ความคิดเห็นที่ 20
ต่อจาก คห.๑๖ นะครับ
ปี ๑๙๔๘
ฝรั่งเศสเริ่มหาทางเอาชนะฝ่ายเวียดมินห์ทางการเมือง โดยการตั้งรัฐบาลของคนเวียดนามเองขึ้นที่ไซ่ง่อน นำโดยจักรพรรดิ เบาได๋ รัฐบาลดังกล่าวมีอำนาจที่จะปกครองกันเองโดยอยู่ภายใต้สหภาพฝรั่งเศส (French Union of nations, จัดตั้งขึ้นโดยรวบรวมประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในลักษณะเดียวกับกลุ่มประเทศเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร)
สองปีก่อนหน้านั้น ฝรั่งเศสได้เนรเทศโฮจิมินห์ ออกจากเวียดนาม จักรพรรดิ เบาได๋ เองก็เช่นกันอาจถูกเนรเทศได้หากไม่ร่วมมือกับฝรั่งเศส แต่จักรพรรดิ เบาได๋ ไม่มีกำลังทหารของตนเองทำให้ฝรั่งเศสมองว่าเป็นบุคคลที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับฝรั่งเศส
ปี ๑๙๔๙
รัฐบาลฝรั่งเศสให้การรับรองอธิปไตยของรัฐเวียดนาม (State of Vietnam) ภายใต้การนำของเบาได๋ โดยฝรั่งเศสยังคงควบคุมด้านการทหารและการต่างประเทศของเวียดนาม ในฐานะเป็นรัฐอิสระในสหภาพฝรั่งเศส เวียดมินห์เองก็เร่งจัดตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้นมาเช่นกัน เพื่อให้เป็นรัฐอิสระที่แท้จริง ไม่ใช่ “รัฐอิสระ” สไตล์ฝรั่งเศส ในเวลาต่อมา, เพื่อให้รัฐบาลของเบาได๋ มั่นคงขึ้น ฝรั่งเศสจึงได้จัดตั้งกองทัพเวียดนาม (Vietnam People's Army, หรือรับรู้กันว่า เป็นกองทัพแห่งชาติเวียดนาม) แต่กองทัพนี้ยังคงอยู่ใต้การบังคับบัญชาของนายทหารฝรั่งเศส กองทหารนี้ถูกส่งไปประจำในพื้นที่ที่สถานการณ์เงียบสงบ ในส่วนอื่นๆ นั้นในกลุ่มชนชาวเวียดนามเองก็ยังมีกลุ่มติดอาวุธอิสระที่ฝังตัวอยู่ในเมือง เช่นพวกเคาได๋ (Cao Dai), โหเห่า (Hoa Hao) และบินห์ ซูเยน (Binh Xuyen)
ในปี ๑๙๔๙ นี้ เมาเซตุง สามารถพิชิตพรรคก๊กมินตั๋งได้สำเร็จ ทำให้พวกเวียดมินห์ได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกจากจีนอย่างเต็มที่ มีการลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ผ่านเข้ามาทางชายแดนจีน-เวียดนาม
ฝรั่งเศสยังให้อิสรภาพแก่อีก ๒ ชาติในอินโดจีนคือ ราชอาณาจักรลาวและกัมพูชา
ปี ๑๙๕๐
สหรัฐอเมริกาให้การรับรองรัฐบาลเวียดนามใต้ ในขณะที่ชาติตะวันตกอีกหลายชาติในยุโรปไม่ให้การรับรองเพราะมองว่า เป็นรัฐบาลหุ่นของฝรั่งเศส สหรัฐฯ เริ่มให้เงินช่วยเหลือทางทหารแก่ฝรั่งเศสสำหรับซื้ออาวุธและที่ปรึกษาทางทหาร ในขณะที่เวียดมินห์ได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนอย่างไม่จำกัดเช่นกัน ทำให้นายพล โว เหงียน เกี๋ยบ จัดตั้งกองกำลังของเขาขึ้นอีกครั้งได้ถึง ๕ กองพลใหญ่ คือ กองพลที่ ๓๐๔, ๓๐๘, ๓๑๒, ๓๑๖ และกองพลที่ ๓๒๐
สงครามเริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อนายพล โว เหงียน เกี๊ยบ เริ่มโจมตีกองทหารฝรั่งเศสที่ตั้งฐานตลอดแนวชายแดนเวียดนาม-จีน ในเดือนกุมภาพันธ์ ๑๙๕๐ (ยุทธการ Le Hong Phong I) เวียดมินห์สามารถจับทหารฝรั่งเศสได้ ๑๕๐ นาย ที่ไลเค (Lai Khe) ในตังเกี๋ย วันที่ ๒๕ พฤษภาคม, เวียดมินห์ประสบความล้มเหลวในการโจมตีกองทหารฝรั่งเศสที่เคาบัง (Cao Bang) ที่มีทหาร ๔,๐๐๐ นาย ส่วนใหญ่เป็นเวียดนามที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของทหารฝรั่งเศส เกี๊ยบ เข้าโจมตีเคาบังและดองเค (Dong Khe) อีกครั้ง(*ดูรายละเอียดในเรื่อง การรบชิงเส้นทางสาย ๔)ในวันที่ ๑๕ กันยายน(ยุทธการ Le Hong Phong II) ในที่สุด ดองเค ถูกยึดได้ในวันที่ ๑๘ กันยายน และเคาบัง ถูกยึดได้ในวันที่ ๓ ตุลาคม
เมืองต่อมาที่ถูกเวียดมินห์โจมตีคือ ลางซอน (Lang Son) ที่นี่มีกองทหารต่างด้าวของฝรั่งเศส (French Foreign Legion) ที่แข็งแกร่งประจำอยู่ ๔,๐๐๐ คน ทหารฝรั่งเศสที่ถอนตัวตามถนนสาย ๔ (Route 4) ถูกเวียดมินห์ซุ่มโจมตีตลอดเส้นทาง ฝรั่งเศสต้องส่งกองหนุนจากทัท เค (That Khe) มาช่วย และยังส่งพลร่ม ๑ กองพัน กระโดดลงที่ทางใต้ของดองเค เพื่อโจมตีตอบโต้และทำลายเวียดมินห์ หลังลางซอนถูกโจมตีหนึ่งสัปดาห์ก็แตกในวันที่ ๑๗ ตุลาคม กองทหารฝรั่งเศสพากันถอนตัวมาที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง จากทหารกว่า ๑๐,๐๐๐ นาย เสียชีวิตไป ๔,๘๐๐ นาย อีก ๒,๐๐๐ นาย บาดเจ็บ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกทำลายหรือถูกยึดไปในระหว่างการรบมีปืนใหญ่ไป ๑๓ กระบอก, เครื่องยิงลูกระเบิด ๑๒๕ กระบอก, รถบรรทุก ๔๕๐ คัน, ปืนกล ๙๔๐ กระบอก, ปืนกลมือ ๑,๒๐๐ กระบอก และปืนเล็กยาว ๘,๐๐๐ กระบอก
จีนและสหภาพโซเวียตรับรองโฮจิมินห์ เป็นผู้ปกครองเวียดนามที่ถูกต้อง และยิ่งส่งอาวุธยุทโธปกรณ์สนับสนุนเวียดนามมากยิ่งขึ้น ในปี ๑๙๕๐ นี้เป็นครั้งแรกที่ระเบิดนาปาล์มถูกนำมาใช้ในเวียดนาม (โดยกองทัพอากาศฝรั่งเศส ที่ได้รับอาวุธจากอเมริกา)
ตอนต่อไปเป็นเรื่องของการรบชิงเส้นทางสายที่ ๔ ครับ
จากคุณ :
hummel
- [
20 พ.ค. 50 13:09:41
]
|
|
|