หลายครั้งที่ประวัติศาสตร์ไม่สามารถอธิบายเรื่องราวที่ไม่ได้จดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในสมัยที่ประวัติศาสตร์ยังไม่กำเนิด ผู้คนมากมายก็ได้อาศัยอยู่ในอุษาคเนย์มานานแล้ว ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นการศึกษาทางวิชาการและมีการขุดค้นอย่างถูกต้อง เปิดเผยให้เห็นเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์มากมาย แต่นั่นเป็นเพียงส่วนน้อยของเรื่องจริง
มีแหล่งโบราณคดีมากมายกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ถูกทำลายจากการลักลอบขุดหาวัตถุโบราณอันทรงคุณค่า จากแหล่งฝังศพที่มีกระจัดกระจายไปทั่วทุก"ลุ่มน้ำ"
ผมเคยพยายามอธิบายพัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรมที่เริ่มต้นมาจากลุ่มน้ำในห้องประวัติศาสตร์แห่งนี้ และถูกปรามาสและว่ากล่าว เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว
ลายแทงของลุ่มน้ำและการตั้งถิ่นฐาน มันคือเส้นทางไปสู่ขุมทรัพย์ของผู้สะสมวัตถุโบราณทั่วโลก
ผมต้องเรียนรู้จากความ"จริง" ในภาคสนาม ติดตามและพยายามทำความเข้าใจเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่นิยมสะสมวัตถุโบราณ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ความจริงที่นักวิชาการ ไม่อยากพูดถึง และพยายามอธิบายโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์จากมุมของตนที่มีอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นกรณีหลุมศพเล็ก ๆ ที่ดอนตาเพชร ก็ถูกนำมาอธิบายสุวรรณภูมิเสียใหญ่โต ทั้ง ๆ ที่วัตถุโบราณชิ้นสำคัญที่จัดแสดงอยู่แล้วอธิบายว่ามาจากดอนตาเพชรนั้น ที่จริงมาจากลพบุรี
จากมุมมืด ที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาและเก็บภาพออกมาได้มากมาย ทำให้ผมรู้ความจริงว่า " หากคุณจะเข้าใจใครอย่างถ่องแท้ คุณต้องเป็นใครคนนั้นให้ได้เท่านั้น "
ส่วนหนึ่งของภาพที่นำมาแสดง ขอสงวนสิทธิห้ามใช้เพื่อการใด ๆ ทั้งสิ้น
ภาพแรก เป็นภาพของลูกปัดขนาดความยาว 7 นิ้ว ทรงบูมเบอแรง อายุประมาณ 2,000 ปี จากห้วยเขว้า สระโบสถ์ ลพบุรี
"..... การผลิตลูกปัด Etched Beads หรือลูกปัดขีดเส้นสี เริ่มขึ้นเมื่อราว 3,500 ปีที่อารยธรรมของหุบเขาสินธุของอัฟกานิสถานเช่นเดียวกัน ลูกปัดดังกล่าวจะมี 2 กรรมวิธี คือ ในยุคแรก ๆ ของการผลิตลูกปัดขีดเส้นสี ใช้กรรมวิธีในการ ขีดสกัด (Etching) ลงไปบนลูกปัดทำให้เกิดเป็นร่องหินและเติมสารเคมีผสมบางตัวที่ให้สีขาวและสีดำ ลงไปบนเส้นที่ขีดสกัดนั้น พร้อมกับนำหินอะเกตไปผ่านกระบวนการหุงน้ำตาลหรือกรดซัลฟูลิคอีกที เป็นกรรมวิธีเริ่มแรกและเก่าแก่ที่สุดของการผลิตลูกปัดขีดเส้นสีขาว นอกจากนี้ยังปรากฏการขีดเส้นสีดำ ลงบนหินโอนิกส์สีขาวหรือหินคาลซีโดนี ที่โดนกรดซัลฟูลิคทำให้กลายเป็นสีขาวทั้งเม็ด ต่อมาอีกประมาณ 500 ปี จึงเกิดกรรมวิธีทางเคมีโบราณในการใช้กรดโซดาเขียนไปบนลูกปัดอะเกตที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการความร้อนหรือหุง ขีดลายตามความพอใจของผู้สร้างสรรค์งาน ตัวกรดโซดาจะซึมลงเฉพาะผิวหน้าของลูกปัด เมื่อผ่านกระบวนการหุงแล้ว จะปรากฏสนิมหินสีขาวบนเนื้อสีดำหรือสีส้มแสด(ในกรณีที่ใช้หินคาเนเลี่ยน) สีขาวจะเด่นชัดหรือไม่ก็จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของกรดซัลฟูลิค
กรรมวิธีที่สองอยู่ในช่วงประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว การผลิตลูกปัดขีดเส้นสีจะใช้แค่ขี้ผึ้งผสมกรดโซดาหรือสารเคมีบางอย่างติดทับไว้บนพื้นผิวที่ต้องการสร้างลวดลายก่อนจะนำไปหุงกับกรดน้ำตาลหรือหุงเฉพาะความร้อน คล้าย ๆ กับการทำลายผ้าบาติกในปัจจุบัน กรรมวิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเอเซียใต้ ทั้งยังแพร่กระจายตัวออกไปสู่ พุกาม ธิเบตและเขตวัฒนธรรมหิมาลัยในเวลาต่อมา
ในบรรดาลูกปัดขีดเส้นสีขาว Etched Beads ลูกปัดสีส้ม ดำ ขีดเส้นขาว เป็นลูกปัดที่หาได้ยากและน่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางความเชื่อในสมัยโบราณ เนื่องจากมีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม มีจำนวนน้อยและหายาก ทั้งยังคงปรากฏความเชื่อสืบเนื่องมาในเขตเอเซียใต้อย่างชัดเจน ในเรื่องของพลัง อำนาจเหนือธรรมชาติ จึงเชื่อได้ว่าลูกปัดขีดเส้นสีแบบดังกล่าวเป็นตัวแทนแสดงสถานะอันสูงส่งทางสังคมและอำนาจวาสนาของผู้ครอบครองอย่างแน่นอน ซึ่งในเวลาต่อมา ลูกปัดส้มดำขีดขาวรวมทั้งลูกปัดลายขีดเส้นสีขาวแบบโซดากัดผิวได้กระจายตัวเข้าสู่ธิเบตและเทือกเขาหิมาลัยกลายมาเป็นลูกปัดที่ทรงคุณค่าในโลกแห่งอำนาจเหนือธรรมชาติที่เราเรียกว่า ซีบรีซ (dZi Beads) หรือจุงซี ซึ่งนั่นก็คือลูกปัดมนต์ตา (Magical Eye Beads)อีกประเภทหนึ่ง มีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นขีดขาว เป็นจังหวะลวดลายเฉพาะ มีวงกลมเป็นความหมาย ตา ตั้งแต่ 1 12 ตา ลูกปัดซีบรีซแบบนี้ เป็นที่รู้จักกันดีของผู้ที่นิยมและชื่นชอบในลูกปัดโบราณทั่วโลก....."
แก้ไขเมื่อ 05 พ.ค. 50 08:21:03