Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ชีวิตอันแสนสั้นของนักเรียนอังกฤษ [ตอนที่ 4 ชีวิตในโรงเรียนสอนภาษา] ติดต่อทีมงาน

กระทู้เก่า

ลิ้งตอนที่ 1 http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12224646/H12224646.html
ลิ้งตอนที่ 2  http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12243376/H12243376.html
ลิ้งตอนที่ 3 http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12260789/H12260789.html



ตอนที่ 4 ชีวิตในโรงเรียนสอนภาษา (July-September 2005)

ชีวิตวันเปิดเทอมวันแรก ก็จะต้องมีการเข้า Orientation กันก่อน ไปที่ห้องในมหาลัยที่เขานัดไว้ในเอกสารแล้วเขาก็จะพาเราไปรวมตัวกันอยู่ที่ Lecture Hall ก็คือตึกนี้ทั้งตึกจะเอาไว้ใช้สำหรับการเรียนการสอนในclass ของคณะต่างๆที่คนเยอะๆค่ะ  เคยดูหนังต่างประเทศไหมคะ Lecture Hall ก็จะมีจอเอาไว้ให้อาจารย์ใช้ power point, มีที่ปิ้งแผ่นใส หรือเขียนอะไรลงไป หรือ board สำหรับอาจารย์ไว้เขียนภาษาขอม เอ้ย ภาษาปะกิตขยุกขยิก แล้วก็จะมีเก้าอี้ ลดหลั่นกันไปตามชั้น เป็นรูปครึ่งวงกลมค่ะ เข้าห้องพวกนี้ทีไร หัวใจระทึกนึกว่าอยู่ในฉากในหนัง วัย teen  ของฮอลลีวู้ด เสียทุกครั้งไป แต่ทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมห้องไม่ได้สวย และเรียนกันง่ายดายเช่นนั้นเหมือนในหนังเสียเมื่อไหร่เล่าคะ ออกจะหน้าดำคร่ำเคร่งกันทุกคนค่ะ

วันแรกเขาจะพากันไปถ่ายรูปทำบัตรนักศึกษาของโรงเรียนค่ะ ใส่ชุดไปสวยๆ ทำหน้ายิ้มแย้มตอนถ่ายรูปนะคะ  บัตรนี้จะมีอายุอยู่ได้ 3 เดือน เนื่องจากเด็กเข้าเรียนภาษาบางคนอาจไม่ผ่านสอบ IELT และไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่มหาลัยได้ค่ะ แต่พอเข้ามหาลัยได้แล้วเขาจะทำบัตรให้ใหม่ มีอายุอยู่ได้ 1 ปีการศึกษาค่ะ  เนื่องจากเรามาแบบ under condition ที่ว่าให้มาเรียนภาษาก่อน 2 เดือนแล้วจะรับเข้าต่อในมหาลัย ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องสอบค่ะ แต่การเรียนภาษาที่นี่มีการเก็บชื่อในการเข้าห้องเรียนด้วยนะคะ (คะแนน attendance) ถ้าใครขาดบ่อย ชีวิตก็อาจจะต้องแขวนอยู่บนเส้นด้ายเหมือนน้องๆคนไทยบางคนค่ะ ที่โดดเรียนบ่อย บางคนป่วยเลยไม่ได้เข้าเรียน เมื่อเวลาเรียนไม่พอ ก็จะมีปัญหาค่ะ ต้องหาเวลาไปคุยกับ Director ของสถาบันสอนภาษาเขากันเอาเอง ซึ่งเขาก็มักจะหาเวลามาคุยกับเราง่ายเสียเมื่อไหร่เล่าคะ  

บัตรนักศึกษานี้มีคุณประโยชน์มากมายค่ะ เช่น การจะใช้ห้องสมุดในมหาลัย หรือหากเราต้องการจะไปใช้ห้องสมุดต่างมหาลัย (ที่ส่วนมากมักจะงกไม่ค่อยให้นักศึกษาที่ไม่ใช่นักศึกษาของเขาใช้กัน) เราก็แสดงเจตจำนงโดยการยื่นบัตรนักศึกษาของเราขอเข้าได้ค่ะ (บางแห่งจำกัดให้เข้าได้แค่ 3 ครั้งเท่านั้นค่ะ) นอกจากนี้ในบัตรนักศึกษาของมหาลัยดิฉันจะมีอีเมลล์ของเราที่ใช้ภายในมหาลัยด้วย อีเมลล์นี้ควรจะเช็คทุกวัน ยิ่งช่วงสอบแล้ว เพื่อเอาไว้ติดต่อกับเพื่อนและคุยกับอาจารย์ได้ และใช้เติมเงิน (ใน counter service ของมหาลัย ปกติจะเติมกันตั้งแต่ 5-20 ปอนด์ค่ะ) เพื่อนำไปใช้ print งานในห้องคอมที่มหาลัยได้ค่ะ รายละเอียดน่าจะแตกต่างกันไปตามแต่มหาลัยนะคะ แต่เรื่องพวกนี้ไม่ยากค่ะ ลองสอบถามรุ่นพี่เอาได้  

วันแรก Orientation จะมีการพาเดินไปยังที่ต่าง เช่น ห้องสมุด, โรงยิม ค่ะ มีการแจ้งอีเมลล์ของคนที่หากมีปัญหาเรื่องใดจะติดต่อได้ที่ไหน, บอกร้านอาหาร ซึ่งในมหาลัยอาจจะมีร้านอาหารให้เลือกอยู่มากมายค่ะ นอกจากนั้นก็มี Shop อยู่อีกมากมายเช่นเดียวกัน และรวมไปถึงมี pub และ theque ด้วยค่ะ

จะมีการจ่ายเงินค่าเรียนด้วยในวันแรก จะจ่ายสด จะใช้เช็ค หรือจะรูดการ์ด ก็ตามแต่ที่เราตกลงกันไว้กับทางมหาลัย ของดิฉันนำเช็คมาเอง แล้วเอาเข้าธนาคารที่นี่ อาทิตย์แรกก็ไปธนาคารมาแล้วแต่ต้องเสียเวลา Clearing ประมาณ 1 อาทิตย์ค่ะ คิดว่าจะได้เงินช่วงอาทิตย์เปิดเทอมแต่หลังจากนั้น 1 อาทิตย์เขาก็ยังไม่สามารถเคลียร์เช็คให้ได้  ก็มีปัญหากับฝ่ายการเงินของมหาลัยตามมาอีก (จะมีใครเจอแจ็คพอตอย่างฉันบ้างคะเนี่ย ตอนนั้นคิดได้อย่างเดียวว่าอยู่ประเทศชาตินี้เป็นตายไร้ดีอย่างไรก็ต้องไฟท์ค่ะ) คนที่ฝ่ายการเงินก็ส่งอีเมลล์มาตาม บอกว่าหากคุณไม่ยอมจ่ายตามกำหนดเท่านี้ เราจะต้องคิดดอกเบื้ยคุณเพิ่ม เอา เอากะมันสิคะ เรามาเรียนจ่ายเงินก็แพงกว่าเด็กฝั่งยุโรปหรือเด็กอังกฤษด้วยกันเองอยู่แล้ว แต่ดั๊นมาคิดเงินเพิ่ม อืมมมพ่อดิฉันไม่ได้พิมพ์แบงค์เองนะเคอะ (เด็กอังกฤษไม่ค่อยเรียนหนังสือปริญญาโทกันหรอกค่ะ ส่วนมากจะเป็นเด็กยุโรปพวกที่มาจากไซปรุสกันเสียมากกว่า)

ทางมหาลัยมีการรับจ่ายเงินทางออนไลน์นะคะ เงินยังเคลียร์กับแบงก์ไม่ได้ ไม่มีเงินใช้จึงโทรศัพท์ไปขอเลขที่หน้าบัตรเครดิตของที่บ้านและsecurity no. (หมายเลข 4 ตัวที่อยู่หลังบัตร) แล้วก็ชำระแทนไป ไม่เช่นนั้นมีหวังได้จ่ายเพิ่มมากกว่าคนอื่นแน่ค่ะ (ตอนนั้นดิฉันไม่มีบัตรเครดิตนะคะ ตอนนี้ก็ยังไม่มีฮ่าๆๆ)  

ดังนั้นการจ่ายเงินกับทางมหาลัยนอกจากจะไปจ่ายทางฝ่ายการเงินได้แล้ว ก็ยังสามารถจ่ายทาง online ได้สะดวกและบางทีจะมีส่วนลดให้อีกค่ะ  เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเมืองนอกนิยมใช้บริการทางออนไลน์ (ถ้ามาอ่านปี 2012 แล้วคงมีคนขำมาก แต่สมัยก่อนมีหลายคนไม่เชื่อที่จะซื้อของทางออนไลน์นะคะ มันเป็นเรื่องของ security ความไว้ใจ ตลาดออนไลน์ช่วงนั้นก็ต้องทำการตลาดเยอะพอสมควร) ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คุณได้ซื้อของ หรือชำระสินค้าบริการได้สะดวกมากๆอีกทางหนึ่ง เด็กที่มาที่อังกฤษนี่แทบทุกคนจะต้องมีประสบการณ์กับการซื้อของทางออนไลน์แน่นอนค่ะ เป็นอย่างหนึ่งที่บางคนกลัวไม่กล้าลอง แต่ลองแล้วจะติดใจจริงๆนะคะ

ชีวิตช่วงแรกไปอยู่ก็จะเป็นเพื่อนสนิทกับโทรศัพท์, MSN, ร้านไปรษณีย์ มากเป็นพิเศษค่ะ เนื่องจากความเคยชิน ชีวิตก็จะยังติดกับที่เมืองไทยอยู่ ผ่านไปได้สักเดือนหนึ่ง ก็เริ่มที่จะคุ้นกับเพื่อนๆกันแล้วค่ะ ช่วงนั้นก็ชักจะเริ่มห่างจาก MSN กลายมาเป็นจัดปาร์ตี้ที่ห้องครัว เม้ากันกับเพื่อนๆต่างชาติแทน โทรศัพท์ก็ไม่ค่อยจะบ่อยสักเท่าไหร่ ที่บ้านโทรเข้ามาก็จะคุยไม่นานเท่าๆกับช่วงอาทิตย์แรกๆ ดังนั้นใครที่ผ่านอาทิตย์หรือสองอาทิตย์แรกไปได้โดยที่ไม่ร้องไห้เลยนี่นับถือค่ะ ไปวันสองวันแรกอาจจะยังไม่ร้อง เพราะต้องจัดบ้าน จัดข้าวของ ติดต่อเรื่องต่างๆให้เรียบร้อย จะไปมีน้ำตาหยดแหมะอีกที (นอกเหนือไปจากตอนมีเพื่อนๆมาส่งที่สนามบินแล้ว) ก็อีตอนทำอะไรทุกอย่างเสร็จแล้ว นั่นล่ะค่ะ มองไปก็เห็นผนังห้องสี่เหลี่ยมทั้งสี่ด้าน มองออกไปนอกหน้าต่างฟ้าก็อึมครึม นั่งๆ เดินๆ ยืนๆ นอนๆ ในห้องจนอืดดด  พอได้ว่างมากๆเสียขนาดนี้ก็จะฟุ้งซ่านพาลคิดถึงบ้าน คิดถึงแฟน คิดถึงน้อง คิดถึงพี่ และขนาดจะคิดถึงหมาทีก็ยังเป็นเรื่องให้เสียใจได้เลยค่ะ

อาการเหล่านี้ของอาทิตย์แรกๆในการอยู่ที่ต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ เป็นกันทุกคนค่ะ รับรอง แต่หลังจากเข้าเรียนกันจนเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว  คือรู้เป้าหมายชีวิตตัวเองแล้วว่า เช้านี้ฉันต้องทำอะไร สายนี้ต้องไปไหน เย็นนี้จะไปที่ใด กับเพื่อนคนใด แล้วละก็  คงไม่มีเวลามานั่งร้องไห้ โศกเศร้า โศกาอาดูรอยู่เป็นแน่ค่ะ แสดงว่าการมีเป้าหมายในชีวิตก็สำคัญนะคะ ดังนั้นอย่าลืมที่จะนั่งคิดไปก็ได้ค่ะว่า วันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ดีกว่าอยู่เฉยๆ เมื่ออาการเหงาเริ่มจะจางไป ก็จะมีโรคอื่นตามมาค่ะ นั่นก็คือโรคที่เกี่ยวกับ ท้องกับไส้

ไม่ทราบว่านักเรียนอังกฤษส่วนใหญ่เป็นกันหรือเปล่า แต่ดิฉัน และเพื่อนบางคนเป็นค่ะ นอกจากนี้ไม่แน่ใจว่าโรงเรียนสอนภาษาของที่อังกฤษเขาพักกันเหมือนกับเวลาของที่โรงเรียนของดิฉันหรือไม่ คือโรงเรียนของดิฉันจะพักเที่ยงกันตอน 13.00 น. ค่ะ  

อาการแรกก็คืออาการท้องร้องครืดคราดเวลาเรียน ดังมากกกกกกกกกกก เหมือนกับว่าเรากำลังหิวข้าวอยู่ ทั้งๆที่เราก็ทานข้าวเช้ามาแล้ว บางทีท้องเราร้องส่งเสียงดังขณะที่เพื่อนๆกำลังนั่งอ่านหนังสือกันละก็ได้มีอายม้วนกันไปทุกที เพื่อนบางคนที่มีมารยาทหน่อยก็ทำเฉยๆไม่ได้มองหาตัวต้นเสียงทำให้เขินได้อ่ะค่ะ แต่ในกรณีของดิฉันเห็นที่จะยาก เพราะเสียงมันดังมากจนจับใจความได้ว่ามาจากดิฉันนั่นเอง เหอๆ เย็นวันนั้นเลยต้องไป tesco ค่ะหาซื้อกล้วยติดกระเป๋าเอาไว้ ให้ท้องได้ทำงาน สงสัยจะเรียนเครียดมากหรือไงไม่ทราบเมื่อหัวต้องทำงานหนัก กระเพาะเลยต้องหาอาหารไปเลี้ยงสมอง ดังนั้นเมื่อถึงเวลานี้แล้วท้องร้องดิฉันก็จะจัดการขอ Peter, Dave, Michael หรือว่าจะชื่อคุณครูอะไรก็แล้วแต่ ออกไปสวาปามกล้วยจนหมดค่ะ  กว่ากระเพาะดิฉันจะชินกับเวลาของอังกฤษก็ปาไปจะเข้าเดือนที่สองแล้วโน่นแหล่ะค่ะ

อาการที่สองเห็นหลายคนเป็นค่ะ นั่นก็คือการเข้าห้องน้ำทำธุระแบบหนักบ่อยมากกว่าปกติ มีน้องคนหนึ่งสามารถเข้าได้ประมาณวันละ 3 รอบเลยค่ะ อันนี้ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรเหมือนกันแฮะ  บางคนสันนิษฐานว่าเป็นเพราะน้ำที่ทานกัน  (น้ำที่อังกฤษสามารถเปิดก๊อกดื่มได้เลยค่ะ เช่นเดียวกันกับหลายๆประเทศในยุโรป, อเมริกา ค่ะ) ดังนั้นน้องๆเด็กไทยบางคนเลยลงทุนซื้อเอเวียงติดตู้เย็นเอาไว้เลยล่ะค่ะ (น้ำแร่เท่าที่เห็น เห็นจะมีแต่ยี่ห้อนี้อย่างเดียวค่ะ ลองมาเมืองไทยสิคะจะได้เห็นไม่ต่ำกว่า 5 แบรนด์แน่ๆ) นอกจากนี้ที่โน่นนักเรียนไทยและจีนนิยมซื้อเครื่องกรองน้ำกัน (แบบเป็นเหยือกค่ะ)  ยี่ห้อ Britta (จะได้ค่าโฆษณาไหมเนี่ย) ราคาประมาณ 10-20 ปอนด์ค่ะ อยู่ที่ขนาด และ design แต่ต้องเปลี่ยนไส้กรองทุกๆ 3 เดือน (แพงดีเหมือนกัน แต่เฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างที่ซื้อเอาช่วงนี้ หาได้จากรุ่นพี่ที่กำลังจะกลับ ซื้อมือสองจากที่มีติดประกาศตามบอร์ดมหาลัย หรือว่าถ้าซื้อใหม่ก็นำไปขายทอดตลาดก่อนกลับไทยได้ค่ะ) กลับมาที่อาการถ่ายหนักบ่อยๆนี่ ถ้าให้เดาน่าจะเป็นเพราะอาหารที่ทานเข้าไปค่ะ อาหารที่นั่นส่วนมากจะเป็นพวกมี fibre ผสมอยู่ด้วยก็มีเยอะค่ะ แบบที่ทานแล้วไปช่วยระบายก็แยะ แบบที่เป็น organic, whole wheat นี่ไม่ต้องพูดถึง มีกันให้เลือกเพียบ และที่สำคัญ โยเกิร์ตที่โน่นอร่อยมากและซื้อกันได้แบบยกแพ็คกันเลยล่ะค่ะ บางทีแพ็คหนึ่งมีให้เลือกแบบ 3กล่อง, แบบ 4กล่อง หรือแบบ 6 กล่อง การซื้อของแบบยกแพ็คเมื่อเวลาไปที่เทสโก (หรืออาจจะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตเจ้าอื่นก็ได้นะคะ เช่น Saint’s bury, M&S (Mark and Spencer) etc.) นี่เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ นักเศรษฐศาสตร์ หรือใครก็ตามน่าจะเข้าใจถึงความหมายของ Economy Of Scale ใช่ไหมคะ หรือที่เรียกกันง่ายๆว่ายิ่งซื้อเยอะของยิ่งถูกลง (ไม่ได้มีเฉพาะโยเกิร์ตนะคะ สามารถหาซื้อได้ตั้งแต่น้ำส้มยันอาหารประเภทอื่นๆอีกเพียบค่ะ) มันก็จะมีแบบ ซื้อ 1 แถม 1, ซื้อ 2 แถม 1 บางทีต้องอ่านดีดีนะคะ ของที่โน่นจะจัดรายการเยอะ เคยไปซื้อเสื้อยืดเพราะเห็นราคามันถูก แต่ตอนนั้นภาษายังไม่แตกฉาน เลยกลับได้ของที่แพงกว่าเดิมค่ะ พวกนี้เขาจะเขียนแปลเป็นไทยได้ประมาณว่า ซื้อตัวที่ 2 จะลดครึ่งราคาค่ะ (buy 1 get 1  ½ priceค่ะ) บางทีจะเข้าใจผิดไปว่าถ้าซื้อ 2 ตัวจะลดครึ่งราคา กลับได้ของมาราคาแพงกว่าที่คิดไว้ไปเลย ดังนั้นควรดูให้ดีดีก่อนซื้อนะคะ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถประหยัดเงินได้มากกว่าซื้อแบบ 1 อันอีกนะคะเนี่ย เพราะงั้นไปเดินร้านพวกซุปเปอร์มาร์เก็ต อย่าไปคนเดียวค่ะ พาเพื่อนสาว หรือหนุ่มไปด้วย เวลาเจอของแบบแพ็คคู่ เราเอาอันนึง เพื่อนเอาอีกอัน หารสองด้วยราคาถูกกว่าซื้อคนเดียวอีกค่ะ (อันนี้ไปเทสโกนะคะ ไม่ได้สำเพ็ง แต่ใช้หลักการเดียวกันนี้ได้เลยค่ะ) ส่วนผักที่นั่นเป็นพวกที่มีประโยชน์กับลำไส้และร่างกายทั้งนั้นเลยค่ะ เช่น บร๊อคโคลี, กะหล่ำ, แครอท ถ้าหากวันไหนมีคะน้านี่ต้องรีบคว้าเลยค่ะ เพราะกินบร๊อคโคลีกันทุกมื้อจนหน้าจะเป็นบร๊อคโคลีอยู่แล้วล่ะค่ะ หัวหอมใหญ่และหัวหอมแดงที่โน่นหัวใหญ่มากกกกกกกก ของดีดีคัดสดสด และต้องได้ตามมารตฐานของชาติของเขาถึงจะได้เอามาวางขายให้กับพวก first world แบบนี้แหล่ะค่ะ ประชาชน

ตอนที่เรียนที่โรงเรียนสอนภาษา 3 เดือนนั้น เขาจะแจกหลักสูตรมาให้ตั้งแต่แรกว่า เราจะเรียนตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน แล้วจะมีเวลาว่างอีกกี่วัน ถึงจะเริ่มคอร์สต่อไป  ช่วงเรียนจบหนึ่งเดือนเราจะมีเวลาว่างกันประมาณ 3-5 วันค่ะ เช่นวันพฤหัสจบคอร์ส จะเปิดอีกทีก็วันจันทร์ไม่ก็อังคารหน้า เขาไม่ให้นักเรียนว่างไปเลยทั้งอาทิตย์หรอกค่ะ (7วัน) ดังนั้นช่วงจะขึ้นคอร์สใหม่นี้เองที่เราจะได้มีเวลาเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอังกฤษที่นอกเหนือไปจากเมืองที่เราอยู่ หรือ การไปหาประสบการณ์ในเมืองอื่นๆที่ไม่ใช่เมืองเรา หรือเรียกกันสั้นๆว่าไปเที่ยวนั่นเองค่ะ

การเรียนการสอนของสถาบันสอนภาษาของที่โน่นนั่นเขาจะแบ่งออกมา คาบเช้ากับคาบบ่ายค่ะ ช่วงเดือนแรกๆ จะมีหลายวิชาหน่อย เช่นวิชา แกรมม่า วิชางานเขียน วิชาการอ่าน แต่จะมีคลาสหนึ่งเสมอที่เป็นห้องสำหรับรวบรวมคนที่คณะและวิชาเรียนใกล้ๆกันนำมาไว้รวมกัน เช่นพวกเด็ก วิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเรียนไบโอ คอม หรือว่าอะไรก็ตามแต่ก็จะได้อยู่ห้องเดียวกัน พวก Social Science, Political Science, Law ก็จะได้อยู่ห้องเดียวกัน พวก บัญชี , Finance, Econ ก็จะได้อยู่ห้องเดียวกันค่ะ หลังจากนั้นพอเริ่มเข้าสู่เดือนที่สองนี่ การเรียนจะเข้มข้นมากขึ้น ช่วงเช้าจะเน้นเรียนแกรมม่าและช่วงบ่ายจะเข้าห้องเพื่อนั่งเขียนรายงานในเรื่องที่เราจะต้องเรียนในมหาลัยต่อไปอีกหนึ่งปีเช่น ถ้าคุณจบทางด้านกฎหมายมา อาจารย์ก็จะให้เขียน essay ประมาณ 500 คำ 800 คำ และ 1,000 คำในที่สุด (ไม่ต้องโหยหวนอ่ะค่ะ เพราะเนื่องจาก เมื่อเปิดเทอมแล้ว 2,000 คำถือว่าปกติไปเลยค่ะ หลังจากนั้นอาจารย์จะค่อยๆเพิ่มหัวข้อที่ยากขึ้น จนในที่สุดคุณก็จะต้องเขียนอยู่ที่ระหว่าง 4,000-6,000 คำ ไม่ขาดไม่เกิน ส่วน dissertation นี่ก็ประมาณ 15,000 คำค่ะ แล้วแต่คณะด้วย คณะไหนเน้นเขียนก็มากหน่อย คณะไหนใช้คิดคำนวณ สร้างโมเดล ก็จะน้อยหน่อย) (พอมาอ่านตอนนี้แล้ว 500 คำนี่ชิลมากไปแล้วอ่ะค่ะ เหอๆๆ)  

แต่ที่โหดที่สุดน่าจะเป็นการพรีเซ้นท์งานเป็นภาษาอังกฤษ จากที่เราเข้าห้องสมุดมา ไปหาข้อมูลทั้งหมดมา เราจะต้องนำสิ่งที่ได้ มาเรียบเรียงแล้วก็ออกไปหน้าห้องไปอธิบายเรื่องที่เราเรียนให้เพื่อนฟัง การให้คะแนน ก็เหมือนบ้านเรา คนไหนพรีเซ้นต์ดี มีลูกเล่นก็ได้คะแนนเยอะหน่อย แต่ส่วนมากจะทำได้ดีกันทุกคน บางคนออกไปพูดแล้วเนื้อหายากก็จะออกไปอ่านก็จะได้คะแนนน้อยกว่านิดหน่อย (แต่ก็ไม่มีใครตก)  เคล็ดลับที่ดีที่สุด คือการฝึกซ้อมบ่อยๆ พูดบ่อยๆ และอย่าไปอ่าน ให้เขียนเป็นคีย์เวิร์ดลงไปในการ์ดแผ่นเล็กๆว่าเราจะพูดเรื่องอะไร จากนั้นก็คอยเหลือบดูว่าจะพูดอะไรต่อไปอย่างไร ไม่จำเป็นจะต้องพูดให้ตรงกับ Script ทุกครั้ง เพราะมันจะเหมือนท่องไป ทำให้ไม่เป็นธรรมชาติ

มีน้องคนไทยมาเล่าให้ฟัง ถามว่าเพื่อนที่อยู่ในห้องพี่ชาวไต้หวันคนนี้เก่งไหม พรีเซ้นท์งานเป็นอย่างไร เราก็บอกว่าคนนี้ทำได้ดีทุกครั้งเลย ประมาณว่าเตรียมตัวมาดี รุ่นน้องก็เล่าให้ฟังว่า รู้ไหมกลางดึกก่อนวันพรีเซ้นท์ ประมาณ ตี2-3 ได้ น้องเขาเดินออกมาเข้าห้องครัวหาอะไรกิน(เผอิญว่าพวกเขาอยู่หอเดียวกัน) ได้ยินเสียงสาวไต้หวันคนนี้ นั่งฝึกพูด Script ที่เธอจะต้องออกไปพูดอยู่เลย จริงๆแล้วถ้าจะให้พูดถึงเรื่องความสามารถ และความฉลาด เอาตัวรอดได้ เด็กไทยไม่เป็นรองชาติไหนๆแน่นอน  แต่สิ่งเดียวที่เด็กไทยขาดคือความมีระเบียบวินัย ในการอ่านหนังสือ หรือทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วออกมาให้ดียิ่งขึ้น ส่วนมากพอซ้อมของตัวเองเสร็จดิฉันก็จะนอน เพราะความนิ่งนอนใจว่าอย่างไรซะคงไปรอดได้อยู่แล้ว จริงๆแล้วพอมาเขียนถึงตอนนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าตัวเองผ่านช่วงนั้นมาได้อย่างไร พูดอะไรออกไปก็จำแทบจะไม่ได้เช่นกัน ตัวดิฉันเองไปเรียนต่อทางด้าน Political Science ตอนที่ไปเดือน July จำได้ว่าตัวเองต้องทำเรื่อง ‘The Vietnam War’ ทั้งEssay และ presentation ส่วนเดือน August อาจารย์ให้เลือกarticle ออกมาจากหัวข้อที่เราจะทำ เราต้องอ่าน article ให้เข้าใจ และเขียนออกมาว่าผู้เขียนต้องการจะสื่ออะไร แล้วเรามีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ดิฉันทำเรื่อง ‘Why American (nativism) hate the immigrant’ และในเดือน   September จะต้องทำเป็น Project ชิ้นใหญ่ที่สุด ครั้งนี้จึงต้องการทำเรื่องที่เป็นปัญหาภายในสังคมไทยนั่นก็คือเรื่องของ ‘Child Abuse in Thailand’

บางคลาสของการเรียนการสอนในช่วงเรียนภาษาหรือที่เราเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า Pre-sessional Course นี้ บางทีก็จะมีคลาสที่สนุกๆมาให้เราได้เรียนเช่น คลาส Conversation ในคลาสนี้อาจารย์จะมีบทสนทนาให้เราฝึกสำเนียง และจับคู่ (ชายหญิงเสียด้วย) เพื่อที่จะพูดโต้ตอบกัน แล้วก็ไปฝึกกันที่หน้าห้องให้เพื่อนๆชม ก่อนที่จะจบคอร์ส อาจารย์จะไปใช้ห้องโสตของมหาลัยเพื่อไปถ่ายทำกันที่หน้าทีวี โดยมีกล้องจับและเราก็สามารถอัดกลับมาได้ วันนั้นอาจารย์จะให้เลือกบทสนทนาที่เราชอบแล้วก็ออกมาแสดงกันหน้ากล้องเลย ซึ่งหลายๆคนท่องบทกันมาอย่างดี แต่งตัว ทำผมกันมาอย่างสวย โดยเฉพาะเด็กไทยเรา ดิฉันว่าตีบทแตกกระจุยค่ะ  โชคดีที่ตัวดิฉันเองได้คู่กับเคนโตะ หนุ่มญี่ปุ่นหน้าตาดี และเป็นที่สนใจของสาวๆหลายๆชาติ (555 ไม่อยากโม้) งานนี้ต้องขอบคุณ คุณครูไมเคิล ที่เป็นคนจับคู่ให้ เคนโตะ อายุประมาณ 29 แล้ว (แต่ตอนนั้นดิฉันอายุน้อยกว่าเขานะเคอะ ฮ่าๆๆ) แต่มาเรียนกฎหมายที่นี่ หลังจากเรียนเสร็จก็จะกลับไปญี่ปุ่น และที่สำคัญเขามีแฟนแล้ว และไม่นานนักแฟนเขาก็จะมาเยี่ยมเขาที่นี่อีกด้วย (หลังจากที่กลับไปเล่าให้น้องๆฟัง คงจะมีคนบ่นเสียดายกันเป็นแถว) เรื่องเล่าของเคนโตะยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อวันที่มีการตั้งโต๊ะรับสมัครคนเข้าชมรม เด็กไทยก็ต้องเข้าชมรม Thai Society (ซึ่งบางทีเราก็เรียกกันสั้นๆว่า Thai Soc) น้องๆผู้หญิงก็พอเห็นอีตาเคนโตะเดินผ่านมาเท่านั้น ก็ไปพาเขาลากกันมาที่โต๊ะรับสมัคร โดยไม่ลืมหยอดว่า เดี๋ยวถ้ามีการทำอาหารไทยจะไม่ลืมเผื่อแผ่เขาแน่นอน  (พยายามเอาอาหารมาล่อสุดฤทธิ์) เขาก็ยอมสมัครแต่โดยดี โดยเสียค่าสมัครประมาณ 3 ปอนด์  ดูเอาแล้วกันค่ะว่าความน่ารักของหนุ่มๆชาตินี้เป็นที่ลือชากันมากๆในหมู่สาวๆ (ยังไม่นับตอนที่เรียนกันอีกค่ะ  จะไม่ลืมเล่าให้ฟังตอนต่อไปนะคะ – ชิเงะ, คาซึอากิ)

แต่ถึงแม้ว่าพี่ไทยกะพี่ยุ่นจะสนิทสนมรักใคร่กันกลมเกลียวแค่ไหนก็ยังมีเรื่องระหองระแหงกันได้ค่ะ เรื่องมีอยู่ว่าเด็กญี่ปุ่นผู้หญิงจริงๆอายุอานามก็ไม่เด็กแล้วล่ะค่ะประมาณสามสิบกว่าๆแล้วอยู่หอเดียวกันกับเด็กไทย ในหอดังกล่าวก็มีเด็กผู้หญิงไทยเยอะมากกว่าที่อื่นเป็นพิเศษค่ะ ดังนั้นไอ้ความที่เด็กไทยชอบเฮฮาปาร์ตี้ ไม่ค่อยจะเรียน เวลาคนอื่นเขาทบทวนบทเรียนพี่ไทยก็จะชวนเที่ยวเล่นกันเป็นประจำ (เห็นๆแบบนี้เวลาสอบเราผ่านทุกคนนะคะ เอาตัวรอดกันได้ทุกคน แต่มีหลายๆชาติที่แปลกใจกับการใช้ชีวิตของเด็กไทยมากมายที่บางคนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของเขา แต่เขาดันสอบไม่ผ่าน แต่พี่ไทยที่มั่วไปกับเขาได้ทุกเรื่องเวลาสอบทีไรดันผ่านทุกที อันนี้ก็ไม่ทราบจริงๆว่าเทคนิกเราดีกว่าเขาหรืออย่างไรค่ะ เป็นที่น่าฉงนฉงายของเพื่อนต่างชาติยิ่งนักค่ะ) พอช่วงที่ใกล้ๆจะทดสอบเลื่อนชั้น ก็เอาอีกค่ะ เด็กไทยก็คุยเล่นกันเสียงดัง ด้วยความที่เป็นช่วงเดือนสุดท้ายก่อนที่จะเปิดเรียนเดือนตุลาคมด้วยแล้ว ยิ่งมันส์ค่ะ นัยว่าจะใช้ชีวิตเล่นให้สนุกก่อนจะไปทุกข์ขนัดตอนเรียนนั่นแหล่ะค่ะ คุณพี่ญี่ปุ่นท่านนี้ก็เลยไปคุยกับทางฝ่ายจัดการเรื่องห้องพักว่าเธอประสงค์จะย้าย (ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่ค่อยมีใครอยากจะย้ายบ้านย้ายหอกันเท่าไหร่คะ เนื่องจากจะต้องแพ็คของ แพ็คกระเป๋า อะไรต่อมิอะไรทั้งหลายแหล่ะ แล้วอีกไม่กี่วันก็จะต้องย้ายหอครั้งใหญ่ก่อนเปิดเทอมด้วยแล้ว ทุกคนก็มักจะทนกันต่อไปค่ะ) ไม่อยากจะอยู่หอเดียวกับเด็กสาวไฟแรงชาวไทยเสียแล้ว จริงๆก็มีหลายชาติที่อยู่ด้วยกัน เธอมิได้ว่าชาติใดเป็นพิเศษ ด้วยความที่มาจากประเทศมารยาทดี แต่ก็มีหลายกระแส แม้แต่ต้องคนไทยก็ยังต้องไปเคลียร์กันกับเธอเรื่องนี้ ขอโทษ ขอโพยที่ทำเสียงดัง ซึ่งเธอก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรกลับมาว่าทางเราเสียงดังหรือไร เพียงแต่เธออยากย้ายค่ะ ท้ายที่สุดเธอได้ย้ายมาจริงๆ เพราะว่าคู่สามี ภรรยา ชาวไต้หวันที่อยู่หอเดียวกันกับข้าพเจ้าย้ายออกไป เธอจึงได้มาเป็นเพื่อนร่วมหอกับข้าพเข้าในที่สุด เวลามีปาร์ตี้เม้ากันในหอของเรา ณ ห้องครัวอันใหญ่โต เธอก็มาร่วมด้วยค่ะ หอเราอยู่กันอย่างมีความสุข ลัลล้ากันมาก แต่เพียงแค่สามเดือนเท่านั้น (ในช่วงเรียนภาษา) แล้วเราก็ต้องแยกย้ายหอกันไปเพื่อไปเจอสมาชิกหอคนใหม่ต่อไปค่ะ

ชีวิตช่วงที่คุ้ม และควรค่าที่จะไปเที่ยวที่สุดคงจะหนีไม่พ้นช่วงเรียนภาษา ช่วงต่อคอร์ส ซึ่งก็หมายความว่า เราจะมีเวลาเที่ยวกันทั้งหมดประมาณ 3 ครั้ง และดิฉันกับผองเพื่อนก็ได้ไปเที่ยวมา 3 ที่เช่นกัน นั่นก็คือ York, Land’s End และ Snowdon  หากยังมีเวลาจะมาเล่ารายละเอียดในช่วงเที่ยวให้ฟังนะคะ นอกจากนั้นก็ยังมีกิจกรรมต่างๆในช่วงสุดสัปดาห์ และในช่วงที่เราไม่ได้มีการเรียนการสอนด้วย เช่น tea and talk  ซึ่งจะมีฝรั่งผู้หญิงที่อายุมากแล้ว เราเรียกเธอสั้นๆตามชื่อของเธอว่า โจนส์ นัยว่าเกษียณแล้วมาทำโครงการกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกาศศาสนาเล็กน้อย โดยการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการพูดคุย หากเราต้องการได้เพื่อนเพิ่มและฝึกภาษาโครงการนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย การไปเมืองนอก หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงแล้ว เราควรที่จะทำความรู้จักกับเจ้าของภาษา การดำเนินชีวิตของเขาให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญ โจนส์ เป็นชาวอังกฤษใจดี นอกจากจะมีกิจกรรมให้เราได้ทำ เช่นในช่วงคริสตมาสก็พาไปทานอาหารร่วมกันกับที่โบสถ์แห่งหนึ่งเป็นคริสตมาสดินเนอร์ที่ครบสูตรมากๆ สนุกกันมากๆแล้ว เรายังได้มีโอกาสไปโบสถ์และได้มีสังคมของที่โบสถ์วันอาทิตย์เสียด้วย  การเดินไปโบสถ์วันอาทิตย์ และระยะทาง (ที่ต้องขึ้นเนินอีกแล้วครับท่าน) ก็ทำให้วันอาทิตย์ของเราไม่น่าเบื่อเกินไป แถมยังสุขใจตอนเดินกลับบ้านอีกด้วย (แต่ห้ามลืมว่า วันอาทิตย์เทสโกทั่วอังกฤษจะปิดเร็วกว่าปกติ เพราะฉะนั้นถ้าจะซื้อของวันอาทิตย์จะต้องรีบซื้อก่อนบ่ายจัดๆ จะให้ดีเช็คเวลากับเว็บไซต์เทสโกอีกทีจะดีที่สุด)

นอกจากกิจกรรมที่เราได้ทำในช่วงเรียนภาษาแล้ว ทางโรงเรียนยังเปิดโอกาสให้เราเดินทางเพื่อไปเรียนรู้วัฒนธรรมกับสถาบันสอนภาษาได้อีกด้วย เขาจะมีกิจกรรมให้ทำทุกๆวันเสาร์ ซึ่งบางทีจะเก็บเงินแต่ไม่มาก เรียกว่าเราน่าจะกำไรมากกว่า นั่งรถกันไป สนุกกันไป สถานที่ที่ไปก็เช่น Leed Castle, Rochester, Canterberry เป็นต้น ดังนั้นอย่าเอาแต่เรียนอย่างเดียว บางคนถึงขึ้นจะทำแต่รายงานไม่ไปเที่ยวเปิดหูเปิดตา แต่คุณแม่ขอร้องนะคะว่า การเปิดหูเปิดตาทำให้เราได้เรียนรู้โลกกว้าง และได้รู้จักประเทศนี้ดีขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง น่าจะเป็นการดีกว่าอยู่ที่หอทำเปเปอร์แน่ๆ และที่สำคัญ อันนี้ยังไม่เปิดเรียนเลย ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราได้ทำอะไรหลายๆอย่างได้โดยไม่ต้องมานั่งเสียดาย เสียใจทีหลังว่ารู้งี้ไปทำกิจกรรมด้วยดีกว่า เราต้องแบ่งเวลาให้เป็นนะคะ เช่นเมื่อไปแล้ว กลับมาก็มานั่งทำงานต่อได้ ขอบอกว่าการอยู่หอนั่งทำงานโดยที่เพื่อนๆออกไปดูโลกกว้างนี่ แค่คิดก็ทรมานใจแล้วค่ะ

การเรียนการสอนของที่นี่ก็เหมือนกับการเรียนการสอนที่โรงเรียนทั่วไป เพราะเขาจะเช็กชื่อนักเรียนเข้าห้อง เขาก็จะมีบอกไว้ด้วยว่า คลาสหนึ่งจะสามารถขาดได้เท่าไหร่ แต่ส่วนมาก 90% ของนักเรียนมักจะไม่ค่อยขาดกัน  จะมีก็แต่นักเรียนเกเรกลุ่มเล็กๆเท่านั้น ที่ไม่ค่อยชอบเข้าห้องเรียน เพราะเด็กบางคนเข้ามาเรียนตั้งแต่ช่วงเดือนเมษา (กะมาเรียนภาษา 6 เดือน กับเด็กที่เกรด IELT ไม่ผ่านเกณฑ์มหาลัย แต่ได้ under conditioned มา)  ประมาณว่าเด็กเขาอยู่มาก่อน ความเกเรก็มีมากกว่าตามประสา พี่ใหญ่เก๋าและโจ๋ รู้จักที่ทางมามายกกว่าเรา ไอ้เราน้องใหม่ พอเข้ามหาลัยแรกๆจะเป็นลม อะไรก็ไม่รู้จัก เรียนห้องไหน ย้ายไปห้องไหน ต้องปรับสมองกันอยู่พักใหญ่นั่นแหล่ะ ถึงจะเข้าที่  นอกจากนั้นเด็กบางคนก็จะมาป่วยบ่อยที่นี่ เนื่องจากอากาศเปลี่ยน บางวันลมก็แรงมาก บางวันฝนก็ตก บางวันก็ร้อนมากแดดแรง เด็กบางคนทานอาหารได้ไม่ถูกท้องก็จะปวดท้อง ถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะปวดท้องผู้หญิง ก็อาจจะลาไม่มาเรียน การขาดนี่ทางที่ดีควรจะโทรมาบอก หรือ email มาบอกทาง director หรืออาจารย์ประจำห้อง หรือที่ปรึกษาของกลุ่มก่อนด้วย เขาจะได้ทราบว่าเด็กนักเรียนของเขาไม่ได้หายไปไหน  บางคนขาดเรียนกันมากๆก็เกือบจะไม่ได้เรียนต่อเป็นเรื่องราวใหญ่โตก็มี มีรุ่นน้องเด็กไทยนี่แหล่ะค่ะ ขาดบ่อยจนอาจารย์เขาจะไม่ให้จบและไม่ให้ต่อมหาลัย ก็ต้องจัดแจงไปคุยกับทางคณะว่ามีชื่อเราไหม เราอยู่ใน list ของเด็ก Graduate หรือยัง แล้วทางโรงเรียนสอนภาษาได้แทงเรื่องว่าเราจบแล้วหรือยัง ถ้ายังคาราคาซังอยู่ เราก็ต้องไปคุยกับทาง director ของคอร์สสถาบันสอนภาษา บางทีเธอก็ไม่ว่างเพราะว่าช่วงจบคอร์สจะเป็นช่วงที่ยุ่งมากๆ ก็ยืนกันไปสิคะหน้าห้องของพวกคณาจารย์ รอคุยจนกว่าเรื่องมันจะเรียบร้อยนั่นแหล่ะค่ะ ถึงจะหายใจกันคล่องขึ้น หลังจากที่รุ่นน้องเข้าไปคุย เรื่องทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี  เป็นสิ่งเดียวที่ประเทศนี้สอนเราไว้ว่า ถ้าเราอยากได้อะไร เราจะต้องเรียกร้องสิทธินั้นโดยการพูด เราอยากเรียน มีเพื่อนหลายคนที่สอบ IELT ไม่ผ่านตามเกณฑ์ ก็หาทางส่งเมลล์เข้าไปคุยกับทางคณะ ทางคณะก็เรียกไป interview หลังจากนั้นก็ผ่าน หากทางคณะไม่ได้เมลล์ตอบกลับมาภายในเวลา 1 วันทำการก็ต้องบุกไปถึงคณะเลย ซึ่งแต่ละคณะเขาจะมี secretary ของคณะเอาไว้คอยจัดการธุระของคุณนักเรียนทุกท่านอยู่แล้ว เราเข้าไปสอบถามกับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งเขาเต็มใจที่จะช่วยเรา บอกเจตจำนงของเรากับเขาแล้วเขาก็จะนัดเราให้คุยกับทาง director ของคณะเราเอง  

หลังจากนั้นก็ถึงเวลา ร่ำลากับพวกอาจารย์ที่เราเห็นกันตลอด 3 เดือนนี่แล้ว อาจารย์หลายท่านเป็นอาจารย์ที่น่ารัก ก็จะมีการขอเบอร์อีเมลล์กันเอาไว้ติดต่อ แล้วก็มีการให้โอวาท บอกว่าถ้ามีปัญหาอย่างไรก็ขอให้คิดถึงอาจารย์ได้ การเรียนในมหาลัยจะต้องอ่านหนังสือเยอะ ทำค้นการค้นคว้ากันเยอะ และที่สำคัญ จะไม่มีการ Copy, การใช้ cut paste หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าการ plagiarism กันในงานเขียนของพวกเรา ให้ระวังตรงจุดนี้เอาไว้ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวิชาที่อาจารย์ program ใส่หัวเราตั้งแต่เรียนเดือนแรกๆแล้ว ดังนั้นพวกเราก็พอจะมองเห็นได้อย่างรางๆแล้วล่ะว่า อนาคตนักเรียนอังกฤษของพวกเราคงไม่ได้หมูเหมือนใน 3 เดือนนี้แน่นอน  จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามตอนต่อไปได้เลยค่ะ 

จากคุณ : just.a.girl
เขียนเมื่อ : 23 มิ.ย. 55 20:47:47




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com