ความคิดเห็นที่ 3
พระมัญชุศรีโพธิสัตต์ หรือ เหวินซูผู่ซา
พระองค์มีชื่อเรียกมากมาย อาทิ พระมัญชุโฆษ (ผู้มีเสียงเพราะ) , พระมัญชุนาถ , พระวาคีศวร คนจีนเรียกบุ้นซู้พู่สะ เป็นพระโพธิสัตต์แห่งมหาปัญญา ในประเทศธิเบตให้ความเคารพต่อพระโพธิสัตต์องค์นี้มาก ฉายาของพระองค์เรียกแตกต่างกันไป อาทิ ไต้ตี่ (มหามติ - มีปัญญาใหญ่) , ไทจือ (ราชกุมาร) , เชยปี่ก๊าจู๊ (ธรรมราชผู้มีแขนหนึ่งพัน) ทรงประสูติเมื่อวันที่ 4 เดือน 4 ทางจันทรคติแบบจีน พระนามเต็มของพระองค์ คือ พระมัญชุศรีกุมารภูติโพธิสัตต์ ทรงประทับบนหลังราชสีห์ อันราชสีห์นั้นเป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งหลาย ไม่หวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อสัตว์ใดๆ เปรียบเป็นเช่นกับพระพุทธเจ้าและโพธิสัตต์ ไม่หวาดหวั่นท้อถอยต่อการประกาศสัจธรรม และเมื่อราชสีห์คำราม บรรดาสรรพสัตว์ใหญ่น้อยต่างก็หลีกไป เฉกเช่นพุทธองค์ประกาศธรรม ทำให้คำสอนของเดียรถีย์ทั้งหลายด้อยรัศมีไปฉันนั้น ราชสีห์นี้ บางครั้งเรียก " สิงหอาสน์ "
บุ้นซู้พู่สะ เป็นพระมหาโพธิสัตต์ ที่มักได้รับการเอ่ยถึงในพระสูตร และตั้งองค์พระปฏิมาให้อยู่คู่กับ " โผวเฮี้ยงพู่สะ " หรือ "โผวเฮี้ยงผ่อสัก " หรือ " พระสมัตภัทรมหาโพธิสัตต์ " ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของบรรดาพระโพธิสัตต์นับร้อยนับพันที่มาเฝ้าชุมนุมพระศากยมุนีพุทธเจ้า ทรงเป็น " พระฌานิโพธิสัตต์ " ที่ถือกำเนิดก่อนสมัยพุทธกาล ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในการแสดงธรรม ทรงมุ่งมั่นให้สัตว์โลกได้พ้นทุกข์ และบรรลุธรรมอย่างไม่ทรงเกรงกลัวต่อความยากลำบาก
พระมัญชุศรีกุมารภูติโพธิสัตต์ ถือเป็นปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงมีพระวรกายเป็นหนุ่มน้อยวัย 16 ปี ( ไม่แก่หรืออายุมากไปกว่านี้ ) พระหัตถ์ขวาทรงวัชรศัสตรา หรือพระแสงขรรค์ หรือดาบอันคมกริบ ไว้คอยตัดอวิชชาและนิวรณ์ทั้ง 5 อันได้แก่ กามฉันทะ (พอใจในกาม) , พยาบาท (คิดร้าย) , ถีนมิทธะ (หดหู่เซื่องซึม) , อุทธัจจกุกกุจจะ (ฟุ้งซ่านและความกระวนกระวายใจ) เพื่อให้ธรรมแห่งพุทธองค์มีความแจ่มชัด พระหัตถ์ซ้ายทรงพระคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร หรือพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่ามุทราก็มี เหนือพระเศียรทรงมาลาเป็นรูปใบไม้เรียงกัน 5 ใบโดยมี พระอักโษภยะพุทธเจ้าอยู่เหนือมงกุฎนั้น ศักติชายาคือ นางสรัสวดีเทวี ในสัทธรรมปุณฑรีกสูตร กล่าวว่า พระมัญชุศรีโพธิสัตต์เป็นปฐมโพธิสัตต์ เป็นอาจารย์ของพระเมตไตรยโพธิสัตต์ ด้วยเหตุที่ทรงเป็นหนุ่มตลอดกาลนี้เอง จึงรู้จักพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่มาตรัสรู้
หลังจากที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 250 ปี พระมัญชุศรีไปประกาศพระศาสนาที่แคว้นเนปาล ได้กำจัดสัตว์ร้ายในสระน้ำที่แคว้นนั้นจนหมดสิ้น เพราะหน้าที่ของพระองค์คือ การกำจัดอวิชชา กำจัดความโง่เขลา และเป็นประธานในพระธรรม ช่วยเหลือพระศาสนาให้แพร่หลาย
นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พระองค์คือ องค์อุปถัมภ์ในด้าน กวีวัจนะ ในทางวาทศิลป์ รวมถึงภาษาศาตร์ต่างอีกด้วย ดังนั้นที่ประเทศเนปาล จึงมีผู้คนกราบไหว้บูชาท่านเพื่อให้เกิดความเฉลียวฉลาด และมีความจำดี พูดและเขียนเก่ง ซึ่งประเพณีนี้ดูละม้ายการบูชาพระนางสรัสวดี (ชายาของพระพรหม) ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ซึ่งเด็กๆนิยมบูชานางในฐานะเทพเจ้าแหงวาทศิลป์ ดนตรี และวิทยาศาสตร์ ในวันวสันตะปัญจมี
ที่เมืองจีนนั้น ยอดเขาโหงวไท้ซัว (ภูเขาห้ายอด ) มณฑลซันซี คือสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระมัญชุศรี
กำเนิดของมัญชุศรีโพธิสัตต์นั้น มีตำนานเล่ากันไปต่างๆนาๆที่เมืองจีนว่า เกิดจากพระนลาฎของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ด้วยลำแสงที่พุ่งออกไปนั้นตัดต้นไม้ต้นหนึ่งที่ภูเขาอู่ไถ่ แล้วบังเกิดดอกบัวมารองรับพระมัญชุศรีขึ้นมา ดังนั้นพระโพธิสัตต์พระองค์นี้จึงไม่แปดเปื้อนครรภ์มลทินแต่อย่างไร อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า คหบดีจีนท่านหนึ่ง ต้องการเลี้ยงพระทั้งวัดบนภูเขาอู่ไถ่ พระจึงชักชวนคนยากจนมารับทานด้วย เพราะพระโพธิสัตต์มัญชุศรีมักจะสอนเน้นให้คนทั้งหลายมีความเสมอกัน ไม่แบ่งแยกระหว่างคนรวยกับคนจน ไม่แบ่งแยกระหว่างพระกับฆราวาส ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงใคร่อยากรู้ใจมนุษย์ จึงจำแลงร่างเป็นหญิงขอทานที่กำลังตั้งครรภ์ คหบดีรำคาญใจมากที่เห็นชาวบ้านพวกนี้
เพราะตั้งใจมาทำบุญเลี้ยงพระเพียงอย่างเดียว ครั้นมาถึงคิวหญิงขอทาน นางบอกว่า ต้องการข้าว 2 จาน จานหนึ่งสำหรับตนเอง อีกจานหนึ่งสำหรับลูกในท้อง เจ้าของงานไม่ยอม นางจึงไม่ยอมกินอาหารนั้นและเดินออกจากวิหารไป กลายเป็นพระมัญชุศรีโพธิสัตต์เหาะขึ้นท้องฟ้าด้วยเทพบริวารตระการตา เป็นเหตุให้เจ้าของงานและทุกคนที่อยู่สถานที่นั้นก้มกราบขมาลาโทษต่อพระโพธิสัตต์กันถ้วนหน้า ตั้งแต่นั้นมา ถือเป็นนโยบายของเขาอู่ไถ่ว่า หากต้องการเลี้ยงพระก็ต้องทำทานต่อผู้ยากไร้ด้วย
เรื่องเล่าจากอินเดียว่า เมื่อครั้งที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าจะเสด็จไปแสดงธรรมนั้น พระมัญชุศรีประกาศว่า ขอให้คอยสดับพระธรรมจากพระธรรมราชา (พระพุทธเจ้า) พระธรรมของพระธรรมราชาเป็นเช่นนั้นเอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้วประทับ ณ พุทธอาสน์ ไม่ทรงแสดงธรรมอันใดเลย เพราะพระมัญชุศรีแสดงธรรมไปหมดแล้ว ทั้งสั้นและได้ใจความ " พระธรรมเป็นเช่นนั้นเอง "
ในประเทศธิเบตยังมีการสร้างภาคดุร้ายของพระมัญชุศรีด้วย ปางนั้นคือ ยมานตกะ โดยสร้างตำนานขึ้นสนับสนุนว่า พระมัญชุศรีลงไปยังยมโลก พระยมมีศีรษะเป็นกระบือ พระมัญชุศรีจึงต้องแปลงร่างเป็นเช่นนั้น เพื่อให้พระยายมกลัว ทั้งที่พระยมเป็นเจ้าแห่งความตาย แต่ยังเกรงในพระบารมี จนแลเห็นความไม่สิ้นสุดของพระโพธิสัตต์พระองค์นี้ ชาวธิเบตนิยมเพ่งรูปยมานตกะเพื่อเอาชนะความตาย
นอกจากนี้ยังทรงแบ่งภาคออกเป็นปางต่างๆมากมาย อาทิ ธรรมธาตุวาคีศวร , ไภรวัชร , พระวัชรนังคอารยมัญชุโฆษ , พระยมานตกะ
มหาบุรุษโพธิสัตต์ที่ชาวธิเบตให้การยกย่องนั้นมี อวโลกิเตศวร , มัญชุศรีและวัชรปาณี ด้วยเหตุที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุณา ปัญญาและพละ ตามรูปศัพท์แล้ว มัญชุศรี แปลว่า ผู้มีเสียงไพเราะ และมีความสามารถพิเศษในการเทศนาให้คนเกิดปัญญาได้ ตามคติในฝ่ายมหายานนั้น ยกย่องให้พระองค์เป็นพระโพธิสัตต์แห่งปัญญาและคุ้มครองนักปราชญ์ ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ และการแสวงหาสัจจะทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ การบูชาพระโพธิสัตต์พระองค์นี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความชาญฉลาด มีความจำดี และสามารถจดจำคัมภีร์ต่างๆได้อย่างแม่นยำ
พระโพธิสัตต์มัญชุศรีได้รับการยกย่องและนับถือกันมากในเมืองสารนาถ แคว้นมคธ เบงกอล เนปาลและธิเบต คัมภีร์ซึ่งทรงถือนั้นคือ ปรัชญาปารมิตา ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่จะมาตรัสรู้
พระนามของพระองค์ปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์อมิตยุสสูตร เพราะพระองค์เป็นหัวหน้ากลุ่มพระโพธิสัตต์บนเขาคิชฌกูฎ และในคัมภีร์คัณฑวยุหสูตร กล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้นเทียบเท่ากับพระอวโลกิเตศวร ผู้ใดที่จะบรรลุพระสัมมาสัมพุทธะ ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์เสียก่อน
ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตรนั้น พระศากยมุนีพุทธเจ้า ได้ตรัสถึงฐานะของพระมัญชุศรีโพธิสัตต์ว่า เป็นผู้รักษาพระสูตรนี้ และเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนาในช่วง 500 ปีสุดท้าย
เหตุที่ชาวเนปาลนับถือพระมัญชุศรีโพธิสัตต์ มีเรื่องบรรยายอยู่ในคัมภีร์สวยัมภูปุราณะว่า ราวศตวรรษที่ 8 พระโพธิสัตต์มัญชุศรีเดินทางจากเมืองจีน เพราะแต่เดิมนั้นทรงสถิตย์ ณ ยอดเขาโหงวไท้ซัว (ภูเขา 5 ยอด) แล้ววันหนึ่งพระองค์ทราบด้วยญาณทิพย์ว่า พระอาทิพุทธแบ่งภาคลงมาเป็นเปลวไฟบนดอกบัว ในทะเลสาปกาลีหรัท ที่เนปาล ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จมาพร้อมด้วยสานุศิษย์ และสร้างวัดครอบไฟนั้นไว้ เรียกว่า สวยัมภูเจดีย์ ทั้งยังได้กำจัดสัตว์ร้ายที่ทะเลสาปนั้น และสถาปนาผู้ติดตามคือ พระเจ้าธรรมกรเป็นกษัตริย์ปกครองเนปาล ท่านสงกะปะ อันเป็นต้นตอของนิกายแห่งองค์ทาไลลามะ ถือว่าเป็นนิรมาณกายของพระมัญชุศรีแบ่งภาคมาเกิด
จากคุณ :
NgaoMak
- [
31 มี.ค. 50 09:59:41
]
|
|
|