Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ระบบการศึกษาเปรียบเทียบ ไต้หวัน-อเมริกา

    เนื้อหาต่อไปนี้ คัดลอกมาจากส่วนหนึ่งของนิยายเรื่อง "หัวใจกบฎ" ที่เขียนโดย โหวเหวินหย่ง
    (สนพ.นานมีบุ๊คส์)

    "หัวใจกบฎ" เป็นนิยายที่กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาของไต้หวัน
    ดำเนินเรื่องโดยเด็กนักเรียนระดับชั้น ม.3 ชื่อ เซ่เจิ้งเจี๋ย (อาเจี๋ย)
    เนื้อหาด้านล่าง อยู่ในช่วงที่เหตุการณ์เกิดบานปลายเพราะน้ำผึ้งหยดเดียว
    มีการชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ
    แล้วเด็กนักเรียนไต้หวันคนหนึ่ง ที่ย้ายไปเรียนที่อเมริกา โทรศัพท์มาให้กำลังใจตัวเอกของเรื่อง


    เนื้อหาในการสนทนา เด็กทั้งสองได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด เกี่ยวกับการศึกษาของทั้งสองประเทศ
    รวมทั้ง "เสิ่นเจ๋" ยังได้เล่าเรื่องของ "อาเจี๋ย" ให้เพื่อนชาวจีนด้วยกันที่เรียนอยู่ฝรั่งเศสฟัง
    ต่อมามีการส่งอีเมล์มาหา


    อื่นใดไม่ทราบ ผมคิดว่ามันเป็น "กระจก" ที่ดี สำหรับการพัฒนาการศึกษาบ้านเรานะครับ

    ในฐานะที่เคยสอนโรงเรียนรัฐบาล และเห็นระบบของโรงเรียนนานาชาติมาบ้าง

    ผมเห็นว่า...

    คุณเห็นว่ายังไงละครับ


    สามารถอ่านเนื้อความนี้พร้อมกับดูภาพประกอบ

    ได้ที่
    http://be-beer.exteen.com/20080703/entry-2




    ...


    “หวัดดี เราชื่อเสิ่นเจ๋นะ เราได้ยินข่าวของนายจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ นายไม่รู้จักเราหรอก แต่แม่ของเรารู้จักแม่ของนาย คุณแม่เป็นคนให้เบอร์โทรศัพท์ของนาย บอกให้เราโทรมาเป็นกำลังใจ ให้นาย บอกให้นายเข้มแข็ง"

    "นายจะบอกให้เราเข้มแข็ง ?”

    “สองปีก่อนตอนที่เรายังอยู่ไต้หวัน เราเรียนกับอาจารย์จันเหมือนกัน ตอนที่เรายังอยู่ไต้หวัน ถูกลงโทษให้คุกเข่า ยังโดนเฆี่ยนอีก... เพราะอาจารย์จันนั่นแหละ เราถึงต้องย้ายมาเรียนหนังสือที่อเมริกา นายยังสบายดีหรือเปล่า” เขาถาม

    “ยังดีมั้ง” ผมตอบ “พวกเขาบอกว่าจะขอประชุมปรับความเข้าใจในเรื่องของเรา...”

    “เมื่อก่อนเราก็โดนเหมือนกัน สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราขอบอกนายว่า นายเปลี่ยนแปลงอะไรพวกเขาไม่ได้หรอก... ท้ายที่สุด นายมีแต่ต้องดูแลตัวนายเองดี ๆ และพยายามอย่าปล่อยให้พวกเขามาเปลี่ยนแปลงตัวนาย”

    “พยายามอย่าปล่อยให้พวกเขามาเปลี่ยนแปลง?” เป็นอีกความคิดหนึ่งที่น่าสนุก ผมเกิดนึกสนใจ ถามเขาว่า

    “นายอยู่อเมริกาเป็นยังไงบ้าง”

    “ตอนมาใหม่ ๆ ก็แย่หน่อย ตอนนี้ก็ปรับตัวได้แล้ว”

    นายรู้สึกว่าระบบการศึกษาของอเมริกาดีกว่าของไต้หวันไหม”

    “แล้วแต่โรงเรียนมั้ง” เขาคิดสักครู่หนึ่ง ตอบว่า “แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การศึกษาอเมริกาดีกว่าของไต้หวันมาก”

    “ส่วนไหน”

    “จะว่ายังไงดีล่ะ” เขานิ่งเงียบไปสักพัก

    “ยกตัวอย่างนะ คณิตศาสตร์เราเก่งกว่าพวกนักเรียนอเมริกัน เราก็ข้ามชั้นได้เร็วมาก ข้ามไปเรียนในชั้นที่เหมาะกับความรู้ของเราได้เลย แต่ถ้าผลการเรียนไม่ดี อย่างภาษาอังกฤษของเราเป็นต้น อาจารย์นอกจากจะไม่ลงโทษแล้ว ยังดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ พวกนักเรียนในอเมริกาจะเป็นพวกยกย่องฮีโร่ ถ้านายเก่งกาจอะไรสักอย่างจริง ๆ พวกเขาก็จะยกย่องนับถือนายมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่านายจะอยากเรียนอะไร พัฒนาทางด้านไหน ครูอาจารย์จะส่งเสริมเต็มที่ เพื่อน ๆ นักเรียนจะไม่มีใครดูถูกนายถ้านายได้คะแนนไม่ดี ดังนั้น นายจึงไม่ต้องเป็นเหมือนตอนอยู่ไต้หวัน ที่ทุกวันต้องใช้ชีวิตแบบกล้า ๆ กลัว ๆ เป็นห่วงคะแนนในประกาศผลสอบ คอยระแวงว่าวันดีคืนดีครูอาจารย์ก็จะด่านายว่านาย ลงโทษนาย กลัวนักกลัวหนาว่าจะสอบไม่ติดโรงเรียนชื่อดัง หรือคอยกังวลว่าเพื่อน ๆ จะมองนายยังไง...”

    ไปอเมริกาแล้วคิดถึงบ้านหรือเปล่า” ผมถาม

    ใครบ้างไม่คิดถึงบ้าน แต่ว่าคิดถึงแล้วจะได้อะไรขึ้นมา” เขาหัวเราะด้วยน้ำเสียงอ่อนแรง

    “เรามีโอกาสโตเป็นผู้ใหญ่ได้แค่ครั้งเดียว ปัญหาก็คือ ไต้หวันไม่สามารถให้การศึกษาแบบนั้นแก่เราได้...”

    เหมือนเขานึกอะไรขึ้นได้ ถามว่า

    “จริงสิ นายมีอีเมล์หรือเปล่า เราอาจจะส่งความคิดเห็นของเราไปให้นายบ้าง เรารู้จักเพื่อน ๆ ไต้หวันที่เรียนอยู่ต่างประเทศอีกหลายคน นายอาจจะลองถามความเห็นจากพวกเขาดูบ้างก็ได้”

    ผมบอกอีเมล์ของผมไป เขาพูดให้กำลังใจผมอีกสักครู่ ผมกล่าวขอบคุณแล้วก็กล่าวลา เมื่อกลับมาถึงห้องรับแขก คุณแม่ถามผมเบา ๆ ว่า “ใครโทรมาหรือ”

    “ชื่อเสิ่นเจ๋ครับ โทรมาจากอเมริกา เขาบอกว่าได้เบอร์มาจากแม่ของเขา ที่ขอเบอร์ไปจากแม่นะ”

    “เสิ่นเจ๋ ?” คุณแม่นิ่งคิดสักครู่ “อ้อ จริงด้วย คุณนายเสิ่น แม่เป็นคนให้เบอร์เขาไปเอง”

    ...







    ...


    ปิดโทรทัศน์ ผมลุกขึ้นเดินไปที่ห้องทำงานคุณพ่อ เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์และต่ออินเทอร์เน็ต เมื่อเชื่อมต่อเสร็จสิ้น บนหน้าจอก็มีข้อความเตือนว่ามีเมล์ใหม่ ผมเปิดโปรแกรมเช็กเมล์ โหลดอีเมล์ทุกฉบับเข้ามาเก็บไว้ในเครื่อง
    จดหมายที่เขียนถึงผมจริง ๆ นั้นมีเพียงสามฉบับ นอกนั้นเป็นพวกโฆษณาและเมล์ขยะ

    ผมเปิดฉบับที่ส่งมาจากเอรี่ก่อน เป็นใบปลิวที่เธอทำขึ้นเอง เนื้อหาเชิญชวนให้ทุก ๆ คนไปร่วมแสดงพลัง ชุมนุมประท้วงกันที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ในเนื้อความยังมีแผนที่บริเวณกระทรวงและข้อมูลเส้นทางรถไฟฟ้า รถประจำทางอีกด้วย อีกฉบับเป็นจดหมายมาจากคนที่ชื่อเสิ่นเจ๋ เป็นชื่อที่ผมไม่คุ้น

    ขณะกำลังตัดสินใจว่าจะเปิดอ่านดีหรือไม่ ก็นึกถึงคุณป้าเสิ่นที่มีลูกอยู่อเมริกา เมื่อคืนวันพฤหัสฯ เพิ่งจะคุยกันทางโทรศัพท์ ผมจึงเปิดอ่าน เนื้อหาในจดหมายเขียนเอาไว้ว่า


    หวัดดีอาเจ๋
    เราเห็นข่าวของนายบนหนังสือพิมพ์ที่นี่ด้วย ขอแสดงความนับถือจริง ๆ เราอยากให้คนทุกคนในไต้หวันเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการประท้วงของนาย
    วันก่อนตอนคุยโทรศัพท์รีบร้อนเกินไปหน่อย เรื่องหลาย ๆ เรื่องเรายังคิดไม่ค่อยชัดเจน หลาย ๆ วันนี้มาคิดดูให้ละเอียดอีกที อยู่ ๆ ก็รู้สึกว่าควรเขียนอีเมล์ฉบับนี้มาหานาย ถ้าหากนายจะถามเราว่า การศึกษาไต้หวันกับการศึกษาของอเมริกาต่างกันยังไง เราคิดว่าเราต้องบอกนาย ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ระบบการศึกษาของอเมริกาไม่มีใครบังคับให้นายต้องเรียนหนังสือ แต่นายจะรู้สึกว่านายเรียนหนังสือเพื่อตัวนายเอง แต่สำหรับไต้หวัน นายจำเป็นต้องเรียนหนังสือเพื่อวัตถุประสงค์ภายนอกอะไรสักอย่าง

    เราไม่ได้ตั้งใจจะบอกว่าระบบไหนดีหรือระบบไหนไม่ดี ระบบการศึกษาของอเมริกา อันที่จริงพวกเขาก็มีปัญหาของพวกเขาเหมือนกัน แต่ถ้านายจะถามเราให้ได้จริง ๆ เราว่าเราชอบวิธีการสอนของที่นี่มากกว่า

    อาจจะเป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมกระมัง ครูอาจารย์ที่นี่จะให้เกียรติเด็กนักเรียนมาก---พวกเขาปล่อยให้เด็กเป็นเด็ก ให้เด็ก ๆ ใช้ชีวิตแบบเด็ก ๆ บุคคลสำคัญในสายตาของชาวอเมริกัน อย่างเช่นบิลเกตต์ วอลต์ดิสนีย์ ไอน์สไตน์ Feynman... เมื่อมองจากอีกมุมหนึ่ง อันที่จริงก็เป็นเด็ก อาจเป็นเพราะพวกเขาให้เกียรติเด็ก ๆ จากใจจริงด้วยกระมัง นายสามารถรู้สึกได้ว่า พวกเขาจะปฏิบัติกับเด็กด้วยวิธีของเด็ก ให้การยอมรับพร้อมกับยินยอมให้เด็ก ๆ สร้างโลกของตนเองตามใจชอบ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ถ้าเป็นไต้หวัน เรื่องแบบนี้คงเป็นไปไม่ได้



    นี่อาจจะเป็นความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับวัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมตะวันตกจะเหมือนเด็ก การปฏิเสธและต่อต้านอดีตของพวกเขา นำพาพวกเขาให้มุ่งหน้าไปสู่อนาคต

    ส่วนวัฒนธรรมตะวันออกจะเหมือนคนแก่ ความถือทิฐิมานะในทำนองคลองธรรมเก่า ๆ และความเชื่อมั่นในเกียรติและศักดิ์ศรีฉุดรั้งให้พวกเราย้อนกลับไปสู่อดีต ในขณะที่ชาวต่างชาติปฏิเสธธรรมเนียมประเพณีของตนเอง ตั้งแง่กับพระเจ้าของตนเอง ก้าวออกไปสร้างสรรค์ศิลปะเฟื่องฟู ประดิษฐ์คิดค้นวิทยาการทันสมัย พัฒนาอุตสาหกรรมและความศิวิไลซ์ด้านข่าวสารข้อมูล พวกเรายังวนเวียนอยู่กับประวัติศาสตร์คร่ำครึ เรื่อยมาตั้งแต่ฮ่องเต้เหย่า ฮ่องเต้ซุ่น ฮ่องเต้อวี่ ราชวงศ์ทัง จนถึงเหวินหวู่ โจวกง....ประเพณีโบราณ ระบบการปกครองแบบกษัตริย์กับขุนนาง พ่อกับลูก ครูกับศิษย์ หาทางออกกันไม่เจอ

    ก่อนจะมาที่อเมริกา บางทีนายอาจไม่ยอมแพ้ระคนกับไม่เห็นชอบในความเจริญของมัน ตอนเพิ่งมาถึงอเมริกาใหม่ ๆ นายจะเริ่มรู้สึกทึ่งกับความเจริญทางเทคโนโลยีและความร่ำรวยของประเทศนี้ แต่เมื่อเข้ารับการศึกษาของอเมริกาแล้ว นายจะยอมรับมันจากใจว่า การที่อเมริกาเป็นประเทศยักษ์ใหญ่นั้นมีเหตุผล การที่ประเทศนี้รุ่งเรืองเข้มแข็ง นอกจากเทคโนโลยีและกำลังทางทหารแล้ว อันที่จริงเป็นเพราะการศึกษาของที่นี่มันมีคุณลักษณะที่พิเศษ เขาให้ความยกย่องชีวิตของคนทุกคน และเฝ้ามองความสามารถที่ซ่อนเร้นและพลังแห่งจินตนาการของเด็ก ๆ ด้วยใจจดจ่อและรอคอย การรอยคอยพวกนี้ ท้ายที่สุดกระตุ้นให้เกิดการทดลองและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าตกใจ กลายเป็นเสาหลักค้ำยันให้ประเทศนี้เติบใหญ่แข็งแรง


    ถึงแม้ว่าเราจะไม่เสียใจที่เลือกมาอเมริกา แต่ ไม่ว่าเราจะชอบสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาของอเมริกามากแค่ไหนก็ตาม ที่นี่ก็ไม่ใช่ประเทศบ้านเกิดของเรา เราไม่รู้ว่าไต้หวันยังต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ ต้องเกิดความสูญเสียอีกกี่มากน้อย จึงจะทำให้อาจารย์ ผู้ปกครองและนักเรียนส่วนใหญ่ เข้าใจในสิ่งที่เราได้รับที่นี่และความรู้สึกพวกนี้

    เราเชื่อว่าความขยันร่ำเรียนของเด็กนักเรียนบ้านเรา ไม่แพ้นักเรียนชาวอเมริกันแน่นอน แต่ทุกครั้งที่นึกถึงการท่องจำ การบ้าน การเรียนพิเศษ การสอบ... ที่หนักอึ้งพวกนี้ เราก็รู้สึกเสียใจแทนเพื่อน ๆ นักเรียนในไต้หวัน ที่ถูกผูกรัดแน่นหนาจนแทบหายใจไม่ออก

    บางทีอาจเป็นเพราะเรารู้สึกนับถือในตัวนาย จึงเขียนจดหมายฉบับนี้มาให้ เราเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เกือบจะเหมือนกับนาย แต่น่าเสียดายที่เราไม่กล้าพอจะทำสิ่งที่นายกำลังทำอยู่ตอนนี้ ดังนั้น เราถือโอกาสนี้ขอแสดงความเคารพนาย และขอให้นายรักษาความกล้าหาญ เข้มแข็งต่อไป
    สุดท้ายนี้
    ขอให้โชคดี

    จาก
    เสิ่นเจ๋



    เมื่ออ่านอีเมล์ฉบับนี้จบ ผมรู้สึกเหมือนไม่คิดไม่ฝัน นับตั้งแต่ถูกลงโทษ ถูกทำทัณฑ์บน ถูกสื่อลงข่าวว่าอ่านหนังสือลามก ตอนนี้ถูกตราหน้าเป็นเด็กอันธพาล เป็นนักเรียนเกเร กำลังล้มลุกคลุกคลาน ดูท่าว่ากำลังจะแพ้แบบยกกระบิ แต่กลับมีคนมาแสดงความเคารพ ?

    ผมกล้าหาญหรือ ? ผมมีค่าพอให้ผู้อื่นนับถือหรือ ? ผมเริ่มรู้สึกเลอะเลือนแล้ว



    ผมเปิดอีเมล์ฉบับที่สาม อีเมล์ฉบับนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษล้วน ตอนแรกนึกว่าคงส่งผิด แต่พออ่านดูดี ๆ เป็นจดหมายที่ส่งให้ผมจริง ๆ มาจากฝรั่งเศสโดยเด็กนักเรียนนอกคนหนึ่งที่ชื่อ PePe เพิ่งอ่านไปแค่ท่อนเดียว ก็เจอศัพท์ที่อ่านไม่ออกจำนวนมาก จึงต้องวิ่งกลับเข้าห้อง ไปหยิบดิกชันนารีออกมา นั่งอ่านไป เปิดศัพท์ไป

    (ต่อไปนี้เป็นฉบับแปลของผมเอง อาจจะเน่าไปหน่อย แต่ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้อีก)

    จากคุณ : beer87 - [ 3 ก.ค. 51 15:53:10 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom