Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
++++กต.ประกาศเตือน และแจ้งข่าวสาร+++ ติดต่อทีมงาน

ประกาศเรื่องแรก

อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าหน้าร้อนในประเทศยุโรป ( กรกฎาคม – กันยายน) ผลไม้ป่า อันได้แก่ ผลไม้เล็กๆ ที่เรียกกันว่าเบอร์รี่ประเภทต่างๆ กำลังจะออกผล และแน่นอนประเทศในยุโรปก็ต้องการแรงงานเข้าไปเก็บผลไม้ป่าในบริเวณที่เป็นพื้นที่ป่าเขา 

แรงงานไทยก็เป็นแรงงานกลุ่มหนึ่งที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่ยุโรปเพื่อเก็บผลไม้ป่า ทุกๆ ปี แรงงานไทยจะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน เป็นจำนวนมาก ทุกคนหวังว่าจะได้เงินเป็นจำนวนมากกลับมา แต่แรงงานทุกคนจะโชคดีอย่างนั้นหรือไม่?  

ทุกๆ ปี มีแรงงานไทยต้องผิดหวังกับรายได้ที่ไม่ตรงตามเป้า หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสัญญาจ้าง

ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยเน้นการลงพื้นที่ในจังหวัดที่มีแรงงานเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าจำนวนมาก เพื่อประชาสัมพันธ์เชิงรุกและให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการป้องกันการถูกหลอกลวง รวมทั้งเน้นการฝึกอบรม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพที่แท้จริงของการทำงานเก็บผลไม้ป่าที่แรงงานทุกคนต้องเผชิญ    

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ โดย กรมการกงสุล ร่วมกับองค์กรแรงงงานระหว่างประเทศ และสำนักจัดหางานจังหวัดชัยภูมิ จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เตือนภัยแรงงานไทยที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ขึ้น โดยได้บรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมในเรื่องขั้นตอนการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศที่ถูกต้อง ตลอดจนสิทธิในการได้รับการคุ้มครองและช่องทางการขอรับช่วยเหลือจากส่วนราชการของไทย  รวมทั้งให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเดินทางไปเก็บผลไม้

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานไทยและให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจจะไปทำงานประเภทดังกล่าว

 

ทำความรู้จักกับผลไม้ป่า


1.ลูกเบอร์รี่หรือผลไม้ป่ามีหลายสายพันธ์ ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นพุ่ม พันธ์ที่ได้รับความนิยมในสวีเดนและฟินแลนด์ (มี 3 ชนิด ได้แก่ 1) Carlberry ออกต้นฤดูมีราคาแพงและต้องใช้มือเก็บ 2) Blueberry คนละชนิดกับที่นำมาทำของหวานในไทย ออกกลางฤดูและมีราคาถูกกว่าชนิดแรก 3) Lingonberry มีราคาถูกกว่าสองชนิดที่กล่าวมาแล้ว และพร้อมเก็บเกี่ยวหลังสุด)


 
2.เบอร์รี่มักจะขึ้นในป่าในเขตซับอาร์คติก ( Sub-Arctic) และบริเวณใกล้ขั้วโลก ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ซึ่งในหน้าร้อนอาจจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ  12 – 15 องศาในตอนกลางวัน อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมชาติการเก็บผลไม้ป่าจะต้องเริ่มเก็บตั้งแต่เช้าตรู่ถึงหัวค่ำ ซึ่งอุณหภูมิในตอนเช้าและหัวค่ำอาจติดลบได้

 

3.การเก็บผลไม้ป่า ต้องเดินก้มหรือคลานเก็บ และต้องทำอย่างทะนุถนอม เนื่องจากเป็นไม้พุ่มเตี้ย ผลเล็ก หากเก็บแรงอาจทำให้ผลไม้ช้ำ 

คิดสักนิดก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า


1.คิดถึงความคุ้มค่า การไปเก็บผลไม้ป่ามีรายได้ไม่แน่นอน ต้องคำนวนความคุ้มทุนให้ดี เนื่องจากแรงงานจะเดินทางไปต้องเสียค่าเดินทาง เสียค่านายหน้า นอกจากนี้เมื่อไปต่างประเทศแล้ว ต้องเสียค่าที่พัก ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน และอื่นๆ อีกจิปาถะ (แรงงานแต่ละคนจะเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานคนละ 80000 – 100000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าเดินทางไปเก็บผลไมป่าตามที่ต่าง ๆ และค่าบริหารจัดการของบริษัทจัดส่ง)


2.การทำงานทุกชนิดมีความเสี่ยง สำหรับการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าแล้ว ความเสี่ยงที่ว่าคือ จำนวนเงินที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผลไม้ที่เก็บได้ แรงงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้มีจำนวนมากขึ้นทุกปี แต่จำนวนผืนป่ามีเท่าเดิม หากปีใดสภาพอากาศแปรปรวน ผลไม้ป่าก็จะออกผลน้อย ก็จะเก็บผลไม้ได้น้อย รายได้ไม่พอรายจ่าย ดังนั้นต้องศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องสถานการณ์การเก็บผลไม้ป่าให้ชัดเจนเพื่อประเมินความเสี่ยงและการขาดทุนเนื่องจากอาจไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสียสำหรับการเดินทางไป


3.ถ้าตัดสินใจจะไปแล้ว โปรดศึกษาและพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการด้านเอกสาร อ่านสัญญาให้ดี รายได้เท่าไร ต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง ตั๋วเครื่องบินเป็นแบบ open เลือกวันกลับได้เองไหม จากการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เตือนภัยแรงงานไทยที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ พบว่า แรงงานไทยมักไม่ให้สำคัญต่อรายละเอียดของสัญญาจ้างและให้ความเชื่อถือต่อนายหน้าหรือผู้แทนบริษัทมากเกินไป 

 

ข้อควรรู้ :
1.ตามปรกติแล้ว แรงงานเก็บผลไม้ป่าต้องอาศัยในต่างประเทศเพื่อเก็บผลไม้ระยะเวลาประมาณ 60 – 70 วันและต้องจ่ายค่าเช่าบ้านประมาณ 1,000 ยูโร (40,000 – 50,000 บาท)
2.ค่าเช่าต่างๆ ที่ต้องจ่ายเป็นปรกติ ได้แก่ ที่พัก อาหาร อุปกรณ์เก็บผลไม้ ค่ารถ และค่าน้ำมันนอกจากนี้ ยังต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าการเดินทาง เช่น วีซ่า ประมาณ 1,500 ยูโร
 1.แรงงานเก็บผลไม้ป่าต้องเก็บผลไม้ประมาณ 15 – 20 กิโลกรัมต่อวัน และหากต้องการได้กำไรต้องเก็บผลไม้ป่าให้ได้อย่างน้อย 50 กิโลกรัมต่อวัน
2.ลักษณะการทำงาน และจะต้องทำงานในสภาพอากาศหนาวจัด ระหว่างตีสามถึงหกโมงเย็น (03.00 – 18.00 น.) และอาจต้องแข่งขันกันเองในการเก็บเพื่อให้ได้ค่าจ้างมากขึ้น นอกจากนี้ หากอากาศเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้จำนวนผลไม้ป่าน้อยลงด้วย 

 หากมีข้อสงสัยหรือต้องการขอคำแนะนำและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการเก็บผลไม้ป่าสามารถติดต่อได้ที่  กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน Hotline 1694, 1506 หรือที่เว็บไซต์ www.doe.go.th หรือ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 02981 7200 หรือที่เว็บไซต์ www.consular.go.th

@@@@@@@@@@

หวังว่าปีนี้คงจะไม่ได้ฟังเรื่องเล่าจากแม่บ้านฝั่งยุโรปเกี่ยวกับบรรดาแรงงานไทยถูกเอาเปรียบ และเสียชีวิตขณะเก็บผลไม้ป่าอีกนะคะ ทำไงได้ในเมื่อเมืองไทยนับวันค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ค่าแรงสำหรับแรงงานไร้ฝีมือก็ยังไม่พอสำหรับพวกเขา

ประกาศเรื่องที่สอง

ทำความรู้จักกับทีมที่ปรึกษา กม. ของไทยในการสู้คดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลก

 คณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทยกรณีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ประกอบด้วยศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (สัญชาติออสเตรเลีย) ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ (สัญชาติแคนาดา/นิวซีแลนด์) และศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ (สัญชาติฝรั่งเศส) ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นชอบให้บุคคลดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาฯ สำหรับต่อสู้คดีในศาลโลก โดยพิจารณาจากคุณสมบัติและความสามารถที่โดดเด่น รวมถึงความยอมรับในระดับระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีศาสตราจารย์ฌอง-ปิแอร์ คอต สัญชาติฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจของฝ่ายไทย โดยมีประวัติของแต่ละท่านโดยสังเขป ดังนี้

1. ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด สอนกฎหมายระหว่างประเทศที่ ม. เคมบริดจ์ และเป็น ผอ. ศูนย์วิจัยกฎหมายระหว่างประเทศเลาเตอร์แพคท์ที่เคมบริดจ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2535 เป็นผู้รับผิดชอบยกร่างธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ปี 2547 และข้อบทของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความรับผิดแห่งรัฐ ปี 2544 ศ. ครอว์ฟอร์ดเป็นทนายที่มีประสบการณ์ว่าความในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ มากที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศ และศูนย์กลางระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาทด้านการลงทุน รวมทั้งเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีต่าง ๆ อีกหลายคดี และเคยเป็นทนายให้แก่มาเลเซียในคดีเกาะปูเลา บาตู ปูเตะห์ เมื่อปี 2551 และคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสิปาดันและลิติกัน นอกจากนี้ ศ. ครอว์ฟอร์ดยังเขียนตำรากฎหมายระหว่างประเทศหลายเล่มและดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสของหนังสือกฎหมายระหว่างประเทศประจำปีของสหราชอาณาจักร

2. ศาสตราจารย์โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ เป็นสมาชิกศาลประจำอนุญาโตตุลาการตั้งแต่ปี 2531 และสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2549 นอกจากนี้ ยังเป็นทนายความของรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งคดีต่าง ๆ ในองค์การการค้าโลกตั้งแต่ปี 2541 - ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้านเขตทางทะเล ระหว่างปี 2543 – 2548 ที่ปรึกษาของแคนาดาในข้อพิพาทระหว่างแคนาดา-ฝรั่งเศสในคดีเขตแดนทางทะเลบริเวณหมู่เกาะแซงปีแยร์และมีเกอลง และเป็นทนายความให้สาธารณรัฐซูรินาเมในคดีระหว่างกายอานากับซูรินาเม เมื่อปี 2549

3. ศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ สอนกฎหมายระหว่างประเทศที่ ม. ปารีส (University Paris Ouest, Nanterre-La Défense) ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์พิเศษสอนกฎหมายระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งเคยได้รับเชิญมาร่วมบรรยายที่ ม. ธรรมศาสตร์เมื่อปี 2521 ด้วย นอกจากนี้ ศ. เปลเล่ต์ยังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2533 และเคยดำรงตำแหน่ง ปธ. คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2540 – 2541 สำหรับในด้านงานคดีความ ศ. เปลเล่ต์มีประสบการณ์ว่าความในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมากกว่า 35 คดี เป็นที่ปรึกษากฎหมายและทนายให้แก่ประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย (คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสิปาดัน (Sipadan) และลิกิตัน (Ligitan) ) และสิงคโปร์ (คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะเปดรา บลังกา (Pedra Blanca) อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายขององค์การการท่องเที่ยวโลกและเป็นผู้เขียนตำรากฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายเล่ม

ทั้งนี้ ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศทั้งสามคนได้ทำงานร่วมกับคณะทางด้านกฎหมายของ กต. มาระยะหนึ่งแล้ว และในกรณีของคดีการตีความคำพิพากษาศาลโลกนี้ ก็จะทำงานร่วมกับตัวแทนของรัฐบาลไทยคือ ออท. ณ กรุงเฮก และรองตัวแทนคือ อธ. กรมสนธิสัญญาและกฎหมายของไทย โดยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของคณะดำเนินคดีที่ ครม. แต่งตั้ง ซึ่งมี รมว.กต. รมว.กห. เลขาธิการ คกก.กฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผบ.ทบ. และเจ้ากรมแผนที่ทหาร เป็นที่ปรึกษา

4. ผู้พิพากษาเฉพาะกิจของฝ่ายไทย คือ ศาสตราจารย์ฌอง-ปิแอร์ คอต โดย ศ. คอต สัญชาติฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่ง ปธ.ชมรมกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2547- ปัจจุบัน เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ ม.ปารีส (University of Paris I) เป็นนักวิจัยสมทบของ ม.อิสระแห่งบรัสเซลล์ (Université Libre de Bruxelles) เคยเป็นทนายความคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหลายคดี อาทิ คดีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างบูร์กินาฟาโซกับสาธารณรัฐมาลี ข้อพิพาทเรื่ออาณาเขตระหว่างลิเบียกับชาด ข้อพิพาทเขตแดนทางบกและทางทะเลระหว่างแคเมอรูนกับไนจีเรีย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้พิพาษาเฉพาะกิจในหลายคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อาทิ คดีแบ่งเขตทางทะเลในทะเลดำระหว่างโรมาเนียกับยูเครน และคดีเกี่ยวกับการพ่นยาฆ่าวัชพืชทางอากาศระหว่างเอกวาดอร์กับโคลอมเบีย และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal of the law of the sea: ITLOS)

หมายเหตุ: สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลโลกพิจารณาตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารแยกตามประเด็นสำคัญ ได้ที่ http://on.fb.me/lqQvlr

บรรยากาศที่ศาลโลก ขณะพิจารณากรณีเขาพระวิหาร เป็นภาพที่อนุญาตให้เผยแพร่ได้จาก กต. ก็เอาใจช่วยกับทุกคนกับภาระกิจใหญ่ ขนาดแค่กรณีเอาสถานทูตไปจำนองยังเหนื่อยกันมาก เป็นปี ๆ กว่าจะเสร็จ .

แก้ไขเมื่อ 08 มิ.ย. 54 03:25:18

 
 

จากคุณ : มาดามพันชั่ง
เขียนเมื่อ : 7 มิ.ย. 54 19:57:41




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com