ความคิดเห็นที่ 16
วิเคราะห์
ในการวิเคราะห์นี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้เรียบเรียงได้ประเมินโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น เพื่อให้มีความเป็นไปได้มากที่สุด
สถานการณ์ทั่วไป
๑. ยุทธนาวีที่เกาะช้างเป็นส่วนหนึ่งของการรบระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ในส่วนของกำลังทางบก, ฝ่ายฝรั่งเศสกำลังเพลี่ยงพล้ำและเริ่มสูญเสียเมืองสำคัญหลายเมืองให้กับฝ่ายไทย ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายฝรั่งเศสไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประเทศแม่ เพราะขณะนั้นถูกฝ่ายเยอรมันยึดครอง และรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ในขอบเขตจำกัด การสนับสนุนปฏิบัติการที่อยู่ในประเทศอาณานิคมจึงไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่
๒. การปฏิบัติการทางเรือดังกล่าวในช่วงแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเปิดแนวรุกทางด้านชายฝั่งทะเล เนื่องจากฝรั่งเศสมีแผนที่จะส่งกำลังเข้ายกพลขึ้นบกในวันที่ ๑๖ มกราคม กำลังทางเรือจะเป็นกำลังสนับสนุนการยกพลขึ้นบก ทั้งนี้ได้มีการวางแผนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑๓ มกราคม แต่เนื่องจากความล่าช้าในการอนุมัติแผนการณ์ดังกล่าวและการรอคำสั่งจากกระทรวงทหารเรือที่ปารีส อีกทั้งการตีโต้ของกำลังทางบกฝรั่งเศสเกิดเพลี่ยงพล้ำ ทำให้ฝรั่งเศสต้องยกเลิกแผนการยกพลขึ้นบก การปฏิบัติการทางเรือทำได้เพียงแสดงกำลังเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวฝรั่งเศสที่ยังคงอยู่ในอินโดจีน ทั้งนี้เนื่องจาก
๒.๑) กำลังทางบกของฝรั่งเศสกำลังอยู่ในฐานะเพลี่ยงพล้ำและไม่สามารถรับการสนับสนุนจากประเทศแม่ได้
๒.๒) กำลังทหารของฝรั่งเศสไม่มีศักยภาพพอที่จะทำสงครามขั้นแตกหักกับฝ่ายไทยได้ เนื่องจากกำลังทหารของประเทศไทยขณะนั้นมีความพร้อมทั้งทางด้านกำลังพล การฝึก อาวุธยุทโธปกรณ์ นายทหารของไทยหลายนายได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก และยังมีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยหลายอย่าง ดังนั้นการทำการรบกับประเทศไทยโดยใช้เพียงกำลังของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในอินโดจีนเท่านั้นโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศแม่จึงไม่อาจทำการเอาชนะฝ่ายไทยได้ (พิจารณาได้จากการรบในเวียดนามของกำลังฝ่ายฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศแม่อย่างเต็มที่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะฝ่ายเวียดมินห์ได้)
๒.๓) ในด้านกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศ, ถือได้ว่า ฝรั่งเศสมีความได้เปรียบฝ่ายไทย เพราะมีกำลังที่เหนือกว่า แต่กองกำลังทั้งสองไม่มีขีดความสามารถที่จะทำการยึดครองได้ (แตกต่างจากสมัย พ.ศ. ๒๔๓๖ ที่ฝรั่งเศสสามารถใช้เรือรบเข้ามาจอดข่มขู่ฝ่ายไทยให้ยอมยกดินแดนได้) ดังนั้นฝรั่งเศสจึงใช้กำลังทั้งสองเข้าทำการในลักษณะจู่โจมต่อฝ่ายไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวฝรั่งเศสที่ยังอยู่ในอินโดจีน
๒.๔) จากบันทึกการรบของฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่า นาวาเอก เบรังเยร์ ได้ประเมินความได้เปรียบเสียเปรียบจากรายงานการลาดตระเวนทางอากาศ แล้วเลือกที่จะโจมตีกำลังทางเรือของไทยที่น้อยกว่าซึ่งจอดอยู่ที่เกาะช้าง โดยฉวยโอกาสที่เรือไทยไม่พร้อม ซึ่งฝรั่งเศสทราบดีว่า เรือของไทยส่วนใหญ่จะไม่สามารถออกเรือได้เพราะเรือตอร์ปิโดต้องใช้เวลานานกว่าจะออกเรือได้ สิ่งที่ฝรั่งเศสกังวลคือ เรือรักษาฝั่งซึ่งใช้เครื่องดีเซล ซึ่งออกเรือได้ทันที อีกประการที่เห็นได้ว่า ขวัญและกำลังใจของทหารเรือฝรั่งเศสไม่สู้จะดีนักคือ ตอนที่ฝ่ายไทย(เรือตอร์ปิโดใหญ่) ยิงมายังเรือฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสไม่นึกว่า การแอบเข้ามาของกองเรือฝ่ายตนจะไม่ถูกเปิดเผย แต่เป็นฝ่ายถูกยิงก่อน แต่ถึงอย่างไร เรือฝ่ายตนก็มีมากกว่า
๒.๕) ชาวฝรั่งเศสในอินโดจีนขณะนั้นถือได้ว่า มีสภาพขวัญและกำลังใจตกต่ำเพราะ ประเทศแม่ถูกเยอรมันยึดครอง ทางด้านเหนือกำลังของญี่ปุ่นก็กำลังรุกรานจีนและยังมีทีท่าที่จะเข้ายึดครองอินโดจีนด้วย และในอินโดจีนเองยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของชาวเวียดนาม ดังนั้นการสร้างขวัญและกำลังใจคือ ชัยชนะ เพื่อให้เห็นว่า กำลังของฝรั่งเศสในอินโดจีนยังมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะ ปกป้องประชาชนและทรัพย์สินของชาวฝรั่งเศสได้
ทางยุทธศาสตร์ ถือว่า ฝ่ายไทยได้รับชัยชนะ เนื่องจากจุดมุ่งหมายของฝรั่งเศสคือ “ทำลายกำลังทางเรือของฝ่ายไทย” ซึ่งถือว่า ฝรั่งเศสทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น กำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายไทยยังสมบูรณ์ ได้แก่ เรือปืนชายฝั่ง (ศรีอยุธยา ฝ่ายฝรั่งเศสอ้างว่า ถูกทำลายไปด้วย, ร.ล.สุโขทัย และ รัตนโกสินทร์), เรือสรุป (ร.ล.ท่าจีน และแม่กลอง), เรือตอร์ปิโดใหญ่ ถูกทำลายไป ๒ ลำ เหลืออีก ๕ ลำ, เรือตอร์ปิโดเล็ก, เรือดำน้ำ ๔ ลำ
ทางยุทธวิธี ฝ่ายไทยพ่ายแพ้ เนื่องจากต้องสูญเสียเรือทั้งหมดที่เข้าทำการรบ แต่ทั้งนี้เนื่องจาก
๑. ความเสียเปรียบด้านกำลัง กำลังทางเรือของฝรั่งเศส ประกอบด้วยเรือถึง ๕ ลำ แต่ละลำมีความได้เปรียบเรือของฝ่ายไทย ซึ่งฝ่ายไทยมีเพียงเรือ ธนบุรี เท่านั้นที่มีปืนเรือใหญ่กว่าของฝรั่งเศส (แต่ก็ทำการยิงได้ช้ากว่า)
๒. ความเสียเปรียบด้านความพร้อมรบ เรือตอร์ปิโดใหญ่ทั้งสองลำของไทยยังไม่สามารถออกเรือได้ด้วยซ้ำ แม้จะเป็นเพียงหันเรือให้สามารถใช้ตอร์ปิโดได้ก็ตาม เนื่องจากเรือตอร์ปิโดใหญ่ใช้เครื่องจักรกังหันไอน้ำที่ต้องเสียเวลาติดไฟต้มน้ำให้เดือดก่อนที่จะไปเดินเครื่องออกเรือได้ ทำให้เรือไม่สามารถใช้อาวุธที่มีอานุภาพที่สุดคือ ตอร์ปิโด อีกทั้งด้านกำลังพลยังมีการฝึกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับฝ่ายฝรั่งเศส จะเห็นได้จากระหว่างทำการรบ มีความผิดพลาดในการตั้งศูนย์ปืน ๗๕ มม. ของเรือ ธนบุรี ทำให้เสียกระสุนไปเปล่าๆ จำนวนมาก ทั้งนี้น่าจะเกิดจากการจัดการฝึกของทหารเรือที่ขาดแคลนงบประมาณสำหรับการฝึกเป็นสำคัญ
อีกประการหนึ่ง การประสานงานระหว่างเหล่าทัพยังไม่ดีพอ ทำให้ฝ่ายไทยยังไม่สามารถใช้กำลังที่มีอยู่ทำการโต้ตอบอย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก และต้องการการฝึกทั้งในฝ่ายอำนวยการและการฝึกรบร่วมระหว่างเหล่าทัพ ซึ่งในยุคนั้นยังมิมีการฝึกทำนองนี้ แม้ในประเทศซึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจทางทหารอย่างเยอรมันก็ยังมีปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน
๓. ความเสียเปรียบด้านอาวุธ สำหรับปืนเรือขนาด ๗๕ มม. ที่มีอยู่ไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะจมเรือรบขนาดใหญ่ของฝ่ายข้าศึกได้ ส่วนปืน ๒๐๐ มม. ของเรือธนบุรีก็มีเพียง ๔ กระบอก ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากตารางเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่า แม้ว่าปืนจะมีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็ยิงได้ช้ากว่า เรือฝรั่งเศสมีปืนที่ใช้ยิงในเวลานั้นถึง ๒๔ กระบอก เมื่อเทียบกับปืน ๖ กระบอกของเรือตอร์ปิโดใหญ่ ในการปะทะกันครั้งแรก และเทียบกับปืน ๖ กระบอก (ยิงกราบเดียว) ของเรือธนบุรี จะเห็นอำนาจการยิงที่แตกต่างกันมาก
หากพิจารณาจากจำนวนปืนของเรือทั้งสองฝ่ายจะเห็นได้ดังนี้
ฝรั่งเศส ปืน ๑๕๕ มม. ๘ กระบอก, ปืน ๑๓๘ มม. ๖ กระบอก, ปืน ๑๔๕ มม. ๒ กระบอก, ปืน ๑๐๐ มม. ๔ กระบอก, ปืน ๗๕ มม. ๖ กระบอก และหากแบ่งเป็นในลักษณะของการยิงรายกราบ จะมีปืนที่ยิงได้คือ ปืน ๑๕๕ มม. ๘ กระบอก, ปืน ๑๓๓ มม. ๖ กระบอก, ปืน ๑๔๕ มม. ๒ กระบอก, ปืน ๑๐๐ มม. ๔ กระบอก, ปืน ๗๕ มม. ๔ กระบอก
ไทย ปืน ๒๐๐ มม. ๔ กระบอก, ปืน ๗๕ มม. ๑๐ กระบอก และหากแบ่งเป็นในลักษณะของการยิงรายกราบ จะมีปืนที่ยิงได้คือ ปืน ๒๐๐ มม. ๔ กระบอก, ปืน ๗๕ มม. ๘ กระบอก ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จำนวนของปืนแตกต่างกันอย่างมาก
เมื่อพิจารณาถึงอำนาจการยิง โดยคำนวณจากน้ำหนักหัวกระสุนและอัตราการยิงเร็ว รวมกับจำนวนปืนของแต่ละฝ่าย เราจะพบข้อแตกต่างอย่างมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องอำนาจการยิงของเรือ
หากพิจารณาเรือเป็นลำๆ ไป โดยพิจารณาจากกรณีการยิงรายกราบ เราจะได้ว่า
ฝรั่งเศส
๑. เรือลามอตต์ปิเกต์ มีอำนาจการยิงรวม ๑,๔๘๘ กก./นาที/กระบอก
๒. เรือสรุปชั้น ดูมองต์ ดูวิลล์ มีอำนาจการยิงรวม ๔๘๐ กก./นาที/กระบอก/ลำ
๓. เรือสรุป มาร์น มีอำนาจการยิงรวม ๖๒๐ กก./นาที/กระบอก
๔. เรือสรุป ตาฮูร์ มีอำนาจการยิงรวม ๔๖๐ กก./นาที/กระบอก
รวมฝ่ายฝรั่งเศส มีอำนาจการยิง ๓,๕๒๘ กก./นาที
ไทย
๑. เรือ ธนบุรี มีอำนาจการยิงรวม ๑,๖๓๒ กก./นาที/กระบอก
๒. เรือตอร์ปิโดใหญ่ มีอำนาจการยิงลำละ ๑๘๐ กก./นาที/กระบอก
รวมฝ่ายไทยมีอำนาจการยิง ๑,๙๙๒ กก./นาที (ทั้งนี้ยังไม่ได้แยกการรบที่ฝ่ายไทยทำการรบในลักษณะแยกกำลังกัน คือ ครั้งแรกมีเรือตอร์ปิโดใหญ่ ๒ ลำ และครั้งที่สองมีเพียงเรือธนบุรีลำเดียว)
จากคุณ :
hummel
- [
26 พ.ค. 50 09:57:23
]
|
|
|