Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ขอเชิญร่วมแชร์ประสบการณ์การเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา{แตกประเด็นจาก H9211735}  

กระทู้นี้ แตกประเด็นออกมาจากกระทู้  "* ท่านที่เรียน Ph.D. ตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยจากเหตุผลอะไรมากที่สุดครับ"

ที่จริงแล้ว ผมชอบความเห็นของคุณ virion ที่เขียนไว้ในกระทู้ก่อนหน้ามากเลยครับ เพราะคุณ virion ได้อธิบายไว้ค่อนข้างชัดเจนถึงการเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา ข้อพิจารณาเกี่ยวกับอัตราส่วนของนักเรียนและโพสต์ดอกในแล็บ และความแตกต่างระหว่างแล็บแบบต่างๆ

ก่อนอื่น ขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรในเรื่องของการหาอาจารย์ที่ปรึกษา เพียงแต่เคยมีโอกาสได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คน แต่ละคนก็มีข้อดีและมีข้อเสียแตกต่างกันไป
ข้อคิดเห็นทั้งหมดที่มาเล่าให้ฟังในกระทู้นี้ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวจากสิ่งที่ผมเคยประสบมากับตัวเองล้วนๆ ถือว่าเป็นเอาเป็นว่าถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันแล้วกันนะครับ

อ้อ ลืมบอกไป ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลอง ไม่ใช่นักทฤษฎีครับ เพราะฉะนั้น ในบางวงการ วิธีคิดที่ผมใช้อาจจะใช้ไม่ได้เลยก็ได้

อย่างแรก ขอเล่าให้ฟังถึงข้อควรพิจารณาเพื่อดูว่านักวิจัยคนนึง productive แค่ไหน ถ้าเขาเป็น อ ที่ปรึกษา จะมีงานวิจัยออกบ้างหรือเปล่า?

สิ่งที่สำคัญที่สุดของนักวิทยาศาสตร์ (และนักวิชาการ) ก็คือความน่าเชื่อถือ หรือที่หลายๆ คนเรียกว่าเครดิต เพราะเครดิต หมายถึงชื่อเสียง การยอมรับ และเงินทุน
นักวิชาการจึงต้องการเผยแพร่ผลงาน เพื่อเพิ่มเครดิตของตัวเอง เพราะงั้นหลายๆ คนจึงพยายามตีพิมพ์เปเปอร์ออกมาให้มากที่สุด แต่การเผยแพร่ผลงานก็มีหลายแบบ

1 เปเปอร์งานวิจัย รวมถึงเลทเทอร์ - งานวิจัยของแล็บนั้นๆ  ส่วนใหญ่จะมีข้อมูล ผลการทดลอง บทอภิปรายผล
2 โน๊ต และบทความสั้นๆ - ส่วนนึงของงานวิจัย อาทิเช่น คริสตัลโลกราฟฟิกโน๊ต (บอกแค่คอนดิชั่นของการตกผลึก และรูปร่างของผลึก) สตรัคเจอร์โน๊ต (เพื่อเผยแพร่โครงสร้างของโปรตีน)
3 รีวิว พรีวิว โอพิเนียน บทบรรณาธิการ - รีวิวจะรวบรวมข้อมูลและความรู้ต่างๆ ในแวดวงงานวิจัยนั้นๆ  พรีวิว กล่าวถึงงานใหม่ๆ (ไม่ใช่งานที่ทำในแล็บนั้น) โอพิเนียน และบทบรรณาธิการจะคล้ายรีวิว แต่ใส่ความเห็นของคนเขียนลงไปด้วย
4 โพรซีดดิ้ง - รายงานผลสั้นๆ ส่วนใหญ่จะมาจากงานประชุมวิชาการ
5 คอนเฟอร์เรนซ์ - บทคัดย่องานประชุม
6 บทความอื่นๆ - อย่างเช่น ประวัตินักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่เขียนโดยผู้ที่เคยร่วมงานกับเขา, วิจารณ์หนังสือ

สำหรับผม เวลาที่ดูว่าอาจารย์คนนึงมีผลงานตีพิมพ์มากน้อยแค่ไหน จะดูก่อนว่าอาจารย์ท่านนั้นตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เป็นอริจินัล หรือว่ามาจากแล็บเขาเองจริงๆ มากน้อยแค่ไหนต่อปี
เพราะฉะนั้น วิธีที่ง่ายที่สุด คือ เสิร์ชฐานข้อมูลงานวิจัย เช่น pubmed, ISI, Sciencedirect แล้วค่อยๆ นับไปว่าจำนวนเปเปอร์ที่เขาตีพิมพ์ออกมามีมากน้่อยแค่ไหน

ผมจะนับเฉพาะเปเปอร์ที่วิจัยออกมาจากแล็บของอาจารย์ท่านนั้นจริงๆ หรือเป็นโปรเจ็คต์ของอาจารย์ท่านนั้น และงานส่วนใหญ่เป็นงานที่ออกมาจากเขาจริงๆ ไม่ใช่มาจากการ collaboration และไม่นับเปเปอร์ที่ไม่ได้มาจากงานวิจัยจริงๆ
ย้อนกลับไปดูชนิดของเปเปอร์ที่ผมแยกไว้ข้างบนนะครับ

เปเปอร์งานวิจัย และเลทเทอร์ (1) คือเปเปอร์ที่ตีพิมพ์มาจากงานวิจัยจริงๆ ผ่านการ peer review มาอย่างเข้มข้นก่อนจะได้รับการตีพิมพ์ มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง  โน๊ต (2) ก็มาจากงานวิจัยจริงๆ แต่ (3) (4) (5) และ (6) ผมไม่นับรวมเป็นเปเปอร์ครับ เพราะรีวิว พรีวิว โอพิเนียน ... ใน (3) และบทความอื่นๆ ใน (6) เป็นการรวบรวมองค์ความรู้จากงานในวงการ แค่เขียนอย่างเดียว ไม่ได้ทำการทดลองหรือวิจัยอะไรในแล็บเขา
แม้ว่าโพรซิดดิ้ง (4) และแอปสแตร็คต์จากคอนเฟอร์เรนต์  (5)  นั้นจะมาจากงานวิจัยจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการตรวจสอบ (standard peer review) และอาจจะถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำเป็นเปเปอร์งานวิจัยจริงๆ (1 หรือ 2) ในภายหลัง

ถ้าคุณนับจำนวนเปเปอร์ แล้วลบเอาบทความที่ไม่ได้ผ่านการ peer review และที่ไม่ใช่รีวิวออกไป (1,2) คุณก็จะรู้ว่ามีบทความกี่เรื่องที่อาจารย์ที่คุณสนใจเขียนออกมาจากผลการทดลอง ไม่ได้เขียนออกมาจากงานชาวบ้าน

ประเด็นต่อมาก็คือคุณจะรู้ได้อย่างไรว่า เปเปอร์ที่เขียนออกมานั้น ทำในห้องปฏิบัติการของเขาจริงๆ ไม่ได้โคงานกับชาวบ้าน ทำการทดลองแค่จิ๋วเดียว แล้วมีชื่อติดไปด้วย ตอนออกเปเปอร์ ??

*เพิ่มเติมส่วนที่ขาดหายตอนพิมพ์ครับ

แก้ไขเมื่อ 05 พ.ค. 53 16:42:44

จากคุณ : Scientist
เขียนเมื่อ : วันฉัตรมงคล 53 15:57:03




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com