ความคิดเห็นที่ 41
ขอยกบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลมาจากบล๊อกของเขา ยาวพอควร แต่คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์บ้าง
๕๐ ปีการประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘
เช้ามืดของวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ นักโทษชายที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง ๓ คน ได้ถูกนำตัวไปยังหลักประหารของเรือนจำ นี่ไม่ใช่การประหารชีวิตธรรมดาๆ เพราะผู้ถูกประหารทั้งสาม คือ เฉลียว ปทุมรส ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ รัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ หรือเกือบ ๙ ปีก่อนหน้านั้น
การสวรรคตของในหลวงอานันท์ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย ถ้าเราไม่มองว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดสิ่งอื่นหรือในแบบอื่น เราก็จะเห็นผลสะเทือนของกรณีสวรรคตว่ามหาศาลเพียงใด พูดง่ายๆคือ ลองคิดว่า หากไม่เกิดกรณีสวรรคต . . . (ในบรรดาความเป็นไปได้ต่างๆที่อาจจะตามมาจากการไม่เกิดกรณีสวรรคต คือการสถาปนาอย่างมั่นคงของรัฐบาลพลเรือนและประชาธิปไตยรัฐสภา เป็นต้น) มองในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีกรณีใดในประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะขัดแย้งกันเอง (paradox) ระหว่างความสำคัญอันใหญ่หลวง กับ การเงียบงันไม่พูดถึง มากเท่ากับกรณีสวรรคตอีกแล้ว กรณีสวรรคตเป็นจุดสูงสุดของหัวข้อที่พูดไม่ได้ (ultimate tabooed subject)
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ในทัศนะของผม ไม่เป็นความจริงทั้งหมดที่ว่า เรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถพูดได้ในสังคมไทย ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่า ไม่มีกรณีใดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก่อนกรณีสวรรคตที่เป็นหัวข้อต้องห้ามในลักษณะที่กรณีสวรรคตเป็น ผมขอเสนอว่า อันที่จริง ภาวะที่กลายเป็นหัวข้อที่พูดไม่ได้ของกรณีสวรรคต ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเสมอไป แต่เป็นผลของบริบททางประวัติศาสตร์ คือสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะที่เกิดกรณีสวรรคตขึ้น น่าคิดว่า หากเหตุการณ์อย่างกรณีสวรรคตเกิดขึ้นในต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ เมื่อคณะราษฎรยังมีความเข้มแข้งรวมหมู่ (collective political strength) สูงสุด ไม่มีศัตรูคู่แข่งที่สามารถท้าทายได้ (เพราะติดคุกหรือลี้ภัยหมด) และสามารถที่จะใช้ความเข้มแข็งนี้มารับมือกับเรื่องนี้ร่วมกัน (แบบเดียวกับศาลพิเศษ ๒๔๘๒ ที่ในทางปฏิบัติวินิจฉัยว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นกบฏด้วยการบ่อนทำลายระบอบใหม่และช่วยเหลือกบฏบวรเดช)(๑) เหตุการณ์ที่ตามมาคงจะเป็นคนละอย่างและกรณีสวรรคตก็อาจจะไม่ได้มีสถานะดังที่เป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริง บริบทของการเกิดกรณีนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง (การสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร การแตกหักระหว่างพิบูลกับปรีดี และการเริ่มกลับมีบทบาทของกลุ่มที่เสียอำนาจไปเมื่อ ๒๔๗๕) กรณีสวรรคตจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นและสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างจารีตการพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ขึ้นมา
ในความเงียบเรื่องนี้ ผู้ที่ได้รับผลโดยตรงที่สุดก็คือ ผู้ที่ถูกประหารชีวิตไปเมื่อ ๕๐ ปีก่อนทั้ง ๓ คนนั่นเอง ในแง่หนึ่ง การรณรงค์เพื่อกู้ชื่อปรีดีจากการถูกใส่ความกรณีสวรรคตซึ่งสุพจน์ ด่านตระกูล เป็นผู้บุกเบิกตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๑๐ และหลังทศวรรษ ๒๕๒๐ ได้ประสบความสำเร็จ (คือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปรีดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสวรรคต) เป็นสิ่งชอบธรรม แต่ถึงที่สุดแล้ว สามารถอภิปรายได้ว่า ปรีดี พนมยงค์มีบทบาทต่อการเมืองไทยสมัยใหม่มากเกินกว่าที่จะกลบชื่อเขาได้ตลอดไป และปรีดีเองขณะที่ต้องสูญเสียอำนาจทางการเมืองและเสียชื่อเสียงเป็นเวลาหลายปี ก็ไม่ได้สูญเสียอย่างถึงที่สุด คือชีวิต ต่างกับผู้ถูกประหารทั้งสาม ลักษณะ ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำ (elitist) ของสังคมไทยแสดงออกแม้ในกรณีนี้ (ผมตระหนักว่า การรณรงค์กู้ชื่อให้เฉพาะปรีดี มีประเด็นมากกว่าเรื่อง elitist นี้ แต่ลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อย่างไม่ต้องสงสัย)
ในประเทศไทย ไม่มีประเพณีการแก้คำตัดสินที่ผิดของศาลฎีกา หรือรื้อฟื้นชื่อเสียงอย่างเป็นทางการให้กับผู้ที่ถูกตัดสินไปผิดๆ โดยเฉพาะถ้าคดีผ่านไปหลาย ๑๐ ปีอย่างกรณีนี้ แต่การที่เฉลียว ชิต และ บุศย์ ถูกตัดสินว่ามีส่วนในการลอบปลงพระชนม์ เป็นการตัดสินที่ผิดอย่างแน่นอน ในปี ๒๕๒๓ ปรีดีได้ตีพิมพ์สำนวนคำฟ้องที่เขาเขียนขึ้น ในคดีที่เขาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทชาลี เอี่ยมกระสินธุ์กับพวก โดยให้ชื่อหนังสือที่ตีพิมพ์ว่า คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ แน่นอนว่า นั่นเป็นการเรียกอย่างเกินจริง เพราะแม้แต่คำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีนั้นเอง ก็เพียงแต่รับรองสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างปรีดีกับจำเลยเท่านั้น คำตัดสินใหม่ ดังกล่าว จึงเป็นเพียงสำนวนคำฟ้องของปรีดีเอง อย่างไรก็ตาม ในสำนวนคำฟ้องนั้น ปรีดีได้เสนอประเด็นที่ฟังขึ้นว่า คำพิพากษาคดีสวรรคตควรถือเป็นโมฆะ เพราะทั้งศาลชั้นต้น และศาลฎีกา ได้ทำผิดกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมาย(๒)
นอกเหนือจากขัดกับหลักกฎหมายแล้ว ในแง่สามัญสำนึก ทุกวันนี้มีใครบ้างที่ยังสติดี จะคิดว่าคนอย่างชิต สิงหเสนี ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่รับใช้ราชวงศ์มาหลายชั่วคน ผู้ซึ่ง ตอนที่ทรงพระเยาว์อยู่ ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ทรงขี่ข้าพเจ้าเล่นต่างม้า หรือคนอย่างบุศย์ ปัทมศริน ที่ บางเวลาเข้าที่สรงแล้ว โปรดให้ข้าพเจ้าเช็ดพระวรกายทั่วทุกส่วน และบางทียังโปรดให้ข้าพเจ้าหวีพระเกษาถวาย (๓) จะมีส่วนร่วมในแผนปลงพระชนม์? แล้วจะมีใครที่วาง แผนปลงพระชนม์ ได้อย่างโง่เขลาเบาปัญญาเช่นนั้น? (กรณีเฉลียว ปทุมรส, เรย์น ครูเกอร์ ผู้เขียนกงจักรปีศาจ พูดถูกที่ว่า ไม่มีศาลประเทศตะวันตกที่ไหนจะไม่โยนการกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงเฉลียวเข้ากับการสวรรคตเลยนี้ออกนอกศาลไป แม้แต่ศาลไทยในคดีนี้เอง หลังจากความพยายามทุกวิถีทางรวมทั้งสร้างพยานเท็จของฝ่ายโจทก์ ก็ยังไม่สามารถเอาผิดเฉลียวได้ทั้งในระดับศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ ต้องรอมาจนถึงศาลฎีกา อาศัยตรรกะที่เหลือเชื่อมาสรุปว่าเฉลียวผิด)(๔)
การเมืองของความจำ: กรณีถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ผมขอเสนอว่า สิ่งหนึ่งที่แสดงว่าทุกวันนี้ ไม่มีใครที่สติดีจะคิดว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามมีส่วนร่วมปลงพระชนม์ ก็คือการที่มีความพยายามจะปฏิเสธการเป็นผู้รับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่จะช่วยชีวิตทั้งสามไว้ในโอกาสสุดท้าย คือในขั้นตอนการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ (ซึ่งชวนให้นึกถึงกรณี ๖ ตุลาที่ในระยะหลัง หลายคนที่ดูเหมือนเคยมีบทบาทสนับสนุน กระทิงแดง, จำลอง ศรีเมือง, สล้าง บุนนาค, ฯลฯ พยายามปฏิเสธว่าไม่ได้มีบทบาทอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป)
ในหนังสือชีวประวัติจอมพล ป. พิบูลสงคราม, อนันต์ พิบูลสงคราม ได้เขียนถึงกรณีสวรรคตว่า
ข้าพเจ้าจึงระงับใจไม่ได้ที่ต้องเรียนถามจอมพล ป. พิบูลสงคราม วันหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ในฐานะที่เวลานั้นท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เหตุใดท่านจึงไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยสามคนที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต ท่านตอบข้าพเจ้าทันทีอย่างหนักแน่นว่า พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนที่สุดแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา มีน้อยครั้งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเสียใจบ้างเมื่อทำอะไรไม่สำเร็จ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครั้งใดที่ท่านจะเสียใจหนักยิ่งไปกว่าที่ข้าพเจ้ากำลังเห็นท่านครั้งนั้นขณะเมื่อได้ตอบคำถามของข้าพเจ้าจบ ด้วยใบหน้าที่เคร่งขรึมและสนเท่ห์ใจไม่เปลี่ยนแปลง(๕) อันที่จริง โดยสามัญสำนึก ใครที่อ่านเรื่องเล่านี้แล้ว ควรจะต้องสงสัยว่า การขอพระราชทานอภัยโทษในคดีเดียวจะสามารถทำได้ ถึงสามครั้ง หรือ? แต่ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานอื่น โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาโต้แย้งความจำ (หรือข้ออ้าง) ของจอมพล ป ก็คงทำได้เพียงตั้งข้อสงสัยเท่านั้น(๖)
จากคุณ :
ฮกหลงผู้หยั่งรู้ฟ้ามหาสมุทร
- [
9 ก.ค. 51 01:24:06
]
|
|
|