ความคิดเห็นที่ 23
เรื่อง รัฐมนตรีสภา และ น้องชายเล็ก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเขียนไว้ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ดังนี้
ความคิดเรื่องตั้งรัฐมนตรีสภา
ในระหว่างนี้ได้เกิดมีความคิดขึ้นอย่าง ๑ ซึ่งในที่สุดก็ยังมิได้ดำเนิรการไปจนทุกวันนี้, คือเรื่องตั้งรัฐมนตรีสภา. อันที่จริงใช้คำว่า "ตั้ง" ไม่สู้จะตรงนัก เพราะว่าแท้จริงสภานั้นได้ตั้งขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ แล้วเลือนหายไปเอง, หาได้เลิกไม่ ฉนั้นก็ต้องนับว่าในรัชกาลของฉันก็ได้มีรัฐมนตรีสภาต่อมา. ในชั้นต้น ๆ เมื่อแรกตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทราบว่าได้เคยมีการประชุมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้ทำอะไรจริงจังเปนชิ้นเป็นอัน, และพวกเสนาบดีเจ้ากระทรวงดูเหมือนจะร้องกันว่าการต้องไปประชุมในสภานั้นเสียเวลาเปล่า จึ่งไม่ใคร่จะได้ไปกัน, ลงท้ายก็เลยโร ๆ เร ๆ ไป เมื่อฉันกลับเข้ามาจากศึกษาที่ประเทศยุโรปแล้ว และได้เข้าไปรับราชการอยู่ในกรมราชเลขาธิการ, ฉันจำได้ว่าเคยเห็นรายงานของรัฐมนตรีสภาถวายเข้าไปทุก ๆ สัปดาห์ มีข้อความทุก ๆ ฉบับเหมือนกันว่า.-
การประชุม. ไม่มี, เพราะไม่มีราชการในระเบียบวาระ. ราชการในระเบียบวาระ. ไม่มี. (ลงนาม) พระยาวุฒิการบดี, ผู้รั้งตำแหน่งสภานายก (ลงนาม) พระยาศรีสุนทรโวหาร, เลขาธิการ.
ครั้นเมื่อทูลกระหม่อมสวรรคตลง น้องชายเล็กต้องการจะหาอะไรอย่าง ๑ ซึ่งจะเปนเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศของรัชกาลที่ ๖ แทนการเลิกทาสของรัชกาลที่ ๕, เธอนึกขึ้นได้ว่ารัฐมนตรีน่าจะพอใช้สำหรับประโยชน์เช่นว่านั้นได้. เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคมเธอได้ขอเข้าเฝ้าเปนส่วนตัว, และแสดงความเห็นเรื่องรัฐมนตรีนั้นยืดยาว, แต่พอจะสรุปความได้ดังต่อไปนี้.
(๑) ต้องหาอะไรเปนข้อเฉลิมพระเกียรติยศ สู้กับการเลิกทาสของทูลกระหม่อม
(๒) ของนั้นต้องหาให้ได้และประกาศในทันวันบรมราชาภิเษก
(๓) เวลามีน้อยนึกเตรียมอะไรที่ใหม่ทีเดียวไม่ทัน, จึ่งหันไปนึกหาของเก่าที่อาจจะแปลงรูปขึ้นได้โดยง่ายและเร็ว
(๔) สมัยนี้ฝรั่งกำลังนิยมปาร์ลีย์เมนต์, แต่ในเมืองเรายังไม่ถึงเวลาที่ควรจะตั้งปาร์ลีย์เมนต์ขึ้น จึ่งเห็นว่าควรตั้งสภาอะไรขึ้นตบตาแทนไปทีหนึ่ง, จึ่งนึกขึ้นได้ว่าสภาเช่นนั้นก็มีอยู่แล้ว, คือรัฐมนตรีสภา, แต่สภานั้นยังมิได้กระทำกิจการอะไรเลย, ถ้าได้จัดวางระเบียบเสียใหม่ ให้สภานั้นได้กระทำหน้าที่ตรวจและปรึกษาร่างกฎหมายจริง ๆ ก็จะพอให้ฝรั่งเห็นว่าฉันมีความตั้งใจที่จะดำเนิรเข้าสู่ทางอันนิยมกันว่าเปนทางเจริญ. เท่ากับปฏิญญาว่าจะดำเนิรราโชบายหันไปหาทางที่เขานิยมกันอยู่. และถ้าได้ประกาศการฟื้นรัฐมนตรีสภาขึ้นนี้ทันงานบรมราชาภิเษกได้ละก็, ตามคำของน้องชายเล็กว่า, จะงดงามพิลึก, พะเผื่อยสิ
ส่วนตัวฉันเองได้เคยรู้มาแล้วว่ารัฐมนตรีสภาเปนอย่างไรมาก็ไม่สู้จะตื่นเต้นในความคิดของน้องชายเล็กนักดอก. ข้อ ๑ การจะคิดหาอะไรทำให้เปนการเอิกเกริกโครมครามสู้กับการเลิกทาสของทูลกระหม่อมนั้น ฉันเห็นว่ายากนัก, เพราะการเลิกทาสเปนของที่ฝรั่งตื่นกันมาก, นับว่าเปนมูลรากแห่งอิศรภาพทีเดียว, จึ่งจัดเอาเปนการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญมากอย่าง ๑. แต่ในสมัยนั้นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ทูลกระหม่อมท่านก็ได้ทรงประสิทธิ์ประสาทไปเสียมากแล้ว, จึ่งไม่มีอะไรเหลือให้ฉันทำขึ้นใหม่ได้. ข้อ ๒ การที่จะจัดการฟื้นรัฐมนตรีสภาพขึ้นนั้น ฉันยังไม่แน่ใจว่าฝรั่งเขายอมเชื่อว่าเปนพยานว่าเราจะเริ่มดำเนิรราโชบายไปทางมีปาร์ลีย์เมนต์ต่อไป. ปาร์ลีย์เมนต์นั้นถ้ามีได้จะเปนการดีและสดวกแก่ฉันมาก เพราะจะได้เปนเครื่องช่วยแบ่งภาระและเอาการถูกซัดต่าง ๆ ไปจากฉันให้ได้บ้าง, แต่ถ้าจะเปนแต่เพียงตั้งขึ้น ตบตา ฉันเกรงว่าจะกลแตก, แล้วจะเลยกลายเปนเสียชื่อแทนที่จะได้ชื่อ ข้อที่ ๓ ผู้ที่จะเปนสภานายกและสมาชิกแห่งรัฐมนตรีสภานั้น ฉันรู้สึกว่าจะหายากอยู่ ในเวลานั้นฉันนึกออกอยู่คนเดียวแต่กรมราชบุรี, ที่เห็นว่าพอจะเปนสภานายกได้. น้องชายเล็กก็เห็นชอบด้วย. .........
จากคุณ :
เพ็ญชมพู
- [
16 พ.ค. 51 10:39:49
]
|
|
|