ความคิดเห็นที่ 10
มาสนับสนุนเพื่อนทั้งหลายทั้งปวงข้างบนว่า การใช้ตัวอักษร "โรมัน" กับการออกเสียงแบบภาษา "อังกฤษ" มันคนละเรื่องกันอย่างแรงครับ
รายละเอียดของภาษาอื่นๆ เพื่อนๆ หลายท่านก็ยกตัวอย่างแล้ว ว่า "ตัวอักษรโรมันเดียวกัน" ถูกใช้ในการ "ถอดเสียงที่ต่างกัน" ของต่างภาษาอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่จีนหรือญี่ปุ่นที่มีตัวอักษรของตัวเองอยู่แล้ว แม้แต่ภาษาที่ใช้ตัวอักษรโรมัน เช่นฝรั่งเศส (อิตาลี ฯลฯ) ก็ล้วนแต่ถอดต่างกันทั้งนั้นครับ
กลับมาที่ตัวอย่างภาษาอังกฤษของคุณ kanu_memphis ดีกว่า ที่จริงแม้ในภาษาอังกฤษเอง ก็ไม่ได้ถอดเสียงตายตัวแบบที่เพื่อนฝรั่งคนนั้นถามหรอกครับ คนที่เรียนภาษาอังกฤษแบบทั่วถึงจะทราบดี (ฝรั่งที่เรียนแบบไม่ทั่วถึงก็มีมาก และที่ไม่สนใจเรียนเลยก็ไม่ใช่น้อย) แต่ก็จริงอย่างที่เพื่อนคุณ kanu_memphis ทักว่า "ส่วนใหญ่" มันชวนให้นึกว่าออกเสียงอย่างนั้น แต่ "ส่วนใหญ่" ของภาษาอังกฤษเอามาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้หรอกครับ
เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ตัวสะกดกับการออกเสียงต่างกันมากที่สุดในโลกภาษานึงทีเดียว และคนพูดภาษาอังกฤษเอง สะกดตัวมั่วซั่วก็มากไป
ตัวอย่างคลาสสิกก็เช่น -ough ซึ่งถ้าจำไม่ผิด มีคนบอกไว้ว่าอ่านได้สิบกว่าแบบ เอาที่ผมจำได้สามสี่แบบก็เช่น
rough, tough อ่านว่า รัฟ, ทัฟ bough อ่านว่า บาว (ไม่มี ฟ. หรือ ฮ. ใดๆ ทั้งสิ้น มันหายไปไหนหนอ) though อ่านว่า โฑ (แลบลิ้น+คอสั่น) cough อ่านว่า คอฟ
ในส่วนของพยัญชนะก็เช่นกัน
c บางทีอ่านออกเสียง ซ. เหมือน s บางทีก็ออกเสียง ค. เหมือน k เป็นต้น
ทีนี้ไอ้ตัวเจ้าปัญหาสองตัวที่คุณ kanu_memphis เตือนไว้ มันก็อ่านได้หลายแบบเช่นกันครับ
เอาอย่างตัว th เนี่ย ปกติที่คนคุ้นเคยอ่านได้ 2 แบบ คือ แบบแลบลิ้น+คอสั่น คนไทยชอบออกเสียงเป็น ด. เด็ก เช่น the, this, then กับแบบแลบลิ้น+คอไม่สั่น ซึ่งฟังดูแล้วมันคล้ายเสียง ส. มากกว่าเสียง ท. (มีคนหลายคนออกเสียง ส. โดยยื่นลิ้นออกมาแบบนี้ด้วยซ้ำ เรียกว่า lisp ครับ)
แต่แม้ใน "ภาษาอังกฤษ" เอง ก็มีคำที่สะกดด้วย th ที่ไม่ได้ออกเสียงสองแบบนี้ครับ เช่น Thames แม่น้ำเทมส์ เวลาคุยกับฝรั่ง อย่าแลบลิ้นทีเดียว มีหวังไปผิดแม่น้ำแน่ และชื่อ Thomas ก็อ่านว่า โทมัส ไม่ต้องแลบลิ้นเด็ดขาดครับ
ถ้าดูกันตามประวัติศาสตร์ อาจแย้งได้ว่าคำพวกนี้มาจากภาษาอื่น ไม่ใช่คำดั้งเดิมของภาษาอังกฤษก็ได้ แต่ถ้าจะแย้งเรื่องนี้ก็ต้องว่ากันยาว เพราะเดิมที ตัว th สองเสียงในปัจจุบัน เมื่อก่อนก็มีตัวอักษรเป็นของตัวเอง แต่ถูกยกเลิกไป หันมาใช้ th แทน อย่างตัวที่ออกเสียงคอสั่นในคำว่า the ก็รูปร่างคล้ายๆ ตัว Y (อาจจะมีเขาโง้งลงเล็กๆ ตามแต่ลายมือภาษาโบราณ) สมัยนี้ยังมีเขียนคำโบราณว่า ye ในความหมายของ the อยู่เลยครับ
ส่วนตัว ph เนี่ย คำทั้งหมดที่ผมรู้จักในภาษาอังกฤษออกเสียง ฟ. จริงด้วยแหละ ที่มามันก็มาจากคำที่มีรากศัพท์ในภาษากรีกซึ่งใช้ตัวอักษร phi ซึ่งตัวอักษรโรมันไม่มี ก็เลยต้องสร้างคู่หู ph ขึ้นมาใช้ และภาษาอื่น (เช่น ฝรั่งเศส) ก็ใช้คู่นี้เช่นกัน สงสัยว่าเสียง พ. กับเสียง ฟ. มันคงคล้ายคลึงกันมากมั้งครับ ขนาดตัวอักษรไทยยังเขียนเกือบเหมือนกันเลย ต่างกันที่หางแค่นั้นเอง (ในทางสัทศาสตร์ สองเสียงนี้ก็มีแหล่งกำเนิดใกล้กันมาก เกือบจะเป็นฐานเดียวกันเลยแหละครับ)
ที่คนไทยหลายคนนิยมใช้ ph แทนเสียง พ. ก็เพราะรู้สึกว่าอยากสงวนตัว p ไว้ใช้สำหรับเสียง ป. มากกว่ามั้งครับ
ซึ่งก็ไม่แปลกเลย เพราะในทางสากล ตัว h ใช้สำหรับแสดงลักษณะ aspirated หรือมีลมพ่นออกมาในการออกเสียง ภาษาไทยเรามี ป. กับ พ. ซึ่งเหมือนกันทุกอย่างยกเว้นลมพ่น แต่ภาษาอังกฤษและภาษายุโรปหลายภาษาเขารวบเป็นเสียงเดียว ไม่แตกต่าง (เหมือนอย่างที่ภาษาญี่ปุ่นไม่มีความแตกต่างระหว่างเสียง r กับ l นั่นแหละครับ)
ดังนั้นในการถอดภาษาไทย ถ้าบางคนคิดจะถอดเสียง ป. ด้วย p และถอดเสียง พ. ด้วย ph ก็ไม่แปลกอะไร
ยิ่งไปกว่านั้น ในภาษาบาลี/สันสกฤต ก็ใช้ตัว p ถอดเสียง ป. และตัว ph ถอดเสียง พ. เช่นกันครับ (และใช้ b ถอดเสียง บ. แถมมี bh ถอดเสียง บ. ที่มีลมพ่นซึ่งภาษาไทยและยุโรปไม่มีอีกต่างหาก)
(หมายเหตุเพิ่มเติม ในบางประเทศ เช่น ลาว จะถอดอีกแบบนึงครับ คือ p แทนเสียง พ. ถ้าจะเขียน ป. เขาใช้ bp บอกให้รู้ว่าไม่มีลมนะ ส่วน t แทนเสียง ท. เวลาจะเขียน ต. ก็ใช้ dt แทน เช่น dtan อ่านว่า แตน เป็นต้น)
สนับสนุนความเห็นของคุณชาเขียวเป็นอย่างยิ่ง ว่า "สรุปแล้ว เป็นหน้าที่ของคนต่างภาษา ที่จะศึกษาให้ดีว่าคำไหนออกเสียงยังไง"
แต่ในฐานะที่เราติดต่อกับคนใช้ภาษาอังกฤษเยอะ เราก็ควรต้องระวังการสะกดชื่อที่ "ไม่มงคล" อย่างแรงไว้บ้าง เช่นวันก่อน ผมคุยกับเพื่อนเรื่องจะตั้งชื่อเว็บ ว่า khun ตามด้วยชื่อเขาซึ่งขึ้นต้นด้วย t แล้วตามด้วย .com แต่พอเขียนออกมาแล้วก็ต้องเบรกกะทันหัน เพราะ khunt... พออ่านแล้วสะดุ้งไปแปดตลบแน่ๆ ครับ เหอๆๆ
จากคุณ :
คุณพีทคุง (พิธันดร)
- [
20 ธ.ค. 49 07:01:14
]
|
|
|