เป็นคอลัมน์ "สิงห์สนามหลวงสนทนา" ของ เนชั่น สุดสัปดาห์ ฉบับเก่า ปีที่ 15 ฉบับที่ 730 วันที่ วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
อ่านเพลินๆ เจอที่เอ่ยถึงวรรณกรรมรหัสคดี (Mystery) หรือนิยายสืบสวน (Detective Story) "สิงห์สนามหลวง" กล่าวถึงนิยายของเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ ตามนี้:--
*************************************
... ผลงานของ Raymond Chandler นั้น ว่าไปก็กลายเป็น 'รหัสคดี' ระดับ Modern Classic ไปแล้ว ในสมัยหนึ่งผมเคยติดนิยายประเภท 'รหัสคดี' อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน คนใกล้ๆ ตัวก็ชอบอ่าน แต่ในระยะเดียวกันผมมักไปติด 'นิยายวิทยาศาสตร์' และ 'นิยายแฟนตาซี' ทั้งในงานแบบ อาเธอร์ ซี. คล้าก และแบบ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (ผู้เขียน [The Lord of the Rings])
นิยาย 'รหัสคดี' เนื้อหาต่างๆ ในปัจจุบัน เท่าที่เห็นภาพรวมกว้างๆ นั้น ไม่ได้สนใจคำตอบว่า 'ใครคือคนทำ' ในตอนจบอีกต่อไปแล้ว แต่ดูเหมือนจะคลี่คลายขยายตัวไปในลักษณะ 'ลูกผสม' จำนวนมาก กระนั้นก็ยังเป็นตัวแบบของนิยาย (Genre) ที่มุ่งแสวงหาจิตวิญญาณของสังคม 'นิยมความจริง' (Reality) และสังคม 'นิยมความมีเหตุมีผล' (Rational) สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยาย 'รหัสคดี' น่าจะเติบโตงอกงามมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งก็ใกล้เคียงกับสังคมญี่ปุ่นสมัยเมจิ เนื่องจาก 'อิทธิพลนำเข้า' ที่เป็นตัวแบบของนิยายประเภทนี้ต่างเข้ามาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่อนิจจา...นิยาย 'รหัสคดี' ของไทยกลับไม่ได้พัฒนาคลี่คลายไปไหนเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งต่อมากลับยังตกเป็นเหยื่อรหัสคดีประเภท 'เจ. บุ๊ค' และ 'เค. บุ๊ค' อย่างหมดท่าอีกด้วย...น่าละอายแทน นายแก้วนายขวัญ เสียจริงๆ!!
สำหรับเรื่อง The Long Goodbye ของ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ นั้น ผมเคยอ่านมานานจนลืมหมดแล้ว เคยดูหนังที่สร้างจากผลงานเรื่องนี้ในยุคต้นทศวรรษ 1970 ด้วย หนังเรื่องนี้ เอลเลียต กูตท์ เล่นเป็นนักสืบ ฟิลิป มาร์โลว์ ผู้รักแมวและซื่อสัตย์ต่อเพื่อน แต่เมื่อสืบลึกลงไปเรื่อยๆ จึงได้บทเรียนว่า 'แมว' ต่างหากที่ซื่อสัตย์มากกว่า 'เพื่อน' ดังนั้น คำว่า The Long Goodbye เลยกลายมาเป็นเหมือนตอนจบของเรื่องว่า 'ลาก่อน...ไอ้เพื่อนชั่ว'...
*************************************
http://www.nationweekend.com/2006/05/26/NW16_663.php
แก้ไขเมื่อ 09 ก.ค. 49 23:47:51
จากคุณ :
เอวังด้วยประการฉะนี้
- [
9 ก.ค. 49 23:47:12
]