ความคิดเห็นที่ 2
การวางแผนและการเตรียมการ
แผนการบุกเกาะอังกฤษของพระเจ้าฟิลิป คือให้ ดยุคแห่งปาร์มา ซึ่งบัญชาการกองทหารสเปนใน เนเทอร์แลนด์อยู่ในเวลานั้นรวบรวมกำลังเตรียมบุกอังกฤษทางด้านทะเลเหนือ แถวๆ เคนท์ แต่หากว่า การสนธิกำลังระหว่างทัพบกกับทัพเรือของดยุคแห่งเมดินา-ซิโดเนีย เกิดผิดพลาด ให้ทัพเรือเข้ายึดพื้นที่แถบโซเลนท์ (ทางส่วนใต้สุดของเกาะอังกฤษ) แต่ดยุคแห่งปาร์มา นั้นคิดว่าพระเจ้าฟิลิป มีพระประสงค์เพียงให้เตรียมลำเลียงทหารข้ามช่องแคบอังกฤษ ดังนั้นจึงเตรียมเรือท้องแบนสำหรับลำเลียงทหารเป็นหลัก ดังนั้นกองเรืออาร์มาดา ซึ่งบัญชาการโดย ดยุคแห่งเมดินา-ซิโดเนีย ที่จะเดินทางมาจากลิสบอน และนัดพบกับกองทัพของ ดยุคแห่งปาร์มา จึงมีหน้าที่เพียงคุ้มกันการลำเลียงพลข้ามช่องแคบเท่านั้น ปัญหาที่สำคัญของกองเรือสเปนคือ ไม่มีทหารที่มีความชำนาญด้านการเรือ แถมพระเจ้าฟิลิป ยังทรงสั่งการแบบตายตัวและละเอียดยิบ ทำให้ยากจะปฏิบัติได้ในกรณีที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ต่างกับทางฝ่ายอังกฤษที่พระนางเจ้าเอลิซาเบท ทรงมอบหมายอำนาจการบังคับบัญชาการรบให้กับแม่ทัพนายกองเต็มที่
แผนการบุกของกองเรืออาร์มาดายังมีปัญหาจากการขาดการเตรียมการและการประสานงานระหว่างแม่ทัพทั้งสองคือ ดยุค แห่งเมดินา-ซิโดเนีย และดยุคแห่งปาร์มา เช่น ปัญหาการหาที่จอดเรือซึ่งต้องลึกและใหญ่พอกับการจอดกองเรือขนาดใหญ่ ทำให้พระเจ้าฟิลิป เสด็จไปทอดพระเนตรชายฝั่งยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือด้วยพระองค์เอง แต่ปัญหาอีกเรื่องคือ จุดจอดเรือดังกล่าวไกลเกินกว่าที่ดยุคแห่งปาร์มา จะนำกองทัพบุกเกาะอังกฤษได้ตามแผน
ในเดือนมกราคม ๑๕๘๖ การเตรียมการของกองเรืออาร์มาดา ก็เสร็จเรียบร้อย กองเรือได้ไปรวมกำลังกันที่คาดิซ แต่กำหนดการออกเรือต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากในเดือนเมษายน ปี ๑๕๘๗ ฟรานซิส เดรค ได้เข้าโจมตีกำลังทางเรือของสเปนที่อยู่ในคาดิซ เผาเรือสเปนไป ๓๗ ลำและขึ้นบกไปทำลายคลังเสบียงของสเปนได้เป็นจำนวนมาก เรือของสเปนที่เหลือต้องออกทะเล กองเรืออาร์มาดารวมกำลังกันอีกครั้งที่ลิสบอน
แม้ว่า กองเรืออาร์มาดาจะมีกำลังมากมายดูน่าเกรงขาม คือมีเรือรบถึง ๑๓๐ ลำ ทหารเรือ ๑๐,๐๐๐ คน และทหารบกอีก ๒๐,๐๐๐ คน แต่เรือของสเปนเหล่านี้ก็มีจุดอ่อนที่ทั้งใหญ่และเชื่องช้า ผู้บัญชาการกองเรือคือ ดยุค แห่งเมดินา-ซิโดเนีย ก็มีแต่ลูกเรือที่ขาดประสบการณ์ในการรบทางทะเล ทหารสเปนเก่งแต่รบทางบก
ทางฝ่ายอังกฤษ, พระนางเจ้า เอลิซาเบท ทรงระดมกำลังตั้งเป็นกองทัพเรือขึ้น ทั้งเกณฑ์และทั้งต่อเรือสินค้าติดอาวุธเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมแล้วได้เรือ ๘๐ ลำ มีผู้บัญชาการคือ นายพลเรือ ลอร์ด โฮเวิร์ด แห่งเอฟฟิงแฮม เรืออังกฤษแม้จะเล็กกว่าเรือของสเปน แต่ก็มีความคล่องตัว และยังมีทั้งนายเรือและลูกเรือที่มีทั้งประสบการณ์และความชำนาญอย่างนายพลเรือ ลอร์ด โฮเวิร์ด, ฟรานซิส เดรค และจอห์น ฮอว์กินส์ โดยกองเรืออังกฤษจอดรอฟังข่าวของกองเรือสเปนอยู่ที่พลีมัท
จากคุณ :
hummel
- [
23 พ.ค. 50 08:41:23
]
|
|
|