 |
มีสาเหตุหลายประการที่แตกต่างระหว่างอเมริกาและเยอรนีที่ทำให้พยาบาลต่างชาติอยากไปทำงานที่อเมริกามากว่าเยอรมนี รวมทั้งพยาบาลเยอรมันก็ด้วย สาเหตุหลักๆ คือรายได้หรือผลตอบแทน และ สภาพงานหนักต่างกัน พยาบาล RN ในอเมริกามีรายได้เฉลี่ยอย่างขั้นต่ำๆ ก็ตก 60,000 US$ หรือราว 43,000 ยูโรต่อปี ขึ้นอยู่กับว่าอยู่แถบไหนของประเทศ ในขณะที่พยาบาลเยอรมันนั้นอย่างสูงแล้วได้ราวๆ 2,400-3,000 ยูโร/เดือน ถ้าทำกับโรงพยาลใหญ่ๆ ถ้าเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลเล็กหรือบ้านพักคนชรารายได้จะยิ่งน้อยกว่านี้คือต่ำกว่า 2,000 ยูโร/เดือน (ทั้งหมดเป็นรายได้รวมก่อนหักภาษีและรายการหักอื่นๆ)
นอกจากนั้นแล้ว พยาบาลอเมริกันรับผิดชอบคนไข้ 1:5 ในขณะที่พยาบาลเยอรมัน 2 คนรับผิดชอบคนไข้ทั้งวอร์ด ฉะนั้นงานพยาบาลในเยอรมนีนั้นเป็นงานหนักมากแต่ได้เงินน้อย ถึงได้มีคนไทยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเยอรมนีบ่นและบ่นเรื่องที่ต้อง "รอ" รับการบริการด้วยเวลายาวนาน ต้องเตรียมเผื่อเวลาไปเลยครึ่งค่อนว้น
ความแตกต่างนี้เกิดขึ้นมาจากความแตกต่างของระบบประกันสุขภาพระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งสวนทางตรงกันข้ามกัน และต่างก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไปด้วย ในขณะที่อเมริกามีระบบประกันสุขภาพแบบปล่อยเสรีแข่งขันกันในธุรกิจประกันเอกชน โดยให้ประชาชนมีสิทธิเลือกประกันได้เอง (ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่จะออกให้) ทางเยอรมนีกลับวางนโยบายบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ โดยบริษัทประกันส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การควบคมดแลของรัฐบาล และปล่อยเสรีให้แก่ประชาชนส่วนน้อยบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเลือกทำประกันส่วนตัวกับเอกชนได้
นั่นคือ คนอเมริกันมากกว่าครึ่งมีประกันสุขภาพเอกชน ที่เหลือจะอยู่ในความดูแลของรัฐในโปรแกรมของ Medicare และ Medicaid ในขณะที่คนเยอรมัน 90% มีประกันสุขภาพของรัฐ และอีก 10% มีประกันเอกชน
ระบบอเมริกันจึงก่อให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจรักษาดูแลสุขภาพ แพทย์ผู้รักษาจะเรียกเก็บค่าบริการสูงลิ่วจากบริษัทประกัน ขณะที่แพทย์เองก็มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกันที่จะต้องจ่ายค่าประกันเพื่อคุ้มครองเมื่อเกิดกรณีคนไข้ฟ้องร้องขึ้น
ข้อดีของระบบการรักษาพยาบาลในอเมริกาคือ แพทย์ทำงานเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบริหารจากโรงพยาบาล จึงเกิดการค้นคว้า วิจัย ทดลอง วิทยาการทางแพทย์ใหม่ๆ พร้อมๆ ไปกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ยา เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ ก้าวหน้ากว่าประเทศใดในโลก
จนมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2008 นี้เอง ที่ทำให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อระบบดูแลรักษาประกันสุขภาพของอเมริกา ที่แม้แต่รัฐบาลเองก็ขาดแคลนเงินจึงต้องตัดงบใช้จ่ายสำหรับ medicare และ medicaid ลงอยู่เรื่อยๆ แม้แต่บริษัทประกันก็ขาดรายได้จากการที่คนว่างงานเพิ่มขึ้นและตัดค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลลงด้วยเช่นกัน ทำให้แพทย์ขาดรายได้และต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของตนเองเพื่อความอยู่รอด
ข้อเสียของระบบอเมริกาคือ เป็นระบบประกันสุขภาพที่แพงที่สุดในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลก และถึงกระนั้นก็ยังมีชาวอเมริกันกว่า 43 ล้านคนที่ไม่มีประกันสุขภาพคุ้มครองเลย จะได้รับการรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
ข้อดีของระบบเยอรมันคือ ประชาชนทุกคนมีประกันสุขภาพสำหรับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยทุกโรค และการตรวจร่างกายเพื่อป้องกันสำหรับบางโรค เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส็ใหญ่ และ อื่นๆ เป็นต้น
ข้อเสียคือ จะให้ได้คุณภาพการบริการระดับโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว สำหรับทุกคนย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยดีพอสมควรสำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ
อาชีพพยาบาลของคนต่างชาติในเยอรมันจึงเกิดความเป็นไปได้อย่างมากต่อเมื่อได้มาแต่งงานกับชาวเยอรมัน และเลือกตัดสินใจย้ายมาอาศัยในเยอรมนี ถึงแม้ว่าจะต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ สอบเทียบวุฒิความรู้ตามระบบของเยอรมันใหม่ และแม้แต่จะต้องแข่งขันกับพยาบาลชาติอื่น พยาบาลไทยก็มักจะไม่มีปัญหา และมีชื่อเสียงด้านดีได้รับการยอมรับโดยทั่วไป อาชีพนี้ยังนับเป็นอาชีพที่มีสถิติอัตราการว่างงานน้อยที่สุดอาชีพหนึ่ง
สำหรับคนโสดที่จะต้องมาเริ่มต่อสู้ชีวิตใหม่ทั้งหมด ชีวิตแวดล้อมใหม่ ภาษาใหม่ ทำงานหนัก และได้เงินน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นอย่างอเมริกา จขกท อาจต้องคิดหนักหน่อยล่ะครับ แต่ถ้าคุณมีความตั้งใจจริง ก็ลงมือเริ่มต้นเลยครับ
แต่เนื่องจากพยาบาลไทยแต่งงานกับชาวเยอรมันมีน้อย เพราะโอกาสที่จะได้โคจรมาพบกันในชีวิตประจำวันไม่ใช่เป็นเรื่องปกติ จำนวนพยาบาลไทยในเยอรมนีก็น้อยตามไปด้วย ต่างกับพยาบาลไทยในอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ที่เปิดเสรีรับผู้อพยพต่างชาติเข้าประเทศ เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา พยาบาลไทยที่ไปทำงานที่ประเทศเหล่านี้ ไปเพื่อไฝ่หาความสำเร็จด้วยอาชีพการงานส่วนตน ไม่ใช่ไปในฐานะคู่สมรสติดตามสามี พยาบาลไทยที่แต่งงานแล้วกลายเป็นผู้มีรายได้หลักแทนสามีก็มีอยู่มากมาย
เข้าใจว่าในประเทศยุโรปอื่นๆ ก็น่าจะมีเงื่อนไขสภาพคล้ายคลึงกันในลักษณะนี้ เนื่องจากประเทศยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่จะมีนโยบายสวัสดิการประกันสุขภาพของรัฐคล้ายๆ กัน
ผมไม่มีข้อมูลจำเพาะสำหรับประเทศอื่นๆ อีก เสียใจด้วยครับที่ให้คำตอบอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้
แก้ไขเมื่อ 18 มี.ค. 55 04:41:28
แก้ไขเมื่อ 18 มี.ค. 55 03:37:06
จากคุณ |
:
Bagheera (Bagheera)
|
เขียนเมื่อ |
:
18 มี.ค. 55 03:24:33
|
|
|
|
 |