Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ชีวิตอันแสนสั้นของนักเรียนอังกฤษ [ตอนที่ 5.2 ชีวิตนักเรียนนอกแบบ full time] ติดต่อทีมงาน

มันยาวเกิน ต้องตัดออกอีกอ่ะค่ะ เง้อ

ลิ้งตอนที่ 1 http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12224646/H12224646.html
ลิ้งตอนที่ 2  http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12243376/H12243376.html
ลิ้งตอนที่ 3 http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12260789/H12260789.html

ลิ้งตอนที่ 4
http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12278995/H12278995.html

ลิ้งตอนที่ 5.1
http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12311039/H12311039.html


==============================
ชอบนอกเรื่องไปคุยเรื่องอื่นอีกแล้ว วิธีหาหนังสือที่เป็นวิธีที่เราคุ้นเคยกันอยู่ก็คือการเข้าห้องสมุดค่ะ ที่นี่จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ โซนธรรมดา กับหนังสือที่ไม่สามารถยืมไปได้นานนาน หนังสือที่อยู่ในห้องนี้ส่วนมากเป็น textbook ที่หลายๆคนต้องการ มีการต่อแล้วต่ออีก บางเล่มแทบจะไม่เห็นในห้องสมุดด้วยซ้ำไป ทั้งๆที่ยืมได้เพียงแค่ 1 คืน คือต้องเอามาคืนก่อน 9 โมงของวันรุ่งขึ้น วิธียืมจากห้องที่ไม่สามารถยืมไปได้นานนี้ (เรียกว่า reference book) เป็นชีวิตที่ทรมานของเด็กนักเรียนที่นอนดึกอย่างดิฉันเป็นยิ่งนัก แต่ถ้าไปช้า ก็จะโดนปรับอีกเช่นกัน ดังนั้นก็ต้องตื่นออกไป ในสภาพที่งัวเงียเต็มที่ เพื่อไปคืนหนังสือ  อันว่าหนังสือในห้องสมุดนี้ ไม่ได้มี 1 เล่มเท่านั้น บางทีมีหลายเล่ม และบางทีก็มีหลาย edition (อันนี้ต้องดูดีดีด้วยว่า อาจารย์สั่งให้อ่าน edition ไหน เนื่องจากแต่ละ edition เนื้อหาก็จะไม่เหมือนกัน)  หากช่วงไหนเป็นช่วงสอบ หรือเขียน Essay หนังสือที่เป็นหัวใจหลักของการเรียนในแต่ละสาขา ก็จะโดนหยิบยืมกันไปจนเกลี้ยงชั้นทันที ยิ่งเป็นหนังสือที่ไม่มีคนต้องการ เวลายืมไปมีสิทธิลืมไปได้เลย เนื่องจากนักเรียนโทสามารถยืมได้นานมากกกกกก และเวลาต่ออายุ ก็ไม่ต้องเอาหนังสือขนมาต่อ สามารถ renew ได้จากหน้าเว็บไซต์ห้องสมุดได้ทันที ซึ่งสะดวกมากๆ เวลาไปขนหนังสือก็พาเพื่อนผู้ชายไปด้วย เพราะแต่ละเล่มก็หนามาก พอจะปิดเทอมกันที เห็นนักเรียนแต่ละคน ขนหนังสือมาคืนกันแบบนึกว่าจะย้ายบ้านไปไหน เพราะว่าขนใส่กระเป๋าเดินทางล้อลากกันมาก มันจะมีหนังสือที่เราอยากได้อยู่และมันก็ไม่เคยอยู่บนหิ้งเลย เป็นของร้อนที่มีแต่คนต้องการ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือใช้อีเมลล์ request หนังสือเล่มนั้น เมื่อมีคน request ทางบรรณารักษ์ก็จะส่งอีเมลล์มาเตือนคนที่มีหนังสือร้อนนั้นเอาไว้ในครอบครองว่าให้เอาหนังสือมาคืนในเวลาเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ความฮอทของหนังสือเล่มนั้น  


มีน้องคนไทยคนหนึ่งได้รีเควสหนังสือเล่มหนึ่งเอาไว้  รออยู่ไม่นานนักบรรณารักษ์ก็ส่งอีเมลล์บอกว่าให้ไปรับหนังสือได้ มีคนมาคืนแล้ว อีก 2 วันถัดมา น้องเขาบอกว่า ต้องเอาหนังสือเล่มนั้นไปคืนห้องสมุดอีกแล้ว เนื่องจากมีคนมารีเควสมาที่เขาเหมือนกัน หนังสืออยู่กับเขายังไม่ทันร้อนเลย แล้วน้องเขาก็บ่นต่อไปว่า เดี๋ยวแม่จะยอมโดนปรับซะเลย แหม ยังไม่ทันได้อ่าน จะรีเควสอะไรกันมากมายเนาะ


ก็อย่างว่าหนังสือมันฮ็อทนิ ดังนั้นอย่าแปลกใจ ที่เราอาจจะต้องตัดใจซื้อหนังสือบางเล่มที่แพงมากๆ เอาไว้เนื่องจากเราต้องใช้ตลอด ดิฉันคิดว่าเงินค่าหนังสือ เวลาไปใช้ชีวิตอยู่ที่โน่นนี่ใช้ไปประมาณ 1 ใน 4 ของเงินที่อยู่ที่โน่นเลยทีเดียวเชียวแหล่ะ  


การเรียนการสอนของที่นี่เค้าก็จะมีชีทแจกให้บ้าง อาจารย์ปิ้งแผ่นใสบ้าง หรือว่าเขียนไวท์บอร์ดบ้าง ก็คล้ายๆกับที่เราเรียนที่เมืองไทยนี่แหล่ะ  แต่เวลาเข้าห้องเรียนแรกๆก็จะ ก็จะเอ๋อๆ อยู่บ้าง ว่าอาจารย์เขาพูดอะไร  อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้เตรียมตัวอ่านหนังสือมาก่อนเข้าชั้นเรียนหรือเปล่า?  แล้วนักเรียนที่นี่ก็จะซูฮกให้กับคนที่สามารถตอบคำถามของอาจารย์ได้ ไม่ใช่ตอบได้อย่างเดียว จะต้องตอบดีด้วย ถ้าคนไหนใช้ศัพท์ที่เราเรียกกันว่า academic language แล้วยิ่งดีใหญ่เลย คือเป็นศัพท์ของผู้มีการศึกษาเขาใช้กันนั่นแหล่ะ ค่ะ เช่น preoccupied, convergence, explore, legacy, abide เราอาจจะคิดว่าเอามาใช้เฉพาะงานเขียนเท่านั้น แต่เขาก็เอามาใช้ในการพูดด้วยเช่นกัน ฟังแล้วก็เข้าที ดูดีมีชาติตระกูลกันขึ้นมาทีเดียวเชียว แต่ก็ต้องระวังด้วย หากเรามัวแต่คิดที่จะใช้ศัพท์หรูหราเกินไป ก็จะกลายมาเป็นพูดลิเกซึ่งชาวบ้านๆอย่างเขาก็ไม่พูดกัน ดังนั้น เราเอามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเราเองเนี่ยแหล่ะจะดีที่สุด  ในส่วนของฟังเลคเชอร์นี้ มีฝรั่งชาติอังกฤษแท้ๆเขาเอาเครื่องมืออัดเทปเข้าไปอัดด้วย แต่ดิฉันยังไม่เคยทำ ถ้าคิดว่าอัดแล้วเราจะสามารถนำกลับมาฟังได้อีกก็น่าจะอัด แต่ถ้าชีวิตประจำวันของเรา เราใช้วิธีเข้าไปหาอาจารย์ให้อธิบายให้ หรือว่าอีเมลล์คุยกับอาจารย์ได้ หรือมีทางออกอื่นๆที่เป็นตัวเราเองมากกว่า ก็ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่เข้ากับเราดีกว่าที่จะเห็นเพื่อนอัด ก็อัดเทปตามเขา  ปรากฎว่าในคลาส International Relations ที่เราเข้าเรียนมีชาติเอเชีย ดังนี้คือ ญี่ปุ่น 2 คน, ไต้หวัน 1 คน และไทย 2 คน คือน้องจากจุฬาฯ คนหนึ่ง ซึ่งน้องคนนี้จะมีอิทธิพลกับข้าพเจ้ามากๆในระยะหลังๆของการเรียนที่นี่  ภายในห้องเรียนที่คับแคบ และจัดโต๊ะแบบ วงกลม นักเรียนทุกคนมองเห็นหน้ากัน และไม่มีหน้าต่างเลยนี้ ดูออกจะเป็นสถานการ์ณที่อึดอัดไม่น้อย ไม่มีเด็กเอเชียคนใดเอาเทปมาอัดเลยสักคน นอกจากนี้เมื่อเรียนจบไปชั่วโมงแรกจะมีการเบรคด้วย ช่วงเบรกนี้เอง ใครใคร่จะออกมาสูบบุหรี่นอกอาคาร อาคารทุกที่จะเป็นเขตปลอดบุหรี่ ใครอยากจะซี๊ดซ้าด จะต้องออกมาข้างนอก และจัดการให้หมดมวนแล้วก็วางก้นบุหรี่ไว้ที่ที่เขาตั้งเอาไว้ แล้วก็กลับเข้าเรียนได้ มีไอ้ที่มาเรียนไม่ได้สูบ แต่ระยะหลังๆสูบจัดขึ้นเพราะความเครียดก็มี มีไอ้ที่สูบจัดๆมาแต่มาเลิกเอาได้ที่นี่ก็มี และก็มีไอ้ที่ไม่สูบอย่างไรก็ไม่สูบอย่างนั้นด้วย  ข้าพเจ้าเป็นประเภทไม่สูบ จึงไม่ได้มีโอกาสไปเสวนากับพวกเด็กที่สูบกันสักเท่าไหร่นัก บางทีพวกที่สูบเขาก็มีการคุยกันได้อย่างออกรสชาติกันไปอีกแบบก็มี


ในคลาส International Relations นี้ เป็นวิชาบังคับของเด็ก IR แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงเช้าและบ่าย ใครสะดวกไปเรียนตอนเช้าก็ไป ใครสะดวกไปเรียนตอนบ่ายก็ได้ แต่ดิฉันจำได้ว่า ตัวเองไปลงเรียนวิชา CPT: Contemporary Political Theory ซึ่งสอนด้วย Dr.Albert Weale อาจารย์ที่จบจากเคมบริดจ์มา นับว่าเป็นวิชาที่หินเอามากๆ ในช่วงเช้านั้น จึงต้องลงวิชา IR นี้เป็นช่วงบ่ายแทน ขอเล่าถึงวิชา CPT เสียก่อนละกันในฐานะที่หินที่สุด และอาจารย์ก็ demanding (เรียกร้องและคาดหวังในเรื่องการเรียนจากนักเรียนมาก) ที่สุดในบรรดาอาจารย์ทั้งหมด


อันว่าวิชา CPT นี้เป็นวิชาที่โหดเอามากๆ  ส่วนมากเด็กเก่งๆจากแผนกต่างๆจะมาลงวิชานี้เช่นพวกเด็กจาก Political Behavior, Political Theory, Ideology and Discourse Analysis, Global and Comparative Politics ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Politics ที่ยากๆทั้งนั้นก็จะมาลง เมื่อเด็กมีมากขึ้น และเวลาเรียนก็เรียนทั้ง 2 เทอมด้วย และจะเรียนด้วยกัน 2 คาบ คาบแรกจะเป็น discussion ในกลุ่ม คาบที่สอง อาจารย์จะสอนเอง ไอ้ตัว discussion ในกลุ่มนี้เองที่ทำเอากะเหรี่ยงอย่างดิฉันเกือบตายกันมาแล้ว ในห้องเรียนแบบไล่ระดับนั้น คนที่สนใจจะลงเรียนวิชานี้ในคาบแรกๆ ก็จะเข้ามาฟังกันว่า อีตา Albert อาจารย์จบจาก Cambridge แกจะสอนอะไรบ้าง หลังจากฟังเสร็จก็ต้องไปลงกลุ่มว่า สะดวกจะเข้ากลุ่มวันไหน discussion group ก็จะเป็นกลุ่มที่มาคุยถกประเด็นจากเรื่องที่เราเรียนมา Albert แกก็จะนั่งเป็นประธาน แล้วก็เป็นคนคอยจ่ายคำถาม หรือว่าหา volunteer ในการที่จะมีคนตอบคำถามไหนได้  เด็กหลายๆคนพอเข้า discussion group ในระยะแรกๆ ก็ขยาดกันแล้ว โดยเฉพาะพวกเด็ก Asia เนื่องจากภาษาพูดก็ไม่ค่อยจะทันเขาแล้ว อ่านหนังสือที่จะต้องอ่านอาทิตย์ละไม่ต่ำกว่า 2-3 article และเป็น article ที่ยากๆด้วยแล้วจึงไม่ขอเรียนในวิชาดังกล่าว ในวิชานี้ดิฉันและน้องจากจุฬา ก็ลงเรียนด้วยเช่นกัน น้องเขาหลวมตัวมาเรียนด้วยประมาณ 2-3 อาทิตย์ได้ แล้วก็เกิดเปลี่ยนใจ เพราะมันเป็นวิชาที่ใช้ time consuming มากๆ อ่าน text ก็ยาก ไหนจะต้องอ่านของวิชาเอก ซึ่งอาจารย์ที่สอนคือ Kristian ด้วยแล้ว มันจะไม่ค่อยทันกัน (เพราะอีตา Kristian ก็จะถามเราในคลาสอีกเช่นกัน) ดังนั้นน้องเขาก็เลยต้องขอบายไปเรียนวิชา US Foreign Policy แทน แต่ตัวดิฉันเห็นว่า วิชานี้เคยเรียนมาก่อนแล้ว จึงสนใจ CPT มากกว่า ถึงแม้ว่ามันจะยากเย็น แสนเข็ญอย่างไรก็ตาม พระเจ้าคะ พระเจ้าจะพาดิฉันผ่านมันไปได้ใช่ไหม ? คิดได้ดังนั้น ดิฉันจึงเป็นเด็กไทยเพียงคนเดียวในคลาสของ Albert ที่ยังทนหน้าด้าน ตอบคำถามโง่ๆ มาไม่รู้สักเท่าไหร่ จนในที่สุดก็ฝ่าฝันมาได้จนจบคอร์สแบบทั้งน้ำทั้งเลือดตาแทบกระเด็น


ในคลาสของ Kristian ก็ใช่ย่อย  เนื่องจาก Kristian เป็นอาจารย์สอน IR แถมยังเป็นหัวหน้าภาควิชานี้ด้วยจึงทำให้เราจะต้องมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับเขา เขาไม่ใช่คนอังกฤษ แต่เป็นคน Norway จบการศึกษาที่ University of Oslo มหาลัยที่เก่าแก่และชื่อดังที่สุดใน Norway ดังนั้นความเก่งกาจในตัวของเขาก็ย่อมต้องมีมากเช่นกัน เขาเขียนหนังสือ บทความต่างๆมากมาย (เช่นเดียวกับ Albert) ส่วนมาก อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเค้าจะผลิตผลงานวิชาการออกมาเรื่อยๆ ก็เช่นเดียวกันกับพวกหมอ และนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่จะต้อง research หรือผลิตบทความใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ ออกมาสู่สายตาประชาชนกัน แกมี webpage ที่มี CV และงานของแกลงเอาไว้ด้วย ใครอยากเห็นหน้าตาของอาจารย์ข้าพเจ้าเชิญไปที่ http://privatewww.essex.ac.uk/~ksg/  ทันใด  แกเป็นคนเงียบๆ แต่มีวิธีการสอนที่ฉลาดและไม่น่าเบื่อโดยการถามนักเรียน เรามักจะคิดไปว่าเราอาจจะตอบคำถามของเขาไม่ได้  แต่ถ้าเราตั้งใจฟังสำเนียงภาษาอังกฤษของชาวสแกนดิเนเวียของแกดีดีแล้วละก็ เราก็ตอบคำถามแกได้ไม่ยากเลย ดิฉันลองมาแล้ว มีอยู่วันหนึ่งแกถามว่า  “หลักอย่างหนึ่งที่ Mahatma Gandhi นั้นใช้หลักอะไรในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพจากอังกฤษ” ดิฉันตาโตเพราะนี่จะเป็นคำตอบแรกและคำตอบเดียวที่ดิฉันจะตอบใน Class ของ Kristian เขาล่ะ เมื่อ Kristian ถามเป็นครั้งที่สอง และในห้องที่เงียบเชียบนั้น ทันใดนั้นเองเสียงเด็กไทยอายุอานามก็ไม่น้อยแล้วอย่างดิฉันก็ตอบขึ้นมาว่า ‘Non-Violence’ หรือ หลักอหิงสา นั่นเอง งานนี้ต้องกลับไปขอบคุณบิดา ผู้ประสิทธิประศาสตร์ความรู้ให้ลูกสาวอย่างดิฉัน และนำข้อเขียนคำคมของ มหาตมะ คานธี ที่แปลโดย กรุณาและเรืองอุไร กุศลาศัย มาให้ข้าพเจ้าอ่านตั้งแต่เล็กแต่น้อย  อันว่าความรู้ใดในโลกนี้มีให้เราได้ค้นหานั้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่มันจะสิ้นสุดลงเอาตรงที่เราจะไม่ขวนขวายหามาใส่ตัวเพิ่มเติมต่างหาก  ครั้งนี้ทำให้ฉันรู้ซึ้งถึงข้อดี และประโยชน์ของการอ่านหนังสืออัตชีวประวัติ หรือพวก non-fiction (เรื่องจริง) ในบัดดล  เมื่อฉันตอบไปดังนี้แล้วก็เหมือนจะแอบเห็นแววตาดีใจของ  Kristian ขึ้นมาบ้าง เพราะบางทีคนในห้องก็ไม่ใคร่จะตอบสักเท่าไหร่ (มัวแต่อมภูมิ หยั่งเชิงคนเก่งกันเองอยู่นั่นแล) เมื่อฉันตอบไป อีตา William กับ Andrias หนุ่มเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ หนุ่มอิตาลี ที่นับว่าน่ารักและเป็นหัวกะทิของห้อง (ซึ่งเขาได้ Kristian เป็นที่ปรึกษาในการทำ Dissertation ก่อนจบนั่นเอง) เราลงเรียน IR และ CPT เหมือนกัน ทั้งสองแอบส่งยิ้มให้กำลังใจมาที่ฉันเล็กน้อย  เวลามีตรงไหนที่จำเป็นจะต้อง debate กัน ในห้องพวกเราก็จะต้องขอบคุณทั้งสองคนนี้ที่เป็นต้นเสียงข้างฝ่ายนักเรียนให้เสมอๆ  ทั้งรูปร่าง หน้าตา นิสัย ความคิด และความฉลาด ของทั้งสองคนนี้ ...จะเรียกว่าอย่างไรดี  เอาเป็นว่า เพอร์เฟคเลยละกัน เต็มสิบก็คงจะให้สักสิบเอ็ด และถ้ามาเดินในเมืองไทย สาวๆคงมองเหลียวหลังเป็นแน่แท้   อันนี้ไม่มีรูปประกอบนะเคอะปุ๊ดโธ่ผู้หญิงเอเชีย เด็กบ๊วยของห้องอย่างดิฉันจะไปคบค้าอะไรกับหนุ่มเต็มสิบล่ะเคอะ ว่าแล้วนางเอกก็ต้องขอหลบฉากไปนิดส์นึงค่ะ


อีกสองวิชาเป็นวิชาเลือกสอนโดย Frank (ที่ปรึกษา Dissertation ให้ดิฉันก่อนจบนั่นเอง) และ Kevin ซึ่งเทอมแรกจะเรียน Kevin ก่อน และเทอมหลังเรียนของ Frank (แต่เวลาสอบ ก็ต้องงัดเอาของ Kevin ซึ่งเรียนตั้งแต่เทอมแรกและแทบจะลืมไปแล้วเอาออกมาอ่านด้วย) ที่เลือกเรียนวิชาเลือกมาเป็นสองวิชานี้ กล่าวคือ Frank สอน Governance and Global Economic Affairs และ  Kevin สอน International Security Studies ก็เพราะว่าทั้งสองวิชานี้เป็นวิชาที่น่าสนใจ และตอนนี้โลกของเราไม่ใช่กำลังสินะ เปลี่ยนจากโลกที่พูดถึงเรื่อง Security ในแง่ของการทหารมาเป็น Security และ Stability ในแง่ของเศรษฐกิจกันแล้ว และสองวิชานี้นำมาช่วยในการเรียนเรื่อง IR ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย วิชาของ Kevin สอนเหมือน Albert คือมีเลคเชอร์ และ Discussion แต่ไม่โหดเท่า เนื่องจาก Kevin เป็นคุณครูใจดี (แต่ออกข้อสอบ และให้คะแนน Essay โหดมากๆ ต่างจากหน้าตาและวิธีการสอน คนอื่นให้คะแนนฉันพอทน แต่คนนี้ให้ดิฉันตกค่ะ!) ก็จะไม่ถามจี้นักเรียนสักเท่าไหร่  และมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งอายุพอสมควรแล้วล่ะ มักจะเป็นต้นเสียงในการตอบในคลาสของ เควินเป็นประจำ  ซึ่งพวกผู้หญิงก็มักจะเอาเขามานินทา เอ้ยยยพูดถึงในแง่ของที่ว่า เขาเก่งมาก เคยทำงานกับ UN มาก่อน หรือไม่ก็เขายึดติดกับความคิดของตัวเองมาก จนเถียงเรื่องเดิมไปเรื่อยๆกับอาจารย์จนหมดชั่วโมง ดิฉันแอบคิดไปว่าเพราะว่าเขาไม่หล่อ และตัวก็ไม่ได้สูงใหญ่ดัง William และ Andrias เสียกระมัง จึงทำให้โดนโจมตีเช่นนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าเขาไม่ทำตัวของเขาเองให้เป็นจุดสนใจและยึดติดกับคำตอบของตัวเอง ให้เป็นประเด็นได้เม้ากันสนุกๆ พวกเราก็คงไม่ต้องเอาเรื่องของเขามาพูดกันเสียละมัง

to be continued...
ลิ้งตอนที่ 5.3 (จบตอน)
http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12311187/H12311187.html

แก้ไขเมื่อ 30 มิ.ย. 55 21:50:43

จากคุณ : just.a.girl
เขียนเมื่อ : 30 มิ.ย. 55 21:42:19




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com