Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ลอยกระทง : วิถีแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมแห่งเอเชีย

    วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
    เราทั้งหลายชายหญิง
    สนุกกันจริง วันลอยกระทง
    ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
    ลอยกระทงกันแล้ว
    ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง

    รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
    บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ

    วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
    เราทั้งหลายชายหญิง
    สนุกกันจริง วันลอยกระทง

    ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
    ลอยกระทงกันแล้ว
    ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง

    รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
    บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ

    November full moon shines,
    Loi Krathong, Loi Krathong,
    and the water's high
    in the river and local klong,

    Loi Loi Krathong,
    Loi Loi Krathong,
    Loi Krathong is here and everybody's full of cheer,

    We're together at the klong,
    We're together at the klong,

    Each one with this krathong,
    As we push away we pray,
    We can see a better day.

    สวัสดีทักทายทุกท่านด้วยเสียงเพลงวันลอยกระทงทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในวันนี้ขอนำบทความจากเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงนานาชาติมาฝาก

    ลอยกระทง : วิถีแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมแห่งเอเชีย

    ท่ามกลางแสงจันทร์ในคืนเพ็ญกลางเดือนสิบสอง วันลอยกระทงซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๕ เดือนพฤศจิกายน บนสายน้ำที่หลากไหลท่วมท้นทั้งสองฟากฝั่ง แสงเทียนนับร้อยนับพัน วูบวับระริกไหวเคลื่อนไปตามแรงกระแสน้ำ คือภาพอันน่าจำเริญตาของประเพณีที่เจนใจคนไทยมาช้านาน

    คนไทยเริ่มลอยกระทงมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แม้ครั้งหนึ่งเราจะถูกอบรมบ่มเพาะกันมาแต่เล็กแต่น้อยให้เชื่อว่า โคมลอยน้ำรูปดอกบัวนี้ถูกประดิษฐ์คิดขึ้นโดยยอดหญิงงามนามว่า“ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือ “นางนพมาศ” สนมเอกของพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย โดยมีเรื่องราวปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชื่อ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์“ แต่ความเชื่อนี้ก็ถูกสั่นคลอนจากนักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน ว่าตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่ไม่ได้เก่าไปกว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ดังนั้นลอยกระทงจึงไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

    ถึงแม้จะทำให้ผู้คนสับสนงงงัน แต่ทฤษฎีใหม่ก็ไม่สามารถลบล้างประเพณีอันดีงามและทรงคุณค่านี้ไปได้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นมีมาแต่ครั้งใด ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ทุกวันนี้คนไทยทุกชนชั้น ทุกอาชีพยังคงลอยกระทงกันอยู่ ทั้งเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่เชื่อกันว่าประดิษฐานอยู่บนหาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที (ปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพัททา แคว้นทักขิณาบถ ประเทศอินเดีย) เพื่อบูชาพระเจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ เพื่อขอขมาพระแม่คงคา หรือเพื่อลอยทุกข์โศกไปกับสายน้ำก็ตาม อันที่จริงใช่เพียงคนไทยเท่านั้นที่มีประเพณีลอยกระทง หากยังมีอีกหลายวัฒนธรรมที่ร่วมลอยกระทงไปกับเราด้วย

    ไม่ไกลจากเรานัก บ้านพี่เมืองน้องของเราอย่างประเทศลาว ก็มีประเพณีการบูชาแม่น้ำด้วยการลอยประทีปและไหลเรือไฟ โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาคุณแห่งแม่น้ำโขงที่เลี้ยงดูพวกเขามา และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนในกัมพูชา ระยะนี้เป็นช่วงเทศกาล ออก อัมบก (Ok Ambok) ซึ่งหมายถึงเทศกาลบูชาพระจันทร์ พวกเขาจะทำ ประทีป (pratip) ซึ่งก็คือกระทง แล้วนำไปลอยบูชาพระจันทร์วันเพ็ญที่ฉายเงาสว่างไสวในลำน้ำ เหนือขึ้นไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เกาหลี หรือญี่ปุ่น ก็มีพิธีกรรมในการขอขมาและลอยทุกข์ลงในน้ำเช่นกันโดยสันนิษฐานกันว่าต้นแบบของความเชื่อนี้มาจากศาสนาพุทธแบบมหายานที่แพร่หลายไปจากจีน แน่นอน จีนก็ลอยกระทงเหมือนกันกับเรา คู่ปรับเก่าของเราอย่างพม่า ก็ยังร่วมลอยกระทงไปพร้อมกัน นอกจากเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว ชาวพม่ายังลอยกระทงเพื่อบูชาผีนัต (Nut) ซึ่งหมายถึงวิญญาณที่คอยคุ้มครองบรรดาสรรพสิ่งอยู่ทั่วไป

    แม่แบบของวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์อย่างอินเดีย ก็ยังคงมีการลอยกระทงกันอยู่ โดยเขาอ้างว่าวัฒนธรรมนี้เริ่มต้นที่นี่ เมื่อหลายพันปีก่อน เริ่มต้นจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่ว่า เราควรลอยประทีปลงน้ำในคืนเพ็ญกลางเดือนสิบสอง เพื่อบูชาพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่กลางเกษียรสมุทร และพระองค์จะทรงนำบาปเคราะห์ของเราลอยล่องไปกับประทีปอันนั้นด้วย

    เมืองเก่าทางเหนือของประเทศไทยซึ่งรียกกันว่าล้านนา ก็มีประเพณีลอยกระทงเพื่อบูชาแม่น้ำ พิเศษตรงที่ล้านนามีประเพณีบูชาด้วยไฟ โดยการจุดโคมที่เรียกว่า ประเพณียี่เป็ง โดยเชื่อว่าการปล่อยโคมลอยขึ้นไปบนฟ้าคือการบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเท่ากับเป็นการปล่อยทุกข์โศกให้ลอยไปพร้อมโคม

    ในบ้านเรา เมื่อคืนเพ็ญกลางเดือนสิบสองเวียนมาถึง ผู้คนก็พร้อมใจกันทำกระทงเป็นโคมลอยรูปดอกบัวอันสดสวยจากวัสดุหลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นกระทงแบบประเพณีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เข่นใบตอง หยวกกล้วย ประดับประดาดอกไม้สดนานาพันธุ์ หรือช่วงหลังจะสร้างสรรค์กระทงให้แปลกออกไป เช่น กระทงขนมปัง หรือกระทงพลาสติกซึ่งมักกลายเป็นปัญหาวุ่นวายเมื่องานจบทุกครา ในกระทงมีธูปเทียนปักไว้ บ้างมีหมากพลู เงินทองเล็กน้อยใส่ลงไป เชื่อว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคาระลึกถึงพระคุณที่ให้เราใช้น้ำในการดำรงชีวิต ได้อาบ ได้กิน และเพื่อเป็นการลอยเคราะห์บาปไปตามสายน้ำ แม้ว่าบ่อยครั้งกระทงน้อยจะลอยไปได้เพียงไม่ไกลก็มีอันต้องล้มคว่ำเพราะมิจฉาชีพที่ “ ปล้นบุญ ” กันหน้าตาเฉย

    ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามประเพณีลอยกระทงก็ยังคงสามารถสะท้อนภาพความผูกพันของคนกับสายน้ำออกมาได้อย่างงดงาม ทั้งยังสื่ออุปนิสัยกตัญญูรู้คุณของผู้คนเหล่านี้ได้อย่างแจ่มชัดที่สุด และจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเพณีลอยกระทงยังคงครองตำแหน่ง ประเพณีที่สุดแสนจะโรแมนติกในใจใครต่อใครอีกหลายคน

                            เดือนเพ็ญ    กระทง      หนุ่มลอยกระทง      เล่นพลุ      ลอยกระทง  

    จากเว็บไซต์ http://www.bangkoktourist.com/thai_articles_loikrathong.php

     
     

    จากคุณ : เพ็ญชมพู - [ 5 พ.ย. 49 06:59:59 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom