชญากรรมที่กระทำโดยชาวต่างชาติ แยกต่างหากออกจากอาชญากรรมทั่วไปด้วย

    เมื่อสัก 4-5 ปีก่อนนี่เอง กลุ่มเกษตรกรในชนบทแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นได้นำแรงงานชาวฟิลิปปินส์เข้าไปเป็นครั้งแรกเพื่อช่วยทำงานในไร่ส้ม ปรากฏว่าบรรดาเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียงพากันต่อต้านความคิดที่จ้างชาวต่างชาติเช่นนี้ โดยเห็นว่าอย่าว่าแต่จับเลย ถึงพวกนี้จะทำงานให้ฟรีก็ไม่ควรรับไว้ ว่ากันอย่างนั้น

    แต่แล้วไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น บรรดาเพื่อนบ้านดังกล่าวก็สามารถมองเห็นเหตุผลและมีวิจารณญาณ เพราะแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่จ้างไว้ต่างทำงานแข็งขัน หนักเอาเบาสู้ ไม่ว่าจะเป็นตัดกิ่งไม้ ถอนหญ้า และกลายเป็นแรงงานจำเป็นที่ต้องมีไว้ช่วยงานเกษตรกรสูงอายุ

    นับแต่นั้นมา ชนบทของเกษตรกรแห่งดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยประมาณ 100 หลังคาเรือน ก็จึงได้พากันจ้างแรงงานจากฟิลิปปินส์และเวียดนามไว้รวมกันถึง 70 คน เลยทีเดียว และผู้คนเริ่มเข้าใจและตระหนักว่ามันดีกว่าตั้งเยอะหากจ้างใครสักคนไว้ช่วยงาน

    คนญี่ปุ่นเริ่มจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเอาไว้ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ตามชนบทหลายแห่งแรงงานต่างชาติถูกบรรจุเข้าทำงานตามแหล่งหรือตามแรงงานที่ต้องอาศัยน้ำอดน้ำทนและความพยายามอย่างมาก อาทิเช่น ภาคเกษตร หรือโรงงานสิ่งทอเป็นต้น ในขณะที่ตามเขตอุตสาหกรรมต่างๆ บริษัทขนาดใหญ่ก็จะจ้างไว้เข้าทำงานในโรงงานประเภทอะไหล่รถยนต์บ้าง ประเภทประกอบเครื่องรับโทรทัศน์จอแบนบ้าง อย่างนี้เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังจ้างให้ไปทำงานเป็นคนเสิร์ฟอาหารตามภัตตาคาร หรือไปเป็นพนักงานจัดวางสินค้าตามชั้นต่างๆ ในร้านขายของเบ็ดเตล็ดจำพวกของชำ อาหาร ฯลฯ ก็มี

    จากการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปีก่อนพบว่า ในญี่ปุ่นมีชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานมากถึง 770,000 คน หรือประมาณ 1.3% ของจำนวนประชากรวัยทำงานของประเทศ และยังพบอีกด้วยว่า 56% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเสนอว่าทางการญี่ปุ่นควรยอมรับแรงงานต่างชาติไร้ฝีมืออย่างมีเงื่อนไขหรือไม่ก็เมื่อได้ดำเนินการตามข้อกำหนดบางประการแล้ว อนึ่งจากการสำรวจดังกล่าว 26% คัดค้านแรงงานต่างชาติ

    แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ทำงานที่แรงงานคนญี่ปุ่นไม่ต้องการทำ อาทิเช่น งานด้านเกษตรกรรม และงานก่อสร้าง แรงงานต่างชาติจำนวนไม่น้อยกระจายกันทำงานอยู่ตามชุมชนชนบทเล็กๆ ทั่วประเทศที่ห่างไกลจากชุมชนเมือง

    สิ่งหนึ่งที่ประชาชนคนญี่ปุ่นทั่วไปในปัจจุบันตระหนักกันอยู่ได้แก่ แนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ของประเทศ และสิ่งนี้เองทำให้เริ่มมองกันว่าแรงงานต่างชาติเป็นความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ในระยะยาว ทั้งนี้ก็เพราะว่าอัตราเกิดของคนญี่ปุ่นกำลังลดลง ขณะเดียวกันจำนวนประชากรวัยทำงานของประเทศที่เคยอยู่ระดับสูงสุดเมื่อปีพ.ศ.2538 นั้น มาเดี๋ยวนี้ได้เริ่มลดระดับลงแล้วเช่นกัน

    มีการพยากรณ์ทางด้านประชากรศาสตร์กันว่า จำนวนคนญี่ปุ่นในวันทำงานที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 64 ปี จะลดลง 15% ภายในปีพ.ศ.2568 โดยเริ่มลดจาก 85 ล้านคนในปีพ.ศ.2550 ประจวบกับที่ปีพ.ศ.2550 ดังกล่าวนี้ก็เป็นปีที่ผู้คนจำนวนมากที่เกิดระหว่างช่วงปี พ.ศ.2490-2492 (ที่เรียกกันว่ายุค "เบบี้บูม") ก็จะมีอายุครบ 60 ปี อันเป็นวัยเกษียณตามบริษัทธุรกิจต่างๆ พอดี

    ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้คอยควบคุมแรงงานต่างชาติอย่างเข้มงวด โดยปิดประตูและห้ามเข้าอย่างเป็นทางการก็จริงอยู่ แต่สำหรับอย่างไม่เป็นทางการแล้วละก็มีการอนุญาตเปิดเป็นช่องโหว่ไว้มากมาย ทำให้ชาวต่างชาติจำนวนหลายหมื่นหลายแสนคนสามารถเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นได้ทุกปี เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่เป็นแบบชั่วคราว ยุทธวิธีดังกล่าวนี้ถูกเรียกขานว่าเป็น "นโยบายประตูหลัง" นั่นเอง

    นโยบายแบบปิดตาข้างหนึ่ง คงเปิดให้มองเห็นเพียงข้างเดียวที่ว่านี้ อาจดูเป็นตัวอย่างได้จากกรณีแรงงานต่างชาติที่นำเข้าไปช่วยทำงานให้แก่บรรดาเจ้าของฟาร์มเกษตร ด้วยเหตุผลทางเทคนิค แรงงานเหล่านั้นจะไม่ถูกจ้างให้ช่วยงานในฐานะเป็นแรงงานหรือคนทำงาน แต่ทว่าจะถูกเรียกว่า "ผู้เข้ารับการฝึกอบรมงาน" หรือง่ายๆ ก็ "คนฝึกงาน" นั่นแหละ คนเหล่านี้มีจำนวนรวมกันไม่ต่ำกว่า 140,000 คน นำเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นภายใต้โครงการพิเศษที่รัฐบาลสนับสนุน เป็นระยะเวลาคนละ 3 ปี เพื่อเรียนรู้ฝีมือและวิธีการต่างๆ และนำกลับไปพัฒนาประเทศของตน โดยได้รับเบี้ยเลี้ยงเพียง 2.50 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง หรือประมาณครึ่งหนึ่งของค่าจ้างขั้นต่ำสุดของคนญี่ปุ่น

    หรือจากอีกตัวอย่างคนต่างชาติจำนวนไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ที่ได้วีซ่านักศึกษา และได้รับอนุญาตให้ทำงานบางเวลาได้ตามร้านสะดวกซื้อหรือไม่ก็ร้านฟาสต์ฟู้ดและภัตตาคาร

    ยังมีอีก แต่ทว่าเป็นกลุ่มคนต่างชาติที่ได้รับสิทธิพิเศษจำนวนไม่ต่ำกว่า 300,000 คน ที่ล้วนเป็นลูกหลานผู้สืบเชื้อสายจากคนญี่ปุ่นนั่นเองผู้ได้อพยพไปทำมาหากินในทวีปอเมริกาใต้เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว สายเลือดญี่ปุ่นเหล่านี้จะได้รับวีซ่าในฐานะ "ญาติของคนญี่ปุ่น" สามารถอยู่และทำงานในญี่ปุ่นได้นานเท่าที่พวกเขาต้องการ

    นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังมีแรงงานต่างชาติกลุ่มใหญ่จำนวนหลายหมื่นคนที่เป็นชาวอิหร่าน และได้วีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นในฐานะนักท่องเที่ยวเมื่อสักสองทศวรรษก่อน อันเป็นยุคที่ญี่ปุ่นกำลังเศรษฐกิจเฟื่องฟู หลังจากวีซ่าหมดอายุลงพวกนักท่องเที่ยวชาวอิหร่านเหล่านั้นก็อยู่ต่อแบบผิดกฎหมาย เพื่อทำงานในญี่ปุ่นนั่นแหละ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลอิหร่านในขณะนั้นได้ทำข้อตกลงยกเว้นเป็นพิเศษให้ แต่ต่อมาภายหลังเมื่อเศรษฐกิจซบเซาลง ก็ได้มีการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว

    นับตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ.2543 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นกำลังขยายตัว และแรงงานคนญี่ปุ่นเองก็ขาดแคลน ทำให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานจากบราซิล โดยแรงงานคนบราซิลส่วนใหญ่ได้รับการว่าจ้างภายใต้สัญญาพิเศษ ซึ่งหมายถึงว่าพวกเขาอาจถูกปลดออกจากงานได้อย่างง่ายดาย หากเกิดเศรษฐกิจหรือธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ตกต่ำ หรือหากทางโรงงานรถยนต์ตัดสินใจย้ายฐานผลิตไปยังประเทศอื่น อย่างบริษัทผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรายใหญ่สุดของญี่ปุ่นได้แก่ โตโยต้า ปัจจุบันมีแรงงานทั้งสิ้น 10,000 คน 45% เป็นแรงงานจากบราซิล

    เมื่อเร็วๆ นี้ญี่ปุ่นก็มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น เพื่อสนองให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเองหลายประเภท อาทิ เก็บผลไม้ หอยเชลล์ และโรงงานเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ตามชนบทที่ประชากรมีจำนวนลดลง และคนหนุ่มสาวก็พากันทิ้งบ้านช่องเข้าไปหางานทำในเมือง ส่วนใหญ่ของแรงงานต่างชาติเหล่านี้เข้าไปทำงานในญี่ปุ่นภายใต้โครงการ "ระบบคนฝึกงาน" ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ที่นำเข้าหลังสุดนี้มีจำนวนประมาณ 70,000 คน เพิ่มเติมที่มีอยู่แล้วจำนวน 80,000 คน ก่อนหน้านี้

    กรณีที่น่าสนใจศึกษาเห็นจะได้แก่ 53 โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในจังหวัดเอฮิเมะในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ที่เคยมีชื่อเสียงในด้านการผลิตผ้าเช็ดตัวเมื่อ 3-4 ทศวรรษก่อน แต่ระยะหลังมานี้บรรดาโรงงานเหล่านี้ต้องเจอคู่แข่งสำคัญ นั่นคือ สินค้าประเภทเดียวกันแต่ราคาถูกกว่ามากจากจีน วิธีการแก้ปัญหาของบรรดาเจ้าของโรงงานได้แก่ สั่งนำเข้า "คนฝึกงาน" ทั้งหญิงชายจำนวนร่วม 500 คนจากประเทศจีน พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับค่าจ้าง 510 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อตัดเย็บกระโปรง เสื้อผู้หญิง ตลอดจนชุดนักเรียนต่างๆ ทำให้สถานภาพที่เกือบจะล้มละลายของบรรดาโรงงานกลับฟื้นขึ้นมาได้

    ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังมีแผนที่จะส่งเสริมให้โครงการ "คนฝึกงาน" ขยายตัวต่อไปอีก และแรงงานต่างชาติที่เข้าไปฝึกหัดงานก็สามารถอยู่ทำงานได้นานขึ้น ถึงแม้ว่าเหตุผลเบื้องลึกของโครงการเกี่ยวพันกับแนวโน้มด้านประชากรในอนาคตของประเทศ ที่จำเป็นต้องมีการเตรียมรับมือไว้ แต่ขณะเดียวกันการนำเข้าแรงงานต่างชาติก็ยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และอาจกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนในชาติอยู่

    นโยบายประตูหลังของญี่ปุ่นวันนี้คงจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปได้ไม่มากก็น้อย



    http://www.bangkokbiznews.com/2008/01/21/WW19_1910_news.php?newsid=222050

    จากคุณ : My life in Japan. - [ 15 ก.พ. 51 15:44:00 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom