ความคิดเห็นที่ 30

เรื่องที่จะเรียนต่อไปนี้ ไม่ทราบว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณเพ็ญปกรณ์ หรือไม่นะครับ คืออาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงซะทีเดียว
ธรรมเนียมการตั้งยศเจ้านายของอังกฤษนั้น แตกต่างไปจากการตั้งยศเจ้านายของประเทศอื่นๆ ผมได้ลองค้นหา Royal Dukedom แล้ว เห็นว่าพระอิสริยยศที่ได้เคยพระราชทานให้แก่เจ้านายในพระบรมราชวงศ์นั้น มีดังนี้
Duke of Cornwall, Duke of Lancaster, Duke of Clarence, Duke of York, Duke of Gloucester, Duke of Bedford, Duke of Cumberland, Duke of Cambridge, Duke of Rothesay, Duke of Albany, Duke of Ross, Duke of Edinburgh, Duke of Kent, Duke of Sussex, and Duke of Connaught and Strathearn.
อย่างไรก็ตาม Dukedom ที่จะพระราชทานบ่อยที่สุด คือ Dukedom of York สำหรับ Dukedom of Lancester หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์เอง และ Dukedom of Cornwall จะเป็นพระอิสริยยศของเจ้าฟ้าพระราชโอรสองค์โต โดยไม่ต้องมีพระราชโองการสถาปนา
นอกจาก Dukedom of Windsor แล้ว จะเห็นได้ว่า Dukedom อื่นที่เหลือทั้งหมดนั้น เป็นชื่อดินแดนทั้งสิ้น ดินแดนที่สำคัญมาก เช่น Wales นั้น การทรงสถาปนาเจ้าฟ้าพระราชโอรสรัชทายาท ให้ได้ดำรงพระยศเป็น Prince of Wales ก็เนื่องจาก Wales เป็นแคว้นใหญ่ การตั้งเจ้าฟ้ารัชทายาทให้ดำรงพระยศเป็น Prince of Wales ก็ถือเป็นให้เกียรติแคว้น Wales ก็คงเฉกเช่นการพระราชทานพระนามกรมให้กับเจ้าฟ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่สามพระองค์ พระองค์หนึ่งเป็น สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์หนึ่งเป็น กรมขุนเทพทวาราวดี และอีกพระองค์เป็น กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
กลับมาที่ประเทศไทย เนื่องจากการทรงตั้งกรมนั้น แรกเริ่มเดิมทีได้มีการพระราชทานกรมให้เจ้านายพระองค์นั้นปกครองจริงๆ และแต่ก่อนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส หรือพระชอนุชา เสด็จออกไปทรงครองเมืองด้วย ตามลำดับของพระฐานันดรศักดิ์ แต่ในสมัยนั้น จะไม่มีการตั้งพระนามกรมเจ้านาย แต่จะตั้งเป็นพระ (เช่นพระเพทราชา ฯลฯ) ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีเรื่องขัดเคืองพระราชหฤทัยกับพระประยูรญาติฝ่ายหน้า จึงทรงยกพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง พระกนิษฐาอีกพระองค์หนึ่ง ให้มีกรมปกครอง แต่คงไม่ใช่ว่าทรงตั้งพระนามพระกนิษฐา หรือพระราชธิดา ให้มีพระนามว่า โยธาทิพย์ หรือ โยธาเทพ เป็นแน่ แต่ครั้นมาภายหลัง เลิกธรรมเนียมการพระราชทานกรมให้ปกครอง การตั้งกรม เป็นแต่เพียงพระอิสริยยศเท่านั้น ดังนั้นจึงได้มีการเฉลิมพระนามกรมให้วิเศษยิ่งขึ้น เช่นในรัชกาลที่ ๔ ท่านได้ทรงตั้งพระนามกรมพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ว่า มเหศวรศิววิลาส - วิษณุนาถนิภาธร แม้แต่องค์รัชกาลที่ ๕ เอง ในเบื้องแรกก็พระราชทานพระนามกรมว่า พิฆเนศวรสุรสังกาศ อันเป็นพระนามเทพเจ้าในศาสนาฮินดู
เลื่องมาถึงรัชกาลที่ ๕ ท่านได้ทรงรับธรรมเนียมจากตะวันตกมาหลายอย่าง เช่นตำแหน่ง "พระบรมราชินี" คือเทียบกับ Queen Consort ของต่างประเทศ (สำหรับพระบรมราชเทวี พระอัครราชเทวี นั้นในชั้นแรกหมายพระราชหฤทัยให้เทียบเพียง Princess Consort) รวมทั้งตำแหน่ง Crown Prince ก็เทียบกับ มกุฎราชกุมาร
ขอตั้งข้อสังเกตการเทียบคำนะครับ Crown Prince กับ มกุฎราชกุมาร ความหมายเหมือนกันเลยทีเดียว ส่วนตำแหน่งพระมเหสีนั้น ราชินี รับสั่งว่าแตกต่างจาก ราชเทวี
นอกจากนี้ยังทรงตั้งพระราชธิดาพระองค์หนึ่งให้มีพระนามตามอย่างพระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า(หญิง) บีเอตริศภัทรายุวดี (มาจากพระราชธิดาพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์นั้น Her Royal Highness The Princess Beatrice)
ดังนั้น จากการที่ได้ทรงแก้ไขหลายๆ อย่างให้ทันสมัยทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ จึงพอที่จะเชื่อได้ว่า ได้ทรงพระราชทานพระนามกรมให้บรรดาพระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย ตามอย่างอังกฤษ ส่วนพระเจ้าน้องเธอ หรือพระอนุวงศ์อื่นๆ นั้น มิได้ทรงตั้งพระนามกรมให้เป็นชื่อเมืองแต่อย่างใดครับ
ความสำคัญของชื่อเมืองที่จะเป็นพระนามกรมนั้น คุณพระนายไวยเธอได้อธิบายไว้โดยละเอียดลออดีแล้ว ซึ่งผมเห็นด้วยกับข้อความที่คุณ Antares Kung ได้ยกมา คือเรื่องเปลี่ยนพระนามกรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ จาก กรมขุนมไหสูริยสงขลา เป็น กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต อย่างไรก็ตาม การตั้งพระนามกรมเจ้าฟ้าพระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า พระองค์หนึ่ง ก็ได้ทรงตั้งว่า กรมขุนสงขลานครินทร์ เป็นเมืองสงขลาอีกครั้ง
สำหรับในส่วนของพระบรมราชวงศ์ที่ได้ทรงสืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ ๕ พระนามกรมก็ยังคงทรงตั้งตามพระนามกรมเมืองอยู่ดี เช่นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เป็น กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร เป็นกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต หม่อมเจ้านักขัตมงคล สถาปนาเป็นพระองค์เจ้า แล้วทรงเลื่อนพระนามกรมเป็น กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ฯลฯ แต่ถ้าสืบเชื้อสายมาจากรัชกาลอื่น เช่น หม่อมเจ้าไตรทศประพัทธ์ ทรงเลื่อนเป็นพระวรวงศ์เธอ แล้วพระราชทานกรมเป็น กรมหมื่นเทววะวงศ์วโรทัย หม่อมเจ้าธานีนิวัต ทรงเลื่อนเป็นพระวรวงศ์เธอ พระราชทานกรมเป็น กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา หม่อมเจ้าวรวรรณไวทยากร ทรงเลื่อนเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระราชทานพระนามกรมเป็น กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ฯลฯ ครับ
อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในส่วนนี้ เป็นพระราชอำนาจเฉพาะพระองค์ จะทรงตั้งเช่นไรก็ได้ ดังนั้นจึงอาจจะมีข้อยกเว้นออกไปบ้างเช่น กรมขุนสุพรรณภาควดี ซึ่งก็เป็นเพราะพระราชทานให้คล้องกับพระนามกรม กรมขุนพิจิตรเจษฎร์จันทร์ ครับ
จากคุณ :
ohmygodness
- [
10 ก.ย. 51 15:03:45
]
|
|
|