Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    วันนี้ครบรอบวันเกิดที่ ๑๔๕ ปี ของผู้ค้นพบพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ คนดีศรีเมืองเพชร

    นำเรื่องมาให้อ่านกันสั้นๆ
    ท่านคือ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)
    เกิดเมื่อวันศุกร์เดือน ๑๒ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๕
    ที่ตำบลบ้านเพรียง อำเภอโพไร่หวาน จังหวัดเพชรบุรี
    บิดาชื่อพ่วง มารดาชื่อปิ่น
    ได้เริ่มการศึกษาเมื่ออายุ ๘ ขวบที่วัดเพรียง วัดห้วยเสือ และวัดมหาสมณาราม ท่านได้บวชเณรจนอายุ ๑๙ ปี จึงย้ายไปศึกษาในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์
    พ.ศ. ๒๔๒๕ ท่านสอบได้เปรียบ ๔ ประโยค ตั้งแต่เป็นสามเณร ต่อมาได้อุปสมบทที่วัดราชประดิษฐ์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อลาสิกขาบทแล้วได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยรักหนังสือและรักวิชาโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงเข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งท่านได้ทำประโยชน์แก่ทางราชการอย่างมากมายจนได้รับการเลื่อนยศและตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงขึ้นเป็นลำดับดังต่อไปนี้

    พ.ศ. ๒๔๓๐ ได้เข้ารับราชการในกรมศึกษาธิการ
    พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนประเสริฐอักษรนิติ์
    พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับตำแหน่ง ปลัดกรม กรมศึกษาธิการ
    พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
    พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้เป็นปลัดกรมราชบัณฑิต
    พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเป็นพระปริยัติธรรมธาดา ตำแหน่งเจ้า กรมราชบัณฑิตขวา
    พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ทิพยาภรณ์
    พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก
    พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์ตรี
    พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็นพระยาปริยัติธรรมธาดาและได้รับ พระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท
    พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานยศเป็นเสวกเอก

    พระยาปริยัติธรรมธาดา มีผลงานดีเด่นและเป็นประโยชน์แก่ราชการตลอดจนวงการศึกษาทั้งทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และอักษรศาสตร์โดยเฉพาะผลงานชิ้นสำคัญอันมีคุณค่าต่อประเทศชาติ คือ
    พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
    นับเป็นการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่ง เป็นเอกสารครั้งกรุงเก่าเกี่ยวกับพงศาวดารไทยสมัยกรุงศรอยุธยา
    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงมีพระอรรถาธิบายไว้ว่า
    "ที่เรียกพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า "ฉบับหลวงประเสริฐ" เพราะพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ เปรียญ) แต่ยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไปได้ต้นฉบับมาให้แก่หอสมุด กรรมการจึงให้เรียกชื่อว่า "ฉบับหลวงประเสริฐ" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ให้…"

    เป็นข้อมูลที่พบโดยบังเอิญว่าท่านเกิดวันนี้ ขณะที่ฝากเพื่อนผู้หนึ่งช่วยหาประวัติสุนทรภู่ที่เขียนโดยพระยาปริยัติธรรมดา เพราะทราบว่ามีเนื้อหาแตกต่างไปบ้างจากของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่พวกเราเคยได้อ่านกันเป็นประจำ

    http://gold.rajabhat.edu/phetchaburi/par.htm

    สำหรับการค้นพบพระราชพงศาวดารฉบับนี้โดยบังเอิญ พวกเราคงจะเคยอ่านกันมาบ้างแล้ว

     
     

    จากคุณ : NickyNick - [ 31 ต.ค. 50 13:21:11 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom