Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ไม่แน่ใจ...ทั้งฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายเลือกตั้งคิดอะไรกันอยู่? ปัญหาพื้นฐานของการเมืองไทยตอนนี้คืออะไร?

    ก่อนจะตั้งกระทู้นี้ ผมได้ลองเข้าไปดูที่ห้องราชดำเนินมาแล้ว และดูเหมือนว่าถ้าผมโพสอะไรออกไปอย่างวิพากษ์วิจารณ์ อาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ไม่สบายได้ และเสี่ยงต่อการที่อมยิ้มสุดรักสุดหวงของผมจะหายไปจากเวปไซต์แห่งนี้...



    และลองเข้ามาดูห้องสมุด ห้องที่พอจะพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองหรือปรัชญาการเมืองได้ ก็น่าจะเป็นโต๊ะปรัชญาของพวกเรา แต่ผมก็มีความกังวลอยู่บ้าง ไม่รู้จะจะถูกลบหรือไม่ ..



    ถ้าจะลบ ผมก็ไม่ว่าอะไรครับ แต่กรุณาเก็บอมยิ้มไว้ให้ผมนะ...



    สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจะพูดได้มากน้อยขนาดไหนในสภาวะที่สังคมการเมืองของเรากำลังตึงเครียดและดูสับสนวุ่นวาย ผมจะพยายามโยงเนื้อหาให้เข้าไปสู่ปรัชญามากที่สุดเท่าที่สติปัญญาผมจะทำได้ ...



    คำถามแรกครับ พันธมิตรคิดอะไรกันอยู่ ..?



    เท่าที่ผมมองดู ที่เห็นและเป็นไป ของการเมืองบ้านเรามาระยะหนึ่ง ขอยอมรับว่าตอนนั้นผมเป็นฝ่ายพันธมิตรที่ไร้เดียงสา และยอมรับสภาพข้อเรียกร้องจากแกนนำที่ถาโถมเข้าใส่ตัวผมเองอย่างง่ายดาย จนมาถึงข้อเสนอหนึ่งที่ผมไม่อาจทำใจให้ยอมรับ และรู้สึกที่ดีกับมันได้..



    นั่นก็คือ ข้อเสนอ "การเมืองใหม่" ที่ไม่ใหม่และไม่มีทางเป็นจริงได้เลย ...


    การเสนอการเมืองใหม่ของพันธมิตร ดูโดยหลักการน่าจะดี เพราะพวกเขาได้ไตร่ตรองดูแล้วด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเหตุผลที่สนับสนุนการเมืองใหม่ คือ การเมืองที่เต็มไปด้วยนักการเมืองผู้ฉ้อฉล การเลือกตั้งที่ฉ้อฉล และระบบการเมืองที่ฉ้อฉล และโจมตีระบบทุนนิยมที่มาจากฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ ทำให้พันธมิตรได้ชูประเด็นเกี่ยวกับการเมืองใหม่เพื่อทำการหักล้างถางพกระบบการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าโบราณในรัฐบาลชุดที่แล้ว , ชุดก่อน และชุดปัจจุบัน ...



    ปัญหาก็คือ ระบบการเมืองที่ฉ้อฉล และรวมไปด้วยพวกนักการเมืองฉ้อฉล มันดำรงอยู่ภายในประวัติศาสตร์การเมืองมาเป็นเวลายาวนานแล้ว นับตั้งแต่เมืองไทยมีการเลือกตั้งนักการเมืองเหล่านี้ให้เขามาบริหารประเทศ ก่อนหน้าที่จะเกิดพันธมิตรหลายสิบปี ...



    ถึงแม้ว่าหลักการขั้นพื้นฐานจะบอกว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนแสดงออกซึ่งอำนาจการปกครองของตนเอง แต่หลักการนี้ก็สามารถถูกสั่นคลอนและถูกทำให้บิดเบี้ยวได้โดยคำอรรถาธิบายจากผู้ที่(มีอำนาจ)ไม่ได้เห็นว่าการเลือกตั้งคือคำตอบทั้งหมด  ....



    ตรงกันข้าม คำเสนอเรื่องแต่งตั้งนักการเมืองจากพันธมิตรนอกเหนือไปจากการเลือกตั้ง ผมมองเห็นว่าอาจจะทำให้เกิด "คณาธิปไตย" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึงจะขัดกับหลักการทางปรัชญาที่เราใช้มาโดยตลอด นั่นก็คือทฤษฎี "สัญญาประชาคม" และ "การเมืองผ่านตัวแทน" ที่เราไปเอามาจากตะวันตก ...



    ซึ่งอย่างน้อย มีอยู่ 2 ประเด็นที่ผมนั่งคิด ก็คือ ..

    1.ข้อเสนอการเมืองใหม่ ขัดกับหลักการประชาธิปไตยแบบตัวแทน และ "อาจ"จะขัดกับหลักการสัญญาประชาคม ที่เกิดจากประชาชนเป็นผู้ลงฉันทามติ รูปธรรมก็คือ การเลือกตั้ง ..


    2.การเมืองใหม่ของพันธมิตร คือ การไม่ไว้ใจระบบตัวแทนและการเลือกตั้ง ในสังคมการเมืองไทย และเชื่อว่า คณาธิปไตย คือคำตอบ เพราะพวกเขาไม่ไว้ใจนักการเมืองที่เขาเชื่อว่าฉ้อฉลและขี้โกง ...


    ดังนั้น การอ้างความเป็นประชาธิปไตยที่ดูจะสมเหตุสมผลนั้น เอาเข้าจริงๆ การชุมนุมของเขาและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ประชาชนเป็นเพียง "เบี้ย" บนกระดานให้เขาเดินในเกมอำนาจ และมวลชนเหล่านั้นก็พร้อมใจกันเชื่อว่า ประชาธิปไตยต้องมาจาก "ข้อเรียกร้องของประชาชน ที่ควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง"



    และการตีความสัญญาประชาคมว่า ถ้าหากรัฐบาลทำอะไรขัดกับหลักการที่เคยสัญญาเอาไว้ ประชาชนก็สามารถถอดถอนรัฐบาลได้ เป็น "สิทธิในการถอดถอนรัฐบาล" แต่....เมื่อเทียบข้อเรียกร้องที่ออกมาจากฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายเลือกตั้งแล้ว สิทธิในการถอดถอนรัฐบาลนั้นก็มิได้เป็นเอกฉันท์ เพราะคนที่เขายังเชื่อรัฐบาลก็มีอยู่สูง ดูได้จากคะแนนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่พรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ ทิ้งห่างกัน โดยที่พลังประชาชนมีคะแนนโหวตที่สูงกว่า (และผมเชื่อว่า ถ้าเลือกตั้งใหม่ ฝ่ายหลังก็จะกลับเข้ามาอีก ถ้าหากพวกเขายังรวมตัวกันเหนียวแน่น)



    ข้อเสนอการเมืองใหม่จึงไม่ใหม่ และทำลายระบบการเมืองขั้นพื้นฐานลงบางส่วน (เชื่อประชาชนบางพวก และไม่เชื่อบางพวก)...




    2.นักเลือกตั้ง คิดอะไรกันอยู่...?



    ฝ่ายที่ถูกพันธมิตรโจมตีมากที่สุด ก็คือฝ่ายการเมืองที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง ..



    ถามว่าเขาโจมตีอะไร ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องการซื้อ-ขายเสียง , ทุนนิยมในทางการเมือง , การถอนทุนทางการเมือง และความเลวร้ายของนักการเมืองที่ผ่านระบบตัวแทนเข้ามา ...



    ถามต่อไปว่า อ้าว...ถ้าเป็นเช่นนี้จะมีความชอบธรรมอยู่อีกหรือไม่..? ถ้ามองดูที่หลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน การโหวตเพื่อเลือก สส. ของประชาชนก็คือฐานความชอบธรรมของนักการเมืองเหล่านั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกันกับที่ฝ่าย นปช. ชูขึ้นมาเพื่อโจมตีพันธมิตรอยู่ตลอดเวลา ...



    ฝ่ายเลือกตั้งคิดอะไรอยู่ แน่นอนครับ...พรรคการเมืองทุกพรรคย่อมต้องการเข้ามามีอำนาจรัฐ โดยผ่านสัญญาประชาคม ที่เป็นฐานความชอบธรรมเข้ามาเพื่อเป็นรัฐบาล ..



    เป็นเรื่องเชิงประจักษ์ว่า การเป็นรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชนในการบริหารประเทศ สิ่งหนึ่งที่เย้ายวนให้นักการเมืองทั้งหลายอยากเข้ามามีอำนาจรัฐ ก็คือเรื่องของ "เงินงบประมาณ" ต่างๆที่จะนำมาขับเคลื่อนนโยบายของตัวเอง ซึ่งมันเป็นเงินไม่ใช่น้อยๆเลย ...




    เพราะงบประมาณที่น่าหลงใหล จึงทำให้การเมืองในระบบต้องเสียศูนย์และเบี่ยงเบนไปจากหลักการเดิม ที่ว่า ต้องทำเพื่อนโยบายของพรรค ไปเป็น ต้องทำเพื่อพวกพ้องและต่อทุน ...



    ถามต่อไปว่า แล้วพันธมิตรกลัวอะไรกับการเมืองในระบบนี้ พวกเขากลัว"การเลือกตั้ง" ครับ... เพราะการเลือกตั้งเป็นฐานที่ชอบธรรมที่สุดสำหรับนักการเมืองที่เขาโจมตีอยู่ การเลือกตั้งจะเป็นเกราะทางอำนาจชั้นดีให้แก่นักการเมืองเหล่านั้น ...



    และที่พันธมิตรโจมตีการซื้อขายเสียง เพราะการซื้อขายเสียงเป็น "ความสัมพันธ์เชิงตลาด" ระหว่างผู้ซื้อ(นักการเมือง) และผู้ขาย(ประชาชนที่ขาย) และมีเรื่องคำสัญญาและโครงการต่างๆเป็นข้อผูกมัดอยู่ ...



    ความสัมพันธ์อันนี้ จึงเป็นสิ่งที่พันธมิตรไม่ชอบใจอย่างที่สุด เพราะการซื้อขายเสียงเป็นสิ่งที่นักการเมือง "ช่ำชอง" ที่สุดในระบบการเลือกตั้ง และเป็นกันทุกพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคที่ถือข้างพันธมิตรด้วย ...



    ความสัมพันธ์นี้ ทำให้ โครงสร้าง/ระบบ การเมืองที่ตรงไปตรงมา ต้องถูกทำให้บิดเบี้ยวโดยการซื้อขายเสียง สัญญาประชาคมที่เป็นสิทธิตามธรรมชาติ ต้องมาอยู่ภายใต้โครงสร้างทุนการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นปรากฎการณ์ที่ดำรงอยู่มานานในสังคมไทย และผมไม่เชื่อว่า พันธมิตรจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกกี่ฉบับก็ตาม ...




    เมื่อข้อเสนอของพันธมิตรไม่มีทางเป็นจริง กับ ระบบการเมืองขั้นพื้นฐานที่บิดเบี้ยวโดยพวกนักการเมือง  มาเจอกัน ประชาธิปไตยมันก็เลยกระเด็นไปคนละทิศละทางอย่างที่เห็นอยู่...



    พันธมิตรไม่เชื่อประชาธิปไตยของฝ่ายการเมือง แต่พันธมิตรจะนำพวกเรากลับไปสู่โครงสร้างการเมืองแบบ คณาธิปไตย และ อภิชนาธิปไตย ซึ่งยอมรับได้ยากในยุคปัจจุบัน ...



    ฝ่ายนักเลือกตั้ง เชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง แต่พวกเขากำลังทำให้โครงสร้างและระบบประชาธิปไตยบิดเบี้ยวไปจากหลักการเดิม ไปสู่วงจรของธุรกิจการเมือง เพราะว่าพวกเขาเป็นนักลงทุนทางการเมืองมากกว่าจะสวมวิญญาณนักการเมืองในอุดมคติ และใช้การลงทุนทางการเมืองนั้นเข้าสู่อำนาจรัฐ ....



    และการประทะกันระหว่างสองฝ่ายก็เลยเกิดขึ้นท่ามกลางปัจจัยที่รายล้อมมากมาย เพื่อแย่งชิงประชาธิปไตย ที่ "ไม่ใช่ประชาธิปไตย" มาสู่ตนเอง ...



    ปัญหาในขณะนี้ก็คือ ประชาชนแตกออกเป็นสองฝ่าย ...



    ที่หนักไปกว่านั้น ประชาชนเข่นฆ่ากันเอง ในนามของประชาธิปไตยแห่งยุคสมัยที่ไม่มีทางประณีประนอมกันได้ ...



    ซึ่งสัญญาประชาคมที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันตามสิทธิธรรมชาติในหมู่ประชาชน เป็น General Will ที่เห็นพ้องกัน กลับกลายมาเป็นสิทธิใครสิทธิมัน ตีความใครตีความมัน และเป็น Private Will ไปเสียแล้ว ...



    เมื่อเป็นเช่นนี้ทางออกอยู่ตรงไหน...?



    ผมยังมองไม่เห็นครับ ถึงแม้ว่าจะมีผู้รู้ออกมาชี้กันหลายท่าน แต่ถ้ายังสู้กันอยู่แบบนี้ ผมก็ต้องนั่งร้องเพลงรอต่อไปจนกว่าฝุ่นจะหมดไปจากสนามรบ...



    และนับศพทหารกันเสร็จแล้ว....

    จากคุณ : นายอึเหม็น - [ 9 ต.ค. 51 12:57:15 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom