ส่วนกรณีที่คุณณัฐเศรษฐกล่าวว่า การสืบสันตติวงศ์ของอังกฤษเรียงลำดับโดย "เน้น พระยศ พระชนมายุ ไม่เน้น ว่า เป็นเพศหญิง หรือ ชาย คือ หากผู้หญิงเกิดก่อน พระยศเท่ากัน ก็จัดผู้หญิงไว้ลำดับแรก" นั้น ไม่ถูกต้อง จะเห็นได้จากในกรณีของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ซึ่งก็ทรงเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถ แต่ปัจจุบันทรงอยู่ในลำดับที่ 10 แห่งการสืบสายฯ ตามหลังพระราชอนุชาคือ เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค (ลำดับที่ 4) และเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์ (ลำดับที่ 7) หรืออย่างพระโอรสธิดาในองค์เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์ ไวส์เคานท์เซเวิร์น (ลำดับที่ 8) ก็ทรงอยู่เหนือกว่าพระเชษฐภคินีคือเลดี้หลุยส์ (ลำดับที่9) ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะ ผู้ชายคนโตก่อน (Eldest Male Preference) ประเทศที่เน้นลูกคนโตก่อน ไม่เน้นเพศ นั้น คือประเทศสวีเดนกระมังครับคุณณัฐ
แต่ในกรณีของไทย มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุที่ว่ารัฐธรรมนูญได้เพียงแต่เปิดกว้างให้อัญเชิญ "พระราชธิดา" ขึ้นทรงราชย์ได้เท่านั้น มิได้รวมความไปถึง "พระราชนัดดา" ด้วย ทั้ง "พระราชธิดา" นั้น มิได้จำกัดว่าหมายถึงพระราชธิดาในรัชกาลใด ดังนั้นย่อมต้องหมายความถึงพระราชธิดาในทุกรัชกาล ซึ่งในกรณีนี้ถิอเป็น Semi-salic law แต่ก็ย่อมเรียงตามลำดับรัชกาลไป โดยเริ่มที่รัชกาลปัจจุบัน แล้วย้อนขึ้นไปเป็น รัชกาลที่ ๘ ๗ ๖ ๕ ... (ลูกจึงสืบราชสมบัติก่อนน้อง) ส่วนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์หญิง นั้นทรงเป็นพระราชนัดดา ไม่อยู่ในสายที่จะสืบราชสันตติวงศ์ตามรัฐธรรมนูญ
ในประเทศอังกฤษ พระมหากษัตริย์จะทรงละเว้นข้ามผู้ใดออกจากสายแห่งการสืบราชสันตติวงศ์หาได้ไม่ เช่นในคราวที่เจ้าฟ้าชายเฟดเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสในพระเจ้าจอร์จที่สองเสด็จสวรรคต พระเจ้าจอร์จที่สองทรงพระราชประสงค์ที่จะสถาปนาเจ้าฟ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งคัมเบอร์แลนด์ พระราชโอรสองค์รอง เป็นพระรัชทายาท เจ้าชายแห่งเวลส์แทน เนื่องจากทรงรักใคร่โปรดปรานมาก ทั้งเจ้าฟ้าชายพระองค์นี้ได้ทรงเป็นแม่ทัพนำการสงครามต่างๆ หลายครั้ง หากแต่พระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็ทรงขัดต่อ Act of Settlement และจารีตประเพณีอันถือเป็นรัฐธรรมนูญของอังกฤษมิได้ จึงทรง "ต้อง" ตั้งเจ้าชายจอร์จ พระราชนัดดาเป็น เจ้าชายแห่งเวลส์แทน ตำแหน่งดยุคแห่งคอร์นวอลล์ และโรเตสซี ซึ่งเป็นพระยศของเจ้าฟ้าชายพระราชโอรสพระองค์โตจึงสิ้นสุดลงในรัชกาลนั้น (เป็นครั้งแรกที่เจ้าชายแห่งเวลส์มิได้เป็นดยุคแห่งคอร์นวอลล์ และโรเตสซีด้วย) นั่นหมายความว่าพระมหากษัตริย์จะทรงตั้งผู้ใดเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์มิได้ นอกจากผู้ชายที่อยู่ในลำดับที่ 1 แห่งการสืบสันตติวงศ์ อันเปลี่ยนแปลงมิได้ (the 1st male Heir Apparent to successed the throne.)
พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เองท่านก็ทรงสำเร็จโทษผู้ที่อยู่ในสายที่จะสืบราชสมบัติอังกฤษได้หลายคน โดยไม่มีเหตุผลใดเลย เพียงแต่ท่านเหล่านั้นมีสิทธิในการจะเสด็จขึ้นทรงราชย์เท่านั้น เช่นเอ็ดเวิร์ด สแตฟฟอร์ด ดยุคแห่งบักกิ้งแฮมคนที่ 3 หรือ มากาเร็ต โพล เคานท์เตสแห่งซาลิสเบอรี่ คนที่ 8 เป็นต้น
ถ้าหากพระมหากษัตริย์อังกฤษทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะเว้นผู้ใด หรือตั้งรัชทายาทตามพระทัยได้ คนจำนวนมากคงไม่ถูกประหาร รวมทั้งพระราชินีนาถแมรี่ แห่งสกอตแลนด์ รวมทั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่สมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นี้ก็เป็นได้ กรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดคือในคราวก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ จะเสด็จสวรรคต ทรงพระราชประสงค์ที่จะตั้งพระราชอนุชาสืบพระราชสมบัติ แต่ไม่สามารถทรงกระทำเช่นนั้นได้
กลับมาในประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจโดยบริบูรณ์ทุกประการที่จะแต่งตั้ง ถอดถอนพระรัชทายาท และเมื่อได้แต่งตั้งพระรัชทายาทแล้ว การนั้นเป็นการเฉพาะตัว ไม่สืบไปถึงสายของพระรัชทายาทพระองค์นั้น ดังนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทโดยการทรงสมมติจากพระมหากษัตริย์ พระโอรสของท่านจึงไม่อยู่ในลำดับต่อมา
อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่ท่านทรงเป็นพระราชโอรส ประสูติแต่พระอัครมเหสี จึงมีฐานะเป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า ดังนั้นจึงอยู่ในนลำดับที่ ๑ ของสายแห่งการสืบราชสันตติวงศ์ในเวลาที่ยังมิได้สมมติพระรัชทายาท
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ รวมทั้งเจ้านายพระองค์อื่น จึงมิได้อยู่ในสายแห่งการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเทียรบาล
แต่ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้พระราชธิดาทรงราชย์ได้ ตามความเห็นชอบของรัฐสภา ในเวลาที่มิได้มีการสมมติพระรัชทายาทไว้ คำว่าพระราชธิดา ย่อมหมายความรวมถึงพระราชธิดาไม่ว่าในรัชกาลใดครับ
การบังคับใช้กฎหมาย ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ หรือลายลักษณ์อักษรก่อน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคแรก) ถ้าหากไม่มีจึงใช้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรือกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือบทบัญญัติกฎหมายทั่วไปตามลำดับ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง) แม้กฎมณเทียรบาลของไทยจะเลียนแบบมาจากประเทศอังกฤษ แต่เมื่อมีกฎมณเทียรบาลของไทยบังคับใช้แล้ว และมิได้มีช่องว่างของกฎหมาย จะนำกฎมณเทียรบาลอังกฤษมาบังคับใช้ในฐานะกฎหมายทั่วไป ดูท่าจะประหลาดๆ ไปกระมังครับ
อนึ่ง ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมนับถือในห้องสมุดนี้ได้ให้ข้อคิดไว้ว่าการตอบผิดนั้น ดีกว่าไม่ตอบ ดังนั้นจึงได้ตอบออกไป แม้จะรู้ตัวว่าอาจจะผิดได้ ดังนั้นก็ต้องขออภัยด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ขอเรียนย้ำว่าเป็นแต่เพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น หากท่านผู้ใดมีความเห็นผิดแผลกแตกต่างออกไปก็ขอได้โปรดอรรถาธิบายเป็นวิทยาทานให้ผู้น้อยได้ทราบด้วยเถิด จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ
แก้ไขเมื่อ 17 พ.ค. 51 20:29:29
แก้ไขเมื่อ 17 พ.ค. 51 20:07:36
แก้ไขเมื่อ 14 พ.ค. 51 13:27:52
แก้ไขเมื่อ 14 พ.ค. 51 13:19:54