CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    เล่าประสบการณ์การสอบ qualifying examination

    ขอเล่าประสบการณ์การสอบ qualifying examination ที่ผมเพิ่งสอบมาเมื่อเย็นนี้เองนะครับ (บางคนเรียก comprehensive exam, general exam ก็ต่างกันไปนะครับ แต่ไอเดียพื้นฐานอันเดียวกัน)

    ก่อนอื่นขอบอกคร่าวๆว่าเรียนอะไร โปรแกรมไหนนะครับ จะได้ไม่งง ผมกำลังเรียนปริญญาเอกด้านภาษาอังกฤษ ที่มหาลัยแห่งหนึ่งในรัฐวอชิงตัน อเมริกา การเรียนปริญญาเอกที่นี่จะต่างจากที่อังกฤษ ตรงที่ว่าจะทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำ coursework ให้จบก่อน แล้วสอบประมวลผล แล้วค่อยทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งต่างจากที่อังกฤษคือ พอเค้ารับเข้าโปรแกรมไปก็ทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว นะครับ (ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบก็แล้วแต่จะคิดกันนะครับ)

    ที่อเมริกาพอทำ coursework จบ ก็ต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบประมวลผลอย่างที่ว่าไป รายชื่อหนังสือที่อ่านจะเรียกว่า reading list ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่เป็น committee เราทั้งหมด ใช้เวลาอ่านประมาณหนึ่งปี การเรียนด้านภาษาอังกฤษนั้น เค้าจะให้เลือกแขนงที่เชี่ยวชาญและสนใจสามด้าน ผมเลือก discourse analysis and stylistics, history of English language and literature, and English grammar and syntax

    แต่ละด้านก็จะมี reading list ของตัวเองอย่างละเจ็ดสิบถึงเเปดสิบเล่ม ทั้งหมดก็ประมาณ สองร้อยกว่าเล่มที่จะต้องอ่านให้จบภายในหนึ่งปี แต่จริงๆแล้วผมอ่านแค่เเปดเดือนเอง และอ่านไม่จบด้วย เพราะว่าบางเล่มอ่านไปสองบทก็ไม่ชอบ ไม่น่าจะใช่แนวที่ตัวเองคิดไว้ ก็ย้ายไปอ่านเล่มอื่นต่อไป คร่าวๆน่าจะอ่านประมาณ แปดสิบเปอร์เซ็น ของทั้งหมด

    เมื่ออ่านจบ (หรือเกือบจบ) ก็ได้เวลาสอบพอดี ข้อสอบมีสองส่วน ส่วนแรกคือข้อสอบเขียน ส่วนที่สองคือข้อสอบปากเปล่า ห่างกันประมาณสองอาทิตย์ ข้อสอบเขียน อาจารย์จะให้คำถามมาคนละสามคำถาม สำหรับแต่ละแขนงที่เราเลือกสอบ แต่เราจะเลือกทำเพียงแค่ข้อเดียวสำหรับแต่ละแขนง (ดีมากเลย เพราะบางข้อไม่คิดว่าจะตอบได้ดี) ให้เขียนตอบข้อละไม่เกินสิบหน้า ทั้งหมดรวมแล้วไม่เกินสามสิบหน้า ภายในเวลา 72 ชั่วโมง หรือ weekend นั่นเอง (รับข้อสอบวันศุกร์ ส่งคืนเช้าวันจันทร์)

    ตอนแรกนึกจะเขียนไม่ได้ แต่ก็ทำได้ แถมเกินกว่าที่เค้ากำหนด เลยต้องใช้ trick คือ ย่อขนาดอักษรให้เล็กลงเพื่อให้พอกับจำนวนหน้า ข้อสอบที่ผมได้ เช่น
    Chomsky says that grammar is a set of rules that generates possible sentences, and when we study grammar, it means we are dealing with the human mind. What are the reasons for him to say so, and what do other linguistic schools respond to his basic tenet? จะเห็นได้ว่าข้อสอบไม่ได้ยาก แต่จะกว้างมากๆ ซึ่งข้อดีคือ เราสามารถเขียนไปในทิศทางที่เราต้องการได้นะครับ ข้อสอบส่วนเขียนนี้จะต้องมีคุณภาพเป็น publishable paper คือเป็นบทความทางวิชาการได้นั่นเองครับ

    ผมใช้เวลาข้อละเจ็ดชั่วโมง (สามข้อก็ ยี่สิบเอ็ดชั่วโมง) ที่เหลือ ตรวจทานบ้าง ตัดออกบ้าง เพิ่มเติมบ้างครับ ก็เสร็จส่งวันจันทร์พอดี ตอนทำข้อสอบอพาร์ทเมนต์เต็มไปด้วยหนังสือ ที่เอามาเปิดอ้างอิงบ้าง เอามาอ่านหาข้อมูลบ้าง ถ้าใครมีเวลา ก่อนสอบเขียนควรจัดเตรียม workspace ไว้ก็ดีครับ จะได้หยิบเล่มนุ้นเล่มนี้ได้ไม่เสียเวลาควานหาหนังสือครับ

    พอส่งข้อสอบเขียน ก็รออาจารย์ตรวจและคอมเมนต์ แล้วก็มาเตรียมตัวสอบปากเปล่าต่อไป ซึ่งสิ่งที่เค้าจะถามในตอนปากเปล่าก็คือคอมเมนต์ที่เค้าให้มากับข้อสอบเขียนนั่นเเหละครับ

    วันนี้ผมก็เพิ่งสอบปากเปล่ามา ก็ตอบได้ทุกคำถามนะครับ ตอนแรกนึกว่าจะยากมากๆเสียอีก คำถามส่วนใหญ่จะให้เรา defendposition ของตัวเอง มัน OK ที่จะมีความเห็นแตกต่างจาก scholar คนอื่นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีเหตุผลสนับสนุนที่ดีด้วย พอสอบเสร็จ อาจารย์จะให้เราออกจากห้อง ไปรออยู่หน้าห้อง แล้วอาจารย์จะประชุมกันในห้อง แล้วแป้ปนึงอาจารย์ก็จะออกมาจับมือแสดงความยินดีว่าสอบผ่าน Congratulations on the advancement to candidacy.

    พอสอบผ่านทั้งข้อเขียนและปากเปล่า เราจะได้เป็น Ph.C. หรือ Candidate of Doctor of Philosophy ซึ่งในประเทศอังกฤษคงไม่มีแบบนี้ (ขั้นตอนสุดท้ายคือ Ph.D. หรือ Doctor of Philosophy นะครับ)

    ข้อคิด สำหรับคนที่จะสอบคือก่อนจะถึงเวลาสอบสักเดือนนึง ที่ผมทำคือหยุดอ่าน ทิ้งที่ยังไม่อ่านไว้แค่นั้น แล้วกลับมาทบทวนตำราหลักๆ ที่แบบว่าถ้าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ละก็ ทุกคนต้องอ่านกันนะครับ และให้หมั่นไปหาอาจารย์บ่อยๆ อาจารย์จะได้รู้ว่า เราสนใจเรื่องอะไรจริงๆ ถึงแม้ว่าเราจะมีแขนงวิชาที่เชี่ยวชาญ แต่ในแขนงที่เชี่ยวชาญก็ยังเจาะลึกไปได้อีก เช่น แขนงวิวัฒนาการของภาษาอังกฤษ ข้างต้น ผมสนใจเรื่อง ภาษาถิ่นของภาษาอังกฤษโบราณ และการหาปีที่แต่งของวรรณคดีอังกฤษโบราณ อาจารย์ก็จะได้ออกข้อสอบให้ตามความเชี่ยวชาญของเรา

    มากไปกว่านั้นเรายังรู้ว่าอาจารย์มีจุดยืนตรงไหนสำหรับสาขาที่เราสนใจ ถ้าจุดยืนอาจาย์ต่างไปจากเรามากๆละก็ ให้รีบเปลี่ยนนคนทันที เพราะไม่รุ่งแน่ครับ ถ้าไปด้วยกันไม่ได้ พอได้รับข้อสอบเขียนกลับมาก็ให้ไปหาอาจารย์ใหม่ เพื่อคุยว่าเค้าจะถามอะไร อะไรบ้างที่เป็นปัญหา นะครับ จะได้เตรียมตัวเพื่อสอบปากเปล่าถูก

    สำหรับการอ่านหนังสือ บางคนทำโน้ตย่อ ผมทำบ้างไม่ทำบ้างครับ แล้วแต่อารมณ์ แต่คือ ขอให้รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนก็พอ แบบหาจุดเด่นๆของแต่ละเล่มนะครับ ว่าเราประทับใจตรงไหน เล่มนี้ต่างจากเล่มอื่นตรงไหน จะได้มาเปิดหาดูได้เวลาทำข้อสอบเขียน หรือเวลาอาจารย์อ้างถึงนะครับ สำหรับเวลาการอ่าน เนื่องจากปริมาณของสิ่งที่ต้องอ่าน เราไม่สามารถจะอ่านเล่มนึงหนึ่งเดือนได้ (ไม่งั้นก็ได้แค่สิบสองเล่ม) ต้องให้ได้เฉลี่ยคือ สามถึงห้าวันต่อเล่มนึงนะครับ ต้องจบแล้ว เพราะไม่งั้นไม่ทัน แต่ก็อย่างว่า บางเล่มอ่านไปสักสองบท เราอาจไม่อยากอ่านแล้วก้อเป็นได้ครับ แต่ที่สำคัญคือ speed ครับ ต้องเร็ว

    ขั้นต่อไปของผมคือ ทำโครง dissertation เสนอ และสุดท้ายคือเขียน dissertation คิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งปี ช่วงนี้ก็ขอพักสักอาทิตย์นึง แล้วค่อยว่ากันต่อไปครับ

    จากคุณ : krisdauw - [ 16 พ.ย. 48 13:10:55 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป