ศาสนา : เครื่องชี้วัดศีลธรรมสังคม?
Religion : The Indicator of Social Morality?
เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิดว่า ศาสนาและศีลธรรมคือสิ่งเดียวกัน หรือเป็น 2 สิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือศาสนาผูกขาดความดี และเป็นผู้กำหนดว่าสิ่งใดคือศีลธรรมและสิ่งใดขัดกับศีลธรรม หากความเชื่อทั้งหลายเหล่านี้เป็นจริง ย่อมสมเหตุสมผลหากเราจะกล่าวว่า ศาสนาคือเครื่องชี้วัดระดับศีลธรรมสังคม
แต่ศาสนาและศีลธรรมเป็นสิ่งเดียวกันจริงหรือ? หรือมันแยกจากกันไม่ได้จริงหรือ? คนดีจำเป็นต้องยึดมั่นในศาสนาจริงหรือ? หากเราต้องการตอบคำถามเหล่านี้ เราย่อมต้องทำความเข้าใจกับคำว่า ศีลธรรม เรากล่าวว่าทุกคนควรมีศีลธรรม เพราะศีลธรรมจะทำให้สังคมสงบสุข นั่นหมายความว่าเรานิยามศีลธรรมว่า หลักการที่จะนำไปสู่ความสงบสุขในสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือ หลักการที่จะทำให้มนุษย์โดยรวมมีความสุข ปัญหาอยู่ที่ว่า ในความเป็นจริงนั้น (จากที่ประวัติศาสตร์โลกได้พิสูจน์ให้เห็นอยู่ตลอดเวลา) ในหลายๆ ครั้ง ศาสนาไม่ได้ทำให้มนุษย์ทั้งหลายมีความสุข หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่ได้ทำให้สังคมสงบสุข
ยุคต่างๆ ที่มนุษย์เคร่งศาสนากลับกลายเป็นยุคแห่งความโหดร้ายป่าเถื่อน ในยุคโบราณที่มนุษย์ยังนับถือภูตผีและวิญญาณตามธรรมชาติเป็นศาสนา ผู้คนถูกจับบูชายัญแก่เทพเจ้าด้วยวิธีการโหดเหี้ยม ในยุคต่อมาที่ศาสนาใหม่เริ่มเรืองรอง ผู้หญิง 2 ล้านคนถูกเผาทั้งเป็นในข้อหาที่เป็นพวกนอกรีต กษัตริย์และจักรพรรดิต่างตัดหัวคนเสียบประจานเป็นว่าเล่น สงครามเกิดขึ้นแทบจะวันเว้นวัน สิ่งเหล่านี้สังคมในยุคสมัยนั้นๆ เห็นเป็นสิ่งปกติสามัญ
มาถึงยุคปัจจุบัน ที่หลายคนกล่าวว่าเป็นยุคที่ศีลธรรมของมนุษย์เสื่อมลงเพราะศาสนาถูกเพิกเฉยมากขึ้น เราควรพิจารณากันว่าสังคมยอมรับการตัดหัวเสียบประจานได้หรือไม่? หรือสังคมยอมรับการบูชายัญได้หรือไม่? คนมากกว่า 2 ล้านคน ออกมาประท้วงการประกาศสงครามของสหรัฐต่ออัฟกานิสถานและอิรัก เงินทำบุญเข้าวัดน้อยลง แต่เงินบริจาคแก่เด็กกำพร้าและผู้ป่วยยากไร้เพิ่มขึ้น เงินที่เคยถูกนำไปสร้างศาสนาสถานอันอลังการ ผู้คนกลับนำไปสร้างโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เงินบริจาคผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิใน พ.ส. 2547 และเฮอริเคนแคทรีนาใน พ.ศ. 2548 สูงกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์
ความเป็นจริงได้แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานศีลธรรมของมนุษย์ได้สูงขึ้นตามลำดับ ตรงข้ามกับอิทธิพลของศาสนาต่อมนุษย์ แน่นอนเราไม่สามารถกล่าวได้ (เพราะมันคงไม่จริงอย่างแน่นอน) ว่าศาสนาทำให้ศีลธรรมเสื่อม แต่เราควรกล่าวว่าศาสนาและศีลธรรมเป็นสิ่งที่แยกจากกัน ไม่ได้ผูกติดกันแต่อย่างใด เมื่อใดก็ตามที่เรารับเอาศาสนาใดมาเชื่อ เรากำลังซื้อแพคเกจมาทั้งชุด ซึ่งภายในมีทั้งสิ่งที่เป็นศีลธรรมและสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับศีลธรรมรวมกันอยู่ คงไม่แปลกที่จะมีคนจำนวนหนึ่งรับเอาศาสนามาเชื่อแล้วเลือกเชื่อแต่ส่วนที่ไม่เป็นศีลธรรมและเพิกเฉยต่อส่วนที่เหลือ นั่นคือสาเหตุว่า ทำไมบางครั้งคนเคร่งศาสนามากแต่ไม่ได้มีศีลธรรมมากตาม
ปัจจุบันพิธีกรรมทางศาสนาถูกละเลยมากขึ้น หลักศาสนาบางหลักเสื่อมสลายไปเพราะถูกเพิกเฉยจากมนุษย์ หลักการ ห้ามคุมกำเนิด ที่เคยเป็นหลักศีลธรรมใหญ่ของหลายศาสนา ถูกละทิ้งไป ทั้งนี้เป็นเพราะมนุษย์ได้พิสูจน์ว่าหลักการเหล่านี้ไม่ได้เป็นศีลธรรมอีกต่อไป อย่างไรก็ดี มนุษย์ได้สร้างหลักแห่งศีลธรรมใหม่ๆ ที่เป็นอิสระจากศาสนาขึ้นมาทดแทนตลอดเวลา และนั่นคือต้นกำเนิดของคำใหม่ๆ เช่น หลักสิทธิมนุษยชน
เป็นที่แน่นอนว่า ศาสนาไม่ได้เป็น เครื่องชี้วัดศีลธรรม ทั้งนี้เพราะศีลธรรมเป็นอิสระโดยสมบูรณ์จากศาสนา ศีลธรรมมุ่งหมายไปที่การทำให้สังคมมนุษย์สงบสุข ขณะที่ศาสนานั้นมีจุดมุ่งหมายอื่นรวมอยู่ด้วย ดังนั้นหากต้องตอบคำถามที่ว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่ละทิ้งได้ใช่หรือไม่? หากพิจารณาเฉพาะในขอบเขตประเด็นเรื่องศีลธรรมกับความสงบสุขของสังคม ข้าพเจ้าเชื่อว่า ใช่
จากคุณ :
หมากเด็ด
- [
30 พ.ค. 49 15:06:16
]