CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    แผ่นดินทอง - กำเนิดหัวเมืองในมณฑลอีสาน (ตอนที่ ๑)

    คำนำ  ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔  เรื่องพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน
    พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  
    เมื่อวันที่  ๑  กุมภาพันธ์  ๒๔๕๘



             หนังสือพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน  ที่พิมพ์ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔ นี้  เป็นหนังสือใหม่  ทั้งการที่รวบรวมเรื่อง และการที่แต่ง  หม่อมอมรวงศ์วิจิตร เป็นนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบชั้นแรก  ได้เรียนวิชาความรู้สอบได้เต็มที่แล้ว  จึงออกไปรับราชการ  มีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงอื่นก่อน  แล้วย้ายมาอยู่กระทรวงมหาดไทย  สมัครออกไปรับราชการในมณฑลอีสาน  คือที่แบ่งเป็นมณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ดทุกวันนี้  แต่ครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยังเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการรวมเป็นมณฑลเดียวกัน  ได้เป็นตำแหน่งผู้ช่วยขึ้นไปจนได้เป็นปลัดมณฑล  ถ้าหากอยู่มาจนปานนี้ ไม่สิ้นชีพเสีย  ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าคงจะได้รับพระราชทานเกียรติยศ  และบรรดาศักดิ์สูงขึ้น  

             แม้กล่าวในเหตุที่หม่อมอมรวงศ์วิจิตรสิ้นชีพผู้อ่านก็จะแลเห็นได้ว่า  หม่อมอมรวงศ์วิจิตรเป็นผู้มีอัชฌาสัยอย่างไร  คือเมื่อปีมะแมนพศก จุลศักราช ๑๒๖๘  พ.ศ. ๒๔๕๐  มีราชการเกิดขึ้นทางชายแดน  ซึ่งจำจะต้องส่งข้าราชการผู้รู้ราชการออกไปพบปะกับข้าหลวงฝรั่งเศส  เวลานั้นเป็นฤดูฝนทางที่จะไปต้องไปในดงที่ไข้ร้าย  หม่อมอมรวงศ์วิจิตรรับอาสาออกไป ก็ไปเป็นไข้กลางทาง  แต่ไม่ยอมกลับ  ทำแคร่ให้คนหามออกไปราชการทั้งเป็นไข้จนสำเร็จราชการแล้ว  ขากลับมาหมดกำลังทนพิษไข้ไม่ได้สิ้นชีพในระหว่างทางที่มา  เมื่อ ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๗๐ พ.ศ. ๒๔๕๑

             ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องความชอบของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร  ทรงทราบฝ่าละออกธุลีพระบาทว่า เมื่อหม่อมอมรวงศ์วิจิตรมีชีวิตอยู่  ได้แบ่งเงินเดือนส่งเข้ามาเลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์ผู้บิดาเสมอ  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์  เท่าที่เคยได้รับจากหม่อมอมรวงศ์วิจิตรทุกปี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็พระราชทานต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้  ส่วนภรรยาของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร ก็ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเต็มตามพระราชบัญญัติฐานที่สามีไปสิ้นชีพในเวลาทำราชการ  ยังหม่อมหลวงอุรา (คเนจร ณ กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นบุตรชายใหญ่ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร  บิดาได้ถวายเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมไว้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้  ก็ทรงพระกรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมเลี้ยง  เวลานี้มียศเป็นจ่า  มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระทรงพลราบ รับราชการอยู่ในกรมพระอัศวราช

             หนังสือพงศาวดารมณฑลอีสานนี้  ไม่ได้มีผู้ใดสั่งให้หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่  หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่งโดยอำเภอใจในเวลาว่างราชการ ด้วยรักวิชาความรู้ และเจตนาจะให้เป็นประโยชน์ต่อราชการบ้านเมือง  เที่ยวสืบถามตามผู้รู้ในเวลาเที่ยวตรวจหัวเมืองบ้าง  ดูจากหนังสือราชการที่มีอยู่ในมณฑลบ้าง  และอาศัยหนังสือพงศาวดารต่างๆที่จะซื้อหาได้บ้าง  

             เมื่อแต่งได้สักหน่อย ๑ หม่อมอมรวงศ์วิจิตรมีราชการเข้ามากรุงเทพฯ  ได้พาหนังสือเรื่องนี้มามอบไว้ให้ข้าพเจ้าตรวจ  ข้าพเจ้าตรวจแล้วส่งกลับไปให้หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่งต่อจนสำเร็จ  ได้ส่งเข้ามาให้ข้าพเจ้าครั้งหลังเมื่อก่อนหม่อมอมรวงศ์วิจิตรจะสิ้นชีพสักหน่อยหนึ่ง  ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะได้ทำอย่างไร  เป็นแต่ให้เก็บรักษาหนังสือนี้ไว้ในกระทรวงมหาดไทย  

             ครั้นเมื่อได้ข่าวว่าหม่อมอมรวงศ์วิจิตรสิ้นชีพ  มาระลึกขึ้นได้ถึงหนังสือเรื่องนี้  จำไม่ได้ว่าส่งเข้ามาแล้วหรือยัง ให้ค้นหาในกระทรวง  บังเอิญหนังสือไปซุกอยู่เสียผิดที่หาไม่ได้  ให้ถามออกไปยังมณฑลก็ไม่ได้ความ  จึงทอดธุระว่าจะสูญหาย มีความเสียดายมาช้านาน  พึ่งมาพบหนังสือนี้เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะออกจากกระทรวงมหาดไมยไม่ช้านัก  จึงได้ส่งต้นฉบับมารักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร  เพื่อจะได้พิมพ์ในโอกาสที่สมควร  มีโอกาสจึงได้พิมพ์ในครั้งนี้



    ....................................................................................................................................................

    ใน "สาส์นสมเด็จ" มีเนื้อความกล่าวว่า หัวเมืองในมณฑลภาคอีสานของเรา ร่วงโรยเบาบางลงไปมาก
    อันเนื่องมาจากผลแห่งสงครามกับพม่าคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง
    ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าให้ตั้งหัวเมืองในมณฑลอีสานขึ้นใหม่อีกมาก
    ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เกิดสงครามคราวเจ้าอนุอีกครั้งหนึ่ง  
    หัวเมืองแถบนี้ก็ร้างรา ร่วงโรยไปอีก  จึงโปรดฯให้ดำเนินนโยบายตามอย่างในรัชกาลที่ ๑
    ในสาส์นสมเด็จยังทรงอ้างถึง พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร  อีกด้วย
    ผมจึงได้ตามมาครับ



    พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน  ยาวกว่า ๒๐๐ หน้า
    ขออนุญาตแบ่งคัดเป็น ๒ ตอนนะครับ

    ตอนที่ ๑  พงศาวดารแต่โบราณกาลจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ตอนที่ ๒  พงศาวดารในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนหมดฉบับ  

    .

     
     

    จากคุณ : กัมม์ - [ 7 ก.ค. 49 11:09:50 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com