Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    อะไรคือ essay และฝึกเขียน essay ยังไง (ขั้น intermediate to advanced)

    อาทิตย์ก่อนมีน้องคนนึงอีเมลล์มาถามว่าทำยังไงถึงจะเขียนได้ดี ผมเห็นว่าน้องคนนั้นมีภาษาในการเขียนที่ค่อนข้างดีแล้ว และสามารถ organize essay ได้ดี ผมเลยไม่ได้แนะนำเหมือนกับที่เคยแนะนำคนอื่นๆ ไป ผมมุ่งไปที่ทักษะการอ่าน และกระบวนการคิดมากกว่าการเขียน เพราะจากประสบการณ์ ผมเชื่อว่าในการเขียน essay หนึ่งฉบับนั้น reading กับ thinking คิดเป็น 70% อีก 30% ที่เหลือเป็น writing skill ตรงนี้อาจจะแปลกจากที่ทั่วไปที่มักมีความเข้าใจว่าการเขียน essay มันก็เป็นเรื่อง writing 100% สิ ดังนั้นผมว่าสิ่งสำคัญที่ต้องพูดถึงคือสิ่งที่เราไม่ค่อยพูดถึง นั่นคือ What is an essay?

    หลายๆ ครั้ง (จริงๆ เกือบทุกครั้ง) เราจะถูกสอนมาว่า essay มีส่วนประกอบคือ introduction, body, conclusion และ essay ที่ดีควรจะมี thesis statement อยู่ตอนต้น แล้วส่วน body ต้อง support thesis statement นั้น ทำให้เวลาเราเขียน essay เราจะยึดติดกับรูปแบบแบบนี้

    Introduction: thesis statement
    Body 1: Support thesis
    Body 2: Support thesis
    Body 3: Support thesis
    Conclusion: สรุปเรื่องที่พูดมาทั้งหมด

    เช่น

    Introduction: ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด
    Body 1: เพราะว่าไม่ค่อยมีภัยธรรมชาติ
    Body 2: เพราะว่าคนมีน้ำใจ
    Body 3: เพราะว่าข้าวของถูก
    Conclusion: เมืองไทยน่าอยู่เพราะว่าสาเหตุ 3 ประการดังที่กล่าวข้างต้น

    ไม่น่าแปลกว่าหลายๆ คนจะถูกสอนมาแบบนี้นะครับ นั่นเพราะว่าข้อสอบหลายๆ ชนิด เช่น TOEFL หรือ SAT ก็ยึดติดกับรูปแบบแบบนี้ (ถ้าไม่เขียนตามนี้ คะแนนอาจจะไม่ดี)

    จริงๆ แล้วรูปแบบการเขียนแบบนี้เราไม่เรียกว่า essay นะครับ นักวิชาการบางคนเรียกว่า "high-school 5-paragraph writing" หรือ "thesis/support form"

    แล้วจริงๆ essay คืออะไร มีรูปแบบยังไง?

    มีหลายๆ คนให้นิยามของคำว่า essay ไว้ แต่ถ้าจะให้สรุปตามความเข้าใจผมคือ งานเขียนที่เป็นการบันทึกกระบวนความคิดของนักเขียน ว่ากว่าจะผ่านมาจนถึงจุดสุดท้ายของงานเขียน (ย่อหน้าสุดท้าย) นักเขียนคิดอะไรบ้าง หรือง่ายๆ ก็คือ essay ไม่ได้มีหน้าที่บอกความจริงกับคนอ่าน แต่ essay บอกความคิดของคนๆ หนึ่งเกี่ยวกับสถาการณ์/ประสบการณ์/บทความหนึ่ง อ่านแบบนี้แล้วจะเห็นว่า essay ไม่ได้มีรูปแบบที่สวยงามหรือ perfect แบบที่มี introduction บอก thesis statement หรือมี body ที่สนับสนุน thesis statement และมี conclusion ที่บอกคนอ่านว่าทั้งหมดได้เขียนอะไรมา แต่ essay ที่แท้จริงนั้นมีรูปแบบที่ไม่ตายตัว บางทีคนเขียนอาจจะขัดแย้งในความคิดของตัวเอง, ไม่เห็นด้วยกับคนอื่นที่แสดงความเห็นในหัวข้อที่ตัวเองสนใจ หรือเห็นด้วย, ยกตัวอย่างให้คนอ่านดูเพื่อชักจูงให้คล้อยตาม, ตั้งคำถาม (ที่หลายๆ ครั้งยังหาคำตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้มาคือสมมติฐานที่มาจากการศึกษาในช่วงเวลานั้น), มองหัวข้อในหลายๆ มุมมองไม่ใช่มุมมองที่ตัวเองเห็นอย่างเดียว เป็นต้น

    ถ้าจะสังเกตให้ดี จะเห็นว่า essay จะคล้ายๆ กับบทสนทนา เช่น เวลาเพื่อนมาเล่าให้ฟังว่าหนังเรื่องนี้ดียังไง เพื่อนก็คงไม่บอกว่าหนังดีหมดหรือหนังไม่มีไปสะหมด แล้วเราก็คงไม่แค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดของเพื่อน หรือเราอาจจะบอกว่า มันคล้ายๆ กับหนังเรื่องที่เราเคยดู หรือเราอาจจะตั้งคำถามกับเพื่อน (เช่น "เห้ย แต่ถ้าดูดีๆ ฉากนี้มันเป็นแบบนี้นะเว้ย") ความเป็นไปได้ที่เราจะตอบมีอีกหลากหลายไม่จบสิ้น เช่นเดียวกันกับการเขียน essay แต่สิ่งที่ยากคือ เราจะต้องเป็นทั้งตัวเองและเป็นทั้งเพื่อนในเวลาเดียวกัน ตรงนี้ต้องอาศัยการฝึก ทั้งการอ่านและการเขียนและการคิด

    ฝึกยังไงดีหละ?

    การอ่าน/การคิด สองอย่างนี้สำหรับผมดูเหมือนจะมาคู่กัน ต้องบอกก่อนว่าผมมองการอ่านในมุมที่แตกต่างไป การอ่านไม่ได้หมายถึงการอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่รวมไปถึงการอ่านโลก (ขอใช้คำของนักการศึกษาชาวบราซิลนะครับ Reading the World, Reading the Word) เวลาเราจะพูดถึงปรากฎการณ์ในสังคม เช่นเสื้อสายเดี่ยว เราก็กำลัง "อ่าน" สังคมอยู่ คือเรากำลังมองถึงสิ่งที่เกิดขึ้น พยายามหาสาเหตุ แสดงความคิดเห็น (ว่าชอบหรือไม่ชอบ -- เพราะว่าอะไร) เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับปรากฎการณ์อื่นๆ ในสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตั้งสมมติฐานว่าอนาคตต่อไปจะเป็นยังไง (กระแสนี้จะอยู่นานแค่ไหน หรือว่ามีผลกระทบต่อกระแสที่จะตามมาหรือเปล่า) เป็นต้น ผมเรียกกิจกรรมทางสมองเหล่านี้ว่าการ "อ่าน" เข่นเดียวกัน

    จากตัวอย่างสายเดี่ยวจะเห็นว่าการอ่านนั้นไม่เหมือนกับการอ่านทั่วไป ปกติเวลาเราอ่านหนังสือเราจะพยายาม "สรุป" (ตรงนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากวัฒนธรรมข้อสอบปรนัยที่เน้นความจำ) แล้วก็จบลงแค่นั้น ทำให้เวลาเราเขียน เราก็มักจะ "สรุป" สิ่งที่เราอ่านให้คนอ่านของเรา แต่คำถามคือ คนอ่านไม่สามารถสรุปได้ด้วยตัวเองนั้นหรือ ถ้าสรุปเองได้ ทำไมจะต้องมาอ่านงานเขียนของเรา? นี่แหละครับปัญหาสำคัญ หลายๆ งานเขียนที่ผมเห็นจะเน้นสรุปมากกว่าที่จะพยายามทำกิจกรรมทางสมองที่ผมพูดไว้ตอนแรก ทำให้งานเขียนพวกนี้ไม่ถูกเรียกว่า essay อีกทั้งยังไม่มีอะไรแปลกใหม่สำหรับคนอ่าน เพราะว่าคนอ่านไม่ได้รู้ว่าเราเขียนทำไม (นอกจากเขียนเพื่อสรุป ซึ่งเค้าสรุปเองได้) และไม่ได้เห็นความคิดเห็นของเราต่อหัวข้อ และไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

    ดังนั้นเวลาอ่านนั้นเราควรจะอ่านด้วยความคิดที่ active อยู่ตลอดเวลา ต้องคอยสรุป และ เปรียบเทียบ แสดงความเห็น (เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะว่าอะไร) ตั้งสมมติฐาน หาสาเหตุของปัญหา/หัวข้อ เป็นต้น หรือพูดง่ายๆ คือ ต้องทำให้คนอ่านอ่านแล้วรู้สึกว่าได้อะไรกลับไป แล้ว "อะไร" ในที่นี้ก็หมายถึง ความคิดของเราในฐานะนักเขียนต่อหัวข้อหรือปัญหาที่เรากำลังเขียน

    การที่เราจะทำแบบนี้ได้เราต้องฝึกบ่อยๆ ครับ คิดอยู่ในหัวไม่พอ จะต้องเขียนออกมาด้วย แล้วเขียนอย่างเดียวก็ไม่พอ จะต้องมีคนคอยตรวจด้วย สำหรับผมนี่คือหัวใจหลักของการฝึกการเขียน คือ ต้องมีคนแนะนำที่มีความรู้ความเข้าใจการ(สอนการ)เขียน และระบบการเขียน ไม่ใช่เพียงแค่ตรวจแกรมมาร์หรือศัพท์ให้เท่านั้น แต่คนให้คำแนะนำจะต้องสามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับงานเขียนได้ด้วย นั่นคือคนแนะนำต้องอ่านงานเขียนนั้นเสมือนเป็นงานเขียนของนักเขียนอาชีพ ไม่ใช่แค่นั่งจับผิดว่าเขียนถูกหรือไม่ถูก หรือดีหรือไม่ดี (ตรงนี้ผมเคยเขียนไว้ในอีกกระทู้ "เขียน essay แล้วให้เพื่อนๆ ช่วยแก้ ช่วยคุณเขียน essay ได้จริงๆ เหรอ? "http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/04/K6550293/K6550293.html )

    ผมเข้าใจว่าเมืองไทยยังไม่มี compositionist (คนที่เรียนทางด้านการเขียนเชิงวิชาการ และการสอนการเขียนเชิงวิชาการ) อย่างจริงๆ จังๆ อาจารย์ส่วนมากก็จะเรียนมาทางด้านวรรณคดี หรือ Teaching English as a Second Language แต่ต้องมีหน้าที่สอนการเขียนไปในตัวทำให้เมืองไทยขาดบุคลลากรด้านนี้ อีกอย่าง ร.ร. กวดวิชาต่างๆ ก็มีเป้าหมายให้นักเรียนสอบข้อสอบ TOEFL ได้คะแนนดีๆ จึงเน้นไปที่การสอน thesis/support form ที่จะเรียกคะแนนจากคนตรวจได้มากกว่า essay (จริงๆ สอน thesis/support form ง่ายกว่าด้วย) แต่ยังไงก็ตามผมคิดว่าทักษะการเขียน essay เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะว่ามันจะฝึกให้เราเป็นทั้งนักอ่าน นักคิด และนักเขียนในสังคมที่เรากำลังได้รับข้อมูลหลายๆ ได้อย่างในปัจจุบันครับ

    29 พ.ค. 2551
    เมื่อลมแรง...ใบไม้ก็ร่วง

    แก้ไขเมื่อ 30 พ.ค. 51 09:50:19

    จากคุณ : เมื่อลมแรง...ใบไม้ก็ร่วง - [ 30 พ.ค. 51 09:10:43 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom