Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ชีวิตอันแสนสั้นของนักเรียนอังกฤษ [ตอนที่ 5.1 ชีวิตนักเรียนนอกแบบ full time] ติดต่อทีมงาน

ขอบคุณสำหรับผู้ติดตามนะคะ ตอนนี้ก็มาถึงตอนที่ 5 แล้ว ยาวมาก จนต้องแบ่งเปน .1 และ .2  อ่านกันจนตาแฉะกันไปค่ะ ฝากคลิ๊กเก็บเข้าคลังกระทู้ด้วยค่ะ เผื่อเพื่อนๆที่กำลังเดินทางไปอังกฤษ หรือที่อื่นๆ จะได้ search เจอค่ะ ลิ้งเก่านะคะ

ลิ้งตอนที่ 1 http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12224646/H12224646.html
ลิ้งตอนที่ 2  http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12243376/H12243376.html
ลิ้งตอนที่ 3 http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12260789/H12260789.html

ลิ้งตอนที่ 4
http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12278995/H12278995.html


ตอนที่ 5  ชีวิตนักเรียนนอกแบบ Full Time (October 05 – June 06)

ชีวิตในมหาลัยที่นี่ช่วงแรกๆก็จะแปลกๆสักหน่อย นักศึกษาที่นี่ใช้ชีวิตอยู่หน้าคอมเสียราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ทางมหาลัยจะให้อีเมลล์ของทางมหาลัยกับเราด้วย เรามีหน้าที่ที่จะต้องเปิดอีเมลล์ออกอ่านอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อที่จะได้รับรู้ข่าวสารของทางคณะและทางมหาลัย


การที่จะเข้าไปดูว่าวิชาอะไรเรียนห้องไหนนั้น ก็ต้องเข้าไป DL ตารางวิชาเรียนของทั้งคณะจากหน้าเว็บของคณะ จะ print out ออกมาหรือไม่ print ก็ได้ หลังจากนั้นก็จะต้องทำตารางเรียนของตัวเองออกมา จะมีวิชาบังคับในแต่ละภาควิชานั้นๆอยู่ประมาณ 2 วิชา และจะมีให้เลือกลงอีกประมาณ 3 วิชา (หรือจะลง 2 วิชาก็ได้ ถ้าทั้งสองวิชานั้นสอนสองเทอม) (ของคณะอื่นไม่น่าจะต่างกันมากนัก) ของคณะรัฐศาสตร์ที่ข้าพเจ้าไปเรียนนั้น มีวิชาภาคบังคับที่ต้องเรียนคือวิชา IR (International Relations) ทั้ง 2 เทอม และ Political Explanation ซึ่งเราได้เรียน SPSS เป็นครั้งแรก ทั้งสองเทอม(และน่าจะครั้งเดียวในชีวิต เพราะเกือบจะเอาชีวิตกันไม่รอดจากวิชานี้เนี่ยแหล่ะ)  ส่วน 3 ตัวเลือกนั้น ข้าพเจ้าเลือกดูหน่วยกิจ มีวิชาหนึ่งชื่อว่า Contemporary Political Theory หรือที่นักเรียนเรียกกันอย่างสั้นๆย่อๆว่า CPT ตัวนี้มีให้ลง 2 เทอมเลย และมีรุ่นพี่รุ่นก่อนแนะนำว่า ใครอยากได้ความรู้ และต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาให้ลงวิชานี้ ซึ่งต่อไปไม่นานนักดิฉันก็มีวีรกรรมกับวิชานี้ไม่แพ้ความอยากตื่นตัวของตัวเองอยู่เช่นกัน


กลับมาเล่าอีก 2 ตัว ถ้าไม่อยากเรียน 2 ตัวก็สามารถเลือกหน่วยกิจที่ต้องเรียนตลอด 2 เทอมได้เลย(ก็จะเรียนทั้งหมด 4 วิชา แทนที่จะเป็น 5) แต่พอดีวิชาที่ต้องเรียน 2 เทอมไม่มีวิชาไหนน่าสนใจ ข้าพเจ้าจึงขอเรียนแยกเป็น 2 วิชา (เพื่อเก็บหน่วยกิจให้ครบ หนึ่งตัวเรียนเทอมแรก อีกหนึ่งเรียนเทอมหลัง) ซึ่งเทอมแรกที่เรียนก็ลง Political Security เอาไว้ ส่วนเทอมสองก็ลงเรียน Political Economy ซึ่งอาจารย์สอนวิชานี้ต่อมาไม่นานก็ยังต้องผูกสัมพันธ์กับข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตอนทำ Dissertation ให้ข้าพเจ้านั่นเอง (ที่อังกฤษเรียก Thesis ว่า Dissertation)  



ชีวิตในมหาลัยค่อนข้างจะน่าเบื่อ ถ้าจะทำให้มันเป็น Routine ที่จะเล่าก็คือ ตื่นมาประมาณ 10 โมงเช้า กินขนมปัง นม คอร์นเฟล็ค ขนมปัง หรือข้าวที่ทำเหลือเมื่อคืนทิ้งไว้ หรือว่ามาม่าก็ตามแต่ ก็แปรงฟัน (หรือจะแปรงฟันก่อนแล้วมากินข้าวก็ได้นะเออ) (แบบว่าน้ำไม่อาบ ซกมก เพราะอาบตอนกลางคืนแร้ว) แต่งตัวออกไปเรียน บางวันก็เรียน 2 ชั่วโมงเช้า บ่ายว่าง บางวันก็เรียน 2 ชั่วโมงบ่ายเช้าว่าง บางวันก็มีเรียนเช้าบ่ายควบ หรือบางวันก็ไม่มีเรียน ก็แล้วแต่ว่าไปเรียนแล้วจะกลับมานอนแล้วค่อยออกไปเรียนต่อ หรือว่าออกไปเรียนแล้วจะไปอยู่ห้องสมุดแล้วค่อยเข้ามาเรียนต่อ เมื่อหมดวัน ก็จะประมาณ 5 โมงเย็น (เห็นไหม ใครว่าเรียนนอกสบาย เหอๆๆ) กลับมาถึงบ้านก็ถึงเวลาทำกับข้าวกัน ทำเสร็จก็แยกย้ายกันเข้าห้องหอของแต่ะละคนกันที่ประมาณ 3-4 ทุ่มได้ จากนั้นก็ต้องนั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน คุย msn กับทางเมืองไทย ตอบอีเมลล์ เรื่อยไปจนถึงประมาณ ตี 2 ก็จะได้เวลากลับมานอนอีกครั้ง เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนจบเทอม (ยกเว้นช่วงทำงาน มีการย่ำรุ่งบ้างเล็กน้อย)


ดูช่างเป็นชีวิตที่ไร้สีสันจริงๆ คุณว่าไหม ?


การเรียนของที่นี่ ดูทุกๆคนจริงจังเอามากๆ ทั้งเด็กจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ส่วนนักเรียนในคลาสส่วนมากจะเป็นพวกมาจากทางยุโรป มหาลัยที่ดิฉันเข้าไปเรียน มีเปอร์เซ็นต์เด็กที่มาจาก กรีซ เยอะมากๆ พอพอกันกับพวกที่มาจาก ไซปรุส (Cyprus) พวกนี้เขาจะพูดภาษาอังกฤษออกจะเหน่อๆนิดหน่อย



แต่ภาษาอังกฤษของต่างชาติโดยเฉพาะชาติยุโรปนั้นก็ไม่ได้ดีไปกว่าชนชาติเอเชียสักเท่าไหร่ เชื่อดิฉันสิ เพียงแต่ว่าลิ้นของเขา ภาษาพูดของเขามีบางส่วนคล้ายคลึงกันอยู่บ้างทำให้ออกเสียงได้ง่ายและดีกว่า ชัดกว่าการออกเสียงของเรา โดยเฉพาะภาษาไทยที่มักจะพูดกันเป็นเสียงดนตรี ทำให้เวลาพูดอาจจะเข้าใจยากกว่านิดหน่อย เพราะ stress ผิดที่



ดิฉันมีเพื่อนที่มาจากทางฝั่ง Middle East ภาษาอังกฤษเขาไม่ได้ดีมาก แต่ว่าเมื่อเขาพูดภาษาอังกฤษแล้วดูคล่องกว่าเรา ฟังระรื่นหูกว่าคนไทย เนื่องจากภาษาของเขาใช้ลิ้นได้เหมือนภาษาอังกฤษ ซึ่งคนที่เรียนมาทางด้าน language and linguistic จะทำให้เข้าใจรากเหง้าของการใช้ภาษาก็จะเข้าใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี  ในขณะที่เพื่อนไต้หวันจะพูดภาษาอังกฤษได้เก่งพอพอกับชาติไทย ส่วนญี่ปุ่นจะเก่งงานเขียน อ่าน แต่พูดสำเนียงจะไม่ดีเท่าของเรา แต่เขาก็ไม่อายนะที่จะพูดติดสำเนียงญี่ปุ่น



เด็กไทยนี่แล้วแต่พวก ถ้าเป็นเด็กที่มาเรียนนอกบ่อยๆ ฟังข่าว ดูหนัง ฟังเพลง หรือเรียนโรงเรียนอินเตอร์มาก่อน พวกนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาสักเท่าไหร่ ภาษาจัดว่าดี แต่ถ้าเป็นพวกฝ่ายวิชาการเช่นพวกเด็กทุน สำเนียงจะติดเป็นไทยจ๋าอยู่บ้าง คือไม่มี accent พูดเรียบๆ เนิบๆ แต่ก็จะเก่งสมกับที่ได้ทุนกันมา ชาติที่พูดลำบากมากที่สุด เห็นจะเป็นจีน ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เก่ง แต่เขาจะต้องพยายามมากกว่าเรามากๆ ยกเว้นจีนที่พ่อแม่ร่ำรวย ส่งกันมา พวกนี้จะการศึกษาดี พูดเก่ง หรืออยู่มานาน ก็ว่าไป เพื่อนสนิทที่ไปเจอกันวันแรกเลยของเรา ชื่อ อาเจี๋ย


อาเจี๋ย เป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ เจอกันวันแรก ยังเรียบเรียงประโยค พูดไม่ค่อยจะเป็นภาษาเสียด้วยซ้ำไป เป็นเพื่อนต่างชาติที่เราเจอหลังจากไปสู้รบปรบมือกับฝรั่งชาตินี้เอาห้องมาได้ (ในบทที่2) วันแรกพูดกันหยั่งกับพูดกับคนใบ้ บางทีเราถามเขาอีกอย่าง เขาตอบอีกอย่าง แต่ไม่อยากจะบอกว่าภาษาอังกฤษมันฝึกกันได้ เขาก็มีความพยายามไปซื้อวิทยุมาฟัง มีทีวีในห้องก็เปิดทีวีดู ขยันอ่าน text มากๆ วันเวลาผ่านไป 3 เดือนจากช่วงเรียนภาษาที่เราเจอกัน กลายเป็นว่า อาเจี๋ยพูดภาษาอังกฤษได้เก่งมากๆ แถมยังไป interview เพื่อเข้าคณะของเค้าก็ผ่านฉลุยอีก (เพราะว่าสอบไม่ผ่าน เลยต้องขอเจรจากับทางมหาลัย) เห็นไหม ใครว่าภาษาอังกฤษยาก จริงๆแล้วไม่มีอะไรยากเกินความพยายาม และความตั้งใจของเราหรอก


พูดถึงอาเจี๋ย เธอเป็นเพื่อนชาวจีนที่น่ารักมากคนหนึ่ง เพราะโดยปกติคนจีนจะเป็นประเภทที่ใสซื่อบริสุทธิ์ หลอกง่าย ไม่เหมือนกับคนไต้หวันที่ดูจัดจ้านมากกว่า เก่งภาษาอังกฤษมากกว่า รุ่นพี่เคยเตือนว่าอย่าให้ 2 ชาตินี้มาคุยกันเรื่องการเมืองเพราะมันจะสามารถกลายเป็นเรื่องราวบาดหมางร้าวฉานด้วยความที่ชาติของเขามี conflict กันอยู่แล้วแต่ดั้งเดิมนั่นเอง  อย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่า มาอยู่ที่อังกฤษนี่ ทุกคนจะต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง หรือแม้แต่การเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ทั้งในเรื่องของห้อง หรือแม้แต่การเข้าคิวที่นี่  เพราะไม่ว่าคุณจะไปต่อคิวยาวแค่ไหน เขาก็จะใช้สิทธิในการถามหน้าเค้าเตอร์ของเขาให้ได้มากที่สุด (สงสัยจะให้คุ้มกับการที่ยืนรอ) โดยไม่เกรงใจว่าแถวตรงนั้นจะยาวเฟื้อยอย่างไร ผิดวิสัยของคนไทย เจ้าของสโลแกนขี้เกรงใจเสียจริง  คนที่ยืนรอก็ไม่เคยว่าไม่เคยบ่นอะไร หากเป็นคนไทยลองคุณไม่มีความเกรงใจเลย ก็อาจจะมีคนมานั่งบ่นคุณได้ แต่ฝรั่งเขาถือว่า มันเป็นสิทธิของคุณ และเมื่อถึงคิวของเขาเขาก็ใช้สิทธิของเขาในการติดต่อ สอบถามกับเค้าเตอร์นั่นอย่างคุ้มที่รอคอยนั่นเอง  


แต่การที่เรามาชาติที่คนขาวเป็นเจ้าของที่ดิน การเหยียดสีผิว หรือที่เราเรียกว่า discrimination ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างประปราย อันจะกล่าวให้ฟังในบทถัดไป ทีนี้กลับมาเข้าเรื่องของอาเจี๋ยเสียก่อนจะดีกว่า  อาเจี๋ยเธอมาโดยไม่มี IELT หลังจากที่เรียนภาษาครบ 3 เดือนแล้วเธอจะต้องสอบ IELT ให้ผ่านตามเกณฑ์ที่มหาลัยตั้งไว้ หากไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องตกและเก็บของกลับบ้านลูกเดียว ด้วยความที่เธอฉลาดและไหวตัวทันเสียก่อน เธอจึงเดินไปที่คณะ ไปคุยกับเลขาคณะ ขอเข้าพบคณบดี คนที่ดูแล Program ที่เธอเรียน เพื่อขอต่อรอง (ด้วยความช่วยเหลือ และการให้คำแนะนำของ เจ้ใหญ่ซูซาน คนจีนเช่นเดียวกัน ที่ดิฉันนับถือเป็นพี่น้อง 3 สาว) เพราะซูซาน เจ้ใหญ่ของเรา มาอยู่อังกฤษได้ 1 ปีแล้ว ก่อนที่จะมาเข้าที่นี่ เธอเข้ามาโดยการ interview เช่นเดียวกัน แล้วมหาลัยก็ตอบรับเธอ เธอจึงบอกให้อาเจี๋ยไปคุยกับทางคณะดู  หะแรก เราก็คิดว่า ไม่เรา ก็ซูซาน อาจจะต้องเข้าไปช่วยคุยด้วย เนื่องจากว่าอาเจี๋ยพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยจะแข็งแรงสักเท่าไหร่นัก แต่งานนี้อาเจี๋ยเธอบอกว่า ไม่ต้องห่วงเธอจะต้องไปเอง เธอแสดงถึงความเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว และความอยากที่จะเข้ามาเรียนคณะ E-Comerce จริงๆ ตัวดิฉันเองกับซูซานก็ได้แต่นั่งรอลุ้น อาบแดดกันอยู่หน้าคณะของเธอ พอเธอออกมาทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ด้วยดี เธอได้รับเข้าเรียนต่อ (หลังจากที่ต้องรอเข้าพบคณบดีอยู่หลายครั้งและรออยู่หลายเพลา) โดยที่เมื่อเธอรู้ผล IELT แล้วก็ต้องยอมรับว่า เธอได้คะแนนน้อยกว่าตอนสอบมาจากเมืองจีนเสียอีก  เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า หากเราต้องการสิ่งใด อย่าได้นั่งงอมืองอเท้าทีเดียวเชียว จงทำให้หมดถ้วนทั่วทุกกระบวนความตามที่โอกาสจะอำนวย แสดงให้เขาเห็นความตั้งใจอย่างดีของเราและหากไม่มีทางที่จะทำต่อไปได้แล้ว ก็จงอย่าล้มเลิกความตั้งใจ  เราจะต้องสู้ เราจะต้องอ้างสิทธิของเรา ตราบเท่าที่เรายังสามารถและยังมีเวลาอยู่ เพราะหากช้าไปกว่านี้แล้ว เมื่อโอกาสมาถึงเราไม่ได้ฉวยมันไว้ คุณอาจจะเสียใจทีหลังก็ได้ ว่าคุณไม่ได้ทำมันลงไปทั้งๆที่ยังมีโอกาส (เรื่องนี้สามารถนำไปใช้ได้กับเหตุการณ์ทุกๆอย่างในชีวิตได้เลย)  



ไหนไหนก็พูดถึงเรื่องภาษากันแล้วมาต่ออีกนิดนึง  ถึงเรื่องเปิ่นๆของชื่อภาษาอังกฤษที่เราไม่รู้ว่ามันจะอ่านยังไงกันดีกว่า  ไปอังกฤษทั้งทีอย่าให้เห่ยเชียว มาเริ่มจากชื่อ Underground ใน ลอนดอนกันก่อน หรือที่คนอังกฤษเรียกกันว่า tube นี่เอง ลอนดอนเป็น hub  ของนักเรียนไทย จะไปถามทาง จะบอกเพื่อนว่าอันไหนไปอย่างไร ก็ต้องบอกชื่อของ underground ให้ถูกต้องกันเสียก่อน



ก่อนที่จะไปสถานีของ tube ขอเริ่มจาก Greenwich ก่อนละกัน ก็อยู่ในเขตลอนดอนนั่นแหล่ะ แต่อยู่โซนที่ไกลมากๆ ซึ่งลอนดอนจะแบ่งเป็น 6 โซน ให้เราลองนึกถึงเกมส์ปาเป้า เป้านั่นแหล่ะจะคล้ายๆการแบ่งเขตในลอนดอน จุดตรงกลางจะแทนโซน 1 ถัดไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นโซน 2 โซน 3 ไปเรื่อยๆจนถึง โซน 6 ซึ่งโซน 1 จะเป็นโซนที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นกันมากที่สุด (เนื่องจาก แหล่งช้อปปิ้งและสถานที่สำคัญ museum และมหาลัยต่างๆ ก็อยู่ในโซน 1 กันทั้งนั้น หรือจะเรียกว่า มันคือ สีลม สุขุมวิท และฝั่งพระนคร รวมกัน ก็น่าจะได้ ถ้าปรับให้เข้ากับปัจจุบันเพราะบทความนี้เขียนทิ้งเอาไว้นานแล้ว เดี๋ยวนี้ต้องเรียกว่า CBD ย่อมาจาก Central Business District นะเออ)  กลับมาที่ Greenwich กันก่อน Greenwich ในแผนที่ของ Tube จะอยู่ประมาณ South West ของลอนดอน การออกเสียงนั้นสังเกตง่ายๆว่าในภาษาอังกฤษ หากมี W อยู่พยางค์หลัง ให้ทำเสมอเหมือนว่าไม่มี W อยู่ในประโยค ดังนั้นคำนี้จะอ่านว่า กรีนิช



ส่วน tube โซน 1 นั้น สถานีแรกที่จะนำเสนอคือ Leicester Square อ่านว่า เลสเตอร์ สแควร์ ที่นี่มี China Town ให้เราได้ไปหาอาหารจีนรับประทานกัน ถัดไปอีกคือสถานี Totenham Court Road เราอ่านว่า ท๊อดแน่ม คอร์ดโร้ด งานนี้ใครเป็นแฟนบอล ไม่น่าจะเรียกผิด ความรู้เรื่องทีมของคอบอลทั้งหลายได้นำมาปรับใช้ในเรื่องสถานที่บอกทางได้เป็นอย่างดีจริงๆ อีกอันหนึ่งก็คือ Gloucester Road อ่านว่า กล๊อสเตอร์ โร้ด ไม่ยากใช่ไหมคะ ส่วนมากคนอังกฤษจะอ่านควบกล้ำกันเสียมาก ต่อกันที่ต่างจังหวัดมั่งดีกว่า



ที่อังกฤษจะมี county ต่างๆ คำว่า county นี้ที่อังกฤษเขาใช้ Shire อ่านว่า เชียร์ หรือว่าแชรร์ มั่วๆกล้อมๆกันไปได้ค่ะ เชียๆ แชๆ นะคะ ต้องลองไปฟังคนอังกฤษออกเสียค่ะ แต่จะไม่ได้อ่านว่าชายน์ตรงตัว เช่น Oxfordshire, Cambridgeshire



ชื่อเมืองต่างๆ Derby อ่านว่า ดาร์บี้, Durham เมืองที่ unesco ให้เป็น world heritage อ่านว่า เดอแร่ม, Worcester เขาอ่านควบกล้ำกันไปเลยว่า วู๊ดสเทอร์ เมืองที่เป็นมหาลัยที่คนไทยอ่านผิดบ่อยที่สุดคือ Warwick คนไทยอ่านกันว่า วอร์วิค แต่จริงๆเขาเรียกกันว่าวอร์ริค อย่าเผลอไปปล่อยไก่เชียวนะจ้ะ  เช่นเดียวกันกับเมืองที่ชื่อว่า Reading (ช่ายยยเหมือนคำว่า รีดดิ้งอ่านหนังสือนั่นแหล่ะค่ะ) แต่เราต้องเรียกว่า เรดดิ้ง (ให้ออกเหมือนกับว่าเป็นสีแดงประมาณนั้น)



ชีวิตในมหาลัยนี้เป็นชีวิตที่ต้องคอยนับวันเวลา เพราะเวลาเข้าไปคลาสแรกอาจารย์จะสอนทันที เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา (ที่นี่เวลาเขาเป็นเงินเป็นทองเสียจริง) เราจะเรียกอาทิตย์แรกเป็น week 1 (อาทิตย์ต่อไปก็นับไปเป็น week 2,3,4,5 …) เรื่อยไปจนจบ เทอมหนึ่ง แต่ละ week อาจารย์จะมีหัวข้อในการสอนต่างกัน และนักเรียนตาดำดำอย่างเราเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องไปหา text มาอ่านเพื่อที่จะเข้าใจในบทเรียน และเรื่องที่อาจารย์จะสอนในอาทิตย์นั้นๆ ซึ่งอาจารย์จะบอกอยู่แล้วว่า อาทิตย์นี้จะพูดถึงหนังสือเล่มไหน จะมีเด่นๆที่เป็น compulsory ให้อ่านอยู่ประมาณ 3-4 เล่ม และเล่มย่อยๆให้นักเรียนเลือกอ่านพอหอมปากหอมคออีกประมาณ 4-5 เล่ม ดังนั้น ถ้าเด็กเก่งจริงๆ อ่านได้หมด 1 อาทิตย์คุณก็จะอ่านหนังสือได้ประมาณ 10 เล่ม เหอๆๆ อ่านกันจนอ้วก บางเล่มก็ให้อ่านทั้งเล่ม บางครั้งก็อ่านเป็นบท บทหนึ่งในหนังสือรวม basic theory และบางเล่ม ก็ต้องไปหาเอาจาก journal ซึ่ง แหล่งรวม journal ที่สำคัญส่วนมากก็จะไปอ่านกันที่ JSTOR  หาอย่างไร ก็เข้าเว็บห้องสมุดของมหาลัยก่อน แล้วก็ไปที่หมวด periodic แล้วมันจะลิ้งไปที่หน้าเว็บของ JSTOR ตามที่เราต้องการ (อันนี้พอหมดสถานภาพของการเป็นนักศึกษา สิทธิพิเศษในการหา journal ดีดี ที่ทางมหาวิทยาลัยได้ลงทุนจ่ายเงินเพื่อการนี้ก็เป็นอันจบกันไปตามระเบียบโรงเรียนศิษย์เก่านะเพคะ)


การเป็นนักศึกษาจะมีสิทธิประโยชน์ตรงนี้ คือเว็บต่างๆที่เขามีบริการ journal ที่คนธรรมดาทั่วไปจะต้องเสียเงินเข้าไปอ่าน แต่ทางห้องสมุดมหาลัยเขาจะจ่ายเงินให้เว็บนี้เพื่อให้นักศึกษา access ได้โดยตรงจากทางเว็บมหาลัยโดยไม่ยุ่งยากเลย (ใช้เน็ทมหาลัย เข้าเว็บห้องสมุด ก็ใช้ได้แล้ว คนธรรมดาจะไม่ได้เพราะติดพาสเวิร์ด)


คั่นรายการมาพูดถึงเรื่อง พาสเวิร์ดของนักศึกษากันเสียหน่อย (ส่วนตัวมหาลัยของข้าพเจ้านั้นไซร้) เนื่องจากการใช้ห้องคอมในมหาลัยเอย การจะเข้าอีเมลล์ส่วนตัวของนักศึกษาเอย จะต้องใช้ username และ password ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทุกๆ 4 เดือน ทางระบบจะมีการเตือนเข้ามาทางอีเมลล์ของเราว่าครบกำหนดเวลาแล้ว ควรจะเปลี่ยนพาสเวิร์ดได้แล้ว หรือบางที ถึงเวลาแล้วก็เปลี่ยนได้ เราใช้พาสเวิร์ดชุดที่ 1 ผ่านไป 4 เดือนแล้ว ชุดที่ 2 ก็จะต้องไม่ซ้ำกับชุดที่หนึ่ง แต่ชุดที่ 3 นั้นกลับมาใช้พาสเวิร์ดชุดที่ 1 ได้ (งงไหมเนี่ย) แต่ไอ้เวลาคิดพาสเวิร์ดมันจะยิ่งงงมากกว่า ซึ่งการคิดพาสเวิร์ดของที่นี่ มันกลัวคนแฮกกันได้มากขนาดไหนกันเชียว ถึงได้ใช้ พาสเวิร์ดที่มีตัวเลขและตัวอักษรแปลกประหลาดประมาณ 4 ชนิดในพาสเวิร์ด (1.ตัวใหญ่, 2.ตัวเล็ก, 3.ตัวเลข, 4.พวกสัญลักษณ์ต่างๆเช่น underscore อะไรประมาณนี้) ถ้าไม่ครบ 4 condition นี้ ระบบมันก็จะยังให้คุณลงพาสเวิร์ดใหม่อยู่นั่นแหล่ะ เพราะมันจะฟ้องว่าคิดง่ายไป เป็นที่ปวดหัวสำหรับนักเรียนหลายๆคนเป็นยิ่งนัก (แม้แต่ฝรั่งก็ยังได้ยิน เขาบ่นเรื่องนี้เหมือนกัน)  พอคิดออกกด enter ระบบมันก็จะฟ้องขึ้นมาอีก (ขนาดคิดมาดีแล้วนะ) มันบอกว่า ชื่อนี้มีอยู่ใน dictionary ไม่ควรใช้ หรือว่า ชื่อของตัวเองก็ใช้ไม่ได้อีกแหล่ะ  คิดกันหัวแทบแตก ดีอยู่อย่างที่ชื่อคนไทย เช่นชื่อคุณพ่อและคุณแม่ของพวกเราไม่มีอยู่ใน dictionary จึงเอามาใช้ตั้งเป็นพาสเวิร์ดได้ และเพื่อนๆอีกหลายๆคนก็เอาชื่อแฟน หรือชื่อเล่นมาเป็นพาสเวิร์ด รวมกับตัวเลขที่ตัวเองชอบออกมา ใครดูบอลก็เอาชื่อเลขเสื้อของนักบอลที่ตัวเองชื่นชมมาเป็นพาสเวิร์ด


กลับมาที่ห้องสมุดต่อ ส่วนมากเวลาเราไปเมืองนอกก็จะไม่ค่อยได้เอาหนังสือขนไปด้วย บางทีเล่มไหนที่อาจารย์เน้นมากๆ ว่านักเรียนควรจะมีไว้ในครอบครองก็ควรจะไปหามาประดับตู้หนังสือในห้องส่วนตัวของเราเสีย การไปหามาไว้ในครอบครองก็ไปหาได้ตามร้านหนังสือ second hand ที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัย ใครมีโอกาสไปเรียนภาษา วันที่ร้านเปิดคุณสามารถไปหาหนังสือที่นักเรียนรุ่นเก่ากำลังจะกลับบ้านแล้วเขาขายให้กับทางร้าน ก็จะได้หนังสือคุณภาพดีในราคาที่ไม่แพงเลย หนังสือมือสองจะดีกว่ามือหนึ่งตรงที่ จะมีบางจุดที่เขาขีดเอาไว้ หรือเขียนอธิบาย (แต่บางทีก็เจออธิบายเป็นภาษาที่เราอ่านไม่ค่อยจะออก) เอาไว้ ก็ทำให้เรารู้ว่า อ้อ ตรงนี้สำคัญนะ อะไรประมาณนี้ แต่มันอยู่ที่ว่าตอนนั้นคุณจะรู้ไหมว่าหนังสือเล่มไหนที่คุณต้องการและเป็นเล่มที่อาจารย์เขาจะสอน ทริคมีง่ายๆว่า ในร้านจะบอกว่าตู้ไหนเป็น text ของอะไรอยู่แล้ว ก็เข้าไปอยู่แล้วก็เลือกเอาพวก basic theory มาไว้ก่อน ยิ่งเล่มหนาไว้ยิ่งดี เนื่องจากข้อมูลจะเยอะ และที่สำคัญก็ควรจะเอา dictionary ของวิชาที่เราจะเรียนมาด้วย อันนี้ต้องแย่งกันกับเพื่อน ร้านนี้เข้าไปใครตาดีได้ ตาร้ายก็จะไม่ได้อะไรกลับมา หรือว่าเสียเงินซื้อหนังสือที่ไม่ได้ใช้เลยก็มี ส่วนมากหนังสือมือ 2 เราจะซื้อมาได้ในราคา ครึ่งเดียว ของหน้าปก อีกวิธีในการหาหนังสือก็คือซื้อออนไลน์


เว็บไซต์ที่น่าสนใจก็คือ http://www.amazon.co.uk  ที่ต้องใช้ uk เพราะว่าเราอยู่ประเทศอังกฤษ ของก็จะส่งมาจากประเทศอังกฤษ หลังจากที่เราทำบัตรกับทางธนาคารแล้ว เราสามารถใช้บัตรเครดิตนั้นซื้อของออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะดวกมากและสามารถเอาไปซื้ออย่างอื่นด้วย ตอนที่ดิฉันไปอยู่นั้น amazon uk มีบริการให้เช่าหนังด้วย นักเรียนนอกหลายคนติดหนัง ติดละคร ให้ทางบ้านส่งละครซีรีส์มาให้บ้าง หรือ DL จากคนที่เขา อัพโหลดลงไปในระบบก็ได้ โหลดมาเยอะก็ดูกันจนตาแฉะกันไปเลย ดังนั้นใครไปเป็นนักเรียนที่ไหนก็ให้ไปดูไว้ว่าโปรแกรมอะไรที่มันดังมากๆในหมู่นักเรียน ประเดี๋ยวก็จะมีการบอกต่อๆกันมาเอง ของดีดีแก้เครียดระหว่างเรียนเด็กๆเขาถนัดกันนักเชียวล่ะ ตอนของดิฉันมีอยู่วันเดินออกจากหอกำลังจะเข้าห้องเรียน ส่วนมากนักเรียนที่ยังไม่ถึงเวลาเรียนก็จะอยู่กันแต่ในหอ ความที่หออยู่กันเป็นกลุ่มๆ ดังนั้นเวลาเรียนก็อาจจะเจอเพื่อนร่วมห้องเดินกันมาอยู่ข้างหน้า หรืออยู่ข้างหลังกันเต็มไปหมด พอดีเจอเพื่อนชาวกรีกอยู่ห้องเดียวกัน จำหน้ากันได้ ก็เลยถามว่าเป็นไงสบายดี แกก็บอกว่าสบายดีเมื่อคืนดึกไปหน่อยเพราะโหลดหนังมาดู ไอ้เราก็เห มีโปรแกรมโหลดหนังด้วยรึ เขาก็บอกว่ามีสิ DL มาแล้วก็ set ในระบบนิดหน่อยแล้วเราก็สามารถโหลดหนังเรื่องอะไรก็ได้ที่มีคนโหลดเข้าไปในระบบ เราก็ตาโตแล้วรีบทันที เหรอมันชื่อโปรแกรมว่าอะไรล่ะ? DC++ What? DC++ (ดีซี พลัสพลัส) ด้วยเสียงที่ดังขึ้น อาจจะรำคาญนิดหน่อยว่ายายกะเหรี่ยงนี่มันมาถามอะไร คนอื่นเค้ารู้กันตั้งนานแล้วว่ามีโปรแกรมนี้กัน แหมก็ใครจะไปรู้ละเนี่ย ว่าไอ้ที่มันมีพลัสพลัสมันเป็นชื่อโปรแกรมได้ด้วย ไม่เป็นไรๆ คนเราต้องโง่ก่อนแล้วจึงจะฉลาดทีหลังดังกว่าอยู่แล้ว.... และแล้วหลังจากนั้นไม่นาน 6 สาวใน Harwich Court House 15 Flat 4 ก็เป็นอันไม่หลับไปนอนกัน เพราะมัวแต่โหลดหนังกันไปโหลดหนังกันมาอยู่อย่างนั้น และแล้วความสุขก็ต้องมีอันเป็นไป เนื่องจากว่าตอนนั้นทางมหาลัยก็ได้ทำการบล๊อกเว็บไซต์ดังกล่าวไปเนื่องจากผิดกฎหมายทางด้านลิขสิทธิ์ จึงทำให้ต้องหาแหล่งดูหนังแหล่งใหม่แทน ก็ได้เข้าไปสมัครใน amazon เพื่อที่จะเอา DVD มาดู ระบบก็ง่ายมาก เลือก package ว่า 1 อาทิตย์จะเอากี่แผ่น แรกๆ อิฉันก็เริ่มจาก 3 แผ่นจนในที่สุดก็ต้องเปลี่ยน package ไปอยู่ที่ อาทิตย์ละ 6 แผ่น (จนได้) หลังจากนั้นก็เข้าไปในเว็บแล้วก็เลือกว่าเราจะดูเรื่องอะไร ไม่นานเกินรอเขาก็จะส่งหนังมาให้เราดู พอเราดูเสร็จ ก็ใส่เข้าซองเดิม และไปหย่อนที่ตู้ไปรษณีย์ไหนก็ได้ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเราคืนหนังไปแล้ว มีเพื่อนหลายคนไม่เข้าใจระบบ พร้อมบอกว่า ถ้าหนังหายไปจะทำอย่างไร ก็เลยได้คิดว่าคนที่นี่เขาซื่อสัตย์กันมากๆ package ที่ส่งมาและส่งกลับก็มีโฆษณาอยู่แล้วว่ามันเป็น DVD จาก amazon มันไม่หายก็เพราะว่าพนักงานไปรษณีย์เขานำส่งอย่างดีและตรงเวลา ส่วนเราดู เราก็ทำหน้าที่ดูของเราอย่างมีจรรยาบรรณ ถ้าทำได้ มันก็จะไม่เกิดเรื่องอะไรตามมาแน่นอน ก็เช่าดูแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งจบกลบมาเมืองไทยนั่นแหล่ะค่ะ  (ฮ่าๆๆๆ ดูหนังเฉพาะตอนไม่ได้ทำ essay เท่านั้นนะจ้ะ ตอนทำ ไม่มีเวลามานั่งดูหรอกจ้ะ)

to be continued

ตอนที่ 5.2  http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12311140/H12311140.html

แก้ไขเมื่อ 30 มิ.ย. 55 21:43:14

จากคุณ : just.a.girl
เขียนเมื่อ : 30 มิ.ย. 55 21:22:54




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com