CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ความสับสนของชื่อต้นไม้ประจำชาติ ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ คูน

    pinkrose

          ถ้าหากเอ่ยถึงต้นชัยพฤกษ์  ในสมัยก่อนไม่เกิน ๒๐ ปี จะนึกถึงต้นไม้ที่ออกดอกในหน้าแล้ง เป็นพวงสีเหลืองไปหมดทั้งต้น สวยงามมาก   ยังมีเพลงกล่าวถึงว่า...ชัยพฤกษ์ สลัดใบ ชูช่อเหลืองงามจับตา ศรีสง่า ดอนเมือง ชื่อลือเลื่อง ทัพอากาศ ........ มาถึงทุกวันนี้ต้นไม้ดอกสีเหลืองต้นเดิมนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นทางการว่า "ราชพฤกษ์" อาจเป็นเพราะมีดอกสีเหลือง เข้ากับสีประจำวันเสด็จพระราชสมภพของในหลวง จึงตั้งชื่อว่าเป็น "ต้นไม้ของในหลวง"

          คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทย ๓ สิ่ง ลงนามโดยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ คือ

          ๑. สัตว์ประจำชาติไทย คือ ช้างไทย Chang Thai  (Elephant : Elephas maximus)

          ๒. ดอกไม้ ประจำชาติ คือ ดอกราชพฤกษ์ (คูน)  Rachaphruek ( Cassia fistula Linn.)

          ๓. สถาปัตยกรรมประจำชาติ คือ ศาลาไทย Sala Thai (Pavillon)

          ในเบื้องต้น กรมป่าไม้  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดประชุมเรื่อง การกำหนดต้นไม้และสัตว์ประจำชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๐๖ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๐๖ และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดต้นราชพฤษ์หรือคูน เป็นต้นไม้ประจำชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมเรื่องการกำหนดเอกลักษณ์ประจำชาติไทยในเรื่องดอกไม้ประจำชาติ และได้ให้เหตุผลในการเลือกดอกราชพฤกษ์ (คูน) Ratchaphruek (Cassia fistula Linn.) เป็นดอกไม้ประจำชาติ เพื่อส่งเสริมสัญลักษณ์ประจำชาติไทย และเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้มีผลระยะยาว ด้วยเหตุผลตามผลสรุปของการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า

          ๑. ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันแพร่หลายสามารถขึ้นได้ทุกภาคของประเทศไทย

          ๒. ราชพฤกษ์ ใช้ประโยชน์ได้มากเช่นฝักเป็นสมุนไพรที่มีค่ายิ่งในตำหรับแพทย์แผนโบราณและแก่นแข็งใช้ทำเสาเรือนได้ดี

          ๓.   ราชพฤกษ์ มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีของชาวไทยเพราะเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนามและอาถรรพ์ แก่นไม้ชัยพฤกษ์เคยใช้พิธีสำคัญๆ มาก่อนเช่น พิธีลงหลักเมืองใช้เป็นเสาเอกในการก่อสร้างพระตำหนัก ทำคธาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร นอกจากนี้อินทรธนูของข้าราชการพลเรือนก็จำลองจากช่อชัยพฤกษ์เป็นเครื่องหมาย

          ๔. ราชพฤกษ์ มีอายุยืนนานและทนทาน

          ๕. ราชพฤกษ์ มีทรวดทรงและพุ่มงามมีดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น เป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา

          จากเหตุผลข้อที่ ๓ อ้างถึงชัยพฤกษ์ แทนที่จะเป็นราชพฤกษ์  จึงน่าจะสรุปได้ว่า คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติยอมรับว่า ราชพฤกษ์ และชัยพฤกษ์ เป็นต้นไม้อย่างเดียวกัน


          ลองมาดู ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานดูบ้าง

            ๑. พจนานุกรมฉบับบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๒๕

         ชัยพฤกษ์   ชื่อต้นไม้ขนาดย่อมชนิดหนึ่ง (Cassia fistula) ในวงศ์ Leguminosae    ดอกเหลืองอ่อน ช่อดอกยาวห้อย ขณะมีดอกไม่มีใบหรือมีน้อย มีตามป่าเบญจพรรณทั่วไป     คูนหรือราชพฤกษ์ก็เรียก

        ราชพฤกษ์  ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง (Cassia fistula) ในวงศ์ Leguminosae          ดอกเป็นช่อยาวสีเหลือง ฝักใช้ทำยาไทย คูนหรือชัยพฤกษ์ก็เรียก


         ๒. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๓๐ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พุทธศักราช  ๒๕๓๐
     
         ชัยพฤกษ์  (ให้ดูคำว่า คูน) คูนชื่อไม้ต้นชนิด (Cassia fistula Linn.) ในวงศ์   Leguminosae ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ดอกสีเหลือง ช่อดอกยาวห้อย       ขณะออกดอกไม่มีใบ หรือมีน้อย ฝักเรียบไม่มีขน ใช้ทำยาได้ ในภาคอีสาน    แก่นใช้กินแทนหมากได้ ชัยพฤกษ์ หรือลมแล้งก็เรียก

         ราชพฤกษ์ ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia agnes Brenan, Cassis javanica Linn., Cassia  nodosa Ham. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีชมพู ฝักมีขนเล็กน้อย ใช้ทำยาได้ เฉพาะ ๒  ชนิดหลังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กัลปพฤกษ์


         ๓. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  พิมพ์ครั้งที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๒๖  จัดพิมพ์โดย บริษัทนานมีบุ๊คส์พับลิกชั่นส์จำกัด

         ชัยพฤกษ์  ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia  javanica Linn. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีชมพูเข้ม เมื่อออกดอกไม่ทิ้งใบ ฝักมีขนเล็กน้อย ใช้ทำยาได้

         ราชพฤกษ์  ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia fistula Linn. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีเหลือง ฝักสีดำเกลี้ยง ใช้ทำยาได้, คูน หรือ ลมแล้ง ก็เรียก

         กัลปพฤกษ์  ชื่อไม้ชนิด Cassia bakeriana Craib เป็นไม้ต้นขนาดกลาง มีมากทางภาคอีสานและภาคเหนือ พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อในระหว่างทิ้งใบหรือผลิใบใหม่ ฝักมีขนนุ่ม

          จะเห็นได้ว่า ตอนแรก ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า ราชพฤกษ์กับชัยพฤกษ์ เป็นต้นไม้อย่างเดียวกัน มีดอกสีเหลือง  ต่อมาให้ความหมายว่า ราชพฤกษ์ ดอกสีชมพู ส่วนชัยพฤกษ์ ดอกสีเหลือง ในที่สุด (พ.ศ. ๒๕๔๒)บอกว่าราชพฤกษ์ ดอกสีเหลือง ส่วนชัยพฤกษ์ ดอกสีชมพู

          ในขณะที่ตำราเกี่ยวกับต้นไม้ของไทยหลาย ๆ เล่ม มีข้อมูลสับสนมาก บางตำราก็ว่าเป็นชนิดเดียวกัน บางตำราก็ว่าเป็นคนละชนิด    บางตำราก็ว่าต้นชัยพฤกษ์ดอกสีเหลือง บางตำราก็ว่าดอกสีชมพู ส่วนต้นราชพฤกษ์ ก็เช่นเดียวกัน

          ราชบัณฑิตยสถาน น่าจะแก้ปัญหาความสับสนนี้ โดยการเปลี่ยนความหมายของราชพฤกษ์ และ ชัยพฤกษ์ เสียใหม่ (ไหน ๆ ก็เปลี่ยนมาหลายรอบแล้ว) โดยกำหนดว่า ราชพฤกษ์ และ ชัยพฤกษ์ เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกับ มีดอกสีเหลือง  ส่วน Cassia  javanica Linn.  ต้นไม้ดอกสีชมพูอาจใช้ชื่อว่าขี้เหล็กชวา หรือ ขี้เหล็กยะวา อย่างที่เคยใช้ในวงการพฤกษศาสตร์ ก็ได้


    กระทู้นี้แตกประเด็นมาจาก    http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K4457186/K4457186.html

    แก้ไขเมื่อ 26 มิ.ย. 49 08:55:36

    แก้ไขเมื่อ 26 มิ.ย. 49 08:54:49

    แก้ไขเมื่อ 26 มิ.ย. 49 08:54:02

    แก้ไขเมื่อ 19 มิ.ย. 49 17:23:01

    แก้ไขเมื่อ 19 มิ.ย. 49 15:22:01

    จากคุณ : เพ็ญชมพู - [ 19 มิ.ย. 49 15:05:15 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com