ความคิดเห็นที่ 51
นอกจากคำอธิบายที่พบแล้ว ยังมีสำนวนที่ ๓ ซึ่งพระยาศรีสหเทพบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ตรงกับสำนวนของฝรั่งเศสเช่นกัน และจะเป็นสำนวนสุดท้ายที่ทำให้เราจำนนต่อเหตุผลแวดล้อมทั้งหมด ท่านเขียนไว้ว่า
"วันที่ ๑๒ กันยายน ร.ศ. ๑๑๖ เวลาเช้า ๔ โมงเสศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องครึ่งยศประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงษ์ เสด็จฯ จากบ้านที่ประทับมายังอังวะลีดส์ ซึ่งเปนโรงพยาบาลทหารพิการทุพลภาพ แลที่ฝังศพนะโปเลียนที่ ๑...ทรงยืนกุมพระหัตถ์แสดงความเคารพตามสมควรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินวัดสังต์ หลุย (St.Louis) ซึ่งเปนวัดต่อหลังที่ฝังศพออกไป ผนังวัดประดับด้วยธงต่างๆ ซึ่งกองทัพฝรั่งเศสมีไชยชะนะแย่งมาได้ในที่รบต่างๆ น่าดู ทรงพระดำเนินต่อไปทางหน้าโบถ"(๔)
จะอย่างไรก็ตามธงช้างที่กรุงปารีสยังนับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสยามประเทศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าไปใกล้ชิดด้วยมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ถึงแม้มันจะมีความหมายหลายอย่างแฝงอยู่ด้วยก็ตาม อาจเป็นเพราะมันแขวนอยู่ที่นั่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึง แต่แท้ที่จริงมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับเสด็จวันนั้นเลย
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตจากทวีปยุโรปครั้งนั้นแล้วอีก ๒๐ ปี กล่าวคือใน พ.ศ. ๒๔๖๐ สมัยต้นรัชกาลที่ ๖ ประเทศสยามก็ยกเลิก "ธงช้าง" เป็นธงประจำชาติเป็นการถาวร การเปลี่ยนธงชาติครั้งนี้ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งรับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาท (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในขณะนั้น ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงชาติว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะเปลี่ยน "ธงช้าง" เป็น "ธงแถบสี" เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงผ้าพิมพ์รูปช้างเข้ามาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย หากเปลี่ยนเป็นธงแถบสี ราษฎรสามารถทำธงใช้เองได้ และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาดที่เคยมีมา(๒)
ธงช้างที่ค้นพบในแองวาลิด เป็นธงชาติของสยามสมัยรัชกาลที่ ๕ เพียงผืนเดียวที่พลัดพรากอยู่นอกแผ่นดินไทย เป็นชิ้นส่วนของหลักฐานสำคัญในพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ ที่พบว่ายังมีอยู่จริง จนทุกวันนี้ ปัจจุบันถูกทอดทิ้งไว้โดดเดี่ยว ไร้ความหมาย เป็นที่เวทนาต่อผู้พบเห็น
เอกสารประกอบการค้นคว้า (๑) ไกรฤกษ์ นานา. พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗. (๒) ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรมศิลปากร, ๒๕๒๐. (๓) พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖). กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, ๒๕๓๕. (๔) ศรีสหเทพ, พระยา (เส็ง วิริยะศิริ). จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๔๐. (๕) Tips, Walter E.J. Gustave Rolin-Jaequemyns and the making of modern Siam : the diaries and letters of King Chulalongkorn"s general adviser. White Lotus co., ltd., 1996. (๖) Revue Encyclopedique. Paris, 1897. (๗) หนังสือพิมพ์ Le Journal illustre. Paris, 26 Septembre 1897. (๘) หนังสือพิมพ์ Le Monde Illustre. Paris, 11 Juine 1870.
จากคุณ :
นอกราชการ
- [
1 พ.ย. 50 11:18:02
]
|
|
|