ความคิดเห็นที่ 6
เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่ประทับของพระมเหสีเทวี พระราชธิดาแห่งพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงพระสนมกำนัล เจ้าจอม ข้าหลวง และข้าราชการที่เป็นหญิงทั้งสิ้น ตามกฎมณเฑียรบาลจะห้ามบุคคลภายนอกโดยเฉพาะบุรุษเข้าเขตพระราชฐานชั้นในเด็ดขาด ยกเว้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสที่ยังมิได้โสกันต์ หรือเด็กชายที่มีอายุไม่เกิน ๑๐ ปี ปัจจุบันได้ผ่อนคลายลง แต่ก็ยังคงเป็นเขตหวงห้ามเพื่อรักษาระเบียบแบบแผนอันเป็นราชประเพณีโบราณไว้ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะพระตำหนัก หรือตำหนักที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานไว้เท่านั้น เพราะยังมีสิ่งก่อสร้างอีกมาก เช่น แถวเต๊ง อาคารพระคลังใน ห้องพระ โรงทรงประเคน ฯลฯ
๑. ตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (อาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น ทาสีชมพู ทรงอาคารเป็นรูปตัว E หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว ตั้งอยู่หลังพระมหามณเฑียรตรงประตูสนามราชกิจ เดิมเป็นที่ตั้งพระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินีในรัชกาลที่ ๒)
๒. ตำหนักพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา พระองค์เจ้าทิพยาลังการ และเจ้าจอมมารดาแส (คู่กับตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ลักษณะคล้ายคลึงกัน)
๓. ตำหนักกรมหลวงวรเสรฐสุดา สร้างในรัชกาลที่ ๓ ลักษณะเป็นเรือนหมู่ทรงไทย ชั้นเดียว ก่ออิฐฉาบปูน จำนวน ๔ หลังประกอบกัน ทุกหลังหันหน้าอาคารเข้าสู่ลานกลาง
๔. พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า เดิมโปรดเกล้าฯ ให้ประทับร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นพระตำหนักเดี่ยวขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน มีลานกว้างทั้งด้านหน้าและหลัง ซุ้มพระทวารทำด้วยเหล็กหล่อ ตอนบนประดิษฐานตราจุลมงกุฎ ๓ ชั้น (ตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก) ชั้นล่างเป็นที่เก็บของ และที่อยู่ของข้าหลวง ชั้น ๒ เป็นที่ประทับ มีห้องสำคัญคือ ห้องที่เสด็จฯ ออกรับแขก ชั้น ๓ เป็นที่บรรทม และมีห้องพระแยกต่างหาก นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนของตำหนักมีบันไดแยกกัน มีตำหนักฝาไม้ สันนิษฐานว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
๕. พระตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี มีเรื่องเล่าว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชทานเจ้าดารารัศมี ธิดาพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ทรงทราบกระแสพระราชดำริ จึงขอรับพระราชทานสร้างตำหนักหลังนี้น้อมเกล้าฯ ถวาย ตัวตำหนักเป็นตำหนักรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐฉาบปูน ๓ ชั้น ทาสีชมพูสลับเขียว สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยา เดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ปัจจุบันเป็นหลังคาลอนคู่ (หลังจากพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จกลับไปประทับ ณ นครเชียงใหม่ ตำหนักองค์นี้ว่างลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ได้มาประทับที่ตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลปัจจุบัน
๖. พระตำหนักสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (ทูลกระหม่อมแก้ว) ได้ประทับ ณ พระตำหนักหลังนี้จวบจนสวรรคตใน พ.ศ.๒๔๓๙ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักถวายในพื้นที่ "พระตำหนักแดง" (เดิมเป็นพระตำหนักทรงไทยที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๑ สร้างพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ และเป็นที่ประทับของพระมเหสีเทวี พระราชธิดาในรัชกาลต่าง ๆ (ในรัชกาลที่ ๓ เรียกว่า พระตำหนักกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ)) เมื่อทูลกระหม่อมแก้วสวรรคต สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งยังทรงพระเยาว์ได้ประทับต่อมา เดิมเป็นหมู่พระตำหนักใหญ่ แต่ภายหลังจากทูลกระหม่อมแก้วสวรรคตได้ ๑๓ ปี พบว่าพระตำหนักทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักสูง ๒ ชั้น และเรือนข้าหลวงออก เหลือเพียงพระตำหนักสูง ๓ ชั้น และเรือนข้าหลวงทิศตะวันตกตราบจนถึงปัจจุบัน เดิมหลังคามุงกระเบื้อง ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่ พระบัญชรแต่ละชั้นตกแต่งไม่เหมือนกัน ชั้น ๒-๓ เป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของข้าหลวง
๗. ตำหนักพระองค์เจ้าวรลักษณาวดี เป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง ๒ หลัง หันหน้าเข้าสู่ลานกลาง สร้างในรัชกาลที่ ๔
๘. ตำหนักพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี และเจ้าจอมมารดาชุ่ม เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หักศอกเป็นรูปตัว L โครงสร้างก่ออิฐถือปูนประสมไม้ สูง ๒ ชั้นครึ่ง หลังคาปั้นหยาทรงสูง ภายในตกแต่งพิเศษที่ห้องรับแขกบนชั้นสองเพียงชั้นเดียว ทิศตะวันตกเป็นห้องสรง มีเครื่องสุขภัณฑ์แบบต่างประเทศ
๙. เรือนเจ้าจอมเอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน (เรือนก๊กออ) เป็นเรือนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนสูง ๔ ชั้น ภายนอกทาสีเหลือง ภายในทาสีชมพู ด้านหลังเป็นเรือนครัว
๑๐. ตำหนักพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา และเจ้าจอมมารดาอ่อน เป็นตำหนักต่อเนื่องกับเรือนเจ้าจอมก๊กออ ซึ่งร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้าจอมมารดาอ่อน มีสะพานไม้เชื่อมถึงกันจากห้องโถงกลางชั้น ๒ อาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐฉาบปูน สูง ๓ ชั้น ทาสีชมพูแก่ สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก คล้ายกับอาคารในประเทศอิตาลีตอนใต้ หลังคาทรงปั้นหยา
๑๑. ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย และเจ้าจอมมารดาทับทิม ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกรูปตัว U ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ก่ออิฐถือปูน สูง ๒ ชั้น เป็นตำหนักที่ประทับ ล้นเกล้าฯ รัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับพักตราบจนถึงแก่อนิจกรรม (ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกตำหนักหลังนี้ว่า "เรือนคุณจอม") อีกหลังเป็นเรือนสูงชั้นเดียว เป็นที่อยู่ของข้าหลวงและห้องเครื่อง
๑๒. ตำหนักพระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ เป็นอาคารสูง ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างเตี้ย ชั้นบนสูง รูปแบบภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผา ภายในคล้ายเรือนหมู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓
๑๓. ตำหนักพระองค์เจ้าเหมวดี เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกสูง ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูน (คล้ายตำหนักพระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ)
๑๔. ตำหนักพระองค์เจ้าแม้นเขียน หรือ ตำหนักพระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ ลักษณะเป็นเรือนหมู่ทรงไทยชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยเรือน ๓ หลัง เป็นที่ประทับ ๒ หลัง และเรือนที่พักข้าหลวงและห้องตั้งเครื่องอยู่ทางด้านหลัง ๑ หลัง
๑๕. เรือนเจ้าจอมเง็ก (เดิมเรือนเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.จิ๋ว กปิตถา) ตัวเรือนทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หน้าแถวเต๊งชั้นใน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สูง ๒ ชั้น ทาสีขาว หน้าต่างสีเขียว ลักษณะอาคารเป็นรูปตัว U สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ตกแต่งประดับด้วยลายไม้ฉลุ กันสาด และชายคาแบบลายขนมปังขิง (Ginger Bread) มีลักษณะเด่นคือมีหน้าต่างรอบอาคารแบบบานเฟี้ยม
๑๖. ตำหนักพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ (กล่าวกันว่าพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ทรงสร้างตำหนักนี้ด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์) ครั้นเมื่อสร้างเสร็จกลับไม่ประทับ ด้วยไม่โปรดเพราะตำหนักทึบเกินไป ตัวอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ก่ออิฐถือปูน สูง ๓ ชั้น ทาสีเหลือง มีลักษณะแปลกกว่าตำหนักอื่นคือ ไม่มีซุ้มประตูและลานกลาง ประตูทางเข้าอยู่ที่ตัวอาคาร
ข้อมูลอ้างอิง
๑. "พระบรมมหาราชวัง", สำนักพระราชวัง ผู้จัดทำ, พิมพ์ครั้งที่ ๑ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พฤศจิกายน ๒๕๔๗. ๒. "ดวงใจแผ่นดิน" การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี, ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งแรก : สำนักพิมพ์มติชน, ธันวาคม ๒๕๔๙.
...............................
ความจริงรายละเอียดยังมีอีกมากในหนังสืออ้างอิงเล่ม ๑ ซึ่งหนาถึง ๓๓๐ หน้า พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตสอดสี ๔ สีทั้งเล่ม แถมยังฉาบทองที่ขอบหนังสือทั้ง ๓ ด้าน เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าน่าสะสมเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งภาพประกอบก็อลังการเหลือเกิน คุณเจ้าของกระทู้และท่านผู้ใดที่สนใจก็ลองหาซื้อมาอ่านประดับความรู้ก็ดีนะครับ ขอโทษด้วยที่ไม่สามารถสแกนรูปมาลงได้ เนื่องจากสงวนลิขสิทธิ์อย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งก็คือหนังสือใหญ่มาก (กว้าง x ยาว) ใหญ่จนเกินกว่าเครื่องสแกนที่บ้านผมจะสแกนได้ ถ้าสนใจก็ลองซื้อหามาอ่านดู หรือห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็น่าจะมีนะครับ
จากคุณ :
วศินสุข
- [
15 มิ.ย. 51 17:19:09
]
|
|
|