Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    แด่..ท่าน ว.ณ เมืองลุง ผู้ทำให้กระผมติดนิยายกำลังภายในงอมแงมมาจวบทุกวันนี้..ขอรับ

    - มาทำความรู้จัก ท่านว.ณ เมืองลุง กัน..ขอรับ

        วันหนึ่งของ ปีพ.ศ.2506 ณ.สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ชายหนุ่มอายุสามสิบสี่ เข้าพบ นายเวช กระตุกฤกษ์-เจ้าของสำนักพิมพ์ และ นายชลิต พรหมดำรง-บรรณาธิการ เพื่อเสนอ ‘งานแปลกำลังภายใน’ สำนวนแปลกใหม่ให้พิจารณา แม้ว่า นายเวช จะไม่เห็นด้วยกับสำนวนแปลกใหม่ และต้องการให้ยึดสำนวนการแปลอย่าง จำลอง พินาคะ ผู้แปล ‘มังกรหยก’ ภาคหนึ่ง ที่คนติดงอมแงมขณะนั้น เป็นแบบอย่าง แต่ชายหนุ่มผู้นั้น นาม ชิน บำรุงพันธ์ กลับยืนยันสำนวนแปลกใหม่ของตนเอง ด้วยความมั่นใจและเด็ดเดี่ยวว่า ‘ถ้าดีก็เหนือกว่า ถ้าไม่ดีก็เป็นการล้มเหลวไปเลย’  กระทั่ง นายชลิต คงมองเห็นแววสำนวนแปลกใหม่ของ นายชิน ยินยอม ‘หยั่งความนิยมของนักอ่าน’ ด้วยการตอบตกลงจัดพิมพ์ กระบี่ล้างแค้น เป็นเล่มปกอ่อน ปรากฎว่าจำหน่ายขายดี โดยเล่ม2 ต้องพิมพ์2ครั้ง คือ พิมพ์รอบเช้า6,000เล่ม บ่ายอีก2,000เล่ม
        นับตั้งแต่นั้น นามปากกา ‘ว.ณ เมืองลุง’ ก็จุติในบรรณพิภพ สืบสานภารกิจ ‘ถ่ายทอด’ นิยายกำลังภายในอันโลดโผนพิสดาร สู่นักอ่านชาวไทยเรื่องแล้วเรื่องเล่า กระทั่งได้รับความนิยมยกย่องในฐานะ ‘นักแปลชั้นนำ’ อย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งเป็นที่มาของวลียอดฮิต สำนวนกินใจมากมาย เช่น ในโลกไม่มีงานเลี้ยงที่มิแยกย้ายเลิกรา ไม่เห็นโลงศพมิหลั่งน้ำตา กระบี่อยู่ที่ใจ ศึกสายเลือด ฮาฮา ฉายาของจอมยุทธต่างๆ และ ฯลฯ กระทั่งนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา นักธุรกิจ ต่างหยิบยืมมาใช้เป็นที่สนุกถูกใจ เพราะให้ทั้งความหมายและความรู้สึกสะใจดี มีทั้งในลีลาล้อเลียน เปรียบเปรย แฝงอารมณ์ขัน และประชดประชัน สำนวนแปลกใหม่ซึ่ง ว.ณ เมืองลุง นำสำนวนเก่า สำนวนวรรณคดี มาผสมผสานกับสำนวนของตน กลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นนี้ มีลักษณะพิเศษคือ สั้น กระชับ ใช้คำน้อยแต่ให้ความหมายกว้างลึกซึ้ง โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้กับงานเขียนของ โก้วเล้ง ก็สามารถถ่ายทอดลีลาอารมณ์ สำนวนโวหาร และบรรยากาศของต้นฉบับเดิมได้อย่างน่าประทับใจพราวพรรณวรรณศิลป์
        ว.ณ เมืองลุง หรือ นามจริง นายชิน บำรุงพงศ์ เกิดวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2472 ที่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก จบชั้นประถมจากโรงเรียนจีนในตัวจังหวัดประมาณปี พ.ศ. 2483 เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ แถวห้าแยกพลับพลาไชย ทำอยู่ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2484) จึงกลับพิษณุโลก มีโอกาสได้เรียนภาษาจีนต่อ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2494 ทางกระทรวงศึกษาธิการเปิดสอบวิชาครู นายชินก็สอบได้ประกาศนียบัตรครูประถม จึงยึดงานครูสอนหนังสืออยู่หลายปี เริ่มจากที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ประมาณ 1 ปี ก็ย้ายไปที่โรงเรียนบ้านบึง จ.ชลบุรี ประมาณ 1 ปี แล้วมาสอนที่โรงเรียนศึกษาวัฒนา สามย่าน กรุงเทพฯ ประมาณปี 2504 ลาออกไปเป็นเสมียนโรงไม้ที่จังหวัดพัทลุง
        นายชินเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง โดยเฉพาะเรื่องจีนทั้งที่เป็นภาษาจีนและภาษาไทย (เช่น สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาคลัง ฉบับยาขอบ และฉบับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมท) เมื่อมาทำงานที่พัทลุง ก็ใช้เวลาว่างกับการอ่าน สั่งสมวิทยายุทธเรื่อยมา กระทั่งวันหนึ่ง นายชินพบว่า มังกรหยกภาคภาษาจีนที่ตนกำลังอ่านอย่างขะมักเขม้นนั้นเป็นเรื่องเดียวกับ ‘มังกรหยก’ ที่ จำลอง พินาคะ แปลจำหน่ายขายดี จนผู้อ่านติดกันงอมแงม จึงเกิด ‘แรงบันดาลใจ’ ที่จะเป็นนักแปลบ้าง
        และแล้ว หลังจาก กระบี่ล้างแค้น ผลงานแปลเรื่องแรก ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านอย่างอบอุ่น นายชิน ก็ลาออกจากงานเสมียนโรงไม้ มาจับงานแปลอย่างจริงจัง
    ว.ณ เมืองลุง แปลกำลังภายในป้อนสำนักพิมพ์เพลินจิตน์ กระทั่งสำนักพิมพ์หยุดกิจการ จึงมอบให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจัดพิมพ์ หลังจากประพันธ์สาส์นหยุดกิจการ ก็มอบให้สำนักพิมพ์คลังวิทยา และบรรณาคารจัดพิมพ์เรื่อยมา นอกจากนี้ ในช่วงที่กำลังภายใน ‘บูม’ ในหมู่นักอ่านชาวไทย ว.ณ เมืองลุง ก็เคยแปลให้นิตยสารรายสัปดาห์ คือ เดลิเมล์วันจันทร์ และหนังสือพิมพ์รายวันทั้งไทยรัฐและเดลินิวส์
        ผลงานแปลของ ว.ณ เมืองลุง มีนับร้อยกว่าเรื่อง แต่เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้เขาสูงสุด คือ ฤทธิ์มีดสั้น และ เซียวฮื่อยี้ อันเป็นผลงานของ โก้วเล้ง ว.ณ เมืองลุง ยอมรับว่า ชอบผลงานของ โก้วเล้ง โดยเฉพาะ ฤทธิ์มีดสั้น และ จอมดาบหิมะแดง เพราะทุกเรื่องของ โก้วเล้ง แฝงไว้ด้วยคติธรรม ปรัญญาชีวิต มีความลุ่มลึกกว่า ‘กำลังภายใน’ ทั่วๆไปที่เน้นการฆ่าล้างแค้นเป็นแกนเรื่องอย่างเดียว ผลงานการแปลจากต้นฉบับของ โก้วเล้ง เรื่องอื่นๆ ยังมีอาทิ ดาบจอมภพ เหยี่ยวเดินเก้า ชุดชอลิ่วเฮียง(ประกอบด้วย จอมโจรจอมใจ ใต้เงามัจจุราช ราศีดอกท้อ และชอลิ่วเฮียง) นักสู้ผู้พิชิต ศึกเสือหยกขาว พิฆาตทรชน นกแก้วสยองขวัญ พยัคฆ์ร้ายบู๊ลิ้ม ศึกสายเลือด ผู้ยิ่งใหญ่ และไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ เป็นต้น
        ปัจจุบัน ว.ณ เมืองลุง ยังคงทำงานแปลกำลังภายในเรื่องใหม่ๆ และจัดทำคำบรรยายสารคดีที่แพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งคราว


    เรียบเรียงจาก กรมศิลปกร, ประวัตินักเขียนไทย (กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปกร, 2527), หน้า 79-84


    เก็บความจาก
    หนังสือเรื่อง ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ
    ผู้ประพันธ์ โก้วเล้ง
    ผู้แปล ว.ณ เมืองลุง
    จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สร้างสรรค์-วิชาการ
    พิมพ์ครั้งแรก(ของสำนักพิมพ์) พฤษภาคม 2534
    ราคา 95 บาท
    เล่มเดียวจบ

    - ปัจจุบันทราบว่า ท่านว.ณ เมืองลุง ได้เสียชีวิตไปแล้ว ชาวยุทธ์ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้รบกวนกรุณาช่วยแจ้งเพิ่มเติมด้วย..ขอรับ รวมทั้งรูปของ ท่าน ว.ณ เมืองลุง ด้วย..ขอรับ

    - ขอคาราวะ ท่านว.ณ เมืองลุง สามชามใหญ่..ขอรับ

    แก้ไขเมื่อ 16 พ.ค. 51 10:50:17

    จากคุณ : นายหนอน - [ 15 พ.ค. 51 23:44:48 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom