ความคิดเห็นที่ 10

เรื่อง นาค คือใครนี้ จิตร ภูมิศักดิ์เคยให้ความเห็นไว้ในหนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ
นาค หรือ นาคา
พวกนาคเป็นชนชาติส่วนน้อยทางตะวันออกสุดของอินเดียติดพรมแดนพม่า อยู่ ณ บริเวณเทือกเขานาค (Naga Hills). เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอัสสัม. แต่พวกนาคได้ร่วมกันต่อสู้มานานปีจนใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีการยินยอมจากรัฐบาลกลางแห่งสหภาพอินเดียให้จัดตั้งเป็นรัฐนาค (Nagaland) ขึ้น.
ชนเผ่านาคเป็นชนชาติในตระกูลภาษาธิเบต-พม่า. เป็นชนชาติที่ล้าหลังตลอดมาในอดีต และลือชื่อในประเพณีล่าหัวมนุษย์เช่นเดียวกับพวก "ว้าฮ้าย" (ละว้าร้าย) ในภาคเหนือของพม่า. แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอดีต. ขณะนี้ชนในรัฐนาคเจริญก้าวหน้าไปมากแล้ว.
ชาวอารยันยุคโบราณ, สมัยที่ยังไม่เกิดรัฐประชาชาติ, เหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นมิลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาตินี้ก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัมซึ่งเขียน (naga) แต่ออกเสียงอ่านเป็น นอค (noga) แปลว่า เปลือย, แก้ผ้า. บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คน, ชาวเขา. แต่อย่างไรก็ดี มีนักศึกษาบางคนค้นพบว่า คำว่า นอก (nok) นั้นมีใช้อยู่ในภาษาของชาวนาคตะวันออกบางเผ่าแปลว่า "คน" (ในความหมายว่า people ไม่ใช่ human being). และยังมีผู้อื่นอีกที่ได้ค้นพบว่าคำที่เขาเรียกตนเองว่า นาค (นอค) นั้น แปลว่า คนแข็งแรง
ตามความเห็นของข้าพเจ้า ถ้ามองดูปัญหาจากพื้นฐานทางสังคมแล้ว ความหมายของชื่อ นาค (นอค) ที่แปลว่า "คน" น่าจะเป็นความหมายดั้งเดิมที่สุด. เพราะเขาถูกดูถูกเหยียดหยามมานานนับพันปีว่าเป็นคนป่า เป็นลิงค่าง ฯลฯ นั่นเอง เขาจึงได้เรียกตนเองว่า "คน" (นาค) เพื่อยืนยันตอบโต้ผู้ที่ดูถูกเขา.
แต่อย่างไรก็ดี แม้ชาวนาคาจะประกาศว่าเขาเป็น คน (นาค) ชื่อที่เขาประกาศออกมา นาค ในที่สุดก็ตกไปอยู่ในภาษาอัสสัมแปลว่า เปลือย, และภาษาฮินดูสตานีว่า นัค แปลว่า คนป่า, ชาวเขา.
ในการบวชเป็นภิกษุของพุทธศาสนา, มีการห้ามมิให้พวกนาคบวช. เล่ากันว่า นาค นั้นคือพญางูใหญ่ หรือ พญานาค, และว่าพญานาคเคยปลอมตัวเข้ามาบวชด้วย. แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับให้ลาสิกขา, พญานาคจึงขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภาคหน้า แม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อจะบวชนั้นมีชื่อเรียกว่า นาค, ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประเพณีเรียกว่า ทำขวัญนาค, ขานนาค, บวชนาค มาในทุกวันนี้. จากการนี้จึงได้มีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ที่จะมาบวชนั้นมิใช่พญานาค หากเป็นคนแน่นอน, ในการบวชจึงมีระเบียบว่าพระคู่สวดสององค์จะต้องพาผู้บวชออกไปสอบสวนนอกประตูพระอุโบสถ ในคำสอบสวนนั้นมีคำถามหนึ่งถามว่า "มนุสฺโส สิ ?" (เจ้าเป็นคนหรือเปล่า ?)
เรื่องปรัมปราที่ว่าพญานาคปลอมมาบวชนั้นตัดทิ้งไปได้.
ทำไม, พระคู่สวดแต่โบราณนั้นดูไม่ออกเจียวหรือว่าคนที่มาขอบวช และยืนอยู่ตรงหน้าตนนั้นเป็นคนหรือเปล่า ? และยังไม่ยอมเชื่ออีกหรือว่าผู้มาขอบวชนั้นพูดจาภาษาบาลีกันได้รู้เรื่องขนาดนี้แล้วยังอาจจะไม่ใช่คน ?
ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่าพระคู่สวดไม่รู้ หรือดูไม่ออก ว่าสิ่งที่ยืนอยู่เบื้องหน้าตนนั้นเป็นตัวแมงกะแท้หรือเป็นคน, หากความเป็นจริงอยู่ที่ว่า สังคมอินเดียยุคนั้นมีการเหยียดหยามคนบางเผ่าที่ระดับสังคมล้าหลังให้เป็นผี เป็นลิงค่างบ่างชะนี เป็นสัตว์เป็นยักษ์, ไม่ยอมรับว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์. ในยุคพุทธกาลนั้น สังคมดินเดียทั่วไปจะต้องไม่ยอมรับชนเผ่านาคาหรือนาคว่าเป็นคน, คงถือเป็นลิงค่างหรือแมงกะแท้ป่าเถื่อน, แม้จะพูดภาษากันรู้เรื่องก็ยังหายอมรับว่าเป็นคนไม่, ฉะนั้นจึงไม่ยอมรับให้เขาบวชในพุทธศาสนา.
ในข้อนี้ถ้าหากจะมองพุทธศาสนาแบบงมงาย คือถือว่าไม่มีอิทธิพลของสังคมในยุคนั้นวางปูเป็นพื้นฐานอยู่เลย ก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้. แต่ถ้ามองพุทธศาสนาเป็นปรัชญาของยุคที่อินเดียกำลังก้าวหน้ามาสู่ยุคศักดินา เป็นปรัชญาที่เกิดขึ้นคัดค้านปรัชญาของศาสนาพราหมณ์อันเป็นหัวใจของชนชั้นปกครองอารยันแห่งยุคสังคมทาส, พุทธปรัชญาเกิดขึ้นคัดค้านปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ แต่คัดค้านบนพื้นฐานของสังคมในยุคนั้นและก้าวไปไกลที่สุดเท่าที่สภาพสังคมยุคนั้นจะอำนวนให้ไปได้, ส่วนหนนึ่งก้าวล้ำยุคไปข้างหน้า และก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงรับรองความสำนึกขั้นพื้นฐานของสังคมยุคนั้นอยู่, ถ้ามองอย่างนี้จึงจะเข้าใจได้ว่าทำไมวงการพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับว่า นาค คือ คน. และทำไมจึงต้องถามก่อนบวชเสมอว่า เจ้าเป็นคนหรือเปล่า ? (มนุสฺโส สิ)
จากคุณ :
เพ็ญชมพู
- [
19 ก.พ. 52 11:36:06
]
|
|
|