Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    วัฒนธรรมไม้ไผ่และการจักสาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

             ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติปรากฏควบคู่กันมากับพันธุ์พืชมหัศจรรย์อันได้แก่ ไผ่ (Bamboo) และ หวาย (Rattan) ที่ปรากฏอย่างมากมาย ดาษดื่นและเจริญพันธุ์อยู่ทั่วภูมิภาคของโลกมากกว่า 1,000 สายพันธุ์  พืชมหัศจรรย์ที่มีความแข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบา มีความทนทานแต่กลับยืดหยุ่นและย่อยสลายได้ง่ายในธรรมชาติ ให้สัมผัสที่ราบเรียบ ตั้งตรงสามารถแปรรูปและประยุกต์มาใช้งานได้ง่าย และมีคุณค่ามากกว่าราคาที่แสนถูก

             นิเวศวิทยาวัฒนธรรม(Cultural Ecology)ของมนุษย์ อันได้แก่การปรับตัวของมนุษย์โดยการสร้างวัฒนธรรม เทคโนโลยีหรือภูมิปัญญา ที่เหมาะสมและสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกในสังคมเกษตรกรรม (Agricultural Society) ได้นำมาสู่ความคุ้นเคยและพัฒนาการร่วมกันที่สำคัญในทุกส่วนประกอบทางวัฒนธรรมจากความพยายามในการแปรรูปวัตถุดิบอันทรงคุณค่าจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในรายละเอียดต่าง ๆ ของสังคมมนุษย์มาเป็นเวลายาวนาน

    ร่องรอยหลักฐานทางโบราณชีววิทยา แสดงให้เห็นว่า โฮโม อิเรคตัส ( Homo Erectus ) หรือมนุษย์ชวา (Java Man) มีร่องรอยของการใช้ประโยชน์จากป่าดิบอันอุดมสมบูรณ์ของเส้นศูนย์สูตร อันมีพันธุ์ไม้ไผ่และไม้เถานานาชนิดอยู่อย่างหนาแน่นมานานกว่า 8 แสนปีที่แล้ว แต่ในช่วงเวลาเริ่มแรกนั้น ยังไม่มีการแปรรูปโดยการจักสาน (Wickering)  แต่ในช่วงเวลาต่อมาไม่นานนัก นักวิชาการเชื่อว่าสมัยของยุคน้ำแข็งไพลสโตซีน ในระหว่าง 5 แสนปีจนถึง  10,000 ปี ที่แล้ว มนุษย์ได้มีพัฒนาการเริ่มต้นอย่างหยาบ ๆ ในการแปรรูปจักสาน พันธุ์ไผ่ หวายและไม้เถาต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ก่อนการพัฒนาเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผา   หลักฐานจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียของลุ่มแม่น้ำไทกรีส – ยูเฟรตีส  อายุกว่า 5,000 – 6,000 ปี แสดงให้เห็นร่องรอยของการจักสานเป็นครั้งแรกปรากฏเป็นรอยพิมพ์บนเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเกิดจากการไล้ดินเหนี่ยวลงในเครื่องจักสาน เมื่อดินเหนียวแข็งตัวจากการตากแสงแดดจึงนำไปเผาไฟ ในอุณหภูมิต่ำ

    หลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทย มีร่องรอยการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้เขตร้อนนานาชนิดทั่วภูมิภาค มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 6,000 ปีที่ผ่านมา จากหลักฐานการเข้าเดือยของเครื่องมือหินประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องมือหินแบบมีบ่า ยึดเข้ากับรูไม้ที่เจาะไว้(ทั้งทางตรงด้านบน และทางขวาง)หลายประเภทรวมทั้งไม้ไผ่ มีการจักสานหวายหรือไม้เถาพร้อมกับการใช้ยางไม้เพื่อยึดเหนี่ยวเครื่องมือให้แข็งแรง การพบร่องรอยการใช้ไม้ไผ่เพื่อเป็นเครื่องมือตัดหิน ทำกำไร โดยปั่นแกนให้หมุนด้วยความเร็ว จนไปกัดเซาะหินเป็นร่อง เป็นรูกำไร พบหลักฐานเป็นร่องรอยของหินที่ชาวบ้านเรียกว่า ”หินงบน้ำอ้อย” ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว และยังไม่ทำไม่เสร็จจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีทั่วประเทศ รวมถึงหลักฐานร่องรอยของรูเสาไม้ไผ่กลวงในแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่พักชั่วคราว หรือเป็นแหล่งฝังศพ

             หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของเครื่องจักสานในประเทศไทยมีอายุกว่า 4,000 ปี สานเป็นลายขัดสอง พบในถ้ำแห่งหนึ่งของอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี


    ภาพ : ร่องรอยการจักสานบนภาชนะดินเผา บ้านเชียงอุดรธานี

    แก้ไขเมื่อ 04 พ.ค. 50 12:05:19

     
     

    จากคุณ : วรณัย - [ 4 พ.ค. 50 12:02:52 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom