 |
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเช็กได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติเช็กเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1992 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม ปี 1993 สาธารณรัฐเช็กกำหนดให้เป็นรัฐอธิปไตย, เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นเสรีประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่ง สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะบัญญัติอยู่ในกฎบัตรพื้นฐานแห่งสิทธิและเสรีภาพ (Listina základních práv a svobod) กล่าวคือ ประเทศสาธารณรัฐเช็กมีระบอบการเมืองการปกครองแบบรัฐสภา
อำนาจนิติบัญญัติ คือรัฐสภา ประกอบด้วย 2 สภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎรจะมีจำนวน 200 คนในวาระ 4 ปี ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในประเทศสาธารณรัฐเช็กใช้ระบบสัดส่วน (Propocionální systém) การเลือกตั้งนั้นพรรคการเมืองจะเสนอบัญชีรายชื่อมา ซึ่งพรรคการเมืองที่จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้จะต้องได้คะแนนอย่างน้อย ร้อยละ 5 ของคะแนนเสียงทั้งหมด วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 81 คน อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี
ทุกๆ สองปี จะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 ระบบการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกใช้ระบบเสียงข้างมาก (majoritní systém) ซึ่งผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งที่ตนสมัครจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนนและเป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุด หากไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งก็ต้องทำการเลือกตั้งรอบสอง โดยนำผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกมาทำการลงคะแนนอีกครั้งในรอบสอง
การเลือกตั้งของทั้งสองสภาจะเป็นการเลือกตั้งโดยทั่วไปโดยตรง ลงคะแนนเสียงโดยลับ บุคคลผู้ที่สามารถเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้จะต้องมีอายุ 21 ปี ส่วนผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งวุฒิสภาจะต้องมีอายุ 40 ปี ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเช็ก มีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถยุบวุฒิสภาได้
รัฐสภามีอำนาจทางนิติบัญญัติที่จะให้ความเห็นชอบออกกฎหมาย โดยอาศัยหลักการเสียงข้างมาก การริเริ่มเสนอกฎหมายสามารถเสนอได้โดยสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎร, กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา, รัฐบาล หรือภาคซึ่งเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นอิสระ การเสนอกฎหมายนั้นขั้นแรกจะต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นลำดับแรก เมื่อสภาผู้แทนให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย ขั้นตอนต่อไปคือการเสนอให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งวุฒิสภาอาจจะให้ความเห็นชอบ, ปฏิเสธไม่รับ หรือ คืนกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรพร้อมข้อสังเกต
ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจควบคุมการทำงานของรัฐบาล ควบคุมดูแลการเงินงบประมาณ สามารถตั้งกระทู้ถาม ให้ข้อสังเกตแก่รัฐบาลและรัฐสภา โดยการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภาจะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเช็ก สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกเสียงไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล
สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเสนอชื่อประธานและรองประธานสำนักงานควบคุมด้านเศรษฐกิจและงบประมาณให้ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง นอกจากนั้นวุฒิสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดี
รัฐสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับความผูกพันระหว่างประเทศและสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา
ฝ่ายบริหารประกอบด้วยรัฐบาลและประธานาธิบดี คณะรัฐบาลนั้นมีลักษณะเป็นองค์กรกลุ่ม ซึ่งการตัดสินใจอยู่ในรูปเสียงข้างมากของคณะรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้ง โดยต้องได้รับมติความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปกติจะได้รับความไว้วางใจเพราะกลุ่มพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนก็คือกลุ่มเดียวกับรัฐบาลนั่นเอง รัฐบาลมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ตนเสนอ นอกจากกฎหมายแล้วรัฐบาลยังมีอำนาจออกกฎหมายลำดับรอง เช่น กฤษฎีกา หรือ ประกาศกระทรวง เป็นต้น
รัฐบาลจะประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งการทำงานจะออกในรูปแบบของการประชุมคณะรัฐมนตรีและการตัดสินใจบริหารงานก็จะออกมาในรูปแบบของมติคณะรัฐมนตรี
ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งจะเลือกโดยการประชุมร่วมกันแห่งทั้งสองสภาในวาระ 5 ปี
ผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีจะต้องอายุ 40 ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย อำนาจของประธานาธิบดีคือการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร ประกาศจัดให้มีการเลือกตั้งและเรียกประชุมสภา มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งประธานและรองประธานสำนักงานควบคุมด้านเศรษฐกิจและงบประมาณ มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการธนาคารแห่งชาติเช็ก และมีอำนาจให้นิรโทษกรรมได้
จบแล้วครับ คราวหน้า ก็คงเขียนต่อ ในเรื่องของศาล ต่อไป ครับ
ขอขอบคุณที่กรุณาอ่าน ครับ
ว่างๆคุยกัน ครับ
แก้ไขเมื่อ 05 ก.ย. 54 22:44:53
จากคุณ |
:
กมลลั้นลาเป็นมักเน่ (Kamollanla)
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ก.ย. 54 22:42:56
|
|
|
|
 |