หลังจากดูกระทู้ต่างๆ ที่ผ่านมา ผมว่า เรื่องของเมียนม่า เพื่อนบ้านของเราดูจะมีเรื่องต่างๆ ให้ชวนติดตามไม่น้อย เราลองมาดูข้อมูลของเมียนม่ากันดีกว่าเพื่อจะทำความเข้าใจเพื่อนบ้านของเราให้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลเหล่านี้ผมได้มาจาก CIA - The World Fact Book 2007 ซึ่งทุกท่านคงรู้จักกันดี ฐานข้อมูลอันนี้ก็มาจาก CIA ซึ่งทำออกมาเผยแพร่และน่าเชื่อถือ เพราะคงรวบรวมมาจากแหล่งทางการของอเมริกัน โดยเฉพาะสถานฑูตอเมริกันที่อยู่ในประเทศต่างๆ
พม่าเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าเราคือ มีพื้นที่ ๖๗๘,๕๐๐ ตร.กม. ในขณะที่เรามีพื้นที่ ๕๑๔,๐๐๐ ตร.กม. เฉพาะผืนแผ่นดินนั้นพม่ามีพื้นที่ ๖๕๗,๗๔๐ ตร.กม. เทียบกับของเราที่มีพื้นที่ ๕๑๑,๗๗๐ ตร.กม.
พม่ามีแนวชายแดนยาว ๕,๘๗๖ กม. เริ่มจากทางตะวันตกมาเลยคือ ติดกับบังคลาเทศ ๑๙๓ กม., อินเดีย ๑,๔๖๓ กม., จีน ๒,๑๘๕ กม., ลาว ๒๓๕ กม. และไทย ๑,๘๐๐ กม. ส่วนของเรามีแนวชายแดนยาว ๔,๘๖๓ กม. คงไม่ต้องพูดถึงว่าติดกับประเทศใด เท่าไหร่ เอาเป็นว่าแนวชายแดนไทยกับพม่ายาว ๑,๘๐๐ กม.
ตรงนี้ผมขอเจาะลงไปว่า เพื่อนบ้านของพม่านอกจากไทยแล้ว ยังมีประเทศใหญ่ๆ อย่างจีนและอินเดีย โดยเฉพาะจีนซึ่งมีประวัติศาสตร์เคยทำศึกกับพม่าอยู่ เหมือนกับเรารบกับพม่า อันนี้เป็นประวัติศาสตร์แบบมีระแวงกันบ้าง ตรงนี้ถ้าเทียบกัน ในประวัติศาสตร์ เราเคยมีปัญหากับญวน และพม่า ทั้งสองประเทศไม่แตกต่างจากเรามากนัก เรียกว่า พอสู้กันได้ แต่อย่างพม่ากับจีนนี่ถือว่าเป็นคู่ชกที่หนักหนาสาหัสอยู่เหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องของภาวะแวดล้อมนะครับ
มาดูแนวชายฝั่งทะเลมั่ง ของพม่ามีแนวชายฝั่งทะเลอันดามันด้านเดียวยาว ๑,๙๓๐ กม. ของเรามี ๒ ฟาก ส่วนใหญ่อยู่ทางอ่าวไทย ตอนนี้มาดูว่า ในอดีตพม่าไม่สนใจเรื่องของทะเลมากนัก เพราะปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความไม่สงบภายในประเทศมากกว่า ตรงนี้ดูได้จากกองทัพเรือพม่า ในอดีตภารกิจหลักคือ การช่วยสนับสนุนกองทัพบกในการปราบปรามชนกลุ่มน้อย ดังนั้นกองทัพเรือพม่าจึงมีเรือใช้ในลำน้ำเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการลำเลียงทหารบกไปปราบปรามชนกลุ่มน้อย มีการยิงสนับสนุนจากเรือรบเป็นบางครั้ง แต่เมื่อเริ่มมีการพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในทะเล ภารกิจของกองทัพเรือพม่าจึงเปลี่ยนไป มีการจัดหาเรือที่ใช้ในทะเลมากขึ้น ยิ่งทางการจีนมีนโยบายจะเชื่อมสัมพันธไมตรีลงมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางการจีนมีข้อตกลงกับพม่าโดยการตั้งสถานีเรดาร์บนเกาะของพม่าในทะเลอันดามัน มีการส่งมอบเรือรบ ตั้งแต่เรือที่ออกทะเลลึกได้อย่างเรือฟริเกต และเรือยนต์เร็วโจมตีติดอาวุธนำวิถีให้พม่า ซึ่งตรงนี้เราไม่ต้องกังวลมากนะครับ เพราะพี่เบิ้มในทะเลแถบนี้คือ อินเดีย ภารกิจหลักๆ ที่พม่าคงสนใจเวลานี้คือ การคุ้มครองแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในทะเล อย่างฐานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ
เพราะเรื่องของการประมงนั้นมีวิธีการหากินโดยการเก็บค่าต๋งจากเรือประมงที่ผ่านน่านน้ำ ที่เราเห็นถูกจับไปก็จะเป็นพวกเรือประมงไทยที่กะ "ลักไก่" มากกว่า
พื้นที่ของพม่าส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีพื้นที่เพาะปลูกราว ๑๔.๙% ของพื้นที่ ในขณะที่ของเรามี ๒๗.๕% ของพื้นที่
ประชากรของพม่าปัจจุบันมีอยู่ ๔๗ ล้านคน อยู่ในวัยทำงานเป็นชายและหญิง พอๆ กันคือ ๑๖ ล้านคน ส่วนของบ้านเราปัจจุบันมีประชากร ๖๕ ล้านคน อยู่ในวัยทำงานเป็นชาย ๒๒.๕ ล้านคน และหญิง ๒๓ ล้านคน เราเยอะกว่านะครับ
มาดูสัดส่วนของแรงงานบ้าง พม่ามีแรงงาน ๒๘.๔๙ ล้านคน สัดส่วนแรงงานในภาคเกษตร/อุตสาหกรรม/บริการ เป็น ๗๐-๗-๒๓ เทียบกับของเราที่มีแรงงานอยู่ ๓๖.๔๑ ล้านคน สัดส่วนแรงงานในภาคเกษตร/อุตสาหกรรม/บริการ เป็น ๔๙-๑๔-๓๗
ตรงนี้บอกอะไรครับ พม่ามีแรงงานอยู่ ๒๘.๔๙ ล้านคน เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรมถึง ๗๐% อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเพียง ๗% และภาคบริการอีก ๒๓% ส่วนของเรามีแรงงานมากกว่าคือ ๓๖.๔๑ ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม ๔๙% ภาคอุตสาหกรรม ๑๔% และภาคบริการอีก ๓๗% คนว่างงานของพม่าอยู่ที่ ๑๐% ส่วนของเราอยู่ที่ ๒.๑% และเมื่อดูที่โครงสร้างรายได้ประชากรที่พม่ามีคนจน(ตามเกณฑ์ของฝรั่ง)อยู่ถึง ๒๕% ในขณะที่ของเราอยู่ที่ ๑๐% ซึ่งตรงนี้บอกได้ว่า สัดส่วนโครงสร้างทางสังคมของเรากับของพม่าแตกต่างกัน ดังนั้นการรับรู้และเข้าใจปัญหานอกเหนือจากปัญหาปากท้องจึงแตกต่างกัน
รายได้ประชาชาติของพม่ากับเราแตกต่างกันมาก ของพม่ามีรายได้ประชาชาติอยู่ที่ ๘๓.๘ พันล้านดอลล่าร์ ส่วนของเราอยู่ที่ ๕๘๕.๙ พันล้านดอลล่าร์ อันนี้เป็นตัวเลขปีที่แล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าอยู่ที่ ๒.๖% ของเราอยู่ที่ ๔.๘% รายได้ประชากรต่อหัวของพม่าอยู่ที่ ๑,๘๐๐ ดอลล่าร์/ปี ส่วนของเราอยู่ที่ ๙,๑๐๐ ดอลล่าร์/ปี
จริงอยู่ เราอาจบอกว่า คนพม่าอยู่กันด้วยความพอเพียง ซึ่งอันนั้นก็จริง แต่ก็หมายถึงพอเพียงทางการเมืองด้วย คือใครจะขึ้นมาปกครองประเทศยังไงก็ช่าง คนส่วนใหญ่ยังไม่สนใจ เพราะสังคมเกษตรกรรมมักจะเป็นอย่างนั้น
ซึ่งเมื่อเรามาดูองค์ประกอบทางด้านภูมิหลังทางการเมืองแล้ว เราจะพบว่า พัฒนาการทางการเมืองของเราก้าวหน้ากว่าเยอะ หลัง ๑๔ ตุลา ๑๖ เราเริ่มมีพัฒนาการทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะก้าวหน้าขึ้นมากในช่วงหลังพฤษภาทมิฬ ส่วนพม่ามีการเคลื่อนไหว (คล้ายๆ กับของเราปี ๒๕๑๖) ในปี ๑๙๘๘ หรือพ.ศ. ๒๕๓๑ จนมามีการเลือกตั้งในปี ๒๕๓๓ นางอองซาน ซู จวี ได้รับเลือกตั้ง แล้วก็ถูกรัฐบาลกักตัวไว้ในบ้านพักเลย การเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกจัดการเรียบร้อย ซึ่งคงหนักกว่าสภาพที่บ้านเราเจออยู่ทุกวันนี้
ตรงนี้ลองมาดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมั่ง สิ่งที่นิยมทำในประเทศเผด็จการคือ การปลุกกระแสความรักชาติ ในอดีต พม่าเคยรบกับจีน ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น ก่อนที่จะตกมาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ต้องยอมรับว่า ประวัติศาสตร์ตรงนี้ทำให้พม่าถือว่า ตนเองไม่เป็นสองรองใคร
ลองมาดูเรื่องอื่นบ้าง คือเรื่องของเชื้อชาติ พม่ามีคนหลายเชื้อชาติคือ เป็นพม่า ๖๘%, ฉาน ๙%, กะเหรี่ยง ๗%, คะฉิ่น ๔%, จีน ๓%, อินเดีย ๒%, ม้ง ๒% อื่นๆ ๕% ส่วนของเราเป็นไทย ๗๕%, จีน ๑๔% และอิ่นๆ ๑๑% ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่า ของเรามีความเป็นปึกแผ่นมากกว่า
เรื่องการนับถือศาสนา ของพม่ามีผู้นับถือศาสนาพุทธ ๘๙%, คริสเตียน ๔%, มุสลิม ๔% ส่วนของไทยมีผู้นับถือศาสนาพุทธ ๙๔.๖%, มุสลิม ๔.๖% คริสต์ ๐.๗% ดังนั้นโครงสร้างทางสังคมของพม่ากับเราจึงต่างกันมาก
มาดูการสื่อสารมั่ง, ถ้าเปรียบเทียบในเรื่องของโทรศัพท์ ปี ๒๐๐๕ ขณะที่เรามีโทรศัพท์บ้าน ๗ ล้านเลขหมาย มีมือถือ ๒๗ ล้านเลขหมาย พม่ามีโทรศัพท์บ้าน ๔๗๖,๐๐ เลขหมาย มีมือถือ ๑๘๓,๔๐๐ เลขหมายเท่านั้น
ในขณะที่บ้านเรามีสถานีวิทยุ AM ถึง ๒๐๔ สถานี, FM ๓๓๔ สถานี, วิทยุคลื่นสั้นอีก ๖ สถานี สถานีทีวีทุกรูปแบบทั้งฟรีทีวี, เคเบิ้ล และทีวีผ่านดาวเทียม ซึ่งเรามีถึง ๑๑๑ สถานี ส่วนพม่ามีสถานีวิทยุ AM และ FM อย่างละ ๑ สถานี สถานีโทรทัศน์ ๒ สถานี มีผู้ใช้อินเตอร์เนทเพียง ๗๘,๐๐๐ ราย ในขณะที่ของเรามีผู้ใช้อินเตอร์เนทถึง ๘.๔ ล้านราย
งบประมาณทางทหารของพม่าในปี ๒๕๔๘ อยู่ที่ ๒.๑% ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่ของเราอยู่ที่ ๑.๘%
แถมนิดนึง เรื่องของการทำการค้า พม่านำเข้าจากจีน ๒๙%, ไทย ๒๒% สิงคโปร์ ๑๘% และมาเลเซีย ๗.๖% ส่วนการส่งออก ลูกค้ารายใหญ่ของพม่าคือ ไทย ๔๔% (ส่วนใหญ่คือ ก๊าซธรรมชาติ), รองลงมาคือ อินเดีย ๑๒%, จีน ๖.๗% และญี่ปุ่น ๕%
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่นำเสนอมานี้ผมคิดว่า โครงสร้างทางสังคมที่แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจากทั้งในอดีต จนถึงปัจจุบัน เราคงมองสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าโดยมองเพียงมุมของเราด้านเดียวไม่ได้ เนื่องจากความแตกต่างกันในเรื่องของภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
จากคุณ :
hummel
- [
29 พ.ค. 50 15:33:12
]