Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ความแตกแยกครั้งใหญ่ในสังคมไทยกับสังคมอำนาจนิยม

    ผมตั้งกระทู้นี้ที่ห้องสมุดนี่เพราะต้องการการร่วมวิเคราะห์และอภิปรายกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แทนที่จะไปตั้งที่ราชดำเนินเพราะผลลัพธ์มันคงไม่ได้อย่างที่ผมต้องการซักเท่าไร

    ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตและขอความเห็นทุกๆท่านซักหน่อยนะครับ ว่าเห็นอย่างไรต่อความแตกแยกทางการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ ซึ่งดูท่าทีแล้วมันคงไม่ยุติลงง่ายๆเหมือนในอดีต

    ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากยกขึ้นมาก็คือ วิธีที่สังคมไทยใช้เป็นรากฐานในการดำรงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือระบบแบบอำนาจนิยมและระบบอาวุโส ที่ถูกใช้ผ่านค่านิยมเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก

    ทั้งนี้ผมอยากจะชี้แจงก่อนว่า คุณธรรมและจริยธรรมนั้น หากมองลงไปที่ที่มาและฐานทางความคิดของมัน เราจะพบว่าค่านิยมเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมนั้นมันมีอยู่หลายระบบ

    สังคมอำนาจนิยมและอาวุโสนิยมมีการให้ค่าของวิถีทางคุณธรรมและจริยธรรมในทางหนึ่ง ในขณะที่อุดมการณ์ของประชาธิปไตยให้ค่าของคุณธรรมและจริยธรรมในอีกทางหนึ่ง หรือแม้แต่ในอุดมการณ์ทางสังคมอื่นๆเช่น อุดมการณ์แบบเสรีนิยม ทุนนิยม อุดมการณ์สังคมนิยมก็มีการให้ค่าทางคุณธรรมและจริยธรรมในวิถีที่แตกต่างกันไป

    จริงอยู่ที่ว่าโดยพื้นฐานแล้วอุดมการณ์ทางสังคมทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีพื้นฐานทางค่านิยมเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมคล้ายคลึงกัน แต่ในส่วนรายละเอียดแล้วผมเห็นว่ามันมีข้อแตกต่างกันไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในสังคม

    ประเด็นก็คือ ณ ปัจจุบันในจุดที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนผ่านมาถึงนี้ ผมคิดว่าปัญหาความแตกแยกที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาระดับอุดมการณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ทางคุณธรรมและจริยธรรมอย่างที่ระบบราชการเข้าใจ หากแต่เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางสังคม ที่สะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอำนาจที่ค้ำยันสังคมไทยเอาไว้

    ปรากฏการณ์ความแตกแยกในสังคมที่ได้เห็น ผมคิดว่ามันมาจากการเสื่อมอำนาจลงของระบบอำนาจแบบอำมาตยาธิปไตย(ไม่อยากใช้คำนี้เลย)ผสมอาวุโสนิยม  ซึ่งได้เริ่มสูญเสียอำนาจในการนิยามความหมายของคุณธรรมและจริยธรรมลงไปด้วยการถูกช่วงชิงอำนาจในการนิยามนี้จากอุดมการณ์แบบเสรีนิยมและทุนนิยม

    การพยายามเน้นย้ำเพื่อฟื้นฟูคุณธรรมและจริยธรรมของพรรคข้าราชการดังที่เราเห็นนี้ โดยรากของมันแล้วก็การพยายามเรียกร้องและฟื้นฟูการยอมรับในอำนาจของระบบข้าราชการจากคนในสังคม ตัวอย่างเช่น การซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ในที่นี้ย่อมหมายถึงความซื่อสัตย์ต่อระบบ โดยที่ผู้ปฏิบัติต้องไม่ตั้งคำถามต่อระบบไม่ว่าระบบนั้นจะล้าหลัง เชื่องช้าและไร้ประสิทธิภาพเพียงใดก็ตาม

    ซึ่งเมื่อมองถึงการเสื่อมอำนาจลงของระบบที่เกิดขึ้น มันเกิดโดยกลไกการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสังคมเอง สังคมมนุษย์มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอยู่เสมอๆ ระบบหรือโครงสร้างใดที่ไม่เหมาะสมต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมของสมาชิกก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยแรงผลักดันทางระบบสังคมที่มาจากทั้งภายในสังคมหนึ่งและภายนอกสังคมนั้นด้วยเช่นกัน

    ปัญหาที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตก็คือ มีอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ที่มีการต่อสู้ในการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างของสังคม มีทั้งเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอย่างฉับพลันทันที ในจุดนี้หากจะขยายความออกมาผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากลัวอยู่ไม่น้อยสำหรับสังคมไทย

    นับเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างที่เกิดขึ้นภายในสังคมหนึ่งๆเอง (หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยตนเอง ไม่ได้ถูกรุกรานจากรัฐอื่น) มีตัวอย่างให้เห็นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงนั้นจบลงที่ความรุนแรงและการนองเลือด และมีตัวอย่างจำนวนน้อยกว่าที่จบลงอย่างสงบ

    สำหรับสังคมไทย การยึดอำนาจเมื่อเดือนกันยาปี 49 ที่ผ่านมา ยังไม่ถือได้ว่าเป็นการยุติการต่อสู้ หรือในอีกมุมมองหนึ่ง คือพลวัตรทางสังคมยังไม่สงบ ทั้งนี้เพราะกระแสของการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางสังคม มาถึงจุดที่สังคมไม่สามารถย้อนกลับไปยึดถือระบบอำนาจนิยมและอาวุโสนิยมแบบเบ็ดเสร็จได้อีกต่อไปแล้ว

    กระแสของอุดมการณ์เสรีนิยมที่สะพัดไปทั่วโลก(แม้ว่าจะเป็นเสรีนิยมแบบถูกแฝงเร้นก็ตาม) ได้ซัดเอาโลกหมุนมาถึงจุดที่มนุษย์ถูกเรียกร้องให้เปิดตัวเข้าหากัน เทคโนโลยีสื่อถูกพัฒนาขึ้นภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมนี้
    ด้วยอิทธิพลของระบบสื่อ คุณธรรมและจริยธรรมจึงต้องเป็นเรื่องที่ถูกเปิดเผยได้ โปร่งใสถูกตรวจสอบได้ ซึ่งนิยามของคุณธรรมและจริยธรรมในลักษณะนี้ เริ่มมีบางจุดที่ขัดแย้งกับนิยามคุณธรรมและจริยธรรมในแบบอำนาจนิยมและอาวุโสนิยมที่เชิดชูความซื่อสัตย์และอ่อนน้อม

    อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทยความขัดแย้งดังกล่าวยังสามารถถูกสยบได้ด้วยอำนาจ ซึ่งตามระบบอำนาจนิยมนั้นอำนาจมีทิศทางเป็นแนวดิ่ง ซึ่งชั้นอำนาจระดับล่างๆก็จะใช้การอ้างอิงอำนาจไล่ขึ้นบนไปเป็นลำดับ ดังนั้นตราบใดที่อำนาจสูงสุดในสังคมไทยยังได้รับการยอมรับอยู่ สังคมไทยก็จะยังมีเสถียรภาพ และดำรงอยู่ได้แม้ภายในจะผุกร่อนไปมากแค่ไหนแล้วก็ตาม

    ซึ่งสำหรับโครงสร้างที่ง่อนแง่นแต่ถูกยึดไว้ด้วยเสาเพียงต้นเดียวนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อเสาถูกถอนออกไป

    การที่ระบบโครงสร้างอำนาจไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเอง หากแต่ยังพยายามรักษาโครงสร้างเดิมของตนเอาไว้โดยหวังพึ่งเสาหลักเพียงต้นเดียวนั้น จึงเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคม ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความด้อยประสิทธิภาพของระบบในอันที่จะดำรงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมไว้ได้ การพยายามใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จภายใต้โครงสร้างเดิมๆ (เช่น พรบ.ความมั่นคง) จะยิ่งเป็นเหมือนการตอกค้อนลงไปที่โครงสร้างสังคมอันง่อนแง่นอย่างมั่วซั่ว ซึ่งแม้ว่าจะทำนายผลลัพธ์มันไม่ได้ แต่ก็ดูมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายให้มากขึ้นมากกว่าที่จะซ่อมแซมโครงสร้างได้อย่างถาวร

    จากคุณ : Wiz - [ 6 ธ.ค. 50 09:55:30 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom