Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ และการแก้ปัญหาเมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ที่นักเขียนควรทราบ

    ลิขสิทธิ์  การละเมิดลิขสิทธิ์  และการแก้ปัญหาเมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ที่นักเขียนควรทราบ

    ***คัดลอกและเรียบเรียงจากเอกสารแจกในงานเสวนา เรื่อง “นักเขียนกับจิตสำนึกด้านลิขสิทธิ์” วันพุธที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ณห้อง meeting room๔ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
    จัดโดย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

    คู่มือลิขสิทธิ์สำหรับนักเขียน

    บทนิยาม
    นักเขียนหมายถึง ผู้แต่งหรือผู้ประพันธุ์งานเขียนประเภทต่างๆ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดี ตำรา บทความ ความเรียง ฯลฯ

    สิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง
    สิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองคืองานที่นักเขียนสร้างสรรค์ขึ้น นนส่วนชื่อเรื่อง แนวความคิด ข้อมูล สถิติ ข้อเท็จจริง ข่าว หรือบทบัญญัติของกฏหมายเป็นสิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์ (ไม่ได้รับความคุ้มครอง)

    การคุ้มครองลิขสิทธิ์
    นักเขียนจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติจากกฏหมายลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องไปจดทะเบียน หรือไปจดแจ้งต่อหน่วยงานใด

    แม้นักเขียนจะได้รับความคุ้มครองสิทธิ์ในผลงานของตนเองโดยทันที แต่นักเขียนสามารถนำผลงาน (หนังสือหรือแผ่นซีดี) มาแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ได้ที่กรมทรัพสินทางปัญญาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานเบื้องต้นในการแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ ขณะเดียวกัน ยังสามารถใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ตามนโยบายแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนได้ด้วย

    สิทธิของนักเขียน
    นักเขียนจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในงานเขียนของตนที่จะทำการใดๆ ดังต่อไปนี้

    ๑. ทำซ้ำ เช่นสำเนา การดาวน์โหลดลงเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือจัดพิมพ์งานเป็นรูปเล่ม เป็นต้น
    (ผมขอขยายนิดหนึ่งครับ กรณีที่ผลงานได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ นักเขียนจะไม่สามารถนำงานชุดหรือชิ้นนั้นๆ ออกเผยแพร่ได้ ภายในกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้กับสำนักพิมพ์ โดยปรกติสัญญาจะระบุเวลาให้เราทราบอย่างแน่ชัด เช่น ๑ ปี ๓ ปี หรือบางแห่งอาจจะ ๕ ปี แต่โดยมาตราฐานก็จะไม่เกิน ๓ ปี และผู้เขียนก็จะได้รับค่าลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์ครั้งต่อไปทุกครั้ง ***ข้อนี้สำคัญมากถ้าจะเซ็นสัญญาก็กรุณาอ่านให้ดีว่า เหมาจ่ายหรือจ่ายในแต่ละครั้งการพิมพ์)

    ๒. ดัดแปลง เช่น การนำงานวรรณกรรมไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ หรือนำไปจัดทำเป็นบทละครโทรทัศน์ หรือบทภาพยนตร์ เป็นต้น
    (ในกรณีนี้ ทางผู้ผลิตละครจะติดต่อผ่านสำนักพิมพ์ที่นักเขียนได้ตีพิมพ์ผลงานกับสำนักพิมพ์นั้นๆ  แต่ถ้าไม่ได้ตีพิมพ์ผลงานกับสำนักพิมพ์เช่นเขียนเป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร หรือเขียนเป็นตอนๆ ลงในอินเตอร์เน็ตนักเขียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองทั้งสิน และนักเขียนจะได้รับค่าลิขสิทธิ์โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งให้สำนักพิมพ์ เพราะสำนักพิมพ์ก็อาจจะได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นเมื่อละครเรื่องนั้นๆ ถูกสร้าง แต่อย่างไรก็คงต้องดูในรายละเอียดตามสัญญาอีกที เพราะสัญญาแต่ละที่ไม่เหมือนกัน)

    ๓. เผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่น การเผยแพร่ลงในอินเตอร์เน็ต และการจำหน่าย จ่าย แจกงานเขียน เป็นต้น
    (ตรงนี้ ขอขยายในส่วนของการเผยแพร่ ถ้าเผยแพร่เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธุ์ในลักษณะเชิญชวนให้ไปซื้อไม่เป็นไร แต่นำทั้งหมดมาลงเผยแพร่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง อาจจะผิดสัญญาได้)

    ๔. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ ได้แก่ อนุญาตให้นำไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย อนุญาตให้ดัดแปลง หรืออนุญาตให้นำไปดาว์โหลดและเผยแพร่ลงในอินเตอร์เน็ต
    (อันนี้รายละเอียดอยู่ในส่วนของวงเล็บที่ผมได้ขยายไปแล้ว)

    ๕. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น ได้แก่ การโอนผลตอบแทนที่ได้จากค่าลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่น

    การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์
    นักเขียนควรระบุข้อมูลเกี่ยวข้องกับงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นเช่น ชื่อผลงาน ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อสำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์/โฆษณา ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้งานได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม เพื่อให้ผู้อื่นได้รับยรู้ข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ประสงค์จะใช้งาน ในการติดต่อขออนุญาตใช้สิทธิ์ในงานนั้น




    อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์
    ลิขสิทธิ์งานเขียนจะมีตลอดอายุของนักเขียนผู้นั้นนับแต่สร้างสรรค์ผลงาน และต่อไปอีก ๕๐ ปี นับแต่นักเขียนผู้นั้นเสียชีวิต
    (ขอขยายนิดครับ กรณีที่งานชิ้นนั้นๆ มีผู้ร่วมสร้างสรรค์มากกว่าหนึ่งคน ให้นับคนที่เสียชีวิตคนหลังสุดต่อไปอีก ๕๐ ปี)

    การกระทำอย่างไรที่เรียกว่าละเมิดลิขสิทธิ์
    การละเมิดลิขสิทธิ์มีได้หลายรู้แบบเช่น

    ๑. นำผลงานของนักเขียนไปรวมเล่มเพื่อตีพิมพ์ จำหน่าย จ่าย แจก โดยไม่ได้รับอนุญาต
    ๒. นำผลงานไปเผยแพร่ลงในอินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต
    ๓. นำผลงานไปดัดแปลง (เช่น ใช้เนื้อเรื่องเดิม ใส่ชื่อเรื่องใหม่) โดยไม่ได้รับอนุญาต
    (ตรงนี้ ผมว่าช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับนำผลงานผู้อื่นมาดัดแปลงเยอะมาก ตรงไหนที่เรียกว่าดัดแปลง?อันนี้ก็น่าจะเป็นวิจารณญาณของแต่ละบุคคล ถ้าจะให้เขียนออกมาเป็นข้อๆ ก็คงยาก จริงๆ ต้องนำเอาผลงานที่ถูกกล่าวหาว่าดัดแปลง กับผลงานที่ถูกดัดแปลงมากางออกแล้วอ่าน)

    เมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์นักเขียนควรทำอย่างไร
    เมื่อนักเขียนถูกละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องดำเนินการดังนี้
    ๑.ในเบื้องต้นนักเขียนจะต้องตรวจสอบผลงานของตนเองกับงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ว่า มีการทำซ้ำกันหรือไม่ อย่างไร โดยตรวจสอบอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง เนื่องจากปัจจุบันมีงานเขียนที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเป็นจำนวนมาก

    ๒.เมื่อพบว่ามีการทำซ้ำ จนมั่นใจว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว หากงานที่ถูกละเมิดนั้นเป็นตัวหนังสือ ให้แจ้งไปยังสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนั้นๆ เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ และต้องแจ้งแก่ผู้ละเมิดในทันที

    ๓.เจรจากับสำนักพิมพ์และผู้กระทำการละเมิดว่าจะชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร

    ๔.หากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ อาจทำหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอให้กรมทรัพย์สินช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว (ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิน)

    หากดำเนินการตามข้อ ๓ และข้อ ๔ ไม่บรรลุผล อาจเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

    ๑. คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวรการอนุญาโตตุลาการกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อตัดสินชี้ขาด คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการถือเป็นที่สุด ไม่สามารถดำเนินคดีในชั้นศาลได้อีก (เว้นแต่เป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อกฏหมาย)

    ๒. นักเขียนอาจฟ้องร้องให้ดำเนินคดีต่อศาล ซึ่งทำได้ ๒ กรณี คือ

    ๒.๑ การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา นักเขียนสามารถฟ้องร้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นคดีอาญาได้ หรืออาจใช้สิทธิในทางอาญาโดยการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน สรุปสำนวนคดี และเสนอพนักงานอัยการเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป

    ๒.๒ นักเขียนเป็นผู้ฟ้องร้องแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นๆ ได้อีก ในกรณีที่ค่าเสียหายในคดีอาญาไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

    อย่างไรก็ดี หากนักเขียนไม่ประสงค์จะฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ละเมิด นักเขียนอาจจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งอย่างเดียวก็ได้

    อายุความในการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์
    เมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ นักเขียนจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน ๓ ปี นับตั้งแต่ที่รู้ว่ามีการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำการละเมิด แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับตั้งแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีที่นักเขียนต้องความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ นักเขียนจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่รู้ว่ามีการละเมิดและรู้ตัวผู้ละเมิด

    การสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์
    การสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ผู้สร้างสรรค์จะต้องสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง คือไม่ลอกงานของผู้อื่น กรณีของงานเขียนก็เช่นกัน นักเขียนจะต้องเขียนงานจากความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง โดยไม่ลอกเลียนตัดต่อหรือดัดแปลงงานเขียนของบุคคลอื่น

    การคัดลอกหรืออ้างอิงผลงานของผู้อื่น
    กรณีการคัดลอกหรืออ้างอิงงานเขียนของผู้อื่นบางตอน ซึ่งทำได้ตามสมควร แต่ต้องระบุที่มาและชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว โดยการคัดลอกหรืออ้างอิงจะทำได้ในขอบเขตที่กฏหมายกำหนดเท่านั้น คือจะต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาผลประโยชน์ตามปรกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร (กรณีดังกล่าวศาลเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน) หากไม่แน่ใจว่าการคัดลอก อ้างอิงดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของกฏหมายหรือไม่ ก็ควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน เพื่อป้องกันข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

    (ขอขยายเพื่อนำไปใช้ในกรณีจะอ้างอิงผลงาน
    วรรณกรรม...
    ชื่อผู้แต่งหรือนามแฝง. ชื่อบรรณาธิการ (ถ้ามี) . ปีที่พิมพ์. ชื่อหนังสือ. ครั้งที่พิมพ์. สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์/เจ้าของลิขสิทธิ์

    วรรณกรรมแปล...
    ชื่อผู้แต่ง. ชื่อภาษาไทย. ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ. ชื่อผู้แปลหรือนามแฝง. ปีที่พิมพ์. ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์/เจ้าของลิขสิทธิ์

    ข้อมูล/ตัวเลข/สถิติ
    ชื่อผู้แต่ง. ปีที่พิมพ์. ชื่อหนังสือ. สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์/เจ้าของลิขสิทธิ์)

    เมื่อถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องทำอย่างไร
    เมื่อมีผู้ถูกล่าวหาว่างานเขียนของท่านละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนักเขียนจะต้องปฏิบัติดังนี้ คือ

    ๑. รวบรวมผลงานต้นฉบับที่เขียนไว้ในแต่ละครั้ง เพื่อใช้เป็ฯหลักฐานแสดงว่าได้เขียนผลงานด้วยตัวเองไม่ได้ลอกเลียน ตัดต่อ คัดลอก หรือดัดแปลงงานของผู้อื่น

    ๒. รวบรวมเอกสารหลักฐานการตีพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือเล่มที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์

    ๓.จัดเตรียมและตรวจสอบสัญญาของการอนุญาตให้ใช้งานลิขสิทธิ์ (ถ้ามี) ว่าขอบเขตสัญญาที่ตกลงกันไว้มีแค่ไหน อย่างไร

    ๔.จัดหาพยานบุคคลที่อ้างอิงได้ว่าผู้เขียนเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นจริง

    ๕. ตรวจสอบและเปรียบเทียบงานเขียนของท่านว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้กล่าวหาว่าจริงหรือไม่

    ๖. คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยทำหนังสือถึงกรมทรัพทย์สินทางปัญญา

    ๗. กรณีที่ไกล่เกลี่ยนไม่สำเร็จ คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู่อนุญาโตตุลาการเพื่อตัดสินชี้ขาด

    นักเขียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ สามารขอคำแนะนำหรือปรึกษาได้ที่ สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทรฯ ๐-๒๕๔๗-๔๖๓๓ / ๑-๒๕๔๗-๔๖๓๔ หรือ www.ipthailand.org

    ***คัดลอกจากเอกสารที่จัดพิมพ์โดย คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการคุ้มครองลิขสิทธิ์วรรณกรรมและงานที่เกี่ยวข้อง


    หมายเหตุ
    ผมคิดว่าข้อมูลในส่วนนี้คงมีประโยชน์ต่อเพื่อนผู้อ่านและนักเขียน โดยเฉพาะผู้ที่เขียนงานตามอินเตอร์เน็ตไม่มากก็น้อยจึงได้นำมาให้อ่าน และเก็บไว้เป็นข้อมูลกัน (ไม่ทราบว่ามีใครเคยโพส์แล้วหรือยังถ้ามีตอบด้วยนะครับจะได้ไม่โพส์ซ้ำซ้อน)  บางท่านอาจจะทราบแล้ว แต่ก็อาจจะมีหลายท่านที่ไม่ทราบ อย่างไรก็ขอให้เซพข้อมูลตรงนี้เก็บไว้บ้างแล้วกันนะครับ ถ้าข้อมูลนี้ตกก็ไปตามอ่านที่เว็บบล๊อกผมได้ผมจะนำข้อมูลนี้ไปไว้ที่นั้น

    วันนี้พิมพ์ไปก็ง่วง เดี๋ยวดึกๆ จะกลับมาต่ออีก มีอยู่อีกประมาณ ๓ ประเด็นที่จะต้องกล่าวถึงเช่น การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ทำอย่างไร อะไรบ้างที่แจ้งได้และอะไรบ้างที่แจ้งไม่ได้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาและคำแนะนำเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา

    ส่วนเรื่อง “แบบฟรอม การข้อแจ้งขอมูลลิขสิทธิ์” นั้นทางเว็บของกรมทรัพย์สินมีให้โหลดอยู่ในเว็บครับ ผมเห็นใบรับรองจากกรมทรัพย์สินฯ แล้วเมื่อวาน (ลักษณะเป็นแบบโฉนดที่ดินตามที่คุณรอมแพงว่าจริงๆ)

    และในส่วนของสัญญาระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์นั้นก็มีให้โหลดที่เว็บ “เครื่อข่ายนักเขียน” ลองโหลดไปศึกษารายละเอียดสัญญาได้ (เข้าใจว่าเป็นสัญญาที่รัดกุม และเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย)

    จากคุณ : สยามวรรณกรรม - [ 5 เม.ย. 50 15:44:29 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom