Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    คำที่มักเขียนหรือพิมพ์ผิดบ่อยๆ

    เห็นคำที่ (เขียน) พิมพ์กันผิดบ่อยๆ ค่ะ ก็เลยเอามาฝาก เพราะคำเหล่านี้ หลายๆ คำก็ชวนสับสนอยู่ไม่น้อย
    เท่าที่ดู คำที่เขียนผิดมากๆ ซึ่งเป็นคำที่ใช้บ่อยอย่างยิ่งคือสองคำนี้ค่ะ

    1. "สังเกต" ไม่ใช่ "สังเกตุ"
    2. "อนุญาต" ไม่ใช่ "อนุญาติ"

    zax
    รายการคำที่มักเขียนผิดบ่อยๆ นี้ได้จากคุณ jerasak เว็บ serithai.net นะคะ ขอบคุณค่ะ ^^'

    ===========================
    http://forum.serithai.net/index.php?topic=5056.msg70408#msg70408
    สังเกตว่ายังมีสมาชิกบอร์ดหลายท่านสะกดคำผิด
    นึกถึง forward mail ที่เคยได้รับฉบับนึง ก็เลยลงมือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม
    ได้เป็นเนื้อหาดังที่นำมาฝากต่อไปนี้ครับ..

    --------------------------------------------------------------------------------------------------------
    คำที่มักพบสะกดผิดเป็นประจำ

    กะทัดรัด บางคนสะกดผิดเป็น กระทัดรัด
    กะทันหัน บางคนสะกดผิดเป็น กระทันหัน
    กะพริบ บางคนสะกดผิดเป็น กระพริบ
    กะเพรา บางคนสะกดผิดเป็น กระเพรา (ตัวอย่างที่ถูกต้อง : กะเพราไก่ไข่ดาว)
    กะโหลก บางคนสะกดผิดเป็น กระโหลก

    กระทะ บางคนสะกดผิดเป็น กะทะ
    กระเพาะ บางคนสะกดผิดเป็น กะเพาะ กระเพราะ กะเพราะ
    กังวาน บางคนสะกดผิดเป็น กังวาล
    กาลเทศะ บางคนสะกดผิดเป็น กาละเทศะ
    กำเนิด บางคนสะกดผิดเป็น กำเหนิด

    คลุมเครือ บางคนสะกดผิดเป็น คลุมเคลือ

    ทระนง, ทะนง เขียนได้ทั้ง 2 แบบ แต่บางครั้งใช้กันว่า ทรนง ซึ่งไม่มีในพจนานุกรม

    เดียดฉันท์ บางคนสะกดผิดเป็น เดียจฉันท์

    เบญจเพส หมายถึงยี่สิบห้า (เพสหมายถึงยี่สิบ) บางคนสะกดผิดเป็น เบญจเพศ
    บัลลังก์ บางคนสะกดผิดเป็น บัลลังค์

    ประณีต หมายถึงบรรจงทำให้ออกมาสวยงาม บางคนสะกดผิดเป็น ปราณีต

    ฝรั่งเศส บางคนสะกดผิดเป็น ฝรั่งเศส

    พิศวาส บางคนสะกดผิดเป็น พิสวาท พิศวาท พิสวาส
    พิสมัย บางคนสะกดผิดเป็น พิศมัย
    พีระมิด บางครั้งใช้กันว่า ปิรามิด ซึ่งไม่มีในพจนานุกรมปัจจุบัน

    มนเทียร, มณเฑียร เขียนได้ 2 แบบแต่บางคนสะกดผิดเป็น มณเทียร หรือ มนเฑียร

    สังเกต บางคนสะกดผิดเป็น สังเกตุ

    อนุญาต บางคนสะกดผิดเป็น อนุญาติ
    อุทธรณ์ หมายถึงศาลชั้นกลาง หรือการคัดค้านคำตัดสิน บางคนสะกดผิดเป็น อุธรณ์
    โอกาส บางคนสะกดผิดเป็น โอกาส
    อัฒจันทร์ คือที่นั่งเป็นชั้นๆ สูงขึ้นไปเช่นที่ใช้นั่งดูกีฬา บางคนสะกดผิดเป็น อัฒจรรย์
    อัศจรรย์ หมายถึงแปลกประหลาด บางคนสะกดผิดเป็น อัศจันทร์

    ฤกษ์(เริก) ใช้กับ ฤกษ์งามยามดี นักขัตฤกษ์ ดาวฤกษ์ บางคนสะกดผิดเป็น ฤกธิ์
    ฤทธิ์(ริด) ใช้กับ อิทธิฤทธิ์ บุญฤทธิ์ คืออำนาจ บางคนสะกดผิดเป็น ฤทษ์

    --------------------------------------------------------------------------------------------------------
    คำที่มักใชัวรรณยุกต์ หรือสัญลักษณ์กำกับผิดเสียง

    คะ/ค่ะ/จ้ะ/จ๊ะ เป็นคำที่มักใช้วรรณยุกต์ผิดเสียง ถ้าลองไล่เสียงดูจะพบใช้ผิดเยอะมาก

    ผล็อย, แผล็ว คำวิเศษณ์ขยายกริยาว่าเกิดอย่างรวดเร็ว เด็กน้อยผล็อยหลับไป แมวกระโจนแผล็ว
    บางคนสะกดผิดเป็น ผลอย แผลว

    หน็อยแน่ คำอุทานแสดงความขัดใจ บางคนสะกดผิดเป็น หนอยแน่

    --------------------------------------------------------------------------------------------------------
    คำที่มักสะกดผิดหรือใชักันสับสน ทำให้ผิดความหมาย

    เกร็ด หมายถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ ส่วนเบ็ดเตล็ด เช่น เกร็ดความรู้
    เกล็ด หมายถึงสิ่งที่เป็นแผ่นซ้อนกันเช่นที่ผิวของปลา สัตว์เลื้อยคลาน หรือกระจกบานเกล็ด

    โจทก์ หมายถึงฝ่ายผู้ฟ้องร้องต่อศาลให้เอาผิดจำเลย
    โจทย์ หมายถึงปัญหาที่ตั้งให้คิดหาคำตอบ เช่นโจทย์เลข

    ปรานี หมายถึงเอ็นดูสงสาร เช่นใช้ว่า เมตตาปรานี บางคนสะกดว่า ปราณี
    ปราณี หมายถึงผู้มีชีวิตเช่น สัตว์ คน ปกติไม่มีที่ใช้แต่บางคนเอาไปใช้แทนคำ ปรานี

    มุก หมายถึงหอยทะเลสองฝาประเภทหนึ่งให้ผลิตผลที่นำมาทำเครื่องประดับคือไข่มุก
    มุข หมายถึงด้านหน้า หัวหน้า ส่วนที่ยื่นออกมา เช่น หน้ามุข

    ผัด หมายถึงปัดไปปัดมา เช่น ผัดหน้าทาปาก ผัดผ่อน ผัดวันประกันพรุ่ง
    ผลัด หมายถึงเปลี่ยน เช่น ผลัดผ้า(เปลี่ยนเสื้อผ้า) วิ่งผลัด

    พุ่ง ใช้ในความหมายว่าเคลื่อนที่ตรงไปอย่างรวดเร็ว
    พลุ่ง ใช้ในความหมายว่า ปั่นป่วน เช่น ไอน้ำพวยพลุ่ง อารมณ์พลุ่งพล่าน

    ละลวย หมายถึงอาการงุนงง ตั้งสติไม่ได้ เช่นต้องคาถามหาละลวย
    ระรวย หมายถึงแผ่วๆ เช่น ลมหายใจระรวยตอนใกล้ตาย

    สูจิบัตร หมายถึงเอกสารแสดงรายละเอียดของงาน, ใบแสดงรายการ
    สูติบัตร หมายถึงเอกสารแสดงการเกิด, ใบเกิด

    กำหนดการ คือลำดับของกิจกรรมที่จะจัดให้มีขึ้น เป็นคำสามัญใช้กับประชาชนทั่วไป
    หมายกำหนดการ เป็นคำราชาศัพท์ใช้กับ กำหนดการของพระมหากษัตริย์

    --------------------------------------------------------------------------------------------------------
    คำที่พบพิมพ์ผิด อาจเพราะหาแป้นพิมพ์ที่ต้องการไม่เจอ

    ฤๅ ใช้เหมือนคำว่า "หรือ" เช่นประโยค "จริงดังว่ามาอย่างนั้นฤๅ" ใช้สระอาหางยาวเหมือนคำว่า "ฤๅษี"
    หลายคนหาสระอาหางยาวไม่เจอเลยใช้สระอา -า หางสั้นแทน กลายเป็น ฤา กับ ฤาษี ไปเสีย
    ความจริงแป้นตัว -ๅ นี้อยู่แป้นเดียวกับเลข 1 แค่เปลี่ยนโหมดแป้นพิมพ์เป็นภาษาไทยก็ใช้ได้แล้ว

    ฃ ฃ.ขวด บางครั้งอยากจะคีย์แต่หาแป้นพิมพ์ไม่เจอ มันอยู่แป้นดียวกับตัว \

    ฅ ฅ.คน บางครั้งอยากจะคีย์แต่หาแป้นพิมพ์ไม่เจอ มันอยู่แป้นดียวกับตัว | (แป้น \ และ กด Shift)

    --------------------------------------------------------------------------------------------------------

    จากคุณ : AntiSpam - [ 5 ก.พ. 50 17:22:09 A:192.165.213.18 X: TicketID:123165 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom