ความคิดเห็นที่ 33
ลองอ่านคำอธิบายของ จิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง "ขอม" ในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ
เมื่อเขียนคำอธิบายเรื่อง "ขอม" ลงในหนังสือสารานุกรมไทย เสฐียรโกเศศ ได้ค้นตัวอย่างที่ใช้คำ กล๋อม และขอมมาหลายแห่ง หมายถึงชนหลายชาติ แล้วในที่สุดเลยสรุปว่า : ขอมน่าจะหมายถึงชาติมอญ ปนกับ ละว้า ถ้าไม่ใช่ก็อาจหมายถึงพวกมอญเดิมแห่งเมืองละโว้ ที่เรียกเขมรว่าขอมก็มีบ้าง แต่มักเป็นในนิยาย นิทาน.....
ข้าพเจ้ายืนยันว่า กล๋อม-ขอม มิใช่ชื่อเรียกชนชาติใดหนึ่งเพียงชนชาติเดียวโดยยึดเชื้อชาติหรือสายเลือด. แต่เฉพาะขอมในภาษาไทยนั้น ใช้หมายถึงเขมรอย่างแน่ชัดมาแต่โบราณ ปรากฏในเอกสารทางราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา และในศิลาจารึกของสังฆราชสุโขทัย, มิใช่นิยายปรัมปราอย่างเรื่องขอมดำดิน !
กล๋อม-ขอม ที่ผู้แต่งตำนานไทยแห่งลุ่มแม่น้ำกก (เชียงราย) ใช้นั้น สังเกตได้ชัดว่าผู้แต่งก็ใช้คำ กล๋อม-ขอม นี้เรียกชาวใต้หลายพวกอยู่. ที่สังเกตได้ก็เพราะผู้แต่งเรียก กล๋อม-ขอม พวกหนึ่งที่รบพุ่งกับไทยโยนกชัยบุรี (เชียงแสน) ว่า กล๋อมดำ หรือ พญาขอมดำ. เมื่อมีคำว่า ดำ กำกับอยู่ด้วย ก็ย่อมหมายความว่ามีชนพวกอื่นในทางใต้นี้ ที่ผิดไม่ดำ แต่ก็เรียกว่า กล๋อม หรือ ขอม เหมือนกัน.
กล๋อมดำ-ขอมดำ ที่ตำนานไทยเหนือกล่าวถึงนี้ จะหมายถึงพวกไหน ? จะหมายถึงพวกเขมรโบราณที่ไทยเรียกว่า ขอม เฉย ๆ หรือไม่ใช่ ? ข้าพเจ้าเห็นว่าหมายถึงเขมรโบราณนั่นแหละ. เพราะพวกเขมรโบราณแห่งนครธมนั้น เป็นเขมรบริเวณใต้เทือกเขาดงเร็ก ผิวดำจริง ๆ ทั้งนั้น, ที่รู้ได้ก็เพราะภาษาเขมรในบริเวณใต้เทือกเขาดงเร็กทุกวันนี้ ยังเป็นภาษาที่ใกล้กับสำเนียงภาษาเขมรในศิลาจารึกอยู่มากกว่าภาษาเขมรทางพนมเปญซึ่งขาวกว่าและมีสำเนียงพูดเจือสำเนียงเวียตนาม; รูปร่างหน้าตาของเขมรแถวใต้ภูเขาดงเร็กก็ยังคล้ายคลึงกับรูปประชาชนเขมรโบราณที่จำหลักไว้ตามปราสาทหินต่าง ๆ ของเขมร ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเขมรโบราณผิวดำนี้แหละที่ตำนานไทยทางเหนือเรียกว่า กล๋อมดำ หรือ ขอมดำ และพวกนี้ไม่จำเป็นจะต้องมาจากนครธม หากอาจจะเป็นพวกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคอีสานของไทยบริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูลก็ได้ ศิลปวัฒนธรรมของเขาอาจจะมีลักษณะเฉพาะถิ่น ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนของนครธมก็ได้ หากมีแต่เค้าโครงลักษณะหลักสำคัญคล้ายคลึงกันเท่านั้น ฯลฯ.
ส่วน กล๋อม หรือ ขอม เฉย ๆ ที่ไม่ดำนั้น, ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่ามีอยู่คู่เคียงกับกล๋อมดำในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้หรือเหนือขึ้นไป, อาจจะเป็นคนไทยเรานี่เองก็ได้ นี่ข้าพเจ้าประเมินเอาจากคำที่ไตลื้อยังคงเรียกไทยใต้ว่า กะหลอม อยู่จนทุกวันนี้.
การตีความคำ กล๋อม-ขอม ในแต่ละตำนานนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าจะต้องคำนึงถึงผู้เขียนตำนานว่าเป็นชนถิ่นใด และสมัยใดด้วย หาควรเฉลี่ยให้คำ กล๋อม-ขอม มีความหมายเป็นชนชาติลูกผสมชาติพิเศษ, และเป็นชาติที่ประดิษฐ์ขึ้นพิเศษนี้อย่างเดียวในทุกตำนานและทุกสมัยหมดไม่.
จากคุณ :
เพ็ญชมพู
- [
21 พ.ค. 51 11:53:13
]
|
|
|