Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ชีวิตอันแสนสั้นของนักเรียนอังกฤษ [ตอนที่ 5.3 ชีวิตนักเรียนนอกแบบ full time] ติดต่อทีมงาน

วันนี้ที่ต้องรีบมาลงเพราะว่า หลายคนกำลังจะไปเรียนต่อ จะได้เตรียตัวว่าอาการเรียนในชั้นมันต้องทำอย่างไรกันบ้างอ่ะค่ะ

ทั้งหมดมี เจ็ดตอนนะคะ เหลืออีกสองตอนคือ เรื่องสอบเที่ยว และกลับบ้านค่ะ ช่วงนี้ก็เผื่อน้องๆเดินทางกันไปนะคะ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ช่วยจิ้มเก็บเข้าคลังกระทู้ด้วยค่ะ :)  ขอบคุณมากค่ะ safe เอาไปอ่านให้คุณพ่อแม่เด็กที่กำลังจะไปเรียนอังกฤษฟังก็ได้นะคะ จะได้สบายใจว่าลูกจะอยู่อย่างไร เรียนอย่างไร หรือจะเก็บเอาไว้แจกให้คนอื่นอ่านก็ได้ค่ะ เพราะเขียนให้อ่าน ก๊อบเอาไป ไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ค่ะ (ทำซ้ำเผยแพร่ได้ค่ะ แต่อย่าเอาเป็นของตัวเองนะคะ ให้เครดิตหนูนิดส์นึงส์) ;)


ลิ้งตอนที่ 1 http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12224646/H12224646.html
ลิ้งตอนที่ 2  http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12243376/H12243376.html
ลิ้งตอนที่ 3 http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12260789/H12260789.html

ลิ้งตอนที่ 4
http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12278995/H12278995.html

ลิ้งตอนที่ 5.1
http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12311039/H12311039.html

ลิ้งตอนที่ 5.2
http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H12311140/H12311140.html


========================

วิชาสุดท้าย จะว่าโหดก็ไม่เชิง จะว่าหินก็ไม่ใช่ ก็คือ Political Explanation ของ Eric Tenenbaum เป็นวิชาบังคับว่าคนที่มาเรียนคณะ Government จาก University of Essex ทุกคนจะต้องผ่านมือของ Eric ก่อนที่จะจบได้ วิชานี้เรียนทุกคน ดังนั้นเราจึงต้องไปใช้ Lecture Hall ห้องที่ใหญ่ที่สุด อลังการงานสร้างที่สุด สูงสุดๆ เหมือนโรงมหรสพโรงใหญ่ๆ เก้าอี้ยาวๆ แล้ว อีริค ก็จะสอนไปเรื่อยๆ โดยแต่ละ Week ก็จะมีชีทแจก  การบ้านของ Eric เป็นการบ้านที่น่าเวียนหัวที่สุด เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข ใครจะไปรู้ว่าการที่เรามาเรียนวิชารัฐศาสตร์ และการที่เรามาเรียน Political Explanation ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวเลขได้ กลับกลายมาเป็นเรื่องสถิติและเกี่ยวข้องกับ SPSS ในที่สุด  วิชาที่เด็กรัฐศาสตร์น่าจะกลัวที่สุดก็คืออะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขนั่นเอง  ทว่าจริงๆแล้วการเรียนวิชาทางด้านรัฐศาสตร์นี้ เราไม่สามารถที่จะเอาข้อมูลที่จับต้องไม่ได้เอามาพูดกันได้ เนื่องจากว่ามันวัดอะไรไม่ได้  ดังนั้นการที่จะทำสมมุติฐานที่เราคิดเอาไว้ให้เป็นจริงได้ เราก็ต้องอาศัยตัวเลขพวกนี้มาเป็นตัวชีวัด ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มเรียน SPSS และจะต้องอธิบายให้ได้ว่าการกระจายตัวของข้อมูล ในแต่ละอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร กราฟแต่ละอย่างนี้เอาไว้ใช้ทำอะไร  พูดก็พูดเถอะ เรียนเป็นภาษาไทยก็ว่าไม่น่าจะเข้าใจแล้ว นี่ต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษด้วย แล้วเราไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์จบสถิติมา ถึงแม้ว่าเป็นเด็กเศรษฐศาสตร์หรือสถิติเองก็เถอะ ก็ยังไม่นับว่าหมูนักหรอก ดังนั้นวิชานี้ตายหยั่งเขียดค่ะ  


จนป่านนี้ยังไม่ทราบว่าพาตัวเองผ่านมาได้อย่างไร จำได้ว่าจะทำการบ้านแต่ละทีนี่ ต้องหาเพื่อนเศรษฐศาสตร์มาช่วยดู จำได้ว่าเพื่อนซี้ตอนนั้นจบเศรษฐศาสตร์ จุฬา และเอก Econometric พอดี ซึ่งมีส่วนทำให้ข้าพเจ้าสามารถทำวิชานี้ออกมาได้ ก็เพราะเขาคนนี้นี่แหล่ะค่ะ  เวลาจะไปนั่งทำ SPSS ทีก็จะต้องหนีบเขาไปด้วยทุกครั้ง ก็ต้องขอบคุณพระเจ้ากันอีกหนว่ามีเพื่อนที่ดี ได้ช่วยลากกันมาจนจบได้  วิชาของ Eric นี่เวลาส่งงาน Eric เค้าจะไม่ตรวจเองนะคะ บางทีเค้าจะส่งไปให้คนอื่นตรวจ ดังนั้นคะแนนที่ออกมามันก็จะไม่ค่อยเท่ากันสักเท่าไหร่หรอกคะ มันขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ตรวจว่าเขามีมาตรฐานเช่นไร จึงมีคนมักจะไปทักท้วงในเรื่องคะแนนอยู่ที่ห้องของ Eric เสมอๆ  

มีเด็กๆหลายคนที่ไม่เคยเรียนมาก่อนก็มีความลำบากในเรื่องนี้ จนทำให้ Eric ต้องเปิด session ขึ้นมาใหม่ในช่วงเช้าของวันพุธ เพื่อให้เด็กที่ไม่เข้าใจมาถามได้ใน session นี้ ส่วนมากที่ไปเจอกันในห้องตั้งกระทู้ถาม Eric นี้ก็จะเจอกันแต่หน้าเด็กเอเชียกันเท่านั้นแหล่ะค่ะ (บางวันจะมียุโรปมาบ้างนิดหน่อย) บางทีเราไปนั่งกันเฉยๆ Eric ก็จะทำหน้างง งง ก่อนบอกนักศึกษาว่า “The Rule of this session is you have to ask the question and I will answer”  นักเรียนก็ต้องตั้งคำถามค่ะ เพราะแกบอกแล้วนิคะว่า แกไม่ได้มาสอน แกมาอธิบายให้กับเด็กที่ไม่เข้าใจ ก็ต้องบอกแกว่าเราไม่เข้าใจตรงไหนอย่างไรค่ะ

มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่การบ้านได้ส่งคืนมาแล้ว ในขณะที่เพื่อนๆทำพร้อมๆกันกับฉันได้คะแนนร่วม 70 และ 80 นั้น ดิฉันได้คะแนนน้อยมากๆทีเดียวเชียว ขณะที่ดิฉันทนกลุ้มใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และเดินเหมือนเสือติดจั่นไปมาอยู่ในห้องคอมของมหาวิทยาลัยนั่นเอง ด้วยความที่ซี้จากเศรษฐศาสตร์จุฬาคนนี้ เขารำคาญ หรือหวังดีก็มิทราบได้ เมื่อดิฉันถามเขามาว่า จะไปหาอาจารย์ดีไหม เนื่องจากวิชานี้มีคนไปหา Eric ให้ตรวจการบ้านใหม่และได้ mark ใหม่ซึ้งไฉไลกว่าเดิมด้วย (เนื่องจาก Eric มักให้คะแนนนักเรียนดีกว่า ให้คนอื่นตรวจเสมอๆ) ดังนั้นซี้ของดิฉันคนนี้จึงให้กำลังใจว่าไปเถอะ เขาจะรออยู่ที่นี่เอง หลังจากนั้นดิฉันก็รวบรวมความกล้า (มากๆๆๆๆๆที่สุดในชีวิต เท่าที่ร่างกายในตอนนั้นจะมีได้) เดินไปหา Eric โชคดีที่วันนั้นเขาอยู่ที่ห้อง (ปกติอาจารย์ในมหาลัยถ้าไม่ได้นัดก่อน หรือว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาแปะเอาไว้หน้าห้องว่าเป็น office hour หรือเวลาทำงานของเขาวันไหนละก็ มักจะไม่ค่อยอยู่กันหรอก เวลานั้นก็เย็นย่ำมากแล้วด้วย) แต่ว่า Eric อยู่ค่ะ ขอบคุณพระเจ้า  ไม่มีนักเรียนด้วย ดิฉันถืองานเข้าไปหาเขา แล้วบอกว่า ทำไมข้อนี้จึงได้น้อย เขารับเอามาอ่านหน่อยหนึ่ง (จริงๆแล้ว ถ้า Eric ถามดิฉันอาจจะตอบเขาไม่ได้ก็ได้ เพราะกว่าครึ่งก็ได้ความช่วยเหลือจากซี้จากเศรษฐศาตร์นั่นแหล่ะค่ะ) แล้วก็บอกว่าจะตรวจให้ ให้กลับมาหาเขาวันพรุ่งนี้อีกที เท่านั้นแหล่ะค่ะ ดิฉันก็หน้าบาน เดินราวกับจะปลิวได้กลับมาที่ห้องคอมที่ซี้ดิฉันนั่งอยู่แทบจะไม่ทัน เก็บอาการอย่างไรก็ไม่มิด ซึ่งดิฉันคงจะโล่งใจไปโข ที่ได้เลิกเซ้าซี้เขาเสียที หลังจากนั้นก็ถึงเวลากลับไปเอาคะแนน คราวนี้ Eric แก้ให้ ได้คะแนนตามที่อยากได้สมใจค่ะ เป็นอันว่าโล่ง เพราะว่าคะแนนที่มากๆตอนส่งช่วงนี้ จะต้องนำเอาไปรวมกับคะแนนสอบค่ะ ซึ่งคะแนนสอบที่เป็นฤดูสอบนี่ ดิฉันอาจจะอ่านได้ไม่ดีก็ได้ ดังนั้นถ้าทำคะแนนเก็บช่วงนี้ดีดี ถึงตกตอนสอบ แต่ก็สามารถนำมาช่วยกันได้ค่ะ


Week 1, Week 2 ผ่านไป อาจารย์เริ่มที่จะให้โจทย์สำหรับทำ Essay กันแล้ว โจทย์ก็ไม่ยากค่ะ ให้เลือกทำ จากเรื่องที่เรียนกันไปแล้ว แต่เราจะต้องไปหาข้อมูลสนับสนุนความคิดของเราจากห้องสมุดกันเอาเอง หรือจะเดินไปหาอาจารย์กันที่ office ของอาจารย์แต่ละท่านก็ได้นะคะ ถ้าไม่กล้าไปคนเดียวก็เอาเพื่อนไปด้วย ดังนั้นการไปหาอาจารย์เหล่านี้คงหนีไม่พ้น น้องจากจุฬาคู่ยากของดิฉัน และก็ Dalia แฟลตเมทของดิฉันที่เป็นคน Syria แต่เราเรียนโปรแกรม IR เหมือนกัน ก็จะหนีบกันไปด้วยทุกครั้งค่ะ  

ช่วงเวลาทำ Essay เป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันมากที่สุด ห้องคอมในมหาลัย จะมีห้องที่เปิดกันทั้งคืนอยู่ด้วย ก็จะมีเด็กนักเรียนไปสิงสถิตกันอยู่ตามห้องคอมมหาลัยกันไม่ยอมกลับมานอนกันที่ห้อง ด้วยเกรงว่าเมื่อกลับมาที่ห้องจะไม่ได้ทำ จะเอาแต่นอนหรือดูทีวี ดังนั้น สภาพแวดล้อมก็มีส่วนที่จะผลิตผลงานออกมาได้เช่นกันค่ะ เวลาอ่าน text ถ้าเราเลือกอ่านจาก internet บาง resource อาจจะไม่ได้รับการรับรอง เพราะไม่ได้มาจากต้นตำหรับของแท้ ที่ออกกันมาเป็นหนังสือ เป็นทฤษฎีให้เราได้อ่าน ดังนั้นจึงควรที่จะหาหนังสืออ่านจะได้ความรู้ที่เพิ่มขึ้นและจะได้ reference ที่ดูดีที่สุดในการทำ Essay ค่ะ นอกจากนี้การเขียนอีเมลล์ไปขอความช่วยเหลือจากที่ต่างๆก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการทำ Essay ส่งอาจารย์


มีการส่ง Essay อยู่ครั้งหนึ่ง ที่ทำให้ดิฉันไม่เคยลืมเลือนถึงการเป็นคนช่างถาม และไม่คิดที่จะดูดายความรู้สึกของการช่างถามของตัวเอง มีหลายครั้งที่ดิฉันถามอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่อื่นและไม่ได้รับคำตอบก็มี แต่ที่ดูจะภูมิใจและดีใจที่สุดในความใจดีของอาจารย์ท่านหนึ่งจนต้องมาเล่าสู่ก็คือ ในวิชาที่เรียนเรื่อง IR คลาสของ Kristian นั่นเอง  วันนั้น Kristian สอน Article ของ Robert Jervis เรื่อง Cooperation under the Security Dilemma (World Politics, Vol. 30, No.2, 1978) ซึ่งตอนเรียนก็ไม่ค่อยจะเข้าใจหรอก ว่ามันจะเกิดเหตุการ์ณความร่วมมือภายใต้บรรยากาศ ฮึ่มๆ กันระหว่างชาติ ได้อย่างไร รวมทั้งmodel ที่สอนกันในคลาสนั้นด้วย

Robert Jervis เป็นอาจารย์สอนและเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากๆในวงการ ของ IR ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ เขาสอนอยู่ที่ Columbia University นครนิวยอร์ค มหาลัยที่หลายๆคนใฝ่ฝันถึงว่าสักวันอยากจะเข้าไปบ้าง ไม่แพ้ MIT ,Harvard, Princeton หรือ Cambridge, Oxford เลย  เราก็ต้องไปหาฉบับอ่านงานของ Jervis ที่จะเข้าใจจากใน internet เสียก่อน มีเพื่อนคนหนึ่งตั้งสมญาให้ว่า ถามใครไม่รู้ถามอากู๋ (หรือ google นั่นเอง) ดูก่อน ดังนั้นเมื่อเข้าไปหาอ่านดูแล้ว บางครั้งบางคราว เราอาจจะพบกับ email ของอาจารย์หลายท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ และกำลังสอนนักศึกษาระดับหัวกะทีอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกนี้ globalization ที่ย่อโลกเข้าไว้ด้วยกันย่อมมีประโยชน์ของมันอยู่บ้าง เมื่อดิฉันตัดสินใจที่จะเขียนจดหมายถึง Dr.Robert Jervis ถึงความคับแค้นใจที่ไม่สามารถที่จะเข้าใจสักกระผีกหนึ่งจาก โมเดล ของท่าน และแถมยังบอกแกด้วยว่า ฉันใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ดังนั้นโปรดรับคำขอโทษในความไม่เข้าใจของดิฉันเอง  หลังจากระบายความคับข้องใจ และไม่เข้าใจ และไม่รู้จะไปถามใครได้ ตกเย็น คำตอบจากสวรรค์ผ่านทางอีเมลล์ส่วนตัวของดิฉันก็มาถึง ใจของตัวเองสั่นเต้นระรัว คงจะไม่ต้อง quote คำถามที่ดิฉันถาม Jervis ไป เพราะมันเป็นภาษาที่ไม่ได้เรื่องเลยเมื่อเทียบกับ ปรมาจารย์ท่านนี้ที่สอนเด็กสาวจากประเทศไทยที่ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวคนหนึ่งข้ามทวีป

จดหมายอีเล็กโทรนิกส์ฉบับนั้นว่าดังนี้

There are lots of different models, both verbal and mathematical, of interaction.  All of course are simplified.  The basic difference between SH & PD is that in the former the only cause of conflict is mistrust--i.e., each of the players in best off if both cooperate.  This is not true in PD, which closely tracks with the security dilemma.  Each wants an advantage (i.e., DC) as well as needing to avoid being exploited (i.e., trusting the other & being doublecrossed, which yields CD).  But if both act on these hopes & fears, each gets DD, which leaves them worse off than if both had cooperated (CC).

       Chicken is different in that DD is the worst for both, not the next-to-worse.  Thus Chicken models a case like nuclear war in which conflict is mutually disastrous.

       In all cases, one can ask whether or how the states could cooperate, but because the models (& therefore the pay-offs) are different in the 3 situations, the strategies are different as well.

       I hope this helps.

(คำแปล: เรากำลังพูดถึง Game Theory ที่เคยเรียนมี 4 แบบ ค่ะ เช่น SH คือ Stag Hunt, PD คือ Prisoner Dilemma ซึ่งสองอันนี้จะได้ผลลัพธ์ออกมาต่างกันและมักจะนำมาพูดถึงในเรื่องเกี่ยวกับการให้ความร่วมมือหรือว่าจะไม่ให้ความร่วมมือค่ะ เช่นในเรื่องหัวรบที่ทางคิวบาทำให้หัวรบนี้มีวิถีที่จะยิงมาถึงสหรัฐได้ งานนี้ก็ต้องใช้ Game Theory เข้าช่วยเช่นเดียวกันค่ะ  และยังมีอีก 2 แบบคือ Chicken และ The Battle of Sexes)
 
จดหมายนี้จบลงโดยที่ไม่มีการลงชื่อ ไม่มีการลงยศถาบรรดาศักดิ์ใดใดทั้งสิ้น แต่แฝงไว้ด้วยความรู้อย่างมากมาย แม้ในขณะนั้นดิฉันจะยังไม่ค่อยจะเข้าใจนัก แต่มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้ดิฉันรู้สึกอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูกถึงความยิ่งใหญ่ของอาชีพครู  และเข้าใจถึงความรักของแม่ตนเองที่มีต่อลูกศิษย์ ที่พร่ำสอน พร่ำบ่น และมักจะโมโหเมื่อเด็กไทยไม่สามารถอ่านหนังสือออกได้ ถึงแม้ว่าจะขึ้นชั้น ป. 2 แล้วก็ตาม และในขณะที่ดิฉันเขียนอยู่นี่ก็คิดไปถึงครูในมหาวิทยาลัย ในภาคที่ดิฉันจบมาครูที่ไม่เคยหวังจะเอาอะไรจากลูกศิษย์เลยแม้แต่น้อย  เมื่อลูกศิษย์แสนซ่าอย่างดิฉัน เข้าไปขอ Recommendation ครูก็ทำให้โดยเต็มใจ ไม่ว่าจะเข้าไปเวลาไหน ครูก็อยู่ตรงนั้นเสมอยามเมื่อศิษย์ต้องการโดยไม่คิดค่าเหนื่อยหรือเสียเวลาเลยแม้แต่น้อย สมกับที่ใครบางคนเปรียบครูดั่งเรือจ้างอย่างแท้จริง  ดิฉันคิดได้อย่างเดียวว่า ความเป็นครูย่อมไม่ยกเว้นว่าครูชาติใดจะเป็นเช่นไร ความเป็นครูเป็นสากลอย่างแท้จริง นั่นคือมีชีวิตเพื่ออุทิศตนให้เป็นแบบอย่าง จุดประกายความหวัง ความฝัน ความรักในการศึกษาหาความรู้ และสั่งสอนเยาวชนให้เป็นคนดีต่อไป จนบัดนี้ฉันยังไม่เคยเห็นคนที่เป็นครูทำน้อยกว่านี้เลยสักคราเดียว

เมื่อถึงเวลาทำ Essay จะมีการกำหนดคำ และกำหนดส่ง ก่อนที่จะส่งงานได้ จะต้องไปหาเลขาของคณะเอาใบปะหน้า Essay เสียก่อนที่จะส่ง  หากเขียนคำที่เกินกว่าที่กำหนด หรือต่ำกว่าที่กำหนด หรือส่งช้ากว่ากำหนดมีสิทธิโดนตัดคะแนนแทบทั้งนั้น ในที่สุดเวลาที่แสนจะระทึกก็ผ่านไป ที่มหาลัยนี้จะให้คะแนนเป็นเปอร์เซนต์ ยิ่งเข้าใกล้ 100% เท่าไหร่ยิ่งดูดีเท่านั้น  งานแรกของดิฉันที่ได้รับกลับคืนมาเป็นของวิชา CPT Albert ดูคะแนนแล้วก็ดูหน้าดิฉันไม่ได้ว่ากระไร  เหอๆๆ ได้ 52%  ทำเอาเครียดและหลอน จนนอนไม่หลับไปเลย แถมยังร้องไห้อีกต่างหาก

ไม่พอยังต่อสายมาเมืองไทยทำให้ที่บ้านกลุ้มใจอีก จนอดรนทนไม่ไหว ต้องทำอะไรให้หายกลุ้ม (แทนที่จะไปอ่านหนังสือ ดิฉันนี่แย่จริง) วันนั้นนั่นเองที่ดิฉันและซี้ ซึ่งดูจะเป็นห่วงเป็นใยอาการดิฉันเอาไม่น้อยก็เลยพากันออกไปเดินเล่น เดินไปถึงเมืองใกล้ๆ ก็แค่ใช้เวลาเดินไปประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ และกลับอีกประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ จนทำให้ซี้ดิฉันปวดขาไปอีกหลายวันทีเดียวเชียว นั่นแหล่ะ หัวกะโหลกน้อยๆของดิฉันถึงได้คิดขึ้นมาได้ว่า คะแนนไม่สำคัญมากไปกว่าการได้สนุกกับการเรียนและเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ  และก็คิดอะไรอีกหลายต่อหลายอย่าง เป็นต้นว่าจะเริ่มอ่านหนังสือให้มากขึ้น จะหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมให้มากขึ้น และจะให้ทางบ้านช่วยหา text ที่มีแปลแล้วเป็นภาษาไทยมาให้อ่านด้วย (ซึ่งจนแล้วจนรอด text ภาษาไทยก็ยังมีน้อย และแทบจะหาไม่ค่อยได้เอาเสียเลย) เพราะดิฉันไปเห็นเพื่อนที่ญี่ปุ่นบอกให้ทางบ้านช่วยส่งหนังสือเล่มหนึ่งที่ทางญี่ปุ่นมีแปลเป็นภาษาของเขามาให้ด้วย และส่วนมากญี่ปุ่นก็จะมีหนังสือดีดีแบบนี้อยู่มากมาย เป็นที่ภูมิใจของชาวประเทศเขาเป็นยิ่งนัก  อันความคิดเหล่านี้ได้ส่งผลให้ซี้ของดิฉันโล่งอกในเวลาต่อมา (ก็แค่สักพักหนึ่งนั่นแหล่ะ เพราะไม่นานนัก อาการจิตวิตกในเรื่องคะแนนมันก็คอยจะกำเริบกันขึ้นมาอีกเป็นระลอกๆ ตลอดปีการศึกษาเลยทีเดียวเชียว)

อันเรื่องของประเทศญี่ปุ่นนี้ ดิฉันก็มานั่งคิดกับซี้ของดิฉันเช่นกัน (ช่วงหลังๆ ซี้ของดิฉันมักจะเข้ามามีวีรกรรมกับดีฉันเป็นประจำ เนื่องมาจากอะไรก็มิทราบได้ แต่ดิฉันมักจะเรียกของดิฉันเองว่า พระเจ้านำพา)  เรามักคิดกันเสมอว่าคนชาติญี่ปุ่นเป็นชาติที่เก่งมากๆ อย่างในคลาสของดิฉันมักจะมีหนุ่มน้อย อายุน้อยกว่าฉันอีกเป็นคนที่พูดในคลาส Albert เป็นประจำ เขาคือ Shigeru หรือบางทีเราก็เรียกเขาสั้นๆว่า ชิเกะ (หรือชิเงะ) หรือไม่ก็เป็นหนุ่มใหญ่ นิสัยน่ารัก มักแซวคนอื่นเล่นอยู่เสมอๆอย่าง Kazuaki หรือแม้แต่สาวจากกระทรวง ผู้เงียบขรึม แต่มีระเบียบในชีวิตเป็นอย่างดี อย่าง Mami คนนี้เวลาเธอยิ้มแล้วโลกจะสดใสที่สุด เวลาเธอไม่ยิ้มนี่คุณหลายๆคนอาจจะตกใจและคิดว่ายัยนี่ดุชะมัดเลยก็เป็นได้  คนญี่ปุ่น 3 คนนี้เป็น 3 คนที่เข้าเรียนคลาส Albert discussion group ด้วยกันกับดิฉัน เขาทั้งสามไม่เคยกลัวเลย เวลา Albert ถามอะไรก็จะนิ่งมาก และมักมีคำตอบที่เฉียบออกมาเสมอๆ เป็นการต่อยอดจากคำถามของ Albert ได้อย่างลงตัว ในขณะที่เด็กไทยและเด็กSyria อย่างฉันกับ Dalia ได้แต่ทำปาก พะงาบๆ  แต่ในที่สุด Dalia ก็ตอบได้ถูกใจ Albert จนได้ ในขณะที่ดิฉันก็ตกกระป๋องเช่นเคย ยังความจิตตก พกกลับมาให้ซี้ดิฉันต้องคอยปลอบอยู่เป็นประจำ งานเขียนก็ไม่ดี พูดก็ไม่ได้  เอาเป็นว่าในท้ายที่สุด ซี้ดิฉันและตัวดิฉันเองก็เข็นดิฉันจนออกจากรั้วมหาลัยนี้มาได้ รอดตายแบบเส้นยาแดงทีเดียวเชียว ในขณะที่มีเพื่อนบางคนไม่ผ่านด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง และยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ที่นี่ไม่มีการช่วยในเรื่องของคะแนน ไม่มีการให้คะแนนพิศวาส เนื่องจาก ข้อสอบของเราจะมีการส่งไปให้คนตรวจถึง สองคนดู แล้วเอาคะแนนมาหาร สอง เราสามารถขอทราบความเห็นในเรื่องคะแนนของอาจารย์ได้ตลอดเวลา และที่สำคัญคุณจะต้องคิดให้เป็น และคิดให้ได้ โชว์ให้เขาเห็นสิ่งนี้ นี่แหล่ะคือการเรียนในมหาวิทยาลัยเมืองนอกของแท้ ในขณะที่เมืองไทยมีการป้อนจนแทบจะยัดกันให้นักเรียนอยู่แล้ว ที่นี่กลับกระตุ้นให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นจากสิ่งที่อ่านมา ซึ่งหากใครไม่อ่านหนังสือ ไม่ทำการบ้านมาก่อน (นอกจากจะไม่รับผิดชอบแล้ว) เขาก็จะเป็นคนที่หัวเน่าที่สุดในคลาสไปโดยปริยาย เพราะว่าคุณไม่ได้ไป contribute อะไรให้กับกลุ่มนั่นเอง  ถ้าคุณไม่มีอะไรมาจุดประกายความคิดให้กับกลุ่ม คุณก็จะไม่มีค่า แล้วในเมือคุณไม่มีค่า เขาก็จะตีตราคุณเอาไว้ว่า ‘คุณคือจุดอ่อนของทีม’ หรือ The Weakest Link นั่นเอง  

Albert มักจะบอกนักเรียนเสมอๆว่า บางทีเราก็มีเวลาทำอะไรได้หลายๆสิ่งหลายๆอย่างในแต่ละวัน (อัลเบิร์ตเขาหมายถึงคนขยันอ่านหนังสือน่ะ) แต่เรามักไม่ค่อยจะมีเวลาที่จะคิดสักเท่าไหร่เลย  เมื่ออ่านบทความเสร็จแล้ว เราควรที่จะใช้เวลาสักพักที่จะย่อยสิ่งเหล่านี้ในหัวของเรา  นั่งคิดอะไรไปเรื่อยๆ มากกว่าที่จะอัดอะไรเข้าไปอย่างเดียว

ดังนั้น เมื่อเราเรียนกันเต็มที่ตลอดระยะเวลา 5 วันแล้ว วันเสาร์ก็เหมือนกับช่วงพักผ่อนกันจริงๆของเด็กนักเรียน บางคนก็ออกเดินทางไปเที่ยว บางคนก็ไปลอนดอน บางคนก็เลือกที่จะอ่านหนังสือ ทำงานต่ออีกสักวัน บางคนก็เลือกที่จะไปช้อปปิ้ง เอาของเข้าตู้เย็น เพราะคนที่นี่ส่วนมากจะเข้า Tesco หรือว่าพวก Super Market กันประมาณสัปดาห์ละครั้ง หรือบางคนก็อาจจะเลือกไปหาอาหารทะเลทานกัน หรือว่าไปช้อปปิ้งใน Town Center ก็ได้ ไม่ว่ากัน

แต่สภาพของหอวันอาทิตย์ นั้นไม่อยากจะเชื่อเลยว่าจะดูร้างเอามากๆ ส่วนมากห้องต่างๆจะตื่นกันสายๆ เนื่องจากอาจจะมีปาร์ตี้กันคืนวันเสาร์ หรือบางคนอาจจะเข้าผับฟังเพลง เต้นกันคลายเครียด วันอาทิตย์ช่วงเช้าจึงเป็นช่วงที่เงียบมากๆที่สุดในช่วง 1 อาทิตย์

นอกจากเรียนแล้ว เด็กๆที่นี่เขาทำอะไรกัน เวลาสอบต้องเตรียมตัวกันอย่างไร คงต้องแอบไปดูกันตอนหน้านะคะ 

จากคุณ : just.a.girl
เขียนเมื่อ : 30 มิ.ย. 55 21:49:58




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com